Skip to main content
sharethis

 

ถกขยายตลาดแรงงานไปโอมาน

นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน หารือร่วมกับ นายพรชัย ด่านวิวัฒน์ เอกอัครราชทูต ณ สาธารณรัฐโอมาน เกี่ยวกับแนวทางการทำความตกลง (เอ็มโอยู) ด้านแรงงาน ระหว่างประเทศไทยกับโอมาน เนื่องจากประเทศดังกล่าวมีแนวคิดในการนำเข้าแรงงานจากต่างประเทศ เป็นโอกาสในการขยายตลาดแรงงานของไทย โดยแนวทางการจัดทำเอ็มโอยูกับโอมาน แบ่งเป็น 2 ประเด็น คือ 1. การจัดส่งแรงงานระดับกึ่งฝีมือและระดับฝีมือ โดยเฉพาะภาคการก่อสร้างและการขุดเจาะน้ำมัน

ทั้งนี้แม้ทางโอมานจะกำหนดสัดส่วนให้ต้องจ้างแรงงานโอมานอย่างน้อย 70% แต่ตลาดแรงงานที่นั่นก็ยังต้องการจ้างงานแรงงานต่างชาติอีกจำนวนมาก โดยค่าจ้างขั้นต่ำของโอมานจะมีการปรับในเดือน ก.ค.ที่จะถึงนี้ จาก 1.6-1.7 หมื่นบาท/เดือน เป็น 2.5หมื่นบาท/เดือน

2.การพัฒนาฝีมือแรงงาน ทางโอมานต้องการให้กระทรวงแรงงานจัดทำหลักสูตรฝึกอบรมและพัฒนาฝีมือแรงงาน การส่งผู้ผ่านการฝึกอบรมให้ตามที่ต้องการ หรือส่งวิทยากรของไทยไปดำเนินโครงการฝึกอบรมและพัฒนาฝีมือแรงงานให้กับคน ท้องถิ่น

นพ.สมเกียรติ กล่าวว่า การอบรมพัฒนาฝีมือแรงงานให้กับคนท้องถิ่นโอมาน จะเป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีนำไปสู่ความสัมพันธ์ทางการค้าในระยะยาวต่อ ไป อย่างไรก็ตาม แม้ปัจจุบันแรงงานในประเทศไทยยังขาดแคลนอยู่มากจึงต้องส่งเสริมการจ้างงาน ภายในประเทศด้วย แต่หากการเดินไปทำงานที่โอมานทำให้แรงงานมีรายได้ที่ดีว่าก็พร้อมจะสนับสนุน

ขณะที่นายพรชัย กล่าวว่า การร่างเอ็มโอยูจะมีการสืบค้นตัวอย่างการทำเอ็มโอยูด้านแรงงานที่โอมานเคยทำ กับประเทศต่างๆ  เพื่อใช้เป็นแนวทางในการจัดทำบันทึกความเข้าใจระหว่างกัน และเห็นควรประสานการจัดตั้งคณะทำงานยกร่างเอ็มโอยูของฝ่ายไทยและฝ่ายโอมาน โดยในส่วนของฝ่ายไทยอาจประกอบด้วยด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งของกระทรวง การต่างประเทศและกระทรวงแรงงาน อาทิ กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และกรมการจัดหางาน โดยมีสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมัสกัต และฝ่ายแรงงานฯ ณ กรุงอาบูดาบีเป็นเลขานุการและผู้ช่วยเลขานุการ

(โพสต์ทูเดย์, 27-2-2556)

 

