Skip to main content
sharethis

กลายเป็นประเด็นร้อนพูดกันปากต่อปากเมื่อสาวนางหนึ่งขึ้นเวทีรายการโชว์ความสามารถ Thailand Got Talent เธอจัดการถอดเสื้อชั้นใน จากนั้นป้ายสีและละเลงตัวไปทั่วผืนผ้าใบด้วยลีลาอันเร่าร้อน กรรมการทั้งสามคนเสียงแตกออกเป็นสอง ฝ่ายชายทั้งสองให้ผ่านด้วยเหตุผลว่านี่คือศิลปะเขารับได้ ส่วนฝ่ายหญิงเกิดภาวะไม่ถูกใจอย่างแรก ปฏิเสธจะให้ผ่านพร้อมสีหน้างุนงงกรรมการอีกสองท่านว่าให้ผ่านไปได้อย่างไร

กรรมการหญิงท่านนั้นแสดงความไม่พอใจอย่างรุนแรง เธอเดินออกจากห้องส่งไปในทันทีทำให้รายการต้องยุติการถ่ายทำ (รายการนี้เป็นรายการบันทึกเทปและที่เราเห็นก็เป็นเทปเหตุการณ์) ทว่าเธอยังหยุด เธอเดินไปถามพิธีกรทั้งสองด้วยอารมณ์ฉุนเฉียวว่าให้การแสดงแบบนี้ (ที่เธอบอกว่าไม่ใช่ศิลปะ) ผ่านเข้ารอบได้อย่างไร

นับแต่เหตุการณ์นี้เกิดขึ้น ถูกนำไปเสนอในข่าวเกือบทุกรายการ พาดหน้าหนึ่งในหนังสือพิมพ์ทุกหัว กลายเป็นประเด็นวิพากษ์ วิจารณ์ และวิเคราะห์ ทั้งบทบาทของกรรมการ และความเป็นศิลปะหรือไม่เป็นศิลปะของการแสดงในวันนั้นอย่างร้อนแรงในเฟซบุ๊ค กระแสความคิดแตกเป็นหลายฝ่ายเถียงกันเผ็ดร้อน

ในขณะที่หลายคนหลายฝ่ายพรมนิ้วบนคีย์บอร์ด คนที่ได้ประโยชน์จากดราม่าเหล่านี้คงกำลังหัวเราะร่า
คนได้ประโยชน์จากกรณีมีอยู่เจ้าเดียวคือบริษัทผู้ผลิตรายการนี้ หากลองมองพิจารณาจากสิ่งที่ได้เห็นในรายการก็เชื่อได้ไม่ยากว่าสิ่งที่เกิดขึ้นย่อมเกิดจาการคิดวิเคราะห์ผลดีผลเสียไว้เรียบร้อยแล้ว

คุณคิดหรือว่าโปรดิวเซอร์ที่ควบคุมการผลิตรายการจะคิดและตัดสินใจไม่ได้ว่าการแสดงไหน “ควร” หรือ “ไม่ควร” ออกอากาศ กว่าจะมาเป็นโปรดิวเซอร์ได้ ต้องผ่านงานมาอย่างหลากหลายและโชกโชน ถูกเคี่ยวกรำด้วยระบบคิด “เฉพาะองค์กรบริษัท” ว่ารายการแบบไหน รสนิยมแบบใด รูปแบบการนำเสนอสไตล์ไหนที่จะสามารถสร้างความนิยมให้กับรายการตนได้มากที่สุด

รายการนี้เป็นรายการบันทึกเทป มิใช่รายการสด สิ่งที่คนดูได้เห็นร่วมกันคือนั่นเป็นรายการเทปที่สามารถตัดต่อ เลือกมุมกล้อง ตัดทิ้ง เซนเซอร์ได้อย่างมากมายดั่งใจโปรดิวเซอร์และผู้กำกับปรารถนา ปัญหาที่น่าคิดคือทำไมรายการเมื่อรู้ว่าการแสดงนี้ 'อาจ' ก่อปัญหาตามมาได้ ใยจึงเลือกนำเสนอ แถมที่สำคัญยังนำเอาเบื้องหลังที่กรรมการหญิงอารมณ์เสียและตามไปโวยวายอีก

