นิทรรศเสวนา “แสงเงากลางไฟใต้: ภาพอนาคตและการเมืองชายแดนใต้”

วานนี้ (27 มิ.ย.) เวลา 13.00 น. ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ เครือข่ายช่างภาพข่าวชายแดนใต้ เครือข่ายสื่อประชาสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้ ร่วมกับ เว็บไซต์ประชาไท.คอม จัดงาน นิทรรศเสวนา “แสงเงากลางไฟใต้: ภาพอนาคตและการเมืองชายแดนใต้” ที่สมาคมนักข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทย ในงานมีการเปิดตัวหนังสือ WeWatch Book ฉบับ In Between; Restive South พร้อมจัดแสดงภาพถ่ายจากเครือข่ายช่างภาพ และเสวนาในหัวข้อ “การเมืองภาพถ่ายในชายแดนใต้” ตติกานต์ เดชชพงศ บรรณาธิการของหนังสือ WeWatch Book ฉบับ In Between; Restive South เล่าว่า รูปถ่ายและเรื่องราวที่นำมาถ่ายทอดในหนังสือความยาว 159 หน้าเล่มนี้ เป็นผลมาจากการทำงานของเครือข่ายช่างภาพข่าวชายแดนใต้ (Deep South Photojournalism) ซึ่งประกอบไปด้วยช่างภาพจากกลุ่มต่างๆ ทั้งในสามจังหวัดชายแดนใต้ เช่น กลุ่มผู้หญิง กลุ่มเยาวชน ทั้งไทยพุทธและมุสลิม และช่างภาพจากนอกพื้นที่ที่มีความสนใจในประเด็นดังกล่าว เธอเล่าความเป็นมาของเครือข่าวดังกล่าวว่า “เมื่อมีการรวมกลุ่มกัน ก็พบว่าแต่ล่ะกลุ่มเริ่มมีประเด็นที่ร่วมขับเคลื่อนได้มากขึ้น เพราะก่อนหน้านี้ต่างคนต่างทำประเด็นของตัวเอง ในช่วงแรก เมื่อปีที่แล้ว มีช่างภาพที่สนใจมารวมกันได้ราว 30 คน และเมื่อเราจัดงานรวมตัวกันอีกเมื่อต้นปีนี้ ราวเดือนกุมภาพันธ์ ก็มีช่างภาพเข้ามาร่วมมากขึ้นถึงราว 100 คน โดยกลุ่มต่างๆ ในพื้นที่ก็ได้เข้ามามีส่วนร่วม เช่น กลุ่ม Peace Media และกลุ่ม Bintang Photo” เธอเล่าว่าเครือข่ายช่างภาพข่าวชายแดนใต้ (DSP) นี้ ทำงานเป็นเครือข่ายซึ่งประสานกับศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSW) โดยมีวิสัยทัศน์เพื่อนำเสนอมุมมองที่เกี่ยวกับชายแดนภาคใต้ที่แตกต่างไปจากกระแสหลัก “วิสัยทัศน์ของ DSP คือเรานำเสนอความหลากหลายของภาพ เพราะเราไม่สามารถนำเสนอภาพใดภาพหนึ่งที่เป็นตัวแทนของพื้นที่ได้ เราต้องการนำเสนออัตลักษณ์ที่หลายหลาย และสามารถสะท้อนเรื่องราวความเป็นจริงในพื้นที่” ตติกานต์อธิบาย เช่น ต่อกรณีน้ำท่วมใหญ่ที่ภาคใต้ในปลายปีที่แล้ว ทางเครือข่ายช่างภาพก็ได้ลงไปเก็บภาพและบันทึกวีดีโอความเสียหายในพื้นที่ และได้นำมาจัดนิทรรศการในที่เกิดเหตุ นับว่ามีประโยชน์ต่อชาวบ้านด้วยในการช่วยเก็บบันทึกข้อมูล “ที่ผ่านมา คนในพื้นที่ก็ไม่ได้รอส่วนกลาง เพียงแต่ว่าตอนนี้เขามีเครื่องมือที่จะพูดให้ดังขึ้น” บรรณาธิการสาวกล่าว ฟูอัด แวสะแม คนพื้นเพปัตตานี และช่างภาพอิสระกลุ่ม Seed ได้เล่าถึงจุดเริ่มต้นของการเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายช่างภาพข่าวชายแดนใต้ว่า ได้เริ่มถ่ายภาพอย่างจริงจังมาสี่ปีแล้ว และสนใจลักษณะการถ่ายภาพสวยงาม เช่น วิวทิวทัศน์ วิถีชีวิต และวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของชายแดนใต้เป็นพิเศษ เนื่องจากมองว่า ภาพดังกล่าวเป็นมิติของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ไม่ค่อยได้ถูกนำเสนอโดยสื่อกระแสหลัก เพราะมักจะต้องการภาพอีกแบบหนึ่งซึ่งมีแต่ความรุนแรง “ผมมองว่าการถ่ายภาพสามารถบอกเล่าเรื่องราวจากข้างในที่ภายนอกไม่สามารถบอกได้ เช่น วิถีชีวิตที่ดำรงอยู่ในภาวะปรกติเป็นอย่างไร รวมถึงความสวยงามของวิถีชีวิตและวัฒนธรรม ซึ่งนอกจากจะสื่อไปถึงคนข้างนอกแล้ว ยังทำให้สามารถดึงดูดช่างภาพด้วยกันได้ด้วย... แค่ทำให้คนอื่นอยากลงมาเยือนและเก็บภาพในสามจังหวัดผมก็ดีใจแล้ว” ฟูอัดกล่าว “สำหรับปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่สะสมมายาวนาน การถ่ายภาพคงไม่ได้ช่วยพลิกสถานการณ์ทันที แต่หวังว่าจะเยียวยาวความรู้สึกของคนที่นี่ได้บ้าง ให้รู้สึกว่ามีอักมุมหนึ่งที่มีความสวยงามและกิจกรรมที่น่าสนใจ ซึ่งมองว่าเป็นการเยียวยาได้อีกทางหนึ่ง” มูฮัมหมัดซอเร เด่ง หรือ “ซอเร” นักกิจกรรรมและช่างภาพอิสระกลุ่ม Bintang Photo เท้าความไปถึงในสมัยที่ตนเองได้ทำกิจกรรมด้านเด็กและเยาวชนอยู่ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งเป็นจุดที่ทำให้เขาเริ่มเห็นความสำคัญของการถ่ายภาพในฐานะส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนกิจกรรมเพื่อสังคม เนื่องจากมองว่าเป็นการสื่อสารกับคนภายนอกให้รับรู้ถึงสิ่งดีๆ เกี่ยวกับสามจังหวัดชายแดนใต้ ซอเร กล่าวว่า เขาเพิ่งจะเริ่มสนใจถ่ายรูปจริงจังก็เมื่อปลายปีที่แล้ว “สิ่งที่เปลี่ยนชีวิตคือ เมื่อปลายปีที่ผ่านมา เมื่อพายุดีเปรสชั่นถล่มปัตตานี ทุกคนจะโฟกัสในจุดใหญ่ๆ เช่น หมู่บ้านดาโต๊ะ แต่ในจุดเล็กๆ กลับถูกมองข้าม ในหมู่บ้านหนึ่งบริเวณเมืองปัตตานี ใช้เวลาถึงสองวันกว่าคนจะรู้ว่ามีความเสียหาย มีคนเสียชีวิตหนึ่งคน ผมจึงอยากจะทำอะไรเพื่อช่วยเหลือ จึงได้ไปถ่ายสภาพบ้านที่พังและโดนน้ำซัด และนำไปโพสต์ในเฟซบุคเพื่อหาเงินบริจาคให้ครอบครัว ทำให้เราสามารถหาเงินบริจาคได้หมื่นกว่าบาทเพื่อไปช่วยเหลือครอบครัวที่ประสบภัย” ซอเรกล่าว เหตุการณ์ดังกล่าวจึงได้ทำให้เขาเริ่มสนใจการถ่ายภาพอย่างจริงจัง และได้เข้าไปรู้จักช่างภาพคนอื่นๆ ในเครือข่าย DSP มากขึ้น พร้อมทั้งได้ตั้งกลุ่ม Bintang Photo โดยรวมเป็นกลุ่มในเฟซบุ๊ก เพื่อรวบรวมคนที่สนใจภาพถ่ายที่เกี่ยวกับสามจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิกเกือบ 200 คน และต่อมาได้พัฒนาเป็นเว็บไซต์ www.bintangphoto.com ซึ่งเป็นความพยายามของเขาและกลุ่มเพื่อนำเสนอสิ่งที่หาดูได้ยากในสามจังหวัด โดยเน้นเรื่องการดำเนินวิถีชีวิตในชุมชน “ในกลุ่มคนที่มาโพสต์รูปในกรุ๊ป ส่วนใหญ่จะเป็นภาพวิถีชีวิต มันบ่งบอกว่า คนในสามจังหวัดไม่ได้อยากนำเสนอภาพที่รุนแรงออกไป ผมอยากให้ทุกคนมองสิ่งที่เรียกว่ารัก ซึ่งเป็นอารมณ์ร่วมของคนในพื้นที่ การถ่ายรูปมันเป็นส่วนหนึ่งในการระบายจากหัวใจ” ซอเรกล่าว นครินทร์ ชินวรโกมล หรือ “ป๋าโด่ง” ช่างภาพสื่อมวลชนเครือเนชั่น,อีเอพี และคนพื้นเพชาวจีนจากจังหวัดยะลา ได้ให้มุมมองที่น่าสนใจในฐานะช่างภาพข่าวมืออาชีพ และในขณะเดียวกันก็เป็นคนในพื้นที่ด้วยว่า การนำเสนอภาพเกี่ยวกับชายแดนภาคใต้ต้องนำเสนออย่างรับผิดชอบ โดยนำเสนอตามความเป็นจริง แต่ให้ลดความรุนแรงของภาพลง เพื่อเป็นการเคารพคนที่เสียชีวิต และคนในพื้นที่ที่ยังมีชีวิตอยู่ “ภาพดีๆ มันไม่ค่อยขายเป็นข่าวได้ มันต้องมีความรุนแรง ภาพถ่ายที่ได้ออกไปสู่สาธารณะจึงมักจะเป็นภาพที่ดูรุนแรง และผมเองก็มักจะเป็นจำเลยในทุกวงว่า เป็นคนทำให้สถานการณ์ในพื้นที่ดูรุนแรงขึ้นหรือไม่ แต่อย่าลืมว่า ภาพที่ถ่ายออกมานั้น ก็เป็นการสะท้อนความจริงที่เกิดขึ้น และอยากให้ทุกคนเห็นว่าที่มีหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง จะทำยังไงให้ภาพพวกนี้มันหายไปในพื้นที่” นครินทร์กล่าว อย่างไรก็ตาม นครินทร์ ในฐานะที่ประจำการในจังหวัดยะลากล่าวว่า ตนมองว่าความเป็นอยู่ในสามจังหวัดชายแดนใต้ มีส่วนที่สันติมากกว่าความขัดแย้งเยอะกว่ามาก บทบาทของสื่อทางเลือก เช่น DSP จึงมีความสำคัญในการนำเสนอพื้นที่ตรงนี้ออกไปสู่สังคม เพื่อมาถ่วงดุลกับภาพความรุนแรงในสื่อกระแสหลัก “ตราบใดที่เราคิดให้เป็นกลาง ภาพที่เราถ่ายจะเกิดสันติภาพและไม่เกิดอคติ ที่ผ่านมา ผมเชื่อว่ามีอคติประกอบอยู่ในรูปภาพส่วนใหญ่ เช่นว่า มุสลิมเป็นผู้ก่อการร้าย แต่ผมไม่เชื่อเช่นนั้น เราต้องมีสันติภาพในความคิดตัวเองก่อน จึงจะได้ภาพที่ดีออกมา” “ป๋าโด่ง” กล่าวส่งท้าย ภาพันธ์ รักษ์ศรีทอง อดีตผู้สื่อข่าวประชาไท และคอลัมนิสต์อิสระ ได้พูดถึงการเมืองในภาพถ่ายว่า ในปัจจุบัน ภาพถ่ายกำลังทำงานทางการเมือง ต่อรอง แย่งชิงพื้นที่ของตัวเอง ถ้าเรามองย้อนกลับไปในอดีตจะพบว่า ภาพถ่ายก็มีหน้าที่การทำงานแบบหนึ่งในฐานะเครื่องมือของชนชั้นสูง เช่น ในสมัยรัชกาลที่สี่และห้า เมื่อตอนที่สยามยังมีอาณานิคม ภาพถ่ายก็ถูกใช้เพื่อเป็นการยืนยันและรับรองในสิทธิของตนเองเหนือดินแดนใดดินแดนหนึ่ง แต่หากมองกลับมาในยุคนี้ เครื่องมือชิ้นนี้ก็ได้เปลี่ยนไปเช่นกัน “เมื่อก่อน กล้องอยู่แต่ในมือของคนที่มีอำนาจ จำกัดเฉพาะคนบางสถานะ บางชนชั้น แต่ปัจจุบันใครสามารถถ่ายก็ได้ ประกอบกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ทำให้สามารถเพิ่มโอกาสในพูดถึงเรื่องราวของเราได้มากขึ้น ในการทำประเด็นที่เราสนใจ และสื่อสารให้คนอื่นรับรู้ได้มากขึ้น” ภาพันธ์กล่าว และมองว่า การถ่ายภาพเองยังมีคุณค่าต่อความทรงจำ “บางทีเราอาจมองการถ่ายรูปเป็นเรื่องความโรแมนติกก็ได้ เช่น บางสิ่งที่ไม่เราเคยให้ความหมาย เมื่อได้มาเห็นรูป อาจจะมองเป็นสิ่งสำคัญ เป็นการช่วยเตือนความจำในอดีต และเป็นข้อมูลให้คนรุ่นหลังสำหรับอนาคต”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท