Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis
เมื่อพิจารณาปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างเสื้อเหลืองกับเสื้อแดงในปัจจุบัน แรงกดดันประการหนึ่งที่ก่อให้เกิดขบวนการแดงทั้งแผ่นดินคือ ปัญหาการดูถูกเหยียดหยามคนชั้นล่างว่าไร้สติปัญญาในการตัดสินใจทางการเมือง ที่ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งพรรคไทยรักไทย ซึ่งถูกมองว่ามีนักการเมืองไร้ศีลธรรมอันดีงามตามกรอบของคนเสื้อเหลือง อันนำไปสู่การปะทะทางความคิดของอีกฝ่ายคือ เสื้อแดงและเสื้อแดงก็ตอบโต้อีกฝ่ายที่ไม่เคารพความคิดของคนอย่างเท่าเทียมกัน
 
ปัญหาความไม่เท่าเทียมกัน ในความเป็นจริงเกิดขึ้นอยู่แล้วในชีวิตประจำวันของผู้ใช้แรงงาน ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ในสังคมไทย ทำงานอยู่ในโรงงานอุตสาหกรรมและในพื้นที่เกษตรกรรม กล่าวคือ ผู้ใช้แรงงานมักถูกมองด้วยทัศนคติเชิงลบว่าเป็น สัตว์ (คำพูดของคนงานเอง) และ/หรือเครื่องมือทำการผลิต ที่ถูกนายจ้างวางตำแหน่งบทบาทให้ทำงานสอดรับกับเครื่องจักรเทคโนโลยี ที่เดินเครื่องเกือบตลอด 24 ชั่วโมง
 
การถูกมองอย่างด้อยค่าสะท้อนมาจากการถูกละเมิด ถูกเลือกปฏิบัติ และถูกกีดกันออกไปจากสิ่งที่ควรได้รับตามมาตรฐานสิทธิของผู้ใช้แรงงาน ซึ่งเป็นสิทธิมนุษยชน (สิทธิเสรีภาพของความเป็นมนุษย์ที่ทุกคนเท่าเทียมกัน) ภายใต้โครงสร้างอำนาจบริหารงานในแนวดิ่งในสถานที่ทำงานและสังคมการเมือง โดยไม่มีการใช้ระบบการปรึกษาหารือร่วมทั้งสองฝ่าย ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนนี้เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง จนอดไม่ได้ที่จะตั้งคำถามสำคัญคำถามหนึ่งว่า การพัฒนาประเทศจำเป็นต้องมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้วยหรือ?
 
ผลตอบแทนที่ผู้ใช้แรงงานได้มาจากการถูกมองว่าด้อยค่านั้น คือ ค่าจ้างและสวัสดิการที่ไม่สมน้ำสมเนื้อกับการทำงานตามปกติ 8 ชั่วโมงต่อวัน จึงต้องดิ้นรนทำงานเกินชั่วโมงปกติ เพื่อให้รายได้มากพอที่จะเลี้ยงดูสมาชิกในครอบครัว และหากวันใดไม่ไปทำงาน วันนั้นพวกเขาก็จะไม่มีรายได้ เพราะติดอยู่ในสถานะลูกจ้างรายวัน คือ no work no pay
 
1.
 
คำนิยาม “แรงงาน” ของแนวคิดเศรษฐศาสตร์การเมืองทุนนิยมกระแสหลัก
 
อะไรอยู่เบื้องหลังของความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจของผู้ใช้แรงงานและปัญหาการละเมิดสิทธิเสรีภาพ จะเห็นว่า ระบบอุตสาหกรรมการผลิตที่ใช้ปัจจัยทุนต่างๆ ทำการผลิตและขยายกำลังการผลิตนั้นมีเป้าหมายคือ ผลกำไรจำนวนมาก (หรือเรียกว่า ระบบทุนนิยม ทำการผลิต สร้างกำไร และนำมากำไรมาลงทุนต่อ เพื่อสะสมทุนให้มากยิ่งขึ้น) โดยมีปรัชญาความคิดที่เป็นรากฐานของการสร้างระบบเศรษฐกิจทุนนิยม คือ มองคุณค่าของผู้ใช้แรงงานกับผู้ประกอบการแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง กล่าวคือ
 
ทฤษฎีการผลิตในเรื่องของปัจจัยการผลิตอธิบายองค์ประกอบของการผลิตสินค้าและบริการว่า ต้องการปัจจัยอะไรบ้างที่สำคัญๆ รวมถึงผลตอบแทนที่ควรแบ่งสรรกันตามบทบาทของปัจจัยดังกล่าว ได้แก่
 
1. ที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติ (Land and Natural Resources) หมายถึง เจ้าของที่ดินที่นำมาใช้ประกอบกิจการต่างๆ เช่น ที่ตั้งสำนักงาน โรงงานอุตสาหกรรม ทรัพยากรธรรมชาติทุกประเภทที่อยู่บนดินและใต้ดิน ได้แก่ แหล่งน้ำ แร่ธาตุ น้ำมัน ถ่านหิน โดยมีผลตอบแทนคือ ค่าเช่าเป็นหลัก (วันรักษ์ มิ่งมณีนาคิน 2545. เศรษฐศาสตร์ไม่ยากอย่างที่คิด. พิมพ์ครั้งที่ 3: ม.ธรรมศาสตร์ กรุงเทพฯ. หน้า 4)
 
2. แรงงาน (Labour) หมายถึง การทำงานทุกชนิดของมนุษย์ทั้งที่ใช้แรงงาน สติปัญญาความสามารถ แรงกายแรงใจที่ทุ่มเทในการผลิตสินค้าและบริการ โดยทั่วไปแบ่งเป็นแรงงานฝีมือ เช่น วิศวกร นักวิชาการ แรงงานกึ่งฝีมือ เช่น ช่างเทคนิค เสมียน และแรงงานไร้ฝีมือ เช่น กรรมกรแบกหาม ยาม นักการภารโรง ผลตอบแทนคือ ค่าจ้าง
 
3. ทุน (Capital) หมายถึง ครื่องมือเครื่องจักร วัตถุดิบ สิ่งก่อสร้างและสาธารณูปโภคของสังคมที่เอื้อให้เกิดการผลิต
 
4. ผู้ประกอบการ (Entrepreneurship) หมายถึง บุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่จัดตั้งองค์การผลิตขึ้นเพื่อทำการผลิตสินค้าและบริการ รวมทั้งความสามารถในการดำเนินการวางแผน โดยรวบรวมปัจจัยการผลิต ที่ดิน แรงงาน ทุน มาประกอบกันเพื่อการผลิต โดยเป็นผู้รับความเสี่ยงต่อผลได้หรือผลเสียที่เกิดจากการตัดสินใจนั้น โดยคนกลุ่มนี้เรียกว่า ผู้ผลิต และผลตอบแทนที่ควรได้รับ คือ กำไร
 
จากข้างต้น จะสังเกตได้ว่า 1) มีการแยกผู้ประกอบการออกจากแรงงาน ซึ่งทำให้คิดว่า แรงงานไม่สามารถเป็นผู้ประกอบการได้เลย แม้แต่แรงงานที่มีฝีมือเช่น วิศวกร 2) ผู้ประกอบการอยู่เหนือปัจจัยทุนที่เป็น ที่ดิน เครื่องจักร วัตถุดิบ และแรงงาน จึงทำให้อยู่ในฐานะที่มีอำนาจความเป็นเจ้าของปัจจัยทุกสิ่งทุกอย่าง (หรือเรียกว่ามีกรรมสิทธิ์เอกชน) ผู้ประกอบการดังกล่าวจึงสามารถเรียกได้ว่าเป็น นายทุน
 
ความแตกต่างทางสถานะระหว่าง “ผู้ใช้แรงงาน” กับ “ผู้ประกอบการ”
 
ความแตกต่างของคนสองกลุ่มนี้ มาจาก
 
1. เมื่อมีการแยกปัจจัยการผลิตที่เป็นแรงงานออกจากผู้ประกอบการ การถูกกีดกันออกไปจากการเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตก็บังเกิดขึ้น ในขณะที่ความเป็นจริง มนุษย์สามารถพัฒนาศักยภาพของตัวเอง แม้แรงงานจะมีระดับความสามารถที่แตกต่างกัน หากได้รับการศึกษาที่ดีอย่างทั่วถึง ก็สามารถพัฒนาความรู้ด้านการบริหารและเป็นผู้ประกอบการได้
 
2. ผู้ใช้แรงงานกับผู้ประกอบการ ซึ่งเป็นคนเหมือนกันนั้น กลับมีสถานะทางสังคมการเมืองที่แตกต่างกัน อันเนื่องมาจากการถือครองปัจจัยการผลิตดังข้อ 1 กล่าวคือ คน 2 กลุ่มนี้มีความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่แตกต่างกันอย่างมาก
 
