Skip to main content
sharethis

“มันเป็นห้องลูกกรงที่มืดทึบมาก แม้แต่สายลมยังผ่านเข้าไปไม่ได้” ป้าอุ๊ ภรรยาของอากงบรรยายลักษณะห้องนอนที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ ซึ่งเธอมีโอกาสขึ้นไปดูในวันที่ไปรับศพอากง

เรื่องราวของอากงสร้างความสะเทือนใจให้ผู้คนอย่างยิ่ง เพราะมันสะท้อนปัญหาการดำเนินคดีเกี่ยวกับมาตรา 112 อย่างถึงที่สุด ตั้งแต่ต้นจนจบ  

นอกเหนือจากประเด็นข้อกฎหมาย การปฏิบัติตามมาตรา 112 หรือเรื่องสิทธิการประกันตัวแล้ว การจบชีวิตของอากงในเรือนจำ ยังฉายให้เห็นภาพคุกไทยอย่างหมดจด มันเป็นแผลที่หมักหมมมายาวนานและขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยไม่ว่าเรื่องงบประมาณ เรื่องทัศนคติเจ้าหน้าที่ ฯลฯ ส่งผลกระทบต่อ “คนจน”  “คนชายขอบ” ไม่ว่าจะเป็นแพะหรือไม่แพะอีกจำนวนมาก หากเรายังยืนยันว่าเขาควรได้รับการดูแลในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง

 

Ø  ไทยมีผู้ต้องขังทั้งหมด 234,678 คน (1 เมษายน 2555,กรมราชทัณฑ์)

Ø  ศักยภาพในการรองรับผู้ต้องขังของไทย คือ 108,904 คน  (งานวิจัย คุกไทย 2554,แดนทอง บรีน)

Ø  ไทยอยู่อันดับ 8 ของโลกในเรื่องความหนาแน่นของนักโทษ (งานวิจัย, อ้างแล้ว)

Ø  งบประมาณของกรมราชทัณฑ์ ปี 2554 คือ 8.85 พันล้านบาท *

Ø  เทียบกับงบประมาณกระทรวงกลาโหม ปี 2554 คือ 1.68 แสนล้านบาท *

Ø  เทียบกับงบแผนงานสร้างค่านิยมในการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ และเสริมสร้างความสมานฉันท์ของคนในชาติของกระทรวงยุติธรรม 4.5 พันล้าน (กระทรวงเดียว) *

Ø  เทียบกับงบกลางของปี 2554 เช่น ค่าใช้จ่ายตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 2.3 พันล้าน, ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเสด็จพระราชดำเนินและต้อนรับประมุขต่างประเทศ 6 ร้อยล้าน ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลข้าราชการ ลูกจ้าง พนักงานรัฐ 6.2 หมื่นล้าน เป็นต้น *

Ø  ในงบราชทัณฑ์จำนวน 8.85 พันล้าน เป็น “ค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตของผู้ต้องขัง 12,000,000 บาท” และ “ค่าใช้จ่ายผู้ต้องขัง 2,750,000,000 บาท” หากคำนวณเฉลี่ยกับนักโทษ 234,678 คน จะได้คนละ 11,769 ต่อคนต่อปี หรือ 980 ต่อคนต่อเดือน หรือ 33 บาทต่อวัน**

 

 

 

*ข้อมูล เอกสารงบประมาณ ฉบับที่3 งบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2554
http://www.bb.go.th/budget_book/e-Book2554/pdf/vol1.pdf
http://www.bb.go.th/budget_book/e-Book2554/pdf/vol6.pdf

**คำนวณตัวเลขเบื้องต้นจากเอกสารงบประมาณเท่านั้น

 

สำรวจสถานพยาบาลในเรือนจำ

จากคำบอกเล่าของ ณัฐ (ขอสงวนนามสกุล) อดีตผู้ต้องหาคดีหมิ่นฯ ที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำเดียวอากงมาราว 2 ปี 4 เดือน และเพิ่งถูกปล่อยตัวเมื่อเดือนที่แล้ว (อ่านรายละเอียดคดีได้ที่ http://freedom.ilaw.or.th/th/case/28)

เขาเล่าว่า เขาเป็นคนหนุ่ม ไม่ค่อยเจ็บป่วยอะไรนัก แต่เมื่อต้นปี54 ป่วยเป็นโรคหัด และอาการหนักจนทำงานในเรือนจำไม่ไหว เป็นผื่นทั้งตัวจนน่ากลัว กล้ามเนื้ออ่อนแรง จึงไป “พ.บ.” หรือสถานพยาบาลในเรือนจำ ซึ่งเป็นที่รักษาอาการเบื้องต้นของนักโทษทั้ง 8 แดน หากใครมีอาการหนักมากๆ จึงจะได้รับการส่งตัวออกไปยังโรงพยาบาลราชทัณฑ์ซึ่งอยู่ถัดไปนอกรั้วเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ

ณัฐว่า นักโทษหลายคนบ่นกับเขาเกี่ยวกับบริการที่นี่ เพราะไม่ว่าจะไปด้วยสาเหตุอะไร พวกเขามักได้รับยาอย่างเดียวกันกลับมาคือ “พาราเซตามอล”

“ผมไปก็เห็นยาหลายอย่างอยู่ในตู้เขา แต่ทำไมเขาให้มาแต่ยาพาราก็ไม่รู้เหมือนกัน ตอนผมเป็นหัดไปหาหมอที่นั่น เขาก็ไม่ค่อยสนใจ แล้วก็ให้ยาพารากลับมาเหมือนกัน”

“การพูดการจาก็ไม่ดีเลย บางคนขึ้นมึงขึ้นกูกับนักโทษ โดยเฉพาะหมอผู้ชาย หมอหรือเปล่าก็ไม่รู้ หรือเป็นเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เขาไม่เห็นนักโทษเป็นคนเลย”

ณัฐว่า เรื่องแออัดหรือรอคิวยาวนั้นไม่ต้องพูดถึง เพราะเป็นเรื่องปกติในเรือนจำ เขายังเล่าว่าระบบการรักษาฉุกเฉินก็ค่อนข้างยุ่งยาก หากขึ้นเรือนนอนแล้วแล้วมีใครป่วยหนักฉุกเฉิน พวกเขาต้องพยายามตะโกนเรียกเจ้าหน้าที่ ซึ่งกว่าจะมาเปิดประตูได้นั้นนานมาก เพราะกุญแจไม่ได้อยู่ในแดนนั้น เจ้าหน้าที่จะต้องวิ่งไปทำเรื่องขอเบิกกุญแจอีกที่หนึ่ง ทำให้ต้องรอนานกว่าจะมีคนเข้ามาดู นอกจากนี้ในเรือนจำยังขังคนป่วยไม่ว่าจะวัณโรค หรือเอดส์ ร่วมกับคนอื่นๆ บางคนเป็นระยะท้ายๆ ไอเป็นเลือดทั้งคืนจนเพื่อนร่วมห้องที่นอนกันอย่างแออัดพากันหวาดกลัวจะติดโรค

 

เปิดคุกดูชีวิต กิน อยู่ หลับนอน

แม้ว่าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ จะมีบริการที่ค่อนข้างดีสำหรับญาติพี่น้องที่จะเข้าเยี่ยมนักโทษเมื่อเปรียบเทียบกับที่อื่นๆ แล้วก็ตาม แต่สภาพความเป็นอยู่ภายในยังคงเป็นปัญหาคล้ายกันในเรือนจำทุกที่

หากอยากเห็นภาพชีวิตผู้ต้องขังโดยละเอียดทุกตารางนิ้ว คงหนีไม่พ้นต้องให้ผู้ต้องขังเล่าเอง ซึ่งเคยมีผู้ต้องขัง(คดีหมิ่น) พยายามอธิบายเรื่องนี้ไว้แล้วโดยละเอียด

“การอาบน้ำของที่นี่ เราอาบรวมกัน ไม่มีการแยกระหว่างคนปกติกับคนป่วย ซึ่งทุกแดนเราอาศัยรวมอยู่กับผู้ต้องขังที่ป่วยสารพัดโรค เช่น โรควัณโรค ที่เราเรียกกันติดปากว่า โรคทีบี (TB) โรคเอดส์ โรคผิวหนังต่างๆ ที่ฮิตที่สุดคือโรคหิด หรือที่ภาษาคุกเรียกว่า “ตะมอย” โรคเหล่านี้สามารถแพร่กันได้ผ่านทางน้ำที่ใช้ เราทุกคนจึงมีโอกาสที่จะเสี่ยงติดโรคเหล่านี้ได้ทุกคนและทุกเวลา และสามารถติดได้ง่ายมากๆ ด้วย สิ่งที่เราจะทำได้นั่นคือ การป้องกันตัวเอง เช่น ใช้สบู่ฆ่าเชื้อโรคแทนสบู่ธรรมดา และยาสระผมที่มีตัวยาป้องกันเชื้อราแทนยาสระผมธรรมดา และพยายามอยู่ให้ห่างผู้ป่วยที่เป็นโรคเหล่านี้ที่เดินกันปะปนกับคนทั่วไป โดยไม่มีการแยก นับเป็นความตื่นเต้นอีกอย่างหนึ่งที่พวกเราต้องเผชิญกัน”

“ลักษณะส้วมในนี้เคยมีคนบอกว่าเหมือนส้วมในประเทศจีน ผมเองก็ไม่แน่ใจว่าเหมือนหรือเปล่าเพราะไม่เคยไป แต่พอจะบรรยายให้เห็นลักษณะได้ก็คือ จะเป็นส้วมแบบที่ไม่มีประตู แต่ทำกำแพงล้อมซ้ายขวาและด้านหลังสูงประมาณ 80 cm ด้านบนโล่งไม่มีหลังคา ด้านหน้าเป็นทางเข้า เป็นกำแพงสูงประมาณ 40 cm สำหรับเดินข้ามเข้าไปนั่ง เป็นส้วมแบบนั่งยอง วางต่อๆ กันไป โดยใช้กำแพงร่วมกัน”

 

 

“เวลา 2 ทุ่ม โทรทัศน์จะปิดหมดเพื่อให้ผู้ต้องขังทุกคนทุกแดน สวดมนต์ และยืนร้องเพลง “สรรเสริญพระบารมี” โดยพร้อมเพรียงกัน เป็นกิจกรรมที่ผู้ต้องขังต้องทำทุกวัน ตั้งแต่ก้าวแรกที่เหยียบเข้าประตูเรือนจำมา ละครจบโทรทัศน์ปิด ถือเป็นสัญญาณสิ้นสุดทุกสิ่งทุกอย่างในวันนั้น เพื่อเริ่มต้นวันใหม่ที่เป็นแบบเดิมๆ อย่างนี้ทุกวัน จนกว่าวันแห่งอิสรภาพของแต่ละคนจะมาถึง”

“ที่ พบ.จะมีแพทย์ประจำอยู่เพียง 1-2 คนในแต่ละวันที่เหลือจะเป็นบุรุษพยาบาล หรือคนที่ไม่ใช่แพทย์โดยตรง คนพวกนี้แทบจะเรียกว่าไร้จรรยาบรรณแพทย์ (ก็เขาไม่ใช่แพทย์นี่นา) การออกไปรับการตรวจ ผู้ต้องขังจะถูกปฏิบัติเหมือนคนที่น่ารังเกียจทั้งสายตา คำพูดคำจา และการปฏิบัติทำให้หลายๆ คนไม่อยากออกไป พบ. เพราะทนรับการปฏิบัติเช่นนี้ไม่ไหว สู้ไม่ออกไปเสียยังดีกว่า”

 

อ่านฉบับเต็มได้ที่

เปิดจดหมาย เรื่องเล่าชีวิตในเรือนจำ (ฉบับละเอียดที่สุดในประเทศไทย)

(ตอนจบ) เปิดจดหมาย เรื่องเล่าชีวิตในเรือนจำ (ฉบับละเอียดที่สุดในประเทศไทย)

 

ทำไมคนล้นคุก ?

แดนทอง บรีน และคณะ เคยทำวิจัยเกี่ยวกับปัญหามาตรฐานการดูแลผู้ต้องขังในคุกเมืองไทย รวมถึงวิเคราะห์ปัญหาคนล้นคุกไว้ว่า

นักโทษล้นคุกสืบเนื่องมาจาก

1. จำนวนผู้ต้องหาจำนวนมากที่ถูกคุมขังระหว่างสอบสวน บวกกับระยะเวลาอันยาวนานของขั้นตอนตามกฎหมาย ถ้าหากผู้ต้องหาไม่สามารถประกันตนได้ด้วยจำนวนเงินที่เป็นสัดส่วนกับความสามารถของแต่ละบุคคลอย่างที่ สามารถปฏิบัติได้จริงแล้ว ระบบยุติธรรมทางอาญาก็ไม่ยุติธรรมหรือเท่าเทียมกันอีกต่อไป การกักขังระหว่างการ สอบสวนควรจะเป็นข้อยกเว้น ไม่ใช่ระเบียบปฏิบัติทั่วไป ระยะเวลาการกักขังถึง 2 ปีนั้นยาวเกินไป ไม่ว่าในกรณี ใดๆ ระยะเวลาของการกักขังระหว่างการสอบสวนไม่ควรนานเกิน 6 เดือน ตัวอย่างเช่น ในประเทศออสเตรียมีการ กำหนดการกักขังเป็นระยะเวลา 2 เดือน ในกรณีที่เกรงว่าอาจจะมีการสมรู้ร่วมคิดระหว่างการสอบสวน

2. การลงโทษที่รุนแรงมากเกินกว่ามาตรฐานทั่วไป ปฏิญญาว่าด้วยสิทธิของคน ค.ศ. 1789 กล่าวว่า “กฎหมายจะต้องลงโทษตามความจำเป็นที่ชัดเจนเท่านั้น”

3. การไม่สนใจทางเลือกอื่นของการลงโทษแทนการคุมขัง ดังที่ประกาศใน “ระเบียบโตเกียว” (Tokyo Rule) หรือ ระเบียบมาตรฐานขั้นต่ำของวิธีการไม่คุมขังของสหประชาชาติ

ปัญหารองลงมาคือ การขาดแผนก่อนพ้นโทษที่มีประสิทธิผล ซึ่งประกอบด้วยการฝึกอาชีพสำหรับการดำชีวิตใน ชุมชน และการให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่องเมื่อพ้นโทษไปแล้ว

“นักโทษยังถือว่าเป็นสมาชิกของสังคม พวกเขามีครอบครัวมีภรรยามีสามีและมีลูกหลานซึ่งอาจจะต้องพึ่งพาคู่ชีวิตหรือผู้ปกครองที่ไม่ได้อยู่ด้วยกัน และผู้ซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญยิ่งในการที่จะช่วยให้นักโทษที่ถูกปล่อยตัวกลับเข้าสู่ชีวิต ปกติการเยี่ยมนักโทษของบุคคลในครอบครัวไม่ควรจะต้องกลายเป็นการตะโกนใส่กันผ่านแผงกั้นตะแกรงเหล็กหรือกระจก พวกเขาควรจะได้โอบกอดกันได้จับมือกันและพูดกันเบาๆได้พวกเขาควรมีโอกาสที่จะพูดคุยกันทางโทรศัพท์อย่างสม่ำเสมอ และจดหมายจากครอบครัวไม่ควรจะต้องผ่านการเซ็นเซอร์ ถ้าจดหมายจากครอบครัวจะต้องถูกเปิดก่อนก็ควรเปิดต่อหน้านักโทษ นักโทษควรจะสามารถเข้าถึงสื่อหนังสือพิมพ์วิทยุและโทรทัศน์เพื่อพวกเขาจะได้รับทราบเรื่องราวที่เกิดขึ้นภายนอกกำแพงกรมราชทัณฑ์”

สิ่งที่แดนทองสรุปไว้ในงานวิจัยชิ้นนี้ดูเป็นเรื่องพื้นฐานที่แสนธรรมดา แต่ไม่น่าเชื่อว่ามันจะห่างไกลจากสิ่งที่เป็นอยู่ในคุกไทยทุกวันนี้

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net