สธ.รณรงค์ตรวจเลือดป้องกันเอดส์กลุ่มแรงงานในโรงงานนำร่อง 50 แห่ง

สธ.27 ก.พ.- นพ.พรเทพ  ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดประชุมเชิงปฏิบัติการเตรียมความพร้อมการป้องกันและบริหารจัดการด้าน เอดส์ในสถานประกอบกิจการ ว่า ปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อเอดส์ในไทย ประมาณ 1.2 ล้านคน  ประมาณร้อยละ 85 ของผู้ป่วย  มีอายุระหว่าง 15-45 ปี  ซึ่งถือเป็นวัยแรงงาน และเป็นทรัพยากรหลักในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ส่วนปัจจัยเสี่ยงของการติดเชื้อเอชไอวีเกิดจากการมีเพศสัมพันธ์ถึงร้อยละ 85 และ มีแนวโน้มพบผู้ป่วยในกลุ่มอายุ 15-24 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มวัยรุ่น เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มชายรักชาย ที่มีอัตราการติดเชื้อร้อยละ 8.83

ทั้งนี้ กรมควบคุมโรค ได้ร่วมกับสถานประกอบการภาคธุรกิจ มูลนิธิศาสตราจารย์นพ.สมบูรณ์วัชโรทัย กระทรวงแรงงาน สมาคมแนวร่วมภาคธุรกิจไทยต้านภัยเอดส์ รณรงค์ให้มีการเจาะเลือดตรวจ รู้ผลเบื้องต้นใน 1 ชั่วโมง ในกลุ่มแรงงาน ในโรงงานนำร่อง 50 แห่ง ทั้ง กทม.และนนทบุรี เพื่อป้องกันโรค  ดังสโลแกน “เอดส์ รู้ก่อน รู้ทัน ป้องกันและรักษาได้”  และยังเป็นประโยชน์ต่อการก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี)รวมถึงสังคมประเทศชาติส่วนรวมในอนาคต

(สำนักข่าวไทย, 27-2-2556)

สธ.เล็งใช้วิธีเก็บเงินต้นทาง หลังไทยแบกภาระค่ารักษาต่างด้าวปีละ 250 ล.

(28 ก.พ.) นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายสาธารณสุขระหว่างประเทศ ว่า ที่ประชุมมีการหารือเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพคนต่างด้าว โดยกลุ่มต่างด้าวประเภทเช้าไปเย็นกลับ หรือประชาชนจากประเทศเพื่อนบ้านที่ข้ามฝั่งมารักษาพยาบาลในสถานพยาบาลตามแนว ชายแดน จนส่งผลให้ไทยต้องรับภาระค่ารักษาพยาบาลส่วนนี้ราว 250 ล้านบาทต่อปี จะแก้ปัญหาในระยะสั้นด้วยการเก็บค่ารักษาพยาบาล ส่วนระยะยาวจะประสานองค์การอนามัยโลก (WHO) หรือธนาคารโลก (World Bank) ให้กระตุ้นประเทศเหล่านี้มีหลักประกันสุขภาพ อย่างไรก็ตาม หากไม่สามารถเก็บค่ารักษาได้ อาจต้องแสดงเป็นงบประมาณด้านความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) ของประเทศแทน หรือพิจารณาเบิกเก็บจากประเทศต้นทาง ซึ่งจะเสนอเป็นกรอบพิจารณาในการเจรจากรอบอาเซียน
      
“ที่ต้องใช้ระบบเก็บเงินต่างด้าวแบบเช้าไปเย็นกลับ เพราะระบบประกันสุขภาพจะได้ผลดีต้องมีทั้งคนสุขภาพดีและไม่ดีมาแชร์กัน แต่คนต่างด้าวจะมีเฉพาะคนที่เป็นโรคเท่านั้นที่มาซื้อประกัน จึงไม่เหมาะสมที่จะนำมาใช้กับคนต่างด้าวกลุ่มนี้” รมว.สาธารณสุข กล่าว

