เปรียบเทียบ 'ทีวีสาธารณะ' แบบอเมริกา-ไทย

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

เปรียบเทียบและข้อสังเกตบางประการ ของ PBS ของสหรัฐอเมริกา และไทยพีบีเอสของไทย

กิจการของทีวีสาธารณะ หรือที่รู้จักกันในชื่อ PBS เป็นชื่อของทีวีสาธารณะของอเมริกัน มาจาก Public Broadcasting Service เป็นองค์กรไม่หวังผลกำไร ก่อตั้งเมื่อปี ค.ศ.1970 ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันนับเป็นเวลาประมาณ 42 ปีแล้ว โดยมีสำนักใหญ่ที่เมืองอาลิงตัน มลรัฐเวอร์จิเนีย เมืองเดียวกับสถานที่ตั้งสำนักงาน CIA

ส่วน “Thai PBS” อยู่ภายใต้การกำกับดูแลขององค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) ซึ่งเปิดดำเนินการ 15  มกราคม พ.ศ.2551 พยายามเอาปรัชญาหรือแนวคิด (หรือเลียนแบบ) กิจการของทีวีสาธารณะของอเมริกันแห่งนี้ ภายหลังจากที่กิจการ ITV  เดิมที่ใช้ระบบการประมูล ประกอบกิจการไม่เป็นผลสำเร็จ

เรียกว่า แม้แต่การก่อเกิดองค์กรก็แตกต่างกันเสียแล้ว แม้ทีวีฟากไทยได้พยายามจะลอกเลียนแบบรูปแบบ (Concept) การบริหารจัดการและการทำรายการของ US PBS ก็ตาม แต่จากรูปการณ์แล้ว หลายอย่างไม่น่าจะเป็นไปตามที่คาดหวังกันไว้แต่แรก

อาจมองได้ว่า ระบบการทำสื่อทีวีของไทยกับระบบของอเมริกันแตกต่างกัน แต่ก็ไม่แน่เสมอไป   เพราะเดี๋ยวนี้ระบบการบริหารจัดการเทคโนโลยีและระบบข้อมูลแทบไม่แตกต่างกัน เมื่อโลกกลายเป็นหนึ่งเดียวอย่างไม่สามารถแยกข้อมูลสารสนเทศออกจากกันได้อีกต่อไป อีกนัยหนึ่งก็คือ ปัจจุบันแทบไม่มีพรมแดนด้านข่าวสารข้อมูลหลงเหลืออยู่อีกแล้วนั่นเอง

คงไม่บังอาจเทียบกิจการทีวีสาธารณะของ 2 ประเทศ คือ ไทยกับอเมริกัน ขณะที่ข้างหนึ่งเพิ่งโตมาเพียงไม่กี่ปี  อีกข้างหนึ่งโตมา 40 กว่าปี  ซึ่งนับว่าแตกต่างกันมาก  แต่อย่างที่บอก คือโลกปัจจุบัน ระบบสื่อมวลชนไม่ว่าอเมริกาหรือไทยแทบไม่แตกต่างอะไรกันมากนัก  การหาข้ออ้างเรื่องระยะเวลาการเติบโต หรือการฟูมฟักกิจการจึงไม่น่าจะถูกต้องทั้งหมด

โดยเหตุที่ทีวีสาธารณะเป็นของคนทุกคน  ในระบบของอเมริกัน ทีวีสาธารณะนำเสนอรายการที่เน้นเนื้อหาสาระแทบจะเต็มๆ ทีเดียว และโดยเหตุที่อเมริกาเป็นประเทศใหญ่ จึงมีสถานี PBS ท้องถิ่นกระจายอยู่ทั่วไปในหลายๆ รัฐ  รายการและรูปแบบรายการก็แตกต่างกันไปตามท้องถิ่นหรือรัฐนั้นๆ

รูปแบบทุนสนับสนุนกิจการของ US PBS  มาจาก 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นเงินอุดหนุนจากรัฐบาลกลาง   ส่วนที่สอง เป็นเงินสนับสนุนจากผู้บริจาค หรือจากบรรดาสมาชิกของ PBS เอง ซึ่งเงินสนับสนุนในส่วนที่สองนี้นับเป็นทุนสนับสนุนส่วนใหญ่ มีจำนวนเกินกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ หรือมากกว่าทุนที่ได้รับการอุดหนุนจากรัฐเสียด้วยซ้ำ

ข้อวิพากษ์ถึงความเป็นกลางของทีวีอเมริกันช่องเดียวกันนี้มีอยู่ แต่ไม่ค่อยมากนัก จากการสำรวจของ Roper polls  ซึ่งเป็นสถาบันวิจัย พบว่า US PBS เป็นองค์กรที่คนอเมริกันให้ความไว้วางใจมากที่สุด

ส่วนหนึ่งเพราะสถานีเดียวกันนี้มีรายการที่เน้นไปเพื่อการศึกษาเสียมาก  เป็นรายการการศึกษาอย่างจริงจัง (ซีเรียส) หรืออย่างเป็นการเป็นงานเสมือนการทำวิจัย ไม่เป็นแบบสุกเอาเผากิน (นิยามของ “ทีวีเพื่อการศึกษา” ของสื่อองค์กรนี้ไม่ได้หมายถึงการศึกษาในรูปแบบการเรียนการสอนทางไกล แต่เป็นการศึกษาผ่านสื่อทีวีเพื่อให้ความรู้กับประชาชนในหลายๆ ด้านอย่างกลมกลืนกับการรับสื่อในชีวิตประจำวัน เช่น ด้านประวัติศาสตร์ ด้านสังคม ด้านวัฒนธรรม ด้านสภาพแวดล้อม เป็นต้น)

ในส่วนของการนำเสนอด้านข่าวของ PBS ส่วนใหญ่เป็นการสัมภาษณ์และเป็นการวิเคราะห์ข่าวมากกว่าที่จะเน้นการทำข่าวเสียเอง เช่น รายการ NewsHour ของ จิม เลห์เรอร์(Jim Lehrer) ที่ถือว่าอยู่มานานหลายปี มีชื่อเสียงและมีความน่าเชื่อถือมาก  ส่วนรายการข่าวก็อย่างเช่นรายการ Frontline   สำแดงถึงศักยภาพที่เป็นที่น่าเชื่อได้ว่า ไม่เอียงข้าง  (ไม่เอียงข้างทั้ง 100 เปอร์เซ็นต์ คงเป็นไปไม่ได้ แต่อย่างน้อย US PBS ก็ได้รับการวิจารณ์ในทำนองนี้น้อยกว่าทีวีอเมริกันช่องพาณิชย์อื่นๆ ) 

ประเด็นที่ US PBS ถูกวิจารณ์ ส่วนใหญ่เกี่ยวกับการบริหารจัดการผู้บริหารและพนักงานในองค์กร ซึ่งเชื่อมกับที่มาของเงินทุนสนับสนุนองค์กร  สื่อสิ่งพิมพ์อเมริกันบางฉบับเคยวิจารณ์รูปแบบการบริหารของสถานีแห่งนี้ว่า น่าจะทำให้มีรูปแบบเชิงพาณิชย์มากขึ้น ในเมื่อผู้บริหารของสถานีมีรายได้จำนวนมากพอๆกับช่องทีวีพาณิชย์อื่นๆ เช่น  ABC ,NBC , CBS , FOX  หรือ CNN หมายถึง เป็นองค์กรสื่อไม่หวังผลกำไรก็จริง แต่มีลักษณะการทำงานในเชิงพาณิชย์อยู่ในที ซึ่งก็เหมือนองค์กรไม่หวังผลกำไรหลายองค์กรในอเมริกาที่ได้รับเงินสนับสนุนจำนวนมาก จนผู้บริหารตั้งเงินเดือนหรือค่าตอบแทนของตัวเองสูงมากจนดูน่าเกลียด

อย่างไรก็ตาม ในประเด็นเดียวกันนี้ คงไม่สามารถวิจารณ์การบริหารงานของ US PBS  ได้ทั้งหมดเสียทีเดียว เพราะการให้ความสนับสนุนสถานีแห่งนี้ของประชาชนหรือองค์กรเอกชนต่างๆ เป็นเครื่องพิสูจน์ได้ส่วนหนึ่ง  อย่างน้อยก็มีการระดมทุนเพื่อเป็นทุนในการบริหารงานของสถานีแห่งนี้ทุกปี และยังมีคนอเมริกันให้การสนับสนุนสื่อสาธารณะแห่งนี้อย่างมากมาย หากเมื่อเทียบกับ Thai PBS ที่กลไก (หน่วยงาน) ของรัฐไทยให้การสนับสนุนแล้ว นับว่าแตกต่างกันอย่างมากเลยทีเดียว

คำถามก็คือ คณะกรรมการ(บอร์ด)ของ Thai PBS ที่แม้จะเป็นองค์กรอิสระก็จริง แต่จะให้เชื่อว่าอิสระจริงได้อย่างไร ในเมื่อผูกโยงกับฝ่ายการเมืองในเรื่องการสนับสนุนด้านการเงินในสัดส่วนที่แทบจะร้อยทั้งร้อย (กฎหมายเปิดโอกาสให้เอกชนไทยสนับสนุนด้านการเงิน แต่ก็น่าเชื่อว่า เงินส่วนนี้มีจำนวนน้อยมาก??? ทั้งยังเป็นเรื่องลึกลับที่รู้กันอยู่เฉพาะวงใน)

เมื่อพิจารณาถึงลักษณะการทำงาน โดยเฉพาะการทำรายการของ US PBS ที่มีการทำงานแบบเป็นทีมสูง แต่ดูเหมือน Thai PBS กลับให้ภาพความเป็นปัจเจกของคนทำรายการมากกว่าอย่างอื่น คือ มุ่งสนองต่อความเป็นปัจเจกของผู้จัดทำ (ผลิต) หรือผู้สร้างสรรค์รายการมากกว่า ทั้งนี้อาจเพราะคนไทยทำงานเป็นทีมกันไม่ค่อยเป็นหรือไม่ ก็เป็นสิ่งที่น่าคิด

ประเด็นที่น่าจับตามองอีกประการที่เกี่ยวกับนโยบายการทำงานของ US PBS คือ การมุ่งกระจายแห่งที่มาของรายการไปยังเอกชนอื่นๆ นอกเหนือเครือข่ายขององค์กร (Third Party Sources)  เช่น NETA, American Public Television, WTTW National Productions   เป็นต้น เพื่อทำงานด้านผลิตรายการอีกทาง ทำให้เกิดความหลากหลายต่อผู้ชม หรือคนรับสื่อ  และมีรายการทางเลือกมากขึ้น ทำให้เกิดพัฒนาการของการทำสื่อที่มาจากมวลชนจริงๆ แม้กระทั่งการรายงานข่าวจากพื้นที่นั้นๆ ในแต่ละท้องถิ่น

ในประเด็นเดียวกันนี้ ไม่ทราบว่า Thai PBS ได้ก้าวหน้าไปถึงไหน หรือมีการพยายามรวบอำนาจไว้ที่ส่วนกลางหรือไว้ที่องค์กรที่กรุงเทพทั้งหมดหรือไม่ , หมายถึง อำนาจของคณะกรรมการด้านโยบายและอำนาจในส่วนของคณะกรรมการบริหาร ซึ่งหากเป็นอย่างว่านี้ ก็เท่ากับ Thai PBS มุ่งสนองต่อผลประโยชน์ของกลุ่มบุคคลเท่านั้น และเป็นองค์กรสาธารณะที่มีนโยบายและการบริหารที่คับแคบมาก จะโดยเจตนาหรือไม่ก็ตาม

ขณะเดียวกันในส่วนของรายการที่พยายาม “ดันประชาชน” (นักข่าวพลเมือง) ให้ทำสื่อทีวีให้เป็นนั้น ก็ไม่แน่ชัดว่าจะได้ผลอะไรมากนัก จากปัญหาที่เป็นสาเหตุ 2 ประการ คือ

ประการ แรก แรงจูงใจให้ประชาชน (พลเมือง) ทำรายการออกมาดีๆ มีหรือไม่ ในสัดส่วนเท่าไร หรือเป็นการมุ่งโปรโมทสร้างภาพว่า เป็นทีวีประชาชนหรือเป็นทีวีสาธารณะเท่านั้น โดยที่เงินเดือนและผลตอบแทนของคณะผู้บริหารก็เลยหลักแสนกับแทบทั้งสิ้น

ประการที่สอง ยังไม่มีการประเมินผลรายการพลเมืองดังกล่าวนี้อย่างจริงจังแต่อย่างใด ดูไปจึงไม่ต่างไปจากรายการโชว์รายการหนึ่ง (อย่างน้อยๆ ก็จำอวดภาษาท้องถิ่นให้ได้เห็นกันทางทีวี) ติดอยู่กับกระพี้ ไม่ได้นำเสนอเชิงลึกถึงแก่นจริงๆ ของปัญหา ของชาวบ้านจริงๆ

เปรียบเทียบให้เห็นกันชัดๆ ตรงๆ อย่างนี้ เพราะต่าง(ก็อ้าง)เป็นทีวีสาธารณะด้วยกันทั้งคู่

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท