เกษียร เตชะพีระ: โจทย์การเมืองไทย จากพฤษภา35 ถึงปัจจุบัน

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ชื่อบทความเดิม: “โจทย์การเมืองไทยที่เปลี่ยนไปในสองทศวรรษจากพฤษภาฯ 2535 ถึงปัจจุบัน”

 

ในโอกาสเหตุการณ์ความขัดแย้งรุนแรงครั้งใหญ่ทางการเมืองเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2535 ล่วงมาสองทศวรรษ ประจวบกับกระแสความขัดแย้งรุนแรงครั้งใหญ่ทางการเมืองปะทุระเบิดขึ้นอีกระลอกในรอบห้าหกปีที่ผ่านมา ผมคิดว่าเป็นจังหวะอันเหมาะสมที่จะมาทบทวนว่าโจทย์ใหญ่ของการเมืองไทยในช่วงดังกล่าวได้คลี่คลายเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแนวคิดความเห็นของฝ่ายต่างๆ ที่เป็นคู่ขัดแย้งหลักในสังคมการเมืองไทย เพื่อเป็นแนวทางในการขบคิดใคร่ครวญหาทางออกต่อไป

ผมใคร่แบ่งการปาฐกถาวันนี้เป็นหัวข้อย่อยดังนี้:

1) บริบทความคิดการเมืองหลังพฤษภาคม พ.ศ.2535

2) โจทย์ใหญ่ทางการเมืองของฝ่ายเสื้อเหลืองและพันธมิตร

3) โจทย์ใหญ่ทางการเมืองของฝ่ายเสื้อแดงและแนวร่วม

4) ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างการเมืองกับศีลธรรม

 

1) บริบทความคิดการเมืองหลังพฤษภาคม พ.ศ. 2535

 

 

ในช่วงทศวรรษก่อนเกิดระบอบทักษิณราวปี พ.ศ. 2546 วิกฤตและปัญหาการเมืองและเศรษฐกิจแห่งยุคของไทยได้แก่:

1) วิกฤตรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) พ.ศ. 2534 และการลุกฮือพฤษภาประชาธรรม พ.ศ. 2535 อันเป็นอาการแสดงออกซึ่งปัญหาความบกพร่องไม่พอเพียงของนักการเมืองจากการเลือกตั้งและระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทนหรือที่เรียกว่าปัญหา “นักเลือกตั้ง/ระบอบเลือกตั้งธิปไตย” ชาวบ้านรากหญ้าและประชาสังคมเมืองรู้สึกว่าปัญหาเดือดร้อนเร่งด่วนสำคัญที่สุดของตนแทบไม่เคยถูกหยิบยกขึ้นถกอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎรเลย สภาฯกลายเป็นเวทีตีฝีปากประคารมยกมือประท้วงวางท่านักเลงก้าวร้าวถกเถียงหมกมุ่นเรื่องข้อบังคับการประชุมที่แสนน่าเบื่อและไม่เกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขา ส่วนรัฐบาลก็เสมือนคณะกรรมการจัดการดูแลผลประโยชน์อันทุจริตฉ้อฉลเฉพาะของมุ้งกลุ่มก๊วนมากกว่าจะรับใช้รับผิดชอบผลประโยชน์ส่วนรวมของชาติ

วิกฤตการเมืองนี้ถูกวิเคราะห์ว่าเกิดจากปัญหานักเลือกตั้ง/ระบอบเลือกตั้งธิปไตย

2) วิกฤตค่าเงินบาทและเศรษฐกิจตกต่ำหรือที่เรียกว่าวิกฤต “ต้มยำกุ้ง” พ.ศ. 2540 อันเป็นอาการบ่งชี้ปัญหาผลกระทบของทุนนิยมโลกาภิวัตน์ต่อประเทศไทยว่าการเปิดเสรีต่อเงินทุนชีพจรลงเท้า, กระแสบริโภคนิยมและการเอนเอียงทุ่มเทผลิตเพื่ออุตสาหกรรมส่งออกสุดตัวด้วยแรงงานและทรัพยากรราคาถูกนั้นเสี่ยงสูง ผันผวน และอันตรายร้ายแรงถึงขั้นล่มจม ไม่แน่ว่าจะนำมาซึ่งความร่ำรวยรุ่งเรืองดังที่ฝันหวานง่าย ๆ ถ่ายเดียวเสมอไป

วิกฤตเศรษฐกิจนี้ถูกวิเคราะห์ว่าเกิดจากทุนนิยมโลกาภิวัตน์

คำตอบแห่งยุคสมัยที่สังคมไทยเสนอต่อปัญหาการเมืองและเศรษฐกิจดังกล่าวตอนนั้นได้แก่:

การเมืองภาคประชาชนหรือประชาธิปไตยแบบมีส่วนรวม/ทางตรง เพื่อแก้ไขบำบัดจุดอ่อนข้อบกพร่องของระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทน

เศรษฐกิจพอเพียง/ชุมชน เพื่อบรรเทาป้องกันความผันผวน, เสี่ยงสูง, สิ้นเปลือง, สุดโต่งเกินเลยของทุนนิยมโลกาภิวัตน์

อย่างไรก็ตาม ปรากฏว่าภายหลังรัฐบาลของนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท. ดร. ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งมีพรรคไทยรักไทยเป็นแกนนำขึ้นสู่อำนาจในปีพ.ศ. 2544 ระบอบทักษิณได้ข้ามพ้นชุดคำตอบข้างต้นโดยเสนอคำตอบชุดใหม่ผ่านแนวนโยบายและมาตรการปฏิบัติของรัฐบาล ได้แก่: -

-ฝ่ายบริหารมีอำนาจเข้มแข็งครอบงำเหนือรัฐสภา

-ผลักดันผ่านนโยบายและงบประมาณประชานิยมต่าง ๆ ส่งผลให้.....

1) ประชาธิปไตยแบบตัวแทนสามารถดำเนินนโยบายสนองตอบผลประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมแก่ประชาชนผู้เลือกตั้งโดยตรง เช่น การเข้าถึงแหล่งเงินทุน-เงินกู้ของภาครัฐและภาคเอกชน, การพักชำระหนี้, บริการการแพทย์ย่อมเยาถ้วนหน้า, โครงการเอื้ออาทรต่าง ๆ ฯลฯ

2) เปิดช่องทางโอกาสและฐานทุน-เงินกู้ให้ชาวบ้านที่ถูกผลักไสหรือดึงดูดเข้าสู่กระแสคลื่นเศรษฐกิจตลาดเสรีอันผันผวนเสี่ยงสูง, ผ่านการหