Skip to main content
sharethis

แอมเนสตี้ เรียกร้องให้ปล่อยตัว ปาร์ก จูงยืน ชาวเกาหลีใต้อายุ 24 ปี ที่ถูกทางการเกาหลีใต้จับกุมในข้อหาผิดกฎหมายความมั่นคงในประเทศ หลังจากที่เขาได้ส่งต่อข้อความทางทวิตเตอร์ซึ่งแชร์มาจากทวิตเตอร์ของทางการเกาหลีเหนือว่า “คิมจองอิลจงเจริญ” เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 55 ที่ผ่านมาแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้ออกแถลงการเรื่อง \เกาหลีใต้ต้องปล่อยตัวนักเคลื่อนไหวที่ถูกตั้งข้อหาเกี่ยวกับการส่งข้อความทางทวิตเตอร์เรื่องคิมจองอิล\" โดยมีรายละเอียดดังนี้ .............................. แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล แถลงการณ์ 1 กุมภาพันธ์ 2555 เกาหลีใต้ต้องปล่อยตัวนักเคลื่อนไหวที่ถูกตั้งข้อหาเกี่ยวกับการส่งข้อความทางทวิตเตอร์เรื่องคิมจองอิล ทางการเกาหลีใต้ควรปล่อยตัวนักเคลื่อนไหวสื่อสังคมออนไลน์ที่ถูกกล่าวหาว่าสนับสนุน “ปรปักษ์” ทันที หลังจากที่เขาได้ส่งต่อข้อความทางทวิตเตอร์ที่ได้รับจากบัญชีทวิตเตอร์ของรัฐบาลเกาหลีเหนือ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวในวันนี้ ปาร์ก จูงยืน (Park Jeonggeun) อายุ 24 ปี นักเคลื่อนไหวของพรรคสังคมนิยม ได้ถูกทางการเกาหลีใต้ตั้งข้อกล่าวหาเมื่อวานนี้ ฐานละเมิดกฎหมายความมั่นคงในประเทศ หลังจากที่เขาได้ส่งต่อข้อความทางทวิตเตอร์ที่ระบุว่า “คิมจองอิลจงเจริญ” ซึ่งเขาได้รับมาจากบัญชีทวิตเตอร์ของทางการเกาหลีเหนือ ปาร์กบอกว่า เขาส่งต่อข้อความทวิตเตอร์ฉบับนั้นเพื่อล้อเลียนผู้นำเกาหลีเหนือ และไม่ได้เป็นการสนับสนุนพวกเขาเลย แต่ต่อมาปาร์กก็ถูกควบคุมตัวที่ศูนย์กักตัวกรุงโซลตั้งแต่วันที่ 11 มกราคม และอาจต้องติดคุกเป็นเวลาถึงเจ็ดปี “กรณีนี้ไม่ใช่คดีความมั่นคงในประเทศเลย แต่เป็นเรื่องที่น่าเศร้าที่ทางการเกาหลีใต้ไม่เข้าใจเอาเลยถึงความรู้สึกที่ต้องการเสียดสี” แซม ซาริฟี (Sam Zarifi) ผู้อำนวยการแผนกเอเชีย-แปซิฟิก แอมเนสตี้อินเตอร์เนชันแนลกล่าว “การคุมขังบุคคลเพียงเพราะการแสดงความเห็นอย่างสงบ ละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ แต่ในกรณีนี้ ข้อกล่าวหาที่มีต่อปาร์ก จูงยืนเป็นเรื่องที่น่าตลก และทางการควรถอนข้อกล่าวหานี้โดยทันที” เขากล่าว ปาร์ก จูงยืนเป็นสมาชิกพรรคสังคมนิยมของเกาหลีใต้ที่มักวิจารณ์เกาหลีเหนือ สำหรับการกดขี่ด้านแรงงาน การห้ามตั้งสหภาพแรงงาน และการบังคับให้ประชาชนต้องทำงานในสภาพที่เลวร้าย “ปาร์กเป็นสมาชิกพรรคที่วิพากษ์วิจารณ์เกาหลีเหนืออย่างเปิดเผย แต่คดีที่เหลวไหลเช่นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับเขาเพียงคนเดียว เป็นเวลานานมาแล้วที่ทางการเกาหลีใต้ใช้พระราชบัญญัติความมั่นคงในประเทศ (National Security Law - NSL) เพื่อจำกัดเสรีภาพขั้นพื้นฐานและปิดกั้นการแสดงออกของภาคประชาสังคมโดยอ้างความมั่นคงในประเทศ” เขากล่าว ตำรวจกล่าวหาว่าปาร์ก จูงยืนเผยแพร่ข้อความโฆษณาชวนเชื่อของเกาหลีเหนือ “ความจริงผมเพียงแต่ต้องการล้อเลียนผู้นำเกาหลีเหนือเท่านั้นเอง ผมทำไปเพราะสนุก” ปาร์ก จูงยืนกล่าวกับแอมเนสตี้อินเตอร์เนชันแนล “นอกจากนั้นผมยังอัพโหลดและแก้ไขภาพโปสเตอร์โฆษณาชวนเชื่อของเกาหลีเหนือส่งผ่านทวิตเตอร์ มีการเปลี่ยนรูปทหารเกาหลีเหนือที่กำลังยิ้มอยู่เป็นภาพที่ดูขึงขังของหน้าผมเอง และเปลี่ยนจากอาวุธที่ทหารถือเป็นขวดเหล้า” “แม้ว่าผมจะไม่เห็นด้วยกับลัทธิคอมมิวนิสต์ของเกาหลีเหนือ แต่ผมก็สนใจในวัฒนธรรมเกาหลีเหนือและมีสิทธิที่จะได้เรียนรู้ถึงเรื่องนั้น” เขากล่าวเสริม “พระราชบัญญัติความมั่นคงในประเทศมีผลกระทบลึกซึ้งต่อเสรีภาพในการแสดงออกในเกาหลีใต้ แทนที่ทางการจะนำกฎหมายฉบับนี้มาแก้ไขปัญหาที่คุกคามความมั่นคงแห่งชาติ กลับนำมาคุกคามประชาชนและจำกัดสิทธิที่จะแสดงออกได้อย่างเสรี ควรมีการปฏิรูปกฎหมายฉบับนี้ให้สอดคล้องกับกฎหมายสิทธิมนุษยชน และถ้ารัฐบาลแก้ไขกฎหมายไม่ได้ ก็ควรยกเลิกไปเสีย” แซม ซาริฟี ในช่วงที่เกาหลีใต้อยู่ใต้การปกครองของทหารระหว่างทศวรรษ 1970 และ 1980 ทางการมักใช้กฎหมายความมั่นคงฉบับนี้เพื่อจับกุมคุมขังประชาชน และมักมีการทรมาน บังคับให้สารภาพ และการไต่สวนอย่างไม่เป็นธรรมในระบบยุติธรรมทางอาญา แม้ว่าระบอบทหารในเกาหลีใต้จะสิ้นสุดลงแล้ว แต่ทางการก็ยังคงใช้พระราชบัญญัติความมั่นคงในประเทศเพิ่มมากขึ้นเพื่อคุกคามต่อผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์นโยบายของรัฐบาลเกาหลีเหนือนับแต่ปี 2551 เป็นต้นมา ทางการเกาหลีใต้โดยเฉพาะตำรวจ อัยการ และสำนักข่าวกรองแห่งชาติยังคงใช้พระราชบัญญัติความมั่นคงในประเทศเป็นเครื่องมือปราบปรามผู้เห็นต่าง โดยเฉพาะผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์นโยบายของรัฐบาลต่อเกาหลีเหนือ ในช่วงที่ผ่านมามีการจับกุมบุคคลจำนวนมากโดยใช้พระราชบัญญัติความมั่นคงในประเทศ ในข้อหา “โฆษณาชวนเชื่อหรือยุยงให้เกิดการล้มล้างระบอบปกครอง” ซึ่งในกรณีที่บุคคลใดถูกไต่สวนพบว่ามีความผิดในข้อหาสรรเสริญ ยุยง หรือโฆษณาชวนเชื่อกิจกรรมของ “หน่วยงานต่อต้านรัฐบาล” ก็อาจต้องได้รับโทษจำคุกมากถึงเจ็ดปี หลักเกณฑ์ที่ใช้ในการนิยามคำว่า “สรรเสริญ” “ยุยง” หรือ “โฆษณาชวนเชื่อ” เป็นการตีความตามดุลพินิจของผู้ใช้กฎหมายเอง ปัจจุบันมีการสืบสวนสอบสวนหลายคดีที่เกี่ยวข้องกับผู้ซึ่งเผยแพร่ข้อความเกี่ยวกับเกาหลีเหนือทางอินเตอร์เน็ต โดยทางการเกาหลีใต้เห็นว่าเป็นข้อความที่ “เป็นประโยชน์ต่อปรปักษ์”"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net