เห็นแค่นี้ก็รู้แล้วว่าทีมงานตั้งใจปล่อยเทปนี้ออกมา พวกเขามีวิจารณญาณพอที่จะรู้ว่าแม้จะก่อให้เกิดปัญหาบางอย่างตามมา แต่สิ่งที่ได้รับคือการเป็น Talk of the Town นั้นสามารถเรียกเรตติ้งรายการในครั้งต่อไปให้พุ่งสูงได้อย่างที่ต้องการ ชั่งน้ำหนักแล้วคุ้มมากกว่าเสีย

ครั้งหนึ่งเราเคยเชื่อกันว่า Camera never lies แต่ทุกวันนี้ความคิดแบบนี้คงเปลี่ยนไปเพราะอะไร ๆ ในทีวีคงเซ็ทกันไว้เสียหมด กลายเป็น Television and camera always lie. ต่างหาก

ทีมงานคงจับกลวิธีได้ (ไม่รู้เพราะอ่าน drama addict แล้วเกิดพุทธปัญญาหรือเปล่า) ว่าในโลกไซเบอร์มีโอกาสเกิดความขัดแย้งทางความคิด และถกเถียงกันด้วยคำรุนแรงทั้งมีเหตุผลและไม่มีเหตุผล แถไปก็เยอะ แถมรักใครจริงก็จะเคียงข้างเชียร์จนกว่าจะตายกันไปข้าง แล้วประเด็นไหนที่ร้อนขึ้นมาก็พลุ่งพล่านแบบไฟไหม้ฟาง คือร้อนไวและร้อนแรง แต่ดับเร็ว ดังนั้นกระแสสังคมที่เกิดขึ้นย่อมเกิดขึ้นได้รายวันแล้วเป็นประเด็นถกเถียงได้ทันที กลวิธีเรียกคนดูแบบเดิม ๆ ที่เคยใช้อาจจะไม่ประสบผลสำเร็จมากเท่าอดีต สู้สร้างประเด็นร้อนในรายการเพื่อให้คนสนใจจนพูดคุยกันไปทั่ว จนคนจับตาดูกันทุกสัปดาห์ว่าอาทิตย์นี้จะมีเรื่องมหัศจรรย์อะไรอีก

หากสังเกตดูจะรู้ว่าในแต่ละสัปดาห์ ทีมงานคัดเลือกแล้วว่าจะให้คนแบบไหน การแสดงแบบใด ขึ้นเวที (เป็นข้อเท็จจริงที่ไม่ใช่ทุกการแสดงและทุกคนจะได้ขึ้นเวที เพราะต้องมีการออดิชั่นคัดให้ผ่านหรือไม่ผ่านสกรีนมาก่อนแล้ว) ด้วยการที่ทำรายการที่เน้นเร้าอารมณ์มาหลายงานและยาวนาน (ชมรมขนหัวลุกกับอารมณ์กระตุกขวัญ แฟนพันธุ์แท้กับอารมณ์ตื่นเต้นสุดขีดกับการลุ้นคำตอบจนกลายเป็นเครื่องหมายการค้าของปัญญา นิรันดร์กุล) ทีมงานย่อมรู้ดีว่าการแสดงเพียงอย่างเดียวอาจเรียกความสนใจได้ไม่มากพอและมีรายการอีกไม่น้อยที่มีลักษณะคล้ายกัน (อย่างเกมพันหน้าของค่ายทริปเปิลทู ก็ให้คนมาแสดงความสามารถเช่นกัน)

“หมากัดคนไม่เป็นข่าว แต่ถ้าคนกัดหมาเป็นข่าว” ฉันใดก็ฉันนั้น รายการจึงต้องสร้างความแปลก ความเฉพาะเจาะจงของแต่ละคนเพื่อการจดจำมากไปกว่าการแสดง คนดูจึงได้เห็นอัตถชีวประวัติแบบย่อ ๆ ของผู้เข้าแข่งขันที่เลือกเอาเฉพาะความลำบากยากเค้นมาเสนอ เราจึงได้เห็นหญิงสาวเสียงดีแต่ยากจนร้องเพลง What's going on (เธอร้องดีจริง แต่แบคกราวด์ชีวิตเธอช่วยทำให้คนอินกับเสียงเธอขึ้นอีกสองเท่า) หรือกลุ่มเด็กพิการที่บ้านที่พักอาศัยกำลังประสบปัญหาการเงิน เป็นต้น

ผมเชื่อว่าทีมงานต้องรู้ว่าดวงใจ หญิงสาวจากแพร่มีการแสดงเป็นเปลือกอกวาดภาพ และทีมงานคาดผลไว้ว่าย่อมเกิดอะไรแบบนี้ (ลองนึกถึงการเรียนการสอนในระดับปริญญาตรี หากมีนักศึกษาสักกลุ่มเสนอโครงร่างรายการว่าจะให้มีผู้หญิงมาใช้นมวาดรูป คงต้องถูกซักไซ้จากอาจารย์จนถึงที่สุดถึงความเหมาะสม) ที่สำคัญ ไม่แน่ว่าสิ่งที่เราเห็นในทีวีนั้นอาจจะมีความจริงบางชุดซ่อนแฝงอยู่ก็ได้

ความรู้สึกของผมในช่วงวันสองวันที่ผ่านมา เห็นปฏิกิริยาในเฟซบุ๊คแล้วคล้ายกับเรากำลังกลายเป็นเหยื่อรายการทีวีอย่างไรไม่ทราบ หลายคนออกมาวิพากษ์วิจารณ์อย่างเผ็ดร้อน นักวิชาการไม่น้อยวิเคราะห์กันว่านี่คือภาพนั้นเป็นศิลปะหรือไม่ บ้างก็ใช้แนวคิดเรื่องการเป็นขบถผ่านร่างกาย ด้วยมองว่าดวงใจกำลังแสดงผลงานผ่านนมที่เปลือยเปล่าอันสื่อถึงการขบถต่อจารีตสังคมที่ต้องแต่งกายปิดบังหน้าอก บ้างก็มองตามแมคลูแฮนว่ามนุษย์เองก็คือสื่อ การกระทำของดวงใจก็เป็นการสื่อสารโดยใช้ตัวเธอเป็นสื่อ (medium)

ไม่ว่าจะวิเคราะห์กันละเอียดขนาดไหน ทิศทางใด มุมมองจากใคร เหมือนเรากำลังเต้นไปตามเกมที่รายการได้เซ็ทไว้แต่แรก สมมติถ้าการกระทำของดวงใจเป็นเพียงการสั่งให้ทำจากโปรดิวเซอร์ ไม่ว่ามุมมองไหนอาจจะกลายเป็นมองผิดฝาผิดตัวเนื่องด้วยเจตจำนงของดวงใจที่บิดเบือนเปลี่ยนไป (ย้ำว่าสมมติ)

ผมเองหวังว่าน่าจะสามารถใช้ในการกระตุ้นให้คนดูหันมาสนใจการรู้เท่าทันสื่อมากขึ้น ในเมื่อทีวีไม่เคยให้ภาพความจริงแท้ กล้องไม่เคยเสนอภาพที่จริงร้อยเปอร์เซนต์ เราเองไม่มีวันรู้ว่าเบื้องหลังรายการทีวีหนึ่ง ๆ ลึกลับซับซ้อนขนาดไหน คนดูอย่างเรา ๆ ก็จงอย่างเชื่อสิ่งที่มองเห็นผ่านทีวีอย่างหมดใจเสียทันที

เพราะทีวีนั้นโกหกมาตลอดตั้งแต่วันที่ถูกกำเนิดขึ้นมา

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net