Skip to main content
sharethis

สนข. ระบุการค้า-ขนส่งช่องแคบมะละกามีมูลค่าสูง แนะทำยุทธศาสตร์เชื่อมโยงขนส่งทางทะเลที่ติดกับมหาสมุทรแปซิฟิค-อินเดีย เพื่อเปิดประตูการค้าใหม่ ขณะที่ชาวบ้านในพื้นที่ยังไม่เคยรับรู้ข้อมูลที่ชัดเจน ด้าน คสป.แนะจัดเวทีพูดคุย

 
ที่มาภาพ: http://www.pakbaradeepseaport.com/
 
ดร.มาลี เอื้อภารดา หัวหน้ากลุ่มโลจิสติกส์การขนส่งสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา จังหวัดสตูล ระหว่างการประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นประเด็น “แผนพัฒนาภาคใต้” เมื่อเร็วๆ นี้ว่า ปัจจุบันปริมาณการค้าและการขนส่งทางภาคใต้บริเวณช่องแคบมะละกามีมูลค่าสูง ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีของประเทศไทยที่จะมุ่งทำยุทธศาสตร์เชื่อมโยงการขนส่งทางทะเลของประเทศต่างๆ ที่อยู่ติดกับมหาสมุทรแปซิฟิคเข้ากับประเทศที่อยู่ติดกับทางมหาสมุทรอินเดียด้วยสะพานเศรษฐกิจ ซึ่งจะเป็นการช่วยย่นระยะเวลาในการขนส่งและลดค่าใช้จ่ายในการขนส่งลงอีกด้วย
 
“ประเทศไทยซึ่งมีความเหมาะสมทั้งทำเล ที่ตั้ง ลักษณะภูมิศาสตร์และทรัพยากรต่างๆ สามารถพัฒนาจนเป็นศูนย์กลางการขนส่งในภูมิภาค รองรับการขยายตัวในอนาคตที่เพิ่มขึ้นทางการค้าและการขนส่งในภูมิภาคอาเซียน และสามารถเชื่อมโยงการขนส่งกับภูมิภาคอื่นๆ ของโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยการสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบาราท่าเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่ 2 และทางรถไฟในพื้นที่ จ.สตูลและสงขลา จะสามารถรองรับเรือสินค้าขนาดใหญ่ได้เป็นจำนวนมาก”
 
ทั้งนี้ท่าเรือน้ำลึกปากบารา ตั้งอยู่ที่บริเวณชายหาดบ้านปากน้ำ ตัวท่าเรือถมเป็นเกาะอยู่ห่างจากฝั่งประมาณ 4.5 กิโลเมตร ส่วนที่ทำการก่อสร้างท่าเรือในส่วนอาคารและสาธารณูปโภค มีการวิเคราะห์ทางการเงินลงทุน ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งอยู่ระหว่างการนำเสนอเรื่องขออนุมัติโครงการสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา จ.สตูล ผ่านกระทรวงคมนาคมเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป คาดว่าประเทศไทยจะได้รับประโยชน์จากการส่งออกและนำเข้าสินค้า ทำให้เกิดการพัฒนากิจกรรมเศรษฐกิจด้วยการเปิดประตูการค้าใหม่ รวมทั้งช่วยส่งเสริมระบบการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบที่มีประสิทธิภาพและมีต้นทุนการขนส่งที่ต่ำลงอีกด้วย
 
นายตรีพิพัฒน์ บัวเนี่ยว รองหัวหน้าโครงการเครือข่ายพลเมืองปกป้องแผ่นดินถิ่นเกิด กล่าวว่า ในแง่ของประชาชนในพื้นที่ยังมีความกังวลอยู่หลายเรื่องทั้งขนาดการก่อสร้าง ข้อมูลต่างๆ ของโครงการ ชาวบ้านไม่เคยได้รับรู้ข้อมูลที่แท้จริงว่าจะต้องมีการทำลายภูเขาในพื้นที่กี่ลูก จะต้องนำเอาทรายมาจากที่ไหนมาใช้ทำการก่อสร้าง เรื่องปัญหามลภาวะต่างๆ ตลอดจนผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของพวกเขา ซึ่งจริงๆ แล้วคนภาคใต้นั้นพอใจในอาชีพและความเป็นอยู่ตอนนี้อยู่แล้ว แม้ว่าภาครัฐอยากจะทำให้ภาคใต้เจริญและพัฒนาต่อไปได้เรื่อยๆ แต่คนใต้ส่วนใหญ่คิดว่าทุกอย่างมันดีอยู่แล้ว ซึ่งโดยส่วนตัวมองว่าถ้าประชาชนในพื้นที่ไม่เห็นด้วยทุกอย่างก็จบ
 
ทางด้าน นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ กรรมการคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป (คสป.)ให้ความเห็นว่า ปัญหาที่สำคัญคือ ชาวบ้านในพื้นที่ต่อต้านและไม่ยอมรับ เนื่องจากมีปัญหาที่ข้อมูลไม่ชัดเจนและเข้าใจได้ยาก พูดคุยไม่เข้าใจกัน คุยกันคนละประเด็น ชาวบ้านมีข้อมูลของเขาและความคิดเห็นของเขาคือทุกคนกลัวและกังวลในการเปลี่ยนแปลง ชีวิตจะเปลี่ยน ชีวทัศน์ สิ่งแวดล้อม อาชีพ ทุกอย่างจะเปลี่ยนไปหมด และความเจริญที่จะเข้ามานั้น ชาวบ้านมองว่าไม่ค่อยจะได้ประโยชน์เท่าไร
 
“เราจึงควรจัดเวทีเฉพาะขึ้นมาคุยเฉพาะประเด็นนี้เพียงอย่างเดียว จะได้มีการเชื่อมต่อกันอย่างเข้าใจ ต้องมีกลไกกลางขึ้นมาที่เป็นที่ยอมรับของทั้งฝ่ายรัฐและชาวบ้าน มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลกันและนำข้อเสนอที่ได้มาดูว่าจะทำงานกันต่อไปอย่างไร ทั้งสองฝ่ายจะได้เข้าใจและยอมรับกันและกันมากขึ้น มีการเพิ่มกลไกการสื่อสารให้เชื่อมต่อกับสื่อท้องถิ่น ส่วนเวทีประชุมในภาพรวมยังคงมีต่อไป เรามาคุยกันให้มากขึ้นแต่จะต้องมีเป้าหมายที่จับต้องได้ เพราะจะทำให้เห็นโครงงานที่ชัดเจนขึ้น”
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net