 นพ.ประดิษฐ กล่าวอีกว่า สำหรับประเภทแรงงานต่างด้าว ยกเว้นแรงงานในระบบประกันสังคม จะใช้ระบบประกันสุขภาพทั้งหมด โดยจะขยายระบบครอบคลุมทั้งแรงงาน ผู้ติดตามและลูก คาดว่าภายในต้นเดือน พ.ค.2556 จะสามารถดำเนินการให้หลักประกันสุขภาพกับเด็กต่างชาติด้วย ภายใต้ระบบประกันสุขภาพ คือต้องซื้อประกันสุขภาพในราคาที่ถูกมาก เบื้องต้นมีแนวคิดจะเก็บค่าประกันสุขภาพสำหรับเด็กต่างด้าววันละ 1 บาท ซึ่งไม่ใช่จำนวนเงินที่มากเมื่อเทียบกับครอบครัวที่มีรายได้วันละ 200-300 บาท แต่จะใช้เป็นแรงจูงใจให้เด็กกลุ่มนี้ได้รับการดูแล หรือเก็บเป็นรายครอบครัวที่มีสมาชิก 3 คน 10 บาทต่อวัน แยกเป็นพ่อ 5 บาท แม่ 4 บาท และลูก 1 บาท คิดเป็นเงิน 3,600 บาทต่อปี หรือคนละ 1,200 บาทต่อปี โดยจะส่งผลให้ช่วยลดปัญหาสาธารณสุขของประเทศลงได้ส่วนหนึ่ง ป้องกันโรคระบาด เท้าช้าง วัณโรค และซิฟิลิส เป็นต้น หากไม่ดำเนินการตรวจโรคและรักษาก็จะเกิดการระบาดในประเทศไทย เพราะคนต่างด้าวทั้งใต้ดินและบนดินมีประมาณ 3-4 ล้านคน มีทั้งผู้ที่สุขภาพแข็งแรงดีและไม่ดี
      
“มติ ครม.ให้สิทธิ สธ.รักษาสุขภาพคนต่างด้าวได้ทั้งหมด ไม่เฉพาะที่เข้ามาอย่างถูกกฎหมายเท่านั้น ซึ่งจะทำให้กลุ่มคนเหล่านี้กล้าที่จะออกมาซื้อประกันและเข้ารับบริการสุขภาพ เพราะในการรักษาพยาบาลจะมุ่งเน้นการรักษาและป้องกันโรค สธ.ไม่มีหน้าที่ถามว่าคุณมาในฐานะอะไร เพราะถ้าถามว่าเข้าเมืองมาผิดกฎหมายหรือไม่ ก็ต้องรายงานตำรวจ แพทย์ก็ไม่ต้องทำงาน ผู้ป่วยหนีหมด ทั้งนี้ สามารถซื้อประกันได้ที่โรงพยาบาล เบื้องต้นอาจเริ่มจากผู้หญิงต่างด้าวที่มาฝากครรภ์ โดยอาจจะถามว่าซื้อประกันสุขภาพให้ลูกหรือไม่ วันละ 1 บาท จากนั้นจะออกเป็นบัตรประจำตัวเด็กที่มีสีแตกต่างกันระหว่างเด็กที่ซื้อและ ไม่ซื้อประกัน หรือใช้วิธีการประทับตรา โดยสิทธิประโยชน์และค่ารักษาพยาบาลจะเท่ากับคนไทย” รมว.สาธารณสุข กล่าว
      
นพ.ประดิษฐ กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ การดูแลสุขภาพคนต่างด้าวที่เข้ามาในประเทศไทยจะให้ครอบคลุมทั้งหมด อาจจะต้องให้มีการซื้อประกันสุขภาพนักท่องเที่ยว สำหรับกลุ่มประเทศที่ต้องใช้วีซ่าเดินทางเข้าประเทศ เพราะประเทศที่ไม่ได้ใช้วีซ่าเป็นประเทศที่มีระบบประกันสุขภาพของประเทศอยู่ แล้วสามารถข้ามมาใช้ในประเทศไทยได้ ไม่ให้กระทบกระเทือนต่อการท่องเที่ยว เนื่องจากประเทศที่ต้องใช้วีซ่ามักจะเป็นประเทศซึ่งมีปัญหาในการเข้ามา ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาและพิจารณาตัวเลขว่ามีจำนวนผู้ใช้บริการสุขภาพที่ เป็นนักท่องเที่ยวมาจากกลุ่มนี้เท่าไหร่ที่มาใช้บริการฟรีในประเทศไทย

