Skip to main content
sharethis

25 พ.ย. 54 - อุทกภัยครั้งใหญ่ที่กำลังเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วประเทศสะท้อนให้เห็นว่า ประเทศไทยยังขาดความรู้ด้านการจัดการด้านโลจิสติกส์เพื่อรับมือภัยพิบัติ รศ.ดร. ดวงพรรณ กริชชาญชัย ผู้อำนวยการศูนย์โลจิสติกส์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ทุกครั้งที่เกิดภัยพิบัติ ประเทศเรามักแก้ปัญหาเฉพาะหน้า และแก้เป็นส่วนๆ ดังนั้นเป็นความจำเป็นเร่งด่วนที่รัฐต้องเตรียมแผนจัดการภัยพิบัติในสามระยะ ตั้งแต่ระยะก่อนเกิดภัยพิบัติ (pre-disaster) ระยะเกิดภัยพิบัติ (occurrence) และระยะฟื้นฟู-เยียวยา (rehabilitation) รศ.ดร. ดวงพรรณ ในฐานะผู้ประสานงานชุดโครงการโลจิสติกส์และซัพพลายเชนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) กล่าวว่า เมื่อเกิดภัยพิบัติ จะพบว่า มีเรื่องการจัดการด้านโลจิสติกส์เข้าไปเกี่ยวข้องมากมาย เร็วๆ นี้ สกว. จึงจะระดมพลนักโลจิสติกส์ทั่วประเทศมาร่วมกันวางแผนโลจิสติกส์เพื่อการจัดการภัยพิบัติในแต่ละขั้นตอน เพื่อเตรียมรับมือกับภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นได้อีกในอนาคต เช่น ในระยะก่อนเกิดภัยพิบัติ เป็นช่วงที่จะเกิดความต้องการสินค้าอุปโภคบริโภคในปริมาณมากกว่าปรกติ และสินค้าขาดแคลน ต้องมีการวางแผนของผู้ผลิตในการกระจายสินค้าและบริหารจัดการสินค้าคงคลัง เมื่อถึงระยะเกิดภัยพิบัติจะต้องมีแผนปฏิบัติการในการอพยพประชาชนและลำเลียงสิ่งของบรรเทาทุกข์ เช่น รัฐต้องทราบจำนวนครัวเรือนทั้งหมดในแต่ละเขต จำนวนครัวเรือนที่อพยพ และจำนวนครัวเรือนที่ยังคงอยู่ในพื้นที่ ต้องทราบเส้นทางลำเลียง เพื่อจัดการความช่วยเหลือต่างๆ เช่น เรื่องอาหาร และการดูแลด้านสาธารณสุขและการแพทย์ได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ รศ.ดวงพรรณกล่าวว่า เราจะต้องมีกระบวนการค้นหา (search) และให้ความช่วยเหลือ (rescue) ไม่ใช่มีแต่การให้ความช่วยเหลืออย่างเดียว ทำให้บางจุดได้รับความช่วยเหลือมาก ในขณะที่บางจุดไม่ได้รับความช่วยเหลือเลย ไม่มีความสมดุลกันระหว่างความช่วยเหลือกับความต้องการ และเมื่อผ่านพ้นภัยพิบัติ ก็ต้องมีแผนการเข้าไปฟื้นฟูและเยียวยา ซึ่งทุกขั้นตอนล้วนเกี่ยวข้องกับโลจิสติกส์ทั้งสิ้น สำหรับงบประมาณที่จะใช้ในการวิจัยประเด็นเหล่านี้ คาดว่าจะมาจากงบวิจัยเร่งด่วนที่สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จะจัดสรรมาให้ รศ.ดร. ดวงพรรณ กล่าวย้ำด้วยว่า ระบบปฏิบัติการโลจิสติกส์ที่จะแก้ปัญหาภัยพิบัติในแต่ละช่วงได้ จะต้องอาศัยการบูรณาการการทำงานขององค์กรรัฐทั้งหมด จะอาศัยแต่เฉพาะองค์กรที่เกี่ยวข้องกับเรื่องน้ำอย่างเดียวไม่ได้ การแก้ปัญหาโลจิสติกส์นี้จะเกิดขึ้นได้ ผู้มีอำนาจขับเคลื่อนจะต้องมอง “ระบบ” เป็นสำคัญ”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net