Skip to main content
sharethis

“เผดิมชัย” เล็งแก้ กม.ขยายอายุดึงแรงงานนอกระบบเข้าประกันสังคม ม.40

นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน (รมว.แรงงาน) เปิดเผยถึงผลการประชุมผู้บริหารกระทรวงแรงงาน เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาเรื่องการผลักดันแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการแรงงานนอก ระบบ พ.ศ.2555-2559 ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ซึ่งตนได้สั่งการให้ สำนักงานประกันสังคม (สปส.) และกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ไปพิจารณาแก้ไขกฎหมายของกระทรวงแรงงานเกี่ยวกับการให้แรงงานนอกระบบเข้าสู่ ระบบประกันสังคมมาตรา 40 ทั้งนี้ เพราะปัจจุบันกฎหมายกำหนดให้แรงงานนอกระบบที่จะเข้าสู่ประกันสังคมมาตรา 40 จะต้องมีอายุไม่เกิน 55 ปี แต่ที่ผ่านมามีเสียงเรียกร้องจากแรงงานนอกระบบ ว่า ขอให้ขยายอายุแรงงานนอกระบบที่จะเข้าสู่ระบบประกันสังคมมาตรา 40 เป็นอายุไม่เกิน 60 ปี ซึ่งจะช่วยเปิดโอกาสให้แรงงานนอกระบบ เช่น แม่ค้า เกษตรกร ผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้างเข้าสู่ระบบประกันสังคมมาตรา 40 ได้เพิ่มขึ้น โดยขณะนี้มีแรงงานนอกระบบที่เข้าสู่ประกันสังคมมาตรา 40 แล้วกว่า 1.2 ล้านคน และในปี 2556 มีนโยบายจะส่งเสริมเพิ่มแรงงานนอกระบบขึ้นอีก 1.4 ล้านคน รวมภายใน 2 ปีจะมีจำนวน 2.6 ล้านคน ซึ่งการแก้ไขกฎหมายของกระทรวงแรงงาน จะช่วยให้แรงงานนอกระบบเข้าสู่ประกันสังคมมากยิ่งขึ้น
      
นอกจากนี้ ตนได้ให้สำนักงานปลัด ก.แรงงาน ไปประสานกับอาสาสมัครแรงงาน (อสร.) ทั่วประเทศ รวมทั้งให้ดึงแรงงานนอกระบบเข้ามาเป็น อสร.เพื่อลงพื้นที่เผยแพร่ประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่จะได้รับในการเข้าสู่ระบบประกันสังคมมาตรา 40 รวมถึงเชิญชวนให้แรงงานนอกระบบที่อยู่ตามหมู่บ้านและตำบลต่างๆเข้าสู่ระบบ ประกันสังคมมากขึ้นด้วย
      
“ผมได้เรียกประชุมผู้บริหารและหัวหน้าส่วนราชการระดับภูมิภาคทั้ง 5 หน่วยงานของกระทรวงแรงงานก็จะมอบนโยบายในเรื่องนี้ในวันที่ 8 ธ.ค.นี้ รวมทั้งจะให้ทุกหน่วยงานไปสำรวจผลกระทบและรวบรวมข้อเสนอมาตราการช่วยเหลือ จากสถานประกอบการในจังหวัดต่างๆเพื่อลดผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ เป็นวันละ 300 บาท ใน 70 จังหวัดซึ่งจะมีผลในวันที่ 1 ม.ค.ปีหน้าด้วย” นายเผดิมชัย กล่าว

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 4-12-2555)

 

คสรท.ค้านข้อเสนอกกร.ขอลดเงินสมทบเหลือร้อยละ 2.5

เมื่อวันที่ 4 ธ.ค.2555 นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.) กล่าวถึงข้อเสนอของคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ที่สรุปว่ามี 7 มาตรการลดผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท โดยมีเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสำนักงานประกันสังคม(สปส.) คือ การเสนอให้การลดการส่งเงินสมทบทั้งฝ่ายนายจ้างและลูกจ้างลงเหลือฝ่ายละร้อย ละ 2.5 จากปกติเก็บอยู่ฝ่ายละร้อยละ 5 ว่า ไม่เห็นด้วยกับมาตรการนี้ เนื่องจากเป็นการลดการส่งเงินสมทบทั้งฝ่ายนายจ้างและฝ่ายลูกจ้างที่มากเกิน ไป ทำให้ไปกระทบต่อสิทธิประโยชน์กรณีเงินชราภาพโดยเงินสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพ จะหายไปจำนวนมาก และมีผลต่อความมั่นคงของกองทุนประกันสังคมในระยะยาว รวมทั้งเชื่อว่ากลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่จะเป็นผู้ที่ได้รับประโยชน์จากมาตรการ นี้มากกว่ากลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบโดยตรงทั้งๆที่กลุ่มธุรกิจ ขนาดใหญ่ก็ได้รับประโยชน์จากมาตรการลดภาษีนิติบุคคลจากร้อยละ 30 เหลือร้อยละ 20 ภายในปี 2556 และมาตรการลดเงินสมทบประกันสังคมทั้งฝ่ายนายจ้างและลูกจ้างจากปกติเก็บเงิน สมทบฝ่ายละ 5 % ลดลงเหลือจัดเก็บฝ่ายละ 4% อยู่แล้ว

ประธานคสรท. กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาในปี 2554 กระทรวงแรงงานโดยสำนักงานประกันสังคม(สปส.)ได้ใช้มาตรการลดเงินสมทบประกัน สังคมทั้งฝ่ายนายจ้างและลูกจ้างจากปกติเก็บเงินสมทบฝ่ายละ 5 % ลดลงเหลือจัดเก็บฝ่ายละ 4% และล่าสุดได้ขยายเวลาการใช้มาตรการนี้ต่อไปจนถึงสิ้นปี 2556 ซึ่งการลดการส่งเงินสมทบในอัตราดังกล่าวนั้น ฝ่ายแรงงานยังพอรับได้เพราะเห็นว่าภาคธุรกิจเดือดร้อนจากน้ำท่วมเมื่อปลายปี 2554 และช่วงเดือนเม.ย.2555 สถานประกอบการใน 7 จังหวัดเช่น กรุงเทพฯ สมุทรปราการ นนทบุรี ยังต้องปรับขึ้นค่าจ้างเป็นวันละ 300 บาท ขณะเดียวกันนายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานก็ได้ออกมายืนยันว่าไม่ได้ไปลดเงินสมทบในส่วน ของเงินสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพ แต่เป็นการลดเงินสมทบในส่วนของสิทธิประโยชน์ ใน 4 กรณีได้แก่ เจ็บป่วย ทุพพลภาพ ตายและคลอดบุตร ซึ่งสปส.ก็มีงบสำรองมาเติมเข้าไป ทำให้ไม่กระทบสิทธิประโยชน์ทั้ง 4 กรณีดังกล่าว

"จริงๆแล้วฝ่ายแรงงานไม่ได้เห็นด้วยเลยกับมาตรการลดเงินสมทบประกันสังคม อยากให้คงอัตราเดิมไว้คือ ฝ่ายนายจ้างและลูกจ้างฝ่ายละร้อยละ 5 และรัฐบาลร้อยละ 2.75 แต่เมื่อภาคธุรกิจเดือดร้อนจากน้ำท่วมและการปรับขึ้นค่าจ้างจำเป็นต้องช่วย เหลือ จึงไม่ได้ออกมาคัดค้านและการลดอัตราเงินสมทบเหลือจัดเก็บฝ่ายละ 4% อยู่ในระดับที่พอรับได้เพราะไม่กระทบสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไม่ควรจะเอาใจภาคธุรกิจมากเกินไป ควรนึกถึงผลกระทบในอนาคตที่จะเกิดขึ้นต่อผู้ประกันตนด้วย หากมีการใช้มาตรการลดการส่งเงินสมทบลงไปถึงร้อยละ 2.50 จะกระทบถึงเงินสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพและความมั่นคงของกองทุนในระยะยาว ถ้ารัฐบาลออกมาตรการนี้มาจริงๆ ฝ่ายแรงงานก็จะออกมาเคลื่อนไหวคัดค้าน ทั้งนี้ เร็วๆนี้ครสท.จะไปยื่นหนังสือถึงรมว.แรงงานเพื่อคัดค้านในเรื่องนี้ " นายชาลี กล่าว

(เนชั่นทันข่าว, 4-12-2555)

 

เห็นพ้อง 27 มาตรการลดผลกระทบค่าแรง

นายสมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยผลการประชุมคณะทำงานพิจารณามาตรการบรรเทาผลกระทบจากการปรับอัตราค่า จ้างขั้นต่ำ ปี 2556 ซึ่งที่ประชุมได้เห็นชอบมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการโดยเฉพาะขนาดกลางและ ขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) 27 มาตรการ โดยหลังจากนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเร่งสรุปรายละเอียดในแต่ละมาตรการ เพื่อให้ทันเสนอ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ในสัปดาห์หน้า

สำหรับมาตรการที่เห็นชอบร่วมกัน อาทิ การต่ออายุมาตรการเดิม เช่น การลดเงินนำส่งประกันสังคมทั้งนายจ้างและลูกจ้างในปี 2556 เหลือ 3%, เพิ่มวงเงินหักลดหย่อนค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมฝีมือแรงงาน เป็น 3 เท่า, ขยายวงเงินสินเชื่อเพื่อการจ้างงานของสำนักงานประกันสังคมอีก 1 เท่า โดยกิจการที่มีลูกจ้างน้อยกว่า 50 คน เพิ่มจาก 1 ล้านบาท เป็น 2 ล้านบาท กิจการที่มีลูกจ้าง 50-200 คน เพิ่มจาก 2 ล้านบาท เป็น 4 ล้านบาท และกิจการที่มีลูกจ้างเกิน 200 คน เพิ่มจาก 4 ล้านบาท เป็น 8 ล้านบาท โดยขอให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ช่วยค้ำประกัน

นอกจากนี้ ยังรับหลักการมาตรการเพิ่มเติม ที่เอกชนเสนอให้เริ่มดำเนินการในปีหน้า อาทิ ปรับเกณฑ์การจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม, ลดเงินสมทบกองทุนทดแทนกรณีไม่มีอุบัติเหตุในการทำงาน, แก้กฎกระทรวงเรื่องการจ้างคนพิการ โดยของดจ่ายเงินค่าปรับในกรณีไม่สามารถหาคนพิการเข้ามาทำงานได้, ลดภาษีเฉพาะ และค่าน้ำค่าไฟให้เอสเอ็มอีที่อยู่ในระบบถูกต้อง

ด้านนายวัลลภ วิตนากร รองประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า วันที่ 6 ธ.ค. นี้  จะมีการประชุมพิจารณาแนวทางชดเชยส่วนต่างค่าแรงที่เพิ่มขึ้นในช่วงเวลา 3 ปี ที่ผู้ประกอบการร้องขอ ซึ่งการหารือช่วง 2 วันที่ผ่านมา ถือเป็นบรรยากาศที่ดี เชื่อว่า การให้เงินกับเอสเอ็มอีที่ยู่ในระบบ จะเป็นผลดีต่อการจัดเก็บภาษีในระยะยาว

(โพสต์ทูเดย์, 4-12-2555)

 

ลูกจ้าง บ.เครื่องหนังร้องไม่ได้รับเงินชดเชยเลิกจ้าง

เมื่อวันที่ 4 ธ.ค.2555 เวลา 10.30 น. ที่กระทรวงแรงงาน พนักงานบริษัทเอ.ซี.ที. เครื่องหนัง(ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งผลิตเครื่องหนังส่งออก ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมบางปู ต.บางปูใหม่ อ.เมือง จ.สมุทรปราการกว่า 60 คนได้มาชุมนุมกันเพื่อยื่นหนังสือให้กระทรวงแรงงานช่วยเหลือให้ได้รับเงินชด เชยและเงินสิทธิประโยชน์ต่างๆ เนื่องจากบริษัทปิดกิจการโดยไม่ได้แจ้งล่วงหน้าและไม่ได้จ่ายเงินชดเชยใดๆ โดยนายสง่า ธนสงวนวงศ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้มารับหนังสือแทนนายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่ากระทรวงแรงงาน

นายสมหมาย ไชยเดช วัย 48 ปี อดีตพนักงานธุรการบริษัทเอ.ซี.ที. เครื่องหนัง(ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งทำงานมานาน 17 ปี กล่าวว่า บริษัทเปิดกิจการมานาน 25 ปี แต่เมื่อวันที่ 30 พ.ย.ที่ผ่านมาบริษัทได้แจ้งแก่พนักงานว่าจะปิดกิจการโดยก่อนหน้านั้นไม่ได้ แจ้งล่วงหน้าและไม่ได้มีการจ่ายเงินชดเชยใดๆให้แก่พนักงาน ซึ่งการเลิกจ้างครั้งนี้ไม่เกี่ยวกับการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท เนื่องจากพวกตนได้รับการปรับขึ้นค่าจ้างเป็นวันละ 300 บาทตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 เม.ย.ที่ผ่านมาเพราะจ.สมุทรปราการเป็น 1 ใน 7 จังหวัดนำร่อง

"เท่าที่ทราบบริษัทมีปัญหาไปลงทุนในกิจการประเภทอื่นและประสบภาวะขาดทุน ทำให้ต้องปิดโรงงาน แต่ก็ได้ไปเปิดโรงงานแห่งใหม่ในพื้นที่นอกนิคมอุตสาหกรรมบางปู ดังนั้น พวกผมจึงมายื่นหนังสือให้กระทรวงแรงงานช่วยเหลือ " นายสมหมาย กล่าว

นายสง่า ธนสงวนวงศ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ได้รับรายงานจากกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน(กสร.)ว่า บริษัทเอ.ซี.ที.ฯมีปัญหาการบริหารภายในและหนี้สินมาก จึงต้องปิดกิจการ ตนได้สั่งการให้กสร.ไปดำเนินการช่วยเหลือพนักงานบริษัทเอ.ซี.ที.ฯ ตามที่กฎหมายคุ้มครองแรงงานพ.ศ.2541 กำหนดไว้ โดย กสร.จะออกหนังสือแจ้งไปยังบริษัทให้จ่ายเงินชดเชยและเงินสิทธิประโยชน์ต่างๆ ให้แก่พนักงาน ซึ่งบริษัทต้องดำเนินการภายใน 20 วัน

"หากบริษัทไม่ดำเนินการ ก็จะนำเงินกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างซึ่งปัจจุบันมีเงินกองทุนนี้อยู่ประมาณ 270 ล้านบาทมาจ่ายเงินชดเชยและเงินสิทธิประโยชน์ต่างๆให้แก่พนักงานบริษัท เอ.ซี.ที. ซึ่งคาดว่าจะได้รับเงินภายใน 90 วัน ขณะเดียวกันกสร.จะไปดำเนินการยึดทรัพย์บริษัทและนำไปจำหน่ายพื่อนำเงินมาคืน กองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง ทั้งนี้ เบื้องต้น วันนี้ได้ให้พนักงานที่มาชุมนุมเขียนใบคำร้องคร.7 ขอความช่วยเหลือจากกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างไว้ก่อน เพื่อจะได้นำเงินกองทุนมาช่วยเหลือพนักงานได้ อย่างไรก็ตาม ได้รับแจ้งว่าพนักงานส่วนใหญ่ได้งานใหม่ทำแล้ว ส่วนพนักงานที่ถูกเลิกจ้างคนใดที่ยังไม่มีการทำงาน จะให้กรมการจัดหางาน(กกจ.)ช่วยหาตำแหน่งงานใหม่ ส่วนพนักงานที่อายุมากแล้วหางานใหม่ยาก จะช่วยฝึกอาชีพเพื่อรับงานไปทำที่บ้านหรือประกอบอาชีพอิสระ " นายสง่า กล่าว

(เนชั่นทันข่าว, 4-12-2555)

 

จ่ายสมทบเหลือ 3% บรรเทาค่าแรงปีหน้า

นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะทำงานพิจารณามาตรการบรรเทาผลกระทบจากการปรับอัตราค่าจ้างขั้น ต่ำ วันที่ 4 ธ.ค.ที่ผ่านมา ได้สรุปรายละเอียดในแต่ละมาตรการเพื่อเสนอนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ในสัปดาห์หน้า

นพ.สมเกียรติ กล่าวว่า ในส่วนของมาตรการลดการจ่ายเงินสมทบประกันสังคม ซึ่งเอกชนเสนอให้ลดเหลือ 2.5% แต่บอร์ดประกันสังคมอนุมัติให้ที่ 4% นั้น ที่ประชุมเห็นชอบให้ลดเหลือ 3% ในปี 2556 และ 4% ในปี 2557 แทน ซึ่งจะได้เสนอให้บอร์ดประกันสังคมพิจารณาอีกครั้งวันที่ 18 ธ.ค.นี้

นอกจากนี้ ยังมีการเพิ่มวงเงินหักลดหย่อนค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมฝีมือแรงงานเป็น 3 เท่า การขยายสินเชื่อเพื่อการจ้างงานของสำนักงานประกันสังคมอีก 1 เท่าตัว

นอกจากนี้ ยังรับหลักการที่เอกชนเสนอให้เริ่มดำเนินการในปีหน้า อาทิ ปรับเกณฑ์การจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม ลดเงินสมทบกองทุนเงินทดแทนกรณีไม่มีอุบัติเหตุในการทำงาน ลดภาษีเฉพาะ และค่าน้ำค่าไฟให้เอสเอ็มอีที่อยู่ในระบบถูกต้อง

ขณะเดียวกัน วันที่ 6 ธ.ค. จะมีการประชุมร่วมกันอีกครั้ง เพื่อพิจารณามาตรการตั้งงบประมาณจ่ายชดเชยส่วนต่างค่าจ้างแก่ผู้ประกอบการ เอสเอ็มอีทั่วประเทศ หากพิจารณาตัวเลขแล้วรัฐบาลสามารถทำได้ ก็จะเสนอนายกิตติรัตน์ พิจารณามาตรการนี้ด้วย m

(โพสต์ทูเดย์, 5-12-2555)

 

ลูกจ้างชั่วคราว สธ.ร้องขอสวัสดิการเพิ่ม ลั่นหยุดงาน 1-3 ม.ค.56 แน่หากไม่มีนโยบายชัดเจน
      
นางกนกพร สุขสนิท ประธานภาคีลูกจ้างชั่วคราวของรัฐแห่งประเทศไทย สังกัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า ปัจจุบันลูกจ้างชั่วคราวสายสนับสนุนมีกว่าแสนรายในโรงพยาบาลสังกัด สธ. ไม่ว่าจะเป็นพนักงานธุรการ พนักงาน เข็นเปลคนไข้ พนักงานทำความสะอาด พนักงานซักเสื้อผ้า ผู้ช่วยพยาบาลดูแลผู้ป่วยสารพัด ซึ่งทั้งหมดมีภาระงานหนักไม่แพ้สายวิชาชีพกว่า 30,000 คน แต่กลับถูกละเลย ไม่มีการออกมาพูดหรือปรับระเบียบให้เห็นชัดว่าสนใจคนกลุ่มนี้บ้างเลย ซึ่งไม่เป็นธรรม อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ภาคีฯ อยู่ระหว่างหารือกันทั่วประเทศว่า จะเคลื่อนไหวอย่างไร เบื้องต้นอาจขอเข้าพบรัฐมนตรี สธ. ถึงการแก้ปัญหาเรื่องนี้ หากสุดท้ายไม่มีนโยบายใดๆ ชัดเจนก็จะยืนยันหยุดงานตั้งแต่วันที่ 1 -3 มกราคม 2556
      
“แม้กระทรวงฯ จะมีแผนปรับสถานะลูกจ้างชั่วคราวของ สธ.ทั้งหมดให้เป็นพนักงาน กสธ. แต่สิทธิสวัสดิการก็ไม่เทียบเท่า และเราก็ยังไม่เห็นรายละเอียด ที่สำคัญพวกเราต้องการค่าครองชีพกับค่าเสียเวลาตอนทำงานอยู่เวรดึก ซึ่งในส่วนค่าครองชีพ พวกเบี้ยเสี่ยงภัย ลูกจ้างชั่วคราวกลุ่มนี้ไม่เคยได้รับ ยิ่งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เรียกร้องกันมานานตั้งแต่ปี 2547 ก็ไม่เคยได้รับการเหลียวแล จึงอยากได้ความเป็นธรรมบ้าง” นางกนกพร กล่าว

ด้าน นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จริง ๆ แล้วเรื่องนี้ สธ. ได้ดำเนินการทั้งระบบ เพราะเจ้าหน้าที่ ของ สธ. ทุกคน ทั้งที่เป็นข้าราชการและไม่ใช่ข้าราชการ ล้วนเป็นผู้ที่มีความสำคัญกับการดูแลให้บริการประชาชนและผู้ป่วย ซึ่งขณะนี้ สธ. มีลูกจ้างชั่วคราวทุกสายงานทั้งหมด 130,000 คน ในจำนวนนี้เป็นลูกจ้างสายวิชาชีพ 21 สายงาน อาทิ แพทย์ พยาบาล ทันตแพทย์ เภสัชกรฯ จำนวน 30,188 คน ที่เหลือประมาณ 100,000 คนเป็นสายสนับสนุน อย่างไรก็ตาม ในการแก้ไขปัญหาครั้งนี้ สธ. ได้ร่วมกับสมาพันธ์และสมาคมลูกจ้างชั่วคราว ในการร่างระเบียบพนักงานกระทรวงสาธารณสุข หรือ พกส. มาประมาณ 3- 4 ปีแล้ว เพื่อรองรับกลุ่มลูกจ้างสายสนับสนุนทั้งหมด รวมทั้งสายวิชาชีพบางส่วนที่ยังไม่ได้รับการบรรจุ ซึ่งสิทธิสวัสดิการข้าราชการ โดยจะพิจารณาให้เกิดความเหมาะสม และมีความมั่นคงจนถึงเกษียณอายุราชการ ขณะนี้ร่างระเบียบเสร็จแล้ว จึงขอให้ผู้ปฏิบัติงานทุกคนเชื่อมั่นและให้บริการประชาชนอย่างดีที่สุด การหยุดงานประท้วงจึงไม่ใช่ทางออกในการเรียกร้อง อย่างไรก็ตาม ได้มอบหมายให้ทางสมาพันธ์และสมาคมลูกจ้างชั่วคราว เข้าชี้แจงกับกลุ่มลูกจ้างทั้งหมดเพื่อให้เกิดความเข้าใจตรงกันแล้ว
      
ผู้สื่อข่าวถามว่า กลุ่มภาคีลูกจ้างชั่วคราวสายสนับสนุน เรียกร้องในเรื่องค่าครองชีพ ค่าเสี่ยงภัย รวมทั้งค่าเสียเวลากรณีเข้าเวรดึก นพ.ณรงค์ กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องสร้างความเข้าใจตรงกัน ขณะนี้มอบให้ทางสมาพันธ์ฯ ดำเนินการแล้ว แต่ยืนยันว่า พนักงาน ก.สธ. ทั้งหมด จะได้รับสิทธิสวัสดิการไม่แตกต่างกัน โดยระเบียบพนักงานกระทรวงสาธารณสุขครอบคลุมทุกสายงาน แบ่งออกเป็น 2สาย ได้แก่ สายวิชาชีพและสายสนับสนุน หรือสายทั่วไป ซึ่งลูกจ้างชั่วคราวทั่วไป เช่นพนักงานช่วยเหลือคนไข้ พนักงานเปล พนักงานซักฟอก พนักงานประกอบอาหาร ช่างต่างๆ เป็นต้น จะกำหนดไว้ในกลุ่มทั่วไป อัตราค่าจ้างจะปรับเพิ่มตามบัญชีกระทรวงการคลัง ระยะเวลาการจ้างงานจากเดิมสัญญาจ้างปีต่อปีจะเพิ่มเป็นทุก 4 ปี มีสิทธิลาได้ และที่สำคัญจะมีการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพสำหรับพนักงานกระทรวงสาธารณ สุขไว้ดูแลยามชราภาพ เพื่อความมั่นคงในชีวิตหลังเกษียณหรือพ้นจากราชการ
      
“ยังมีการให้สวัสดิการกับทายาทสายตรง ได้แก่พ่อแม่ คู่สมรส บุตร ได้รับสิทธิรักษาพยาบาลฟรี ซึ่งขณะนี้ร่างฯ ดังกล่าวอยู่ระหว่างขอความเห็นชอบจากกระทรวงการคลัง คาดว่าจะประกาศใช้ประมาณปลายเดือนธันวาคม 2555 นี้ โดยจะมีคณะกรรมการประเมินการเข้าสู่ตำแหน่ง และต่อจากนี้จะไม่มีคำว่าลูกจ้างชั่วคราวในกระทรวงสาธารณสุขอีกต่อไป” ปลัด สธ. กล่าว

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 6-12-2555)

 

ก.แรงงานเตรียมประกาศให้ผู้ชายลาหยุดเลี้ยงลูกได้ 15 วันใช้ ธ.ค.นี้

นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เผยว่า จากกรณีที่มีข้อเสนอของหน่วยงานรัฐและเอกชนขอให้กระทรวงแรงงานแก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 โดยกำหนดให้ลูกจ้างชายสามารถลางานได้ถึง 90 วันติดต่อกัน เพื่อช่วยภรรยาเลี้ยงลูกที่เพิ่งคลอดนั้น กระทรวงแรงงานไม่สามารถไปบังคับสถานประกอบการได้ อีกทั้งการแก้ไข พ.ร.บ.ดังกล่าวใช้เวลานาน ดังนั้น กระทรวงแรงงานจึงได้เตรียมออกเป็นประกาศกระทรวงรองรับในเรื่องนี้

ทั้งนี้ นายเผดิมชัยชี้แจงว่าภรรยาต้องเป็นภรรยาที่จดทะเบียนสมรสถูกต้องตามกฎหมาย ส่วนเรื่องการลางานให้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของนายจ้างว่าจะอนุญาตให้ลาได้ กี่วัน โดยหากเป็นไปได้อยากขอความร่วมมือทางสถานประกอบการเปิดโอกาสให้ลูกจ้างชาย สามารถขอลาหยุดงานได้ 15 วันติดต่อกัน เช่นเดียวกับข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ คาดว่าร่างประกาศฉบับดังกล่าวจะเริ่มประกาศใช้ได้ภายในเดือนธันวาคม 2555 นี้

(RYT9.COM, 7-6-2555)

 

ก.แรงงานจ่อดันแรงงานนอกระบบเข้า ม.40 เพิ่ม 2 แสนปี 56

เมื่อวันที่ 6 ธ.ค.2555 นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน(รมว.รง.) กล่าวหลังเป็นประธานเปิดการอบรมในโครงการพัฒนาสมรรถนะผู้บริหารประกันสังคม และสภาองค์การนายจ้าง/ลูกจ้างด้านการบริหารตลาดประกันสังคมมาตรา 40" ที่โรงแรมริเวอร์ไซค์ กรุงเทพฯซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 6-7 ธ.ค.นี้ว่า รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมให้แรงงานนอกระบบ เช่น แม่ค้า เกษตรกร ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างมีหลักประกันในการดำรงชีวิตโดยเข้าสู่ระบบ ประกันสังคมมาตรา 40 ซึ่งปัจจุบันมีแรงงานนอกระบบเข้าสู่ประกันสังคมมาตรา 40 แล้วกว่า 1.2 ล้านคน และกระทรวงแรงงานโดยสำนักงานประกันสังคม(สปส.)มีเป้าหมายจะส่งเสริมให้แรง งานนอกระบบเข้าสู่ประกันสังคมมาตรา 40 เพิ่มขึ้นอีก 2 แสนคน ทำให้ในปี 2556 จะมีแรงงานนอกระบบเข้าสู่ประกันสังคมมาตรา 40 รวมทั้งหมด 1.4 ล้านคน

" ขณะนี้ผมได้สั่งการให้สปส.ไปคำนวณมาว่า จะต้องใช้งบประมาณเท่าไรในปีหน้าเพื่อดำเนินการประกันสังคมมาตรา 40 โดยแบ่งได้เป็น 2 ส่วนคือ ส่วนแรกเป็นงบที่รัฐบาลจะต้องร่วมจ่ายเงินสมทบให้แก่ผู้ประกันตนมาตรา 40 ซึ่งปัจจุบันมีอยู่กว่า 1.2 ล้านคนอย่างต่อเนื่องทุกปีตามทางเลือกที่ผู้ประกันตนสมัครไว้ และส่วนที่สองเป็นงบที่รัฐบาลจะต้องร่วมจ่ายเงินสมทบและงบประชาสัมพันธ์ เพื่อส่งเสริมให้แรงงานนอกระบบในจังหวัดต่างๆเข้าสู่ประกันสังคมมาตรา 40 เพิ่มขึ้นอีก 2 แสนคนในปี 2556 ผมพร้อมจะไปเจรจากับสำนักงบประมาณ หรือหากจำเป็นต้องไปหารือกับน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ผมก็พร้อมจะทำเพื่อของบจากรัฐบาลมาสนับสนุน " รมว.แรงงาน กล่าว

นายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม(สปส.) กล่าวว่า เบื้องต้นสปส.ได้คำนวณงบดำเนินการประกันสังคมมาตรา 40 ที่จะต้องใช้ในปี 2556 คาดว่าอยู่ที่ประมาณ 870 ล้านบาทแยกเป็นงบเงินสมทบที่รัฐบาลต้องร่วมจ่ายให้แก่ผู้ประกันตนทั้งหมด 1.4 ล้านคน รวมแล้วประมาณ 840 ล้านบาทและงบประชาสัมพันธ์เพื่อส่งเสริมให้แรงงานนอกระบบเข้าสู่ประกันสังคม เพิ่มขึ้นอีกประมาณ 30 ล้านบาท ทั้งนี้ สปส.จะเร่งสรุปข้อมูลเรื่องงบประมาณและต่อรมว.แรงงานเพื่อให้พิจารณาเสนอ ของบกลางจากรัฐบาลต่อไป

"ส่วนการแก้ไขกฎหมายประกันสังคมเพื่อขยายอายุแรงงานนอกระบบที่จะเข้าสู่ ระบบประกันสังคมมาตรา 40 จากปัจจุบันอยู่ที่ 55 ปีเป็นอายุไม่เกิน 60 ปีเพื่อเปิดโอกาสให้แรงงานนอกระบบ เข้าสู่ประกันสังคมมาตรา 40 ได้เพิ่มขึ้น ขณะนี้ร่างพ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับแก้ไขผ่านความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการ กฤษฎีกาแล้ว รอเข้าสู่วาระการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี(ครม.) หากได้รับเห็นชอบ จะเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรโดยประเด็นดังกล่าว รวมถึงประเด็นอื่นๆที่จะต้องเพิ่มเติมไว้ในร่างกฎหมาย จะต้องไปขอเพิ่มเติมในร่างกฎหมายฉบับแก้ไขในชั้นคณะกรรมาธิการพิจารณาร่าง กฎหมาย" เลขาธิการสปส.กล่าว

ทั้งนี้ ระบบประกันสังคมมาตรา 40 ให้แรงงานนอกระบบเข้าร่วมตามความสมัครใจ โดยแบ่งเป็นทางเลือกแรก จ่ายเงินสมทบ 100 บาทต่อเดือน ผู้ประกันตนจ่ายเอง 70 บาท รัฐบาลร่วมจ่าย 30 บาทได้รับสิทธิประโยชน์ได้แก่ 1.เงินทดแทนการขาดรายได้กรณีเจ็บป่วย 200 บาทต่อวัน ไม่เกิน 20 วันต่อปี 2.เงินทดแทนการขาดรายได้กรณีทุพพลภาพ 500-1,000 บาทต่อเดือนเป็นเวลา 15 ปี 3.ค่าทำศพกรณีตาย 2 หมื่นบาท และทางเลือกที่สองจ่ายเงินสมทบ 150 บาทต่อเดือน จ่ายเอง 100 บาท รัฐร่วมจ่าย 50 บาท นอกจากได้รับสิทธิประโยชน์ใน 3 กรณีข้างต้นแล้ว ยังเพิ่มอีก 1 กรณีคือ เงินบำเหน็จชราภาพจากเงินที่ออมขั้นต่ำ 50 บาทต่อเดือนพร้อมดอกผล

(เนชั่นทันข่าว, 7-6-2555)

 

พนักงานโรงงานกระดาษอ่างทองกว่า 300 คนประท้วงเลิกจ้างไม่เป็นธรรม

เมื่อเวลา 10.00 น.วันนี้ (7 ธ.ค.) ที่บริเวณภายในบริษัท สุภัทร์ธนากร เปเปอร์มิล จำกัด ซึ่งเป็นโรงงานผลิตกระดาษ ตั้งอยู่ริมถนนสายอ่างทอง-อยุธยา หมู่ 1 ต.โพสะ อ.เมือง จ.อ่างทอง ได้มีพนักงานโรงงานดังกล่าวกว่า 300 คนมารวมตัวกันบริเวณภายในโรงงานหลังทางโรงงานได้ประกาศหยุดกิจการ พร้อมเลิกจ้างพนักงานที่ไม่เป็นธรรม โดยพนักงานที่ทำงานตั้งแต่ 1-3 ปี ชดเชยให้ 1 เดือน ทำงานตั้งแต่ 3-6 ปี ชดเชยให้ 2 เดือน ทำงานตั้งแต่ 6-10 ปี ชดเชยให้ 3 เดือน และทำงาน 10 ปีขึ้นไป ชดเชยให้ 4 เดือน ซึ่งพนักงานต่างไม่พอใจในการชดเชยค่าแรงที่ถูกออก จึงรวมตัวประท้วงเรียกร้องค่าแรงให้ชดเชยตามกฎหมายแรงงาน โดยทางกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดอ่างทองได้เดินทางไปไกล่เกลี่ย พร้อมปลัดอำเภอเมืองอ่างทอง เข้าร่วมประชุมกับเจ้าของบริษัท และแกนนำพนักงานอีกจำนวนหนึ่งเพื่อหาข้อสรุปให้พนักงาน
      
อย่างไรก็ตาม ภายหลังการประชุมเจรจาร่วมกันทั้ง 3 ฝ่าย ปรากฏว่า ทางบริษัทฯ ยอมตกลงตามข้อเรียกร้องของพนักงานทุกประการ โดยนายฉัตรชัย เย็นทรวง ปลัดอำเภอเมืองอ่างทอง เปิดเผยหลังการชุมนุมเรียกร้องนานกว่า 3 ชั่วโมงว่า ทั้งหมดได้ขอสรุปร่วมกันว่า ทางโรงงานยินยอมที่จะจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงาน คือ 75 เปอร์เซ็นต์ของเงินเดิน แต่ขอจ่ายในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2555 และจะทยอยจ่ายให้แก่พนักงานจนครบ ทำให้พนักงานทั้งหมดพอใจแยกย้ายกันกลับโดยไม่มีเหตุการณ์รุนแรงแต่อย่างใด
      
นายอรุณราชย์ พินขุนทด แกนนำคนงานเปิดเผยว่า หลังทราบข่าวโรงงานสั่งหยุดงานโดยไม่มีกำหนด และจ้างพนักงานทั้งหมดออกแต่ไม่มีความชัดเจนในเรื่องค่าชดเชยแรงงานตาม กฎหมาย ทำให้คนงานทั้งหมดถูกลอยแพไม่ได้รับความเป็นธรรมจึงรวมตัวกันยื่นข้อเรียก ร้องให้แก่ทางผู้บริหาร ซึ่งเคยได้คุยกันบ้างแต่ทางผู้บริหารปฏิเสธที่จะจ่ายค่าชดเชยทำให้คนงานหลาย คนต้องได้รับผลกระทบ โดยในวันนี้ ทางคนงานทั้งหมดจึงมารวมตัวกันเพื่อขอความเป็นธรรมกับทางฝ่ายบริหาร

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 7-12-2555)

 

สพฉ.ลุยยกระดับการศึกษา 'พนักงานฉุกเฉินการแพทย์'

เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. นพ.ชาตรี เจริญชีวะกุล เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวภายหลังลงนามบันทึกความร่วมมือระหว่าง สพฉ.กับสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) เพื่อยกระดับการศึกษาของผู้ปฏิบัติการฉุกเฉินที่อาคาร สพฉ.ว่า การลงนามบันทึกความร่วมมือครั้งนี้เพื่อส่งเสริมและยกระดับทางการศึกษาให้ กับผู้ปฏิบัติการทางการแพทย์ฉุกเฉิน เพราะจากข้อมูลพบว่ามีผู้ปฏิบัติการฉุกเฉินเป็นเจ้าหน้าที่ที่มีจิตอาสาช่วย เหลืองานกู้ชีพจำนวนกว่า 40,000 คน สำเร็จการศึกษาเพียงชั้น ป.4 หรือ ป.6 ทำให้ไม่สามารถยกระดับและพัฒนาทักษะการทำงานได้ เนื่องจากติดขัดในเรื่องคุณสมบัติ วุฒิการศึกษา

ทั้งนี้ หากเจ้าหน้าที่กลุ่มดังกล่าวมีวุฒิการศึกษาระดับ ม.6 จะสามารถพัฒนาจากอาสาสมัครฉุกเฉินการแพทย์ (FR) เป็นพนักงานฉุกเฉินการแพทย์ (EMT-B) ที่จะมีความรู้ความสามารถในการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินมากขึ้นด้วย โดยหลังจากนี้ สพฉ.จะเร่งดำเนินการสำรวจรายชื่อผู้ที่ประสงค์จะเข้ารับการศึกษาในหลักสูตร การศึกษานอกระบบโดยแยกตามพื้นที่อำเภอ เขต หรือผู้ที่สนใจสามารถสมัครได้โดยตรงที่สำนักงานระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน ประจำจังหวัด หรือสำนักงาน กศน.ประจำจังหวัด

ด้าน นายชัยยศ อิ่มสุวรรณ์ รองเลขาธิการ กศน.กล่าวว่า จะมีการปรับระยะเวลาการศึกษาตามความเหมาะสม ทั้งยังจะมีการนำประสบการณ์ในการทำงานมาเทียบเป็นหน่วยกิตของวิชาต่างๆ ซึ่งจะสามารถช่วยย่นระยะเวลาในการศึกษาลงได้ด้วย.

(ไทยรัฐ, 7-12-2555)

 

สธ.ชี้ต้องแยกประเด็นค่าตอบแทน-สวัสดิการ ยันดูแลทุกฝ่ายเป็นธรรม

(7 ธ.ค.) นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ในฐานะผู้ดูแลร่างระเบียบพนักงานกระทรวงสาธารณสุข(ก.สธ.) กล่าวกรณีที่กลุ่มภาคีลูกจ้างชั่วคราวของรัฐแห่งประเทศไทยสังกัดกระทรวง สาธารณสุข (สธ.) ซึ่งมีอยู่ประมาณแสนคน ทั้งพนักงานทำความสะอาด พนักงานเปล พนักงานธุรการ เป็นต้น ขู่หยุดงานประท้วงวันที่ 1-3 ม.ค. 2556 หากกระทรวงสาธารณสุข ไม่ดำเนินการให้สิทธิสวัสดิการเทียบเท่าลูกจ้างชั่วคราวสายวิชาชีพ อาทิ แพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล ฯลฯ โดยต้องการปรับอัตราค่าตอบแทนให้สูงขึ้นนั้น ว่า เรื่องนี้ต้องแยกกันให้ชัดเจน เนื่องจากร่างระเบียบพนักงาน ก.สธ. เป็นระเบียบในการปรับเพิ่มสิทธิสวัสดิการของลูกจ้างชั่วคราวเดิมให้เป็น พนักงานรูปแบบใหม่ ซึ่งในที่นี้จะรวมลูกจ้างชั่วคราวทั้งหมดของ สธ. ทั้งสายวิชาชีพ21 สายงาน ทั้งแพทย์ พยาบาล ทันตแพทย์ เภสัชกร นักกายภาพบำบัด นักจิตวิทยา ฯลฯ และรวมลูกจ้างชั่วคราวสายสนับสนุนรวมทั้งหมด130,000 คน ที่จะได้รับการดูแลด้านสิทธิสวัสดิการเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นการลาศึกษาต่อ การรักษาพยาบาล การกู้ยืม มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เป็นต้น
      
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของเงินเดือนที่มีการปรับให้พนักงาน ก.สธ. ที่เป็นสายวิชาชีพมีอัตราเงินเดือน1.2 เท่าของอัตราเงินเดือนข้าราชการนั้น จริงๆ ในส่วนของพนักงาน ก.สธ.สายสนับสนุนก็มีการปรับด้วย โดยจะมีการปรับเป็นการเลื่อนค่าจ้างปีละ1 ครั้งในวงเงินร้อยละ 6 ต่อปี ซึ่งเท่ากับข้าราชการ
      
“ในเรื่องเงินเดือนนั้นเราต้องแบ่งเป็นสายงาน เนื่องจากมีเรื่องวุฒิการศึกษา แต่ไม่ใช่ว่าไม่ขึ้น เพราะด้วยระเบียบจะมีบัญชีเงินเดือนที่กำหนดอยู่แล้ว โดยพิจารณาตามวุฒิการศึกษาเป็นหลัก ซึ่งในระเบียบพนักงาน ก.สธ. จึงถือว่ามีการร่างระเบียบที่อิงความถูกต้อง และเป็นธรรมทั้งฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายวิชาชีพ ” นพ.สุพรรณ กล่าว
      
ผู้สื่อข่าวถามว่า ที่มีการเรียกร้องขอค่าเสี่ยงภัย โดยเฉพาะในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ นพ.สุพรรณ กล่าว่า เรื่องนี้ไม่ต้องเป็นห่วง เพราะค่าเสี่ยงภัย จะเป็นเงินค่าตอบแทนพิเศษที่ไม่ใช่เงินเดือนประจำ โดยจะต้องพิจารณาหลายปัจจัย เบื้องต้น สธ.กำลังปรับรูปแบบการบริหารงบฯค่าตอบแทน เพื่อความเป็นธรรมทุกฝ่าย โดยจากนี้ไปการพิจารณาค่าตอบแทนให้บุคลากรสาธารณสุขทุกคนนั้น จะคำนึงถึงพื้นที่ ว่า เป็นพื้นที่เสี่ยงภัย หรือพื้นที่ปกติ มีปริมาณงานมากน้อยแค่ไหน โดยจะพิจารณาตามผลงานของแต่ละคนเป็นหลัก ทั้งหมดจะนำมาคำนวณเป็นอัตราค่าตอบแทนที่เหมาะสม ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างหารือถึงการปรับจำนวนค่าตอบแทนที่เหมาะสมอยู่ จึงไม่ต้องกังวล เรื่องค่าตอบแทน อยู่ระหว่างดำเนินการ ซึ่งต้องแยกออกจากสิทธิสวัสดิการของพนักงาน ก.สธ. เพราะคนละประเด็น
      
ถามต่อว่า สธ.จะเตรียมพร้อมอย่างไรกรณีมีการขู่หยุดงานอีก รองปลัด สธ. กล่าวว่า เชื่อว่าไม่น่ามีปัญหา เพราะขณะนี้ทางสมาพันธ์และสมาคมลูกจ้างชั่วคราวได้เข้าไปชี้แจงกับทาง ลูกจ้างชั่วคราวที่ยังไม่เข้าใจ และอาจไม่ทราบรายละเอียดที่แท้จริงแล้ว และจะมีการแถลงข่าวอย่างเป็นทางการในวันที่ 15 ธ.ค.นี้ ที่โรงพยาบาลสูงเม่น จ.แพร่ โดยจะมีนพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ร่วมแถลงข่าวในครั้งนี้
      
อย่างไรก็ตาม ขอยืนยันว่า การแก้ปัญหาการบรรจุข้าราชการ หรือการเพิ่มสิทธิสวัสดิการ โดยการเปลี่ยนจากลูกจ้างชั่วคราวมาเป็นพนักงานก.สธ. รวมไปถึงการปรับรูปแบบการพิจารณาค่าตอบแทนใหม่ ทั้งหมด สธ.กำลังดำเนินการ ซึ่งทุกอย่างดำเนินการบนพื้นฐานข้อมูลข้อเท็จจริง ไม่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 7-12-2555)

 

คนทำงานบ้านบุกกระทรวงแรงงานร้องดันเข้าประกันสังคม-กำหนด ชม.ทำงานให้ชัด

เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม ที่กระทรวงแรงงาน เครือข่ายคนทำงานบ้านนำโดยนางสมร พาสมบูรณ์ ประธานเครือข่ายพร้อมด้วยสมาชิกและผู้แทนภาคเอกชน เช่น องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ)  มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพรวมกว่า 10 คน เข้าพบนายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเพื่อเสนอปัญหาของคนรับใช้ตามบ้าน
 
นางสมรกล่าวว่า ขอขอบคุณกระทรวงแรงงานที่ออกกฎกระทรวงแรงงาน ฉบับที่ 14 (พ.ศ.2555) ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ทำให้คนรับใช้ตามบ้านที่ได้รับการคุ้มครอง อย่างไรก็ตาม แม้จะมีกฎกระทรวงดังกล่าวออกมาแต่ก็ยังไม่ครอบคลุมปัญหาของคนรับใช้ตามบ้าน
 
จึงอยากให้กระทรวงแรงงานผลักดันให้ไทยให้สัตยาบันอนุสัญญาไอแอลโอ ฉบับที่ 189 และ 177 เช่น นายจ้างต้องจัดที่พักในบ้านให้เป็นสัดส่วน มีสวัสดิการอาหาร
 
อีกทั้งช่วยผลักดันให้คนรับใช้ตามบ้านเข้าสู่ระบบประกันสังคมและขอให้ กระทรวงแรงงานปรับปรุงกฎกระทรวงโดยกำหนดชั่วโมงการทำงานของคนรับใช้ตามบ้าน ให้ชัดเจน เพราะคนรับใช้ตามบ้านส่วนใหญ่ต้องทำงานตั้งแต่ตี 5 จนถึงเวลาที่นายจ้างเข้านอน 

(มติชนออนไลน์, 7-12-2555)

 

ค่าแรง 300 กระทบเอสเอ็มอี 2,193 แห่ง

นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศในปี 2556 นั้น ถือเป็นเรื่องที่สำคัญ ซึ่งจะต้องทำความเข้าใจกับหน่วยงานในสังกัด โดยในวันนี้จึงได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเจ้าหน้าที่หน่วยงานในสังกัด ของทางกระทรวงแรงงานทั้ง 77 จังหวัด ทั่วประเทศ เพื่อเตรียมความพร้อมในการรองรับการปรับขึ้นค่าแรงที่จะมีขึ้น โดยไม่ให้ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะภาครายย่อย (SME) ได้รับผลกระทบมากที่สุด ในการดูแลและช่วยเหลือ ซึ่งถือเป็นการเตรียมความพร้อม เพื่อเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC) ในปี 2558 ด้วย ที่จะมีทั้งการเปิดเสรีด้านการค้าและแรงงานในอนาคต

โดยในวันนี้เป็นการให้แรงงานจังหวัดต่างๆ นำข้อมูล เช่น จำนวนและประเภทโดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอี ว่ามีจำนวนเท่าใด รวมถึงได้ผลกระทบอย่างไรบ้าง โดยเบื้องต้นพบว่ามีธุรกิจเอสเอ็มอี ได้รับผลกระทบจำนวน 2,193 แห่ง จำนวนแรงงานที่ได้รับผลกระทบ 49,316 คน ธุรกิจ 5 อันดับแรกที่ได้รับผลกระทบ ได้แก่ 1. ชิ้นส่วนยานยนต์ 2. การผลิตทั่วไป 3. ค้าปลีกค้าส่ง 4. ก่อสร้าง และ 5. อาหาร ซึ่งหลังจากนี้จะนำข้อมูลดังกล่าวไปพิจารณาเพื่อปรับมาตรการช่วยเหลือทั้ง หมด 27 มาตรการ ให้ตรงกับความต้องการของผู้ประกอบการ และจะนำเสนอคณะกรรมการพิจารณามาตรการบรรเทาผลกระทบจากการปรับอัตราค่าจ้าง ขั้นต่ำที่มี นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธานในวันที่ 14 ธ.ค.นี้

(โพสต์ทูเดย์, 8-12-2555)

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net