ความสัมพันธ์เชิงอำนาจเห็นได้จากโครงสร้างการบริหารบังคับบัญชาในสถานที่ทำงานรวมศูนย์ไว้ที่ผู้ประกอบการเพียงฝ่ายเดียว เพราะในหลักทฤษฎีการผลิตให้ความชอบธรรมแก่ผู้ประกอบการว่า เป็นผู้รับความเสี่ยงทั้งหมด โครงสร้างความสัมพันธ์แบบนี้เป็นความสัมพันธ์ที่ไม่เท่าเทียมกัน ซึ่งคล้ายคลึงกับโครงสร้างอำนาจการบริหารประเทศแบบรวมศูนย์ รวบอำนาจจากประชาชนมาไว้ที่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่ไม่ผ่านการเลือกตั้งจากประชาชน
 
โครงสร้างทางชนชั้นดังกล่าวจึงมาจากปรัชญาความคิดของระบบเศรษฐศาสตร์การเมืองทุนนิยม (สำนึกแบบทุน) ที่ตั้งใจจะขีดเส้นแบ่งคนออกจากกัน และทำการสอนนักศึกษารุ่นแล้วรุ่นเล่า
 
นอกจากนี้ยังมีความลักลั่นภายในปรัชญาความคิดของเศรษฐศาสตร์ทุนนิยม คือ ปัญหาการจัดสรรผลตอบแทนแก่ปัจจัยการผลิตต่างๆ ที่ไม่ยุติธรรม แต่ให้ความสำคัญกับบทบาทของผู้ประกอบการ (นายทุน) เหนือกว่าทุกอย่าง คือเหนือกว่าสังคมผู้เป็นเจ้าของสมบัติสาธารณะที่ถูกนำไปใช้เป็นทุนการผลิต เช่น ทรัพยากรธรรมชาติ (ที่ดิน ป่าไม้) ทรัพยากรที่มาจากการลงทุนของสังคม (สาธารณูปโภค) และทรัพยากรบุคคล คือ แรงงาน ที่คนทั้งสังคมต่างแบกรับความเสี่ยงด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการบาดเจ็บเสียชีวิตจากการทำงาน ปัญหาความอดหยากจากการถูกปลดออกจากงาน ปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาครอบครัวแตกสลาย ที่เพียงแค่ค่าเช่า ดอกเบี้ย ค่าจ้างไม่สามารถจะชดเชยปัญหาเหล่านี้ได้เลย เพราะในที่สุดก็ต้องการความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่จะช่วยกันแก้ปัญหาที่ตามมาจากการพัฒนาระบบทุนนิยม
 
ปัญหาเศรษฐกิจการเมืองของระบบทุนนิยม
 
แก่นแกนของระบบคิดแบบทุนนิยมดังที่กล่าวมา คือ มองคนไม่ใช่คนคือมองคนอย่างไม่เท่าเทียมกัน เพราะคนสองกลุ่ม นายทุนกับแรงงาน ถูกขีดเส้นแบ่ง และมีอำนาจ/ศักดิ์ศรีไม่เท่ากัน ด้วยเหตุนี้การเข้าถึงความเป็นอยู่ที่ดีจึงไม่กระจายโอกาสให้แก่ทุกคน เราสามารถกล่าวได้ว่า หลักคิดเช่นนี้ไม่สอดคล้องกับหลักมนุษยนิยม ที่ให้ความสำคัญกับความเป็นคนและชีวิตการทำงานที่เหมาะสม การขีดเส้นแบ่งคนมีเป้าหมายสูงสุดที่ระบุในหลักเศรษฐศาสตร์ทุนนิยมคือ การสะสมทุนนั่นเอง โดยคำนวณต้นทุน กำไรอย่างเอาเป็นเอาตาย ทำให้เกิดผลกระทบอย่างใหญ่หลวงในปัจจุบันนี้ คือ ปัญหาความมั่นคงในชีวิตการทำงานของผู้ใช้แรงงานทุกภาคส่วน คือ
 
1. แรงงานถูกกันออกไปจากการเข้าถึงสิทธิ เสรีภาพ และสวัสดิการต่างๆ ที่พึงได้รับ และเข้าถึงงานที่เหมาะสม ปลอดภัยต่อสุขภาพ สร้างความสุขในชีวิตการทำงาน
 
2. แรงงานถูกกีดกันออกไปจากโครงสร้างการบริหารปกครองในสถานที่ทำงานและการมีส่วนร่วมทางการเมืองในระบบการเมือง ถูกทำให้ไร้อำนาจการต่อรอง และตกอยู่ในความเสี่ยงที่ไม่สามารถกำหนดทิศทางอนาคตของตนเอง และเมื่อเกิดวิกฤตก็จะถูกเลิกจ้างและถูกทอดทิ้งเป็นส่วนมาก
 
ทว่าความรุนแรงของปัญหาจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับการต่อสู้เรียกร้องของขบวนการผู้ใช้แรงงานที่จะช่วยคานอำนาจกับฝ่ายทุน แต่หากประเทศใดมีระบบการปกครองแบบรวมศูนย์ เช่นระบบเผด็จการทหาร ระบบอภิชนาธิปไตย ก็ยิ่งเป็นตัวการสำคัญในการเอื้อให้ปัญหาเหล่านี้รุนแรงยิ่งขึ้น
 
 
การกีดกันผู้ใช้แรงงาน ซึ่งกลายเป็นคนส่วนใหญ่ของสังคมไทย การรวบอำนาจการปกครอง การควบคุมการทำงานและการออกกฎระเบียบที่กระทำต่อผู้ใช้แรงงานในโครงสร้างแบบชนชั้น และการจัดสรรผลตอบแทนที่ไม่เป็นธรรม ทั้งหมดนี้ คือ การสร้างความขัดแย้งทางชนชั้น ทั้งนี้เนื่องมาจากการถูกลดทอนคุณค่าของความเป็นมนุษย์ ไม่ให้มีอำนาจ มีหุ้นส่วนในการตัดสินใจในกิจกรรมการผลิตสินค้าและบริการ ดังนั้น สำนึกแบบทุนนี้จำต้องถูกปรับเปลี่ยนแก้ไขเพื่อให้มีการปฏิบัติตัวต่อผู้ใช้แรงงานอย่างเท่าเทียมกับผู้อื่น
                                                             
 
2.
 
การแก้ไขคำนิยาม “แรงงาน” เพื่อทำให้คนมีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน
 
แนวทางการลดความขัดแย้งทางชนชั้นนี้จำเป็นต้องเปลี่ยนคำนิยาม “แรงงาน” ตามแนวคิดเศรษฐศาสตร์การเมืองทุนนิยม (กระแสหลัก) นั่นคือ มองผู้ใช้แรงงานอย่างเท่าเทียมกับผู้ประกอบการ ด้วยอุดมการณ์มนุษยนิยมแบบมาร์คซิสต์
 
แรงงานในแนวคิดมนุษยนิยมแบบมาร์คซิสต์ คือ มนุษย์ในฐานะที่เป็นผู้มีเหตุผลล้วนมีสิทธิเสรีภาพเท่าเทียมกัน และพึงปกครองตนเองได้ ส่วนการนิยาม “แรงงาน” ในทฤษฎีการผลิต ตามความคิดของคาร์ล มาร์คซ์ แตกต่างจากปรัชญาเศรษฐศาสตร์ทุนนิยม กล่าวคือ แรงงานเป็นกิจกรรมการทำงานกับโลกแห่งวัตถุ โลกแห่งวัตถุ คือ วัตถุดิบ และเครื่องมือเครื่องจักรในการผลิต หรือเรียกว่า ปัจจัยการผลิต (Bottomore, Tom, A Dictionary of Marxist Thought. Oxford: Blackwell Reference,1983) กิจกรรมการทำงานกับปัจจัยการผลิตนี้มีเป้าหมายเพื่อสร้างมูลค่าให้แก่สินค้าและบริการนั้นๆ
 
กิจกรรมการผลิตดังกล่าว ผู้ผลิตตัวจริงจึงเป็นผู้ใช้แรงงาน เนื่องจากว่า แรงงานมนุษย์ต้องเข้าไปทำงานกับเครื่องจักรกับวัตถุดิบ ตั้งแต่กดปุ่มสวิทซ์เปิด-ปิด ควบคุม แปรวัตถุดิบให้เป็นสินค้าตามสายพานการผลิต หากทิ้งเครื่องจักรไว้ก็ไม่สามารถผลิตได้เองโดยอัตโนมัติ
 
ส่วนนายทุน/นายจ้างทำกิจกรรมในกระบวนการจัดซื้อปัจจัยการผลิต และการทำให้ผลผลิตตกเป็นของเขาเอง ซึ่งไม่ได้อยู่ในกระบวนการทำงานกับปัจจัยการผลิตเหมือนผู้ใช้แรงงาน นายจ้างรู้ดีว่า ทำไมต้องจ้างแรงงานเพราะนั่นหมายถึงตนจะได้กำไรจากการทำงานของคนเหล่านี้ ฉะนั้นการจ้างแรงงานคือการมาสร้างผลผลิต แต่ทว่าผลผลิตกลับไม่ได้เป็นของผู้ใช้แรงงาน
 
การมองแรงงานว่าเป็นผู้สร้างนี้ แรงงานจึงควรร่วมกันมีอำนาจและความชอบธรรมในการเข้าถึงและใช้ปัจจัยการผลิตทั้งหลาย และมีอำนาจในการบริหารสถานประกอบการด้วย คือสามารถกำหนดว่าจะผลิตอะไร ที่ไหน อย่างไร ทำงานยาวนานเท่าไร หยุดพักเวลาใด ค่าตอบแทนเท่าไร และมีสวัสดิการอะไรบ้าง
 
หากมองคนอย่างเท่าเทียม ด้วยหลักมนุษยธรรม จะนำไปสู่การจัดสรรอำนาจและผลประโยชน์อย่างเป็นธรรม เพราะผู้ใช้แรงงานควรได้รับประโยชน์อย่างทั่วถึงจากการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศที่ตัวเองได้ช่วยสร้างมูลค่าให้สินค้าและบริการ นอกจากนี้จะนำไปสู่การเปิดพื้นที่ให้ทุกคนมีส่วนร่วมทางการเมืองตั้งแต่ในสถานที่ทำงานไปจนถึงระบบการเมืองของประเทศ ไม่ใช่กระจุกตัวไว้ที่ชนชั้นนำทางการเมืองและเศรษฐกิจเพียงไม่กี่คน ให้มีสิทธิพิเศษหลายประการ หากจะสร้างความเป็นธรรมในสังคม ทำได้ด้วยการใช้หลักการกระจายและการมีส่วนร่วม บนฐานคติการมองคนเป็นคน และเป็นหน้าที่ของรัฐ ที่ต้องดูแลประชาชน ดังต่อไปนี้
 
1. เก็บภาษีทางตรงในอัตราก้าวหน้าเพิ่มขึ้นจากคนรวย เนื่องจากความรวยเป็นผลมาจากการใช้แรงงานของคนส่วนใหญ่ เพื่อนำเงินมาสร้างสวัสดิการครอบคลุมตั้งแต่เกิดจนตาย อันเป็นการสร้างมาตรฐานชีวิตให้มีความสุขถ้วนหน้า
 
2. กระจายอำนาจทางการเมือง การบริหาร ตามหลักประชาธิปไตย คือประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในการกำหนดอนาคตของตนเองในโครงสร้างการเมืองทุกระดับ และมีเสรีภาพที่จะสร้างอำนาจต่อรองร่วมกับนายจ้าง นักการเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อประกันความมั่นคงของชีวิต
 
3. กระจายอำนาจในการเข้าถึงและใช้ปัจจัยการผลิต ไม่ว่าจะเป็นทรัพยากรธรรมชาติ สาธารณูปโภค เครื่องมือเทคโนโลยี แหล่งทุน เพื่อให้ทุกคนมีโอกาสที่จะลืมตาอ้าปากและเขยิบสถานะทางเศรษฐกิจได้
 
4. ปรับปรุงสภาพการจ้างงาน ไม่ให้ทำงานหนักและอันตราย และเพิ่มค่าจ้างโดยคำนึงถึงหลักการทำงานเพียงคนเดียวสามารถเลี้ยงดูได้ทั้งครอบครัว
 
ทั้งหมดนี้คือผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ในแผ่นดินนี้ ที่จะทำให้ศักดิ์ศรีของพวกเขากลับคืนมา ถ้ารัฐทำไม่ได้ รัฐจะมีความหมายอะไร หากเป็นไปเพื่อคนส่วนน้อยที่เอาเปรียบคนส่วนใหญ่ ในประเทศไทย รัฐที่ผ่านมาเป็นตัวปัญหาของความขัดแย้งเสียเอง เพราะผู้มีอำนาจรัฐทั้งหลายแสวงหาผลประโยชน์ ตำแหน่ง ชื่อเสียง ทรัพย์สินเงินทอง และทะเยอทะยานในอำนาจการเมือง เข้าทำนองปากเพื่อส่วนรวมแต่ทำเพื่อส่วนตัว ดังเห็นได้จากปัจจุบันที่คนเสื้อแดงไม่ไว้ใจรัฐ เพราะรัฐได้ก่ออาชญากรรมกับประชาชนผู้ชุมนุมทางการเมือง ไม่เห็นหัวคนจน และดูถูกประชาชนของตัวเอง จนกลายเป็นความขัดแย้งในเชิงระบบโครงสร้างอย่างชัดเจน
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net