Skip to main content
sharethis

นักวิชาการ นักกิจกรรมทางสังคม  ญาติผู้เสียชีวิตในปี53   รณรงค์หน้าศาลเผาตำรากฎหมายจำลอง ชี้ มาตรา112 กระบวนยุติธรรมไทยมีปัญหา

25 มกราคม  2556  เวลาประมาณ 12.00น. บริเวณหน้าศาลอาญารัชดา   กลุ่มนักกิจกรรมทางสังคมและนักวิชาการประมาณ 50 คนได้เดินทางมาทำกิจกรรมรณรงค์แสดงความไม่เห็นด้วยต่อกรณีที่ ศาลพิพากษาจำคุก 11 ปี คดีหมิ่นเบื้องสูง นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข อดีตบรรณาธิการ นิตยสารวอยซ์ ออฟ ทักษิณ Voice of  Taksin  ด้วยการอ่านและแจกแถลงการณ์รวมทั้งทำการจุดไฟ “เผาตำรากฎหมายเชิงสัญลักษณ์” พร้อมชูป้ายข้อความต่างๆ(ตามภาพ)
 
ในกิจกรรมดังกล่าวได้มีการกล่าวปราศัยถึงความเป็นเผด็จการของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ ความล้มเหลวของกระบวนการยุติธรรม ทั้งในเรื่องการริดรอนสิทธิการให้ประกันตัว จนถึงกระบวนการในการพิจารณาคดี โดยได้ยกกรณีของดารณี ชาญเชิงศิลปกุล นายธันย์ฐวุฒิ ทวีวโรดมกุล นายอำพล ตั้งนพกุล  และนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข โดยผู้ปราศัยได้ประกาศว่ากิจกรรมที่ได้ทำร่วมกันนี้เป็นการแสดงออกเชิง สัญลักษณ์ด้วยการเผาตำราเรียนกฎหมาย

 


แถลงการณ์กิจกรรม “เผาตำรากฎหมายเชิงสัญลักษณ์”

25 มกราคม 2555 หน้าศาลอาญา รัชดาฯ

การจัดกิจกรรม “เผาตำรากฎหมายเชิงสัญลักษณ์” ในวันนี้ เป็นการรวมตัวกันของกลุ่มคนที่มีที่มาหลากหลาย แต่มีจุดร่วมเหมือนกันประการหนึ่งคือ ไม่เห็นด้วยกับความเผด็จการของประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และอดรนทนไม่ได้กับความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่ากับผู้ต้องขังคดีนี้

ไม่ว่าจะเป็น การพิจารณาคดีของนางสาวดารณี หรือ ดา ตอร์ปิโด ที่ศาลอนุญาตให้มีการพิจารณาคดีในทางลับโดยไม่ถือว่าเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ

หรือกรณีการถูกตัดสินว่ามีความผิด แม้ว่าจะไม่สามารถพิสูจน์ได้จนสิ้นสงสัย ดังเช่นในกรณีของนายธันย์ฐวุฒิ ทวีวโรดมกุล หรือ หนุ่มเรดนนท์ ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นเว็บมาสเตอร์ของเว็บไซต์ นปช.ยูเอสเอ หรือกรณีของนายอำพล หรือ อากงเอสเอ็มเอสที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ส่งเอสเอ็มเอสหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ   

ปัจจุบัน นางสาวดารณีต้องโทษจำคุก 15 ปี นายธันย์ฐวุฒิ ต้องโทษจำคุก 13 ปี และนายอำพล ต้องโทษจำคุก 20 ปีก่อนต้องจบชีวิตลงในเรือนจำเมื่อปีที่ผ่านมา

วันที่อากงเสียชีวิต พวกเราหลายคนมาอยู่ที่นี่ หน้าศาลอาญารัชดาแห่งนี้ เรียกร้องความเป็นธรรมให้อากง แต่สิ่งที่พวกเราได้รับกลับกลายเป็นการดาหน้าออกมาพูดความจริงเพียงครึ่งเดียวของบรรดาบุคคลในแวดวงตุลาการ                

ล่าสุด การพิพากษาลงโทษนายสมยศ พฤกษเกษมสุข นักกิจกรรมสายแรงงานและบรรณาธิการนิตยสาร Voice of Taksin เป็นเวลา 10 ปี โดยผลักภาระความรับผิดให้นายสมยศ โดยไม่มีการพิสูจน์ให้สิ้นสงสัยในเรื่องเจตนากระทำผิด อันเป็นพื้นฐานของคดีอาญา ยังไม่ต้องพูดถึงสิทธิในการประกันตัว อันเป็นสิทธิพื้นฐานตามหลักสากล แต่สำหรับประเทศไทยเรานี้ ต้องเป็นอภิสิทธิชนเท่านั้นจึงจะเข้าถึงสิทธินี้ได้              

กรณีทั้งหมดที่กล่าวมานี้ และอีกหลายกรณีที่ไม่ได้กล่าวถึง  สะท้อนให้เห็นว่ากระบวนการยุติธรรมไทยล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงในการผดุงไว้ซึ่งหลักนิติธรรม อันเป็นหัวใจของการปกครองระบอบประชาธิปไตย…

หากบุคคลให้สถาบันตุลาการที่ได้ชื่อว่าเป็นคนดี เป็นผู้ที่มีความเที่ยงตรง กลับไม่ปฏิบัติตามหลักการพื้นฐานทางกฎหมายเหล่านี้ ความยุติธรรมที่แท้จริงจะบังเกิดได้อย่างไร?

แล้วตำรากฎหมายที่วางกองอยู่ตรงหน้าที่เราได้ร่ำเรียนมานั้น จะยังมีความหมายอะไรต่อไปอีก?

“พอกันที 112!  พอกันทีความไร้หลักการของกระบวนการยุติธรรมไทย!”

 

 

หมายเหตุ:  กิจกรรม “เผาตำรากฎหมาย” จึงเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ หนังสือที่นำมาเผาเป็นตำราเรียนกฎหมายที่ทำจำลองขึ้นมา

 

ขวัญระวี วังอุดม  จากสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้เข้าร่วมรณรงค์ กล่าวกับประชาไทหลังสิ้นสุดกิจกรรมรณรงค์ครั้งนี้ว่า เราต้องการจะสื่อให้เห็นว่าความไม่ยุติธรรมที่เกิดจากตัวกฎหมายกับกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบตั้งแต่ตำรวจ อัยการ ศาล เห็นว่าสิ่งที่เล่าเรียนกันมามันใช้ไม่ได้อีกแล้ว  กิจกรรมนี้ทำให้เห็นว่ากระบวนการยุติธรรมถูกตั้งคำถามและท้าทายยมากขึ้น นับตั้งแต่คดีองกง หรือกลุ่มปฏิญญาหน้าศาล 

พันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ บิดาของ นายสมาพันธ์ ศรีเทพ ผู้เสียชีวิตจากเหตุการสลายการชุมนุมเดือนพฤษภา 53   หนึ่งในผู้เข้าร่วมรณรงค์ กล่าวกับประชาไทว่า   ในทางสาธารณะมันมีทัศนคติว่าผู้ต้องหาในคดีนี้ ที่เป็นผู้ถูกกล่่าวหากลายเป็นจำเลย ซึ่งถูกตัดสินไปแล้วและไม่สามารถหลุดออกจากคดีนี้ได้   โดยส่วนตัวแล้วผมรู้สึกเฉยๆ กับกระบวนการยุติธรรมไทยเมือเทียบกับกรณีการเสียชีวิตของลูกชาย  แต่ก่อนเขาพูดกันว่าศาลเป็นที่พึ่งสุดท้าย แต่ตอนนี้ประชาชนต้องพึ่งอยู่บนตีนตนเอง และเชื่อว่ากิจกรรมนี้เป็นสิ่งที่คนตัวเล็กตัวน้อยทำอะไรได้บ้างเพื่อเรียกร้องความยุติธรรม"

อนุสรณ์ อุณโณ  คณะสังคมวิทยา ธรรมศาสตร์   ผู้เข้าร่วมกิจกรรม กล่าวถึงเหตุผลในการเข้าร่วมกิจกรรมว่า อย่างแรกสุด 112 เป็นกฎหมายที่มีปัญหาในหลายระดับ (อุดมการณ์ การบังคับใช้ การตีความ ฯลฯ) อย่างที่สองกรณีคุณสมยศมันมีความพิลึกพิลั่นในการตัดสินเพิ่มอีก อย่างที่สามที่สำคัญมากคือมันจำเป็นต้องมีการเคลื่อนไหว "บนท้องถนน" เพราะลำพังแต่เพียงการแสดงความเห็นหรือเคลื่อนไหวในวงเสวนาหรือสื่อออนไลน์มันไม่พอ

นักวิชาการจาก มธ.ตอบเมื่อถูกตั้งคำถามว่ากิจกรรมอาจมีความคาบเกี่ยวกับการละเมิดอำนาจศาลว่า “ผมไม่แน่ใจว่าในทางกฎหมายนิยามการละเมิดอำนาจศาลไว้อย่างไร แต่ผมไม่คิดว่าการแสดงความเห็นต่างหรือวิพากษ์วิจารณ์คำตัดสินของศาลบนฐานของเหตุผลและข้อเท็จจริงจะเป็นการละเมิดอำนาจศาล เพราะไม่แล้วศาลก็จะกลายเป็นอำนาจสูงสุดและเบ็ดเสร็จที่ไม่สามารถตรวจสอบหรือถ่วงดุลได้ ซึ่งไม่น่าจะเป็นวิสัยของระบอบประชาธิปไตยอย่างที่ควรจะเป็น”

ผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า นายทวี ประจวบลาภ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา กล่าวว่า กรณีมีผู้ชุมนุมมาประท้วงหน้าศาลอาญานั้นได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ศาลอาญาดูเเลรักษาความสงบ ซึ่งก็ไม่มีเหตุการณ์ร้ายเเรงหรือลุกลาม ส่วนที่มีการเผาตำรา หรือเเจกเอกสารนั้นก็เป็นการแสดงความไม่เห็นด้วยในกระบวนการยุติธรรม ทางศาลอาญาก็จะไม่มีการดำเนินคดีอะไรต่อคนกลุ่มนี้ เพราะจะเป็นการต่อความยาว ผู้ชุมนุมก็ชุมนุมบริเวณข้างหน้าศาลไม่ได้เข้ามาชุมนุมในเขตรั้วของศาล คิดว่าคงจะไม่มีเหตุการณ์ลุกลามไปกว่านี้แล้ว เพราะทางศาลอาญาได้ชี้เเจงผ่านสื่อมวลชนไปเเล้วถึงคดีของนายสมยศ และเชื่อว่าประชาชนทั่วไปซึ่งเป็นคนส่วนมากและมีความคิดเป็นกลางจะมีความเข้าใจ แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือ คนบางกลุ่มมีการปลุกระดมเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือโดยการดึงต่างประเทศเข้ามา ซึ่งไม่แน่ใจว่าจะมีความเข้าใจในวัฒนธรรมขนบธรรมเนียมของประเทศไทยหรือไม่ แต่ที่ตนเชื่อว่าจะไม่บานปลาย เพราะกระบวนการยุติธรรมเรามีบทบัญญัติชัดเจนและตรวจสอบได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net