Skip to main content
sharethis

โดยก่อนหน้านี้ฮิลลารี่ คลินตัน รมต. ต่างประเทศสหรัฐร่วมกดดันและเรียกร้องด้วย ในขณะที่ผู้แทนรัฐสภาอาเซียนชี้รบ. ลาวขาดความจริงใจในการค้นหาตัวสมบัติ หลังเยือนลาวในภารกิจการสอบสวน

 

22 ม.ค. 56 - แอมเนสตี้ อินเตอร์ชั่นแนล ส่งปฏิบัติการด่วนถึงสมาชิกที่มีอยู่กว่า 3 ล้านคนใน 150 ประเทศ เรียกร้องส่งจดหมายถึงรัฐบาลลาวให้ดำเนินการสอบสวนการลักพาตัวและการหายตัวไปของนายสมบัด สมพอนโดยทันที อย่างโปร่งใสและอย่างรอบด้าน ทั้งนี้ให้สอดคล้องกับพันธกรณีของประเทศที่มีต่อกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ และต้องเปิดเผยข้อมูลทั้งหมดเกี่ยวกับความคืบหน้าในการสอบสวน เพื่อให้ครอบครัวและบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องได้รับทราบ อีกทั้งกระตุ้นให้ทางการลาวประกันว่าจะดำเนินการทุกขั้นตอน เพื่อช่วยเหลือและนำตัวเขากลับมายังครอบครัวอย่างปลอดภัยและโดยเร็วสุด
 
โดยก่อนหน้านี้ รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ฮิลลารี คลินตัน ได้เรียกร้องให้รัฐบาลลาวสอบสวนกรณีการหายตัวไปของนายสมบัติ และนำตัวสมบัติกลับมาคืนสู่ปกติโดยเร็ว
 
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว คณะผู้แทนรัฐสภาอาเซียน นำโดยวอลเดน เบลโล สมาชิกวุฒิสภาฟิลิปปินส์ ลิลี่ วาฮิด สมาชิกสภาอินโดนีเซีย และชาร์ลส์ ซานติเอโก สมาชิกสภามาเลเซีย ได้แถลงความคืบหน้าที่สมาคมผู้สื่อข่าวแห่งประเทศไทย จากการเยือนประเทศลาวระหว่างวันที่ 13-15 ม.ค. 56 ในภารกิจการสอบสวนการหายตัวของนายสมบัติ ซึ่งทางคณะกล่าวว่า ยังเห็นว่ารัฐบาลลาวขาดความเต็มใจในการค้นหาสมบัติ สมพอนอย่างเต็มที่ 
 
ทางคณะได้รับการแจ้งจากตัวแทนรัฐบาลลาวว่า หลังจากที่ได้ทำการสอบสวนกรณีการหายตัวของสมบัติแล้วเป็นเวลา 1 เดือน ก็ไม่พบข้อเท็จจริงอื่นใดนอกจากว่า การหายตัวไปของสมบัติไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทั้งๆ ที่หลายฝ่ายเห็นตรงกันจากในคลิปวีดีโอจากกล้องวงจรปิดว่า นายสมบัติถูกนำตัวขึ้นรถหายไป บริเวณใกล้ด่านตรวจของตำรวจและมีตำรวจรู้เห็น 
 
วอลเดน เบลโล กล่าวว่า ทางคณะได้บอกไปว่าผู้แทนรัฐสภาอาเซียนไม่เชื่อคำสรุปดังกล่าว เนื่องจากเป็นสิ่งที่ไม่น่าเชื่อถือ และถ้าหากว่าเชื่อว่าสิ่งดังกล่าวเป็นความคืบหน้าของคดีจริงๆ ทางรัฐมนตรีอาเซียนก็คงจะสูญเสียความน่าเชื่อถือไปด้วย 
 
"กรณีนี้จะเป็นการทดสอบคำประกาศสิทธิมนุษยชนอาเซียน และสภาสิทธิมนุษยชนอาเซียนว่าจะสามารถทำอะไรได้จริงหรือไม่" เบลโลกล่าว 
 
0000
 
เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2555 นายสมบัด สมพอน นักกิจกรรมอาวุโสของภาคประชาสังคมในลาว ซึ่งมีชื่อเสียงจากการทำงานส่งเสริมการศึกษาและการพัฒนาที่ยั่งยืน ได้ถูกบุคคลไม่ทราบชื่อจับตัวไปในรถกระบะ หลังจากตำรวจเรียกตรวจเขาที่ด่านตรวจในกรุงเวียงจันทน์ นครหลวงของลาว และจนถึงปัจจุบันยังไม่มีใครทราบข่าวคราวเกี่ยวกับเขา
 
นายสมบัด สมพอน อายุ 62 ปี ขับรถออกจากสำนักงานเวลาประมาณ 17.30 น. วันที่ 15 ธันวาคม 2555 ตำรวจที่ด่านท่าเดื่อ อ.ศรีสัตตนาค กรุงเวียงจันทน์ ได้เรียกตรวจรถยนต์ของเขาตอน 18.00 น. จากภาพถ่ายวงจรปิดของตำรวจจราจร เขาเดินออกจากรถเพื่อพูดคุยกับตำรวจ จากนั้นมีคนขี่มอเตอร์ไซด์มา เข้าไปในรถ และขับรถของนายสมบัด สมพอนออกไป ทิ้งมอเตอร์ไซด์ที่ขี่มาเอาไว้ จากนั้นมีรถกระบะเปิดไฟกระพริบขับมาถึง และมีคนนำตัวนายสมบัด สมพอนใส่รถกระบะและขับหนีออกไป ครอบครัวและมิตรสหายเชื่อว่าผู้ชายที่อยู่ในภาพทีวีวงจรปิดเป็นนายสมบัด สมพอน
 
ทางการลาวปฏิเสธว่าไม่ได้จับกุมนายสมบัด สมพอน และไม่มีส่วนรู้เห็นกับการหายตัวไปของเขา โดยระบุว่าเขาอาจถูกลักพาตัวเนื่องจากความขัดแย้งส่วนตัวหลังจากถูกตำรวจเรียกตรวจซึ่งเป็นการตรวจเอกสารตามปรกติ แม้ว่ารัฐบาลลาวออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2555 อ้างว่า “ทางการมีความกังวล” และ “กำลังสอบสวนอย่างจริงจัง” แต่ก็ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการสอบสวนเพื่อให้ครอบครัวหรือบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องได้รับทราบ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกังวลว่า การสอบสวนที่เป็นอยู่ขาดความโปร่งใส และอาจไม่จริงจังมากพอ
 
นายสมบัด สมพอนก่อตั้งศูนย์ฝึกอบรมฮ่วมพัฒนา (Participatory Development Training Centre - PADECT) ในปี 2539 เพื่อส่งเสริมการศึกษา ทักษะความเป็นผู้นำ และการพัฒนาที่ยั่งยืนในประเทศลาว เมื่อปี 2548 เขาได้รับรางวัลรามอนแมกไซไซ สาขาผู้นำชุมชน เขายังมีส่วนร่วมจัดการประชุมเวทีภาคประชาชนเอเชีย-ยุโรปที่กรุงเวียงจันทน์เมื่อเดือนตุลาคม 2555
 
ดังนั้นแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล จึงเรียกร้องสมาชิกที่มีอยู่กว่า 3 ล้านคน ใน 150 ประเทศ ส่งจดหมายถึงนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีกระทรวงความมั่นคง และสำเนาจดหมายถึงรัฐมนตรีต่างประเทศของลาว ก่อนวันที่ 1 มีนาคม 2556 เพื่อกระตุ้นให้ทางการประกันว่าจะดำเนินการทุกขั้นตอน เพื่อช่วยเหลือและนำตัวเขากลับมายังครอบครัวอย่างปลอดภัยและโดยเร็วสุด โดยมีข้อเรียกร้องดังนี้
 
·         เรียกร้องทางการลาวให้ดำเนินการสอบสวนการลักพาตัวและการหายตัวไปของนายสมบัด สมพอนโดยทันที อย่างโปร่งใสและอย่างรอบด้าน ทั้งนี้ให้สอดคล้องกับพันธกรณีของประเทศที่มีต่อกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ
 
·         เรียกร้องให้รัฐเปิดเผยข้อมูลทั้งหมดเกี่ยวกับความคืบหน้าในการสอบสวน เพื่อให้ครอบครัวและบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องได้รับทราบ
 
 
ข้อมูลเพิ่มเติม
การสอบสวนกรณีการหายตัวไปของนายสมบัด สมพอน ที่ขาดความโปร่งใส ทำให้มีการตั้งคำถามต่อความพยายามในการหาตัวเขาว่ามีความจริงใจและรอบด้านเพียงใด ยกตัวอย่างเช่น ไม่เป็นที่ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ลาวซึ่งสอบสวนเรื่องนี้ได้เรียกตัวตำรวจที่ด่านตรวจมาให้ปากคำหรือไม่ ทั้งๆ ที่ดูเหมือนว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้พยายามขัดขวางการนำตัวนายสมบัดหรือการขับรถยนต์ของเขาออกไปเลย ทั้งไม่ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ได้ใช้ภาพจากกล้องวงจรปิดเพื่อตรวจสอบแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์และผู้ครอบครอง หรือมีการดูภาพวงจรปิดจากกล้องตัวอื่นๆ ที่อยู่บริเวณใกล้เคียงเพื่อวิเคราะห์ว่ามีการนำตัวเขาไปที่ใด
 
ครอบครัวและมิตรสหายของนายสมบัด สมพอน ภาคประชาสังคมระดับภูมิภาคและนานาชาติ รัฐบาลในประเทศต่างๆ และองค์การสหประชาชาติต่างเรียกร้องให้มีการสอบสวนการหายตัวไปในครั้งนี้อย่างรอบด้าน และให้นำตัวเขากลับมาอย่างปลอดภัย บรรดามิตรสหายได้เริ่มรณรงค์ทางอินเตอร์เน็ตให้มีการปล่อยตัวเขา มีการจัดทำเว็บไซต์เผยแพร่ข้อมูล ลิงค์ไปยังข่าวที่เกี่ยวข้อง และกิจกรรมรณรงค์อื่นๆ ที่เว็บไซต์ http://sombath.org/
 
ลาวเป็นประเทศภาคีของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights-ICCPR) ข้อบทที่ 9 ของกติกา ICCPR คุ้มครองสิทธิในเสรีภาพและความปลอดภัยของร่างกาย โดยห้ามจับกุมหรือควบคุมตัวบุคคลโดยพลการ และเมื่อถูกจับกุมหรือควบคุมตัว จะต้องถูกนำตัวโดยพลันไปยังศาล และจะต้องมีสิทธิได้รับการพิจารณาคดีภายในเวลาอันสมควร หรือได้รับการปล่อยตัวไป รัฐจะต้องประกันว่าเจ้าหน้าที่ของตนเคารพสิทธิดังกล่าว นอกจากนั้นรัฐยังมีหน้าที่คุ้มครองบุคคลไม่ให้ถูกละเมิดสิทธิจากบุคคลและหน่วยงานอื่นใด และรัฐยังมีพันธกรณีตามข้อบทที่ 2 (3(a)) ของกติกา ICCPR ซึ่งกำหนดให้มี “การเยียวยาอย่างเป็นผล” สำหรับบุคคลใดๆ ที่ถูกละเมิดสิทธิตามกติกาฉบับนี้ หากรัฐไม่ดำเนินการที่เป็นผลเพื่อป้องกันพฤติการณ์ดังกล่าว และไม่สามารถเยียวยาอย่างเป็นผล รวมทั้งไม่สอบสวนและยุติการละเมิดสิทธิและนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ ย่อมถือว่ารัฐดังกล่าวละเมิดพันธกรณีตามกติกา ICCPR
 
ลาวยังลงนามในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บุคคลสูญหาย (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance) แต่ยังไม่ให้สัตยาบัน อนุสัญญาฉบับนี้ห้ามการบังคับบุคคลให้สูญหาย โดยกำหนดนิยามว่าหมายถึง “การจับกุม การควบคุมตัว การลักพาตัว หรือการจำกัดอิสรภาพในรูปแบบใดโดยหน่วยงานของรัฐ หรือโดยบุคคล หรือกลุ่มบุคคลที่ทำงานภายใต้ความเห็นชอบของรัฐ ได้รับความสนับสนุนหรือรู้เห็นเป็นใจโดยรัฐ และมีการปฏิเสธไม่ยอมรับว่ามีการควบคุมตัวบุคคล หรือมีการปกปิดชะตากรรมหรือข้อมูลเกี่ยวกับที่อยู่ของผู้สูญหาย เป็นเหตุให้บุคคลดังกล่าวไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย” รัฐจะต้องดำเนินการเพื่อสอบสวนพฤติการณ์เหล่านี้ รวมทั้งพฤติการณ์ที่คล้ายคลึงกันของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลอื่นที่กระทำการโดยไม่ได้รับความเห็นชอบ ความสนับสนุนหรือการรู้เห็นเป็นใจจากรัฐ และให้นำตัวผู้รับผิดชอบมาลงโทษ
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net