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 28-2-2556)

 

สาวใช้ต่างด้าวเตือนนายจ้างตรวจประวัติ

จากกรณีที่แรงงานไทยไม่นิยมทำอาชีพแม่บ้าน จนทำให้นายจ้างต้องหาแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติคือ พม่า ลาว และกัมพูชา เข้ามาทำงานแทนคนไทย เนื่องจากในสมัยก่อนแรงงานเหล่านี้มีอัตราค่าจ้างถูกโดยเฉลี่ย 4,000-5,000 บาทต่อเดือน แต่ปรากฏว่าในปัจจุบันค่าจ้างอาชีพแม่บ้านในกลุ่มแรงงานต่างด้าวทั้ง 3 ประเทศนี้กลับมีอัตราเพิ่มสูงขึ้นถึงเดือนละ 8,000-9,000 บาท
   
ถ้าเป็นแรงงานที่คุณสมบัติความสามารถหลากหลายด้าน เช่น รีดผ้า ซักผ้า ทำงานบ้าน เลี้ยงเด็ก ดูแลสุนัข พูดภาษาไทย และเอกสารการทำงานถูกต้องครบถ้วน ก็จะมีเงินเดือนสูงเกิน 10,000-15,000 บาทขึ้นไป ซึ่งนับว่าสูงกว่านักศึกษาปริญญาตรีจบใหม่ อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวยังตรวจสอบพบด้วยว่า มีบริษัทจัดหางานหรือนายหน้าหัวใสเปิดให้นายจ้างเข้ามาค้นหาข้อมูลประวัติ แรงงานต่างด้าว เพื่อติดต่อจ้างงานผ่านทางเว็บไซต์เครือข่ายสังคมออนไลน์ อย่างเฟซบุ๊ก ซึ่งพบว่ามีสมาชิกเกือบ 4,000 ราย
   
ส่วนในด้านผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม ทั้งปัญหายาเสพติดและอาชญากรรม หลังจากที่แรงงานต่างด้าวเดินทางเข้ามาทำงานในประเทศไทยมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่รัฐบาลได้ประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน และการรวมตัวกันของประเทศสมาชิกอาเซียน หรือประชาคมอาเซียนในอนาคตข้างหน้า
   
นายเดชา พฤกษ์พัฒนรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารแรงงานต่างด้าว กรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า การเกิดขึ้นของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) จะส่งผลกระทบต่อจำนวนแรงงานต่างด้าวในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ชาติเดินทางเข้ามาทำงานในประเทศไทยมากขึ้น ทั้งนี้ คาดว่าจะเป็นกลุ่มแรงงานที่มีทักษะฝีมือและความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เช่น แพทย์ พยาบาล วิศวกรและอาจารย์ ฯลฯ มากกว่ากลุ่มแรงงานต่างด้าวไร้ฝีมือทั้ง 3 สัญชาติ เพราะเป็นกลุ่มที่ลักลอบหลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมายโดยไม่เกี่ยวข้องกับการ เปิดเสรีประชาคมอาเซียนแต่อย่างใด
   
ผอ.สำนักบริหารแรงงานต่างด้าว กรมการจัดหางาน กล่าวอีกว่า เรื่องการสกัดกั้นและจับกุมแรงงานต่างด้าวที่ลักลอบเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย นั้น ทางสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองซึ่งมีหน้าที่โดยตรงจะเป็นผู้สกัดกั้นการเข้ามา ของแรงงานกลุ่มนี้ตั้งแต่บริเวณชายแดน และจะทำการผลักดันกลับประเทศต้นทางต่อไป ส่วนกระทรวงแรงงานก็ต้องทำตามมติคณะรัฐมนตรีคือ ผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าวทั้ง 3 สัญชาติที่ลักลอบทำงานอยู่กับนายจ้างให้มาขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องภายในวัน ที่ 16 มีนาคม 2556
   
ด้าน พล.ต.ต.รณศิลป์ ภู่สาระ ผู้บังคับการกองบังคับการสืบสวนสอบสวน สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ผบก.สส.สตม.) กล่าวว่า ตำรวจเตรียมพร้อมรับมือผลกระทบด้านปัญหาสังคมหลังจากการเข้าสู่ประชาคม เศรษฐกิจอาเซียน เพราะจะมีแรงงานต่างด้าวเดินทางเข้าออกประเทศได้อย่างอิสระ นำมาซึ่งปัญหาต่างๆ มากมาย ทั้งยาเสพติด อาชญากรรม โรคติดต่อ ชุมชนแออัด และปัญหาคนไร้สัญชาติ ทั้งนี้ ตำรวจกำลังเร่งหามาตรการที่จะป้องกันปัญหาเหล่านี้
   
"ผู้ประกอบการหรือนายจ้างนั้นควรที่จะตรวจสอบประวัติแรงงานต่างด้าวที่ ท่านจะรับเข้ามาทำงานอย่างละเอียดเสียก่อน เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ปัญหาต่างๆ เกิดขึ้นได้ รวมถึงการพาแรงงานต่างด้าวไปขึ้นทะเบียนให้ถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อจะได้ง่ายต่อการตรวจสอบต่อไป" ผบก.สส.สตม.กล่าว.
(ไทยโพสต์, 28-2-2556)

 

ประกันสุขภาพคนต่างด้าวเริ่ม พ.ค.นี้

นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายทางด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศว่า ที่ประชุมได้หารือกรณีที่มีประชากรจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาใช้ บริการด้านสาธารณสุขไทย โดยเฉพาะตามจุดผ่านแดน ส่งผลให้ประเทศไทยต้องเสียค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขกับคนกลุ่มนี้ปีละประมาณ 250 ล้านบาท สธ.จึงได้หาแนวทางแก้ปัญหา เท่าที่ศึกษาคาดว่าจะไม่ทำในลักษณะของการประกัน เนื่องจากกลุ่มที่ทำประกันคงมีแต่กลุ่มที่เจ็บป่วยเท่านั้น ดังนั้นจะใช้วิธีการเรียกเก็บเงินแทน เรื่องนี้ต้องดูรายละเอียดและความเหมาะสมอีกครั้ง นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้หารือเรื่องการดูแลแรงงานต่างด้าวครอบคลุมทั้งครอบครัว โดยจะจัดทำระบบประกันสุขภาพเด็ก เรียกเก็บเงินวันละ 1 บาทตามความสมัครใจ หรือประมาณปีละ 360 บาทต่อคน โดยไม่เลือกว่าผู้ที่ทำจะเป็นแรงงานที่เข้ามาถูกหรือผิดกฎหมาย โครงการดังกล่าวจะแล้วเสร็จต้นเดือน พ.ค.นี้ ทั้งนี้ยังหารือถึงโครงการดังกล่าวว่าจะดำเนินการให้ครอบคลุมทั้งครอบครัว แบ่งเป็นพ่อ 5 บาท แม่ 4 บาท และลูกอีก 1 บาท หรือครอบครัวละ 3,600 บาทต่อปี ซึ่งจะช่วยลดปัญหาสาธารณสุขของประเทศลงได้เพราะคนต่างด้าวทั้งใต้ดินและบน ดินมี 3-4 ล้านคน

รมว.สาธารณสุขกล่าวด้วยว่า มติ ครม.ให้สิทธิ สธ.รักษาสุขภาพคนต่างด้าวได้ทั้งหมด ไม่เฉพาะที่เข้ามาถูกกฎหมายเท่านั้น ซึ่งจะทำให้กลุ่มคนเหล่านี้กล้าซื้อประกัน เบื้องต้นอาจเริ่มจากผู้หญิงต่างด้าวที่มาฝากครรภ์ที่โรงพยาบาล โดยสอบถามความสมัครใจในการซื้อประกันสุขภาพให้ลูก เพื่อรับสิทธิประโยชน์และค่ารักษาพยาบาลเท่าคนไทย.

(ไทยรัฐ, 28-2-2556)

 

ภาครัฐ-เอกชนถกปัญหาค้ามนุษย์ เผย เร่งแก้ปัญหาแรงงาน-ขอทาน-ค้าประเวณี

ภาครัฐ-เอกชน ร่วมประชุมแก้ปัญหาค้ามนุษย์ เร่งแก้ปัญหาแรงงาน-ขอทาน-ค้าประเวณี เนื่องจากสหรัฐอเมริกาจะมีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือด้านการค้ามนุษย์ทั่ว โลกในเดือนเมษายนนี้ วันนี้(1 มี.ค.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี และนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ต่างประเทศ สั่งการให้กระทรวงการต่างประเทศ จัดประชุมหารือกับองค์กรพัฒนาเอกชน เพื่อรับฟังข้อมูลและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกับภาคประชาสังคมที่ทำงาน ด้านการต่อต้านการค้ามนุษย์ และเพื่อเป็นการนำไปสู่การจัดงานวันสตรีสากล โดยในส่วนของตร. ซึ่งเป็นหน่วยที่มีส่วนในการปราบปรามในเรื่องที่เกี่ยวกับสตรี การค้าประเวณี โสเภณีด้วยนั้น ทางผบ.ตร.ได้มอบหมายให้ พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ ที่ปรึกษา(กม1) เข้าร่วมประชุมด้วย และมีหน่วยงานภาครัฐด้านการบังคับใช้กฎหมายป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ องค์กรพัฒนาเอกชน และกลุ่ม NGO ร่วมประชุม จำนวน 60 คน

พล.ต.อ.ชัชวาลย์ เปิดเผยภายหลังว่า จากการหารือร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐ และองค์กรเอกชน เกี่ยวกับการต่อต้านการค้ามนุษย์ ที่ประชุมมีความเห็นตรงกันว่า ปัญหาการค้าประเวณี และขอทาน ยังคงเป็นปัญหาสำคัญที่ต้องร่วมกันแก้ไข ควบคู่กับปัญหาการบังคับใช้แรงงาน ซึ่งไทยต้องเร่งแสดงให้ประเทศสหรัฐอเมริกาเห็นถึงความมุ่งมั่นในการแก้ปัญหา อย่างเต็มที่ผ่านแผนปฏิบัติการต่อต้านการค้ามนุษย์ประจำปี 2555 ที่จะส่งให้ประเทศสหรัฐอเมริกา พิจารณาจัดอันดับความน่าเชื่อถือของไทย โดยปัจจุบันไทยถูกจัดอันดับอยู่ในระดับ 2 เฝ้าระวังมาตั้งแต่ปี 2553 โดยในส่วนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะเน้นดูแลเรื่องการป้องกัน

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 2-3-2556)

 
พนักงานเอ็นเอ็กซ์พีประท้วงขอขึ้นค่าแรง 


กองบังคับการตำรวจจราจร (บก.จร.) รายงานสภาพการจราจร ช่วงเช้าวันนี้ ( 4 มีนาคม 2556 )ถนนรามอินทรา ขาออก มีสภาพรถติดขัด ท้ายแถวอยู่ กม.5 หลัง มีพนักงานบริษัท เอ็นเอ็กซ์พี ประท้วงเรื่องค่าแรงไม่เป็นธรรม จำนวน 300 คน โดยนั่งบนผิวจราจร 1 ช่องทาง บริเวณ ด้านหน้า ม.ราชภัฏพระนคร ทำให้รถเคลื่อนตัวได้ช้า

(โพสต์ทูเดย์, 4-3-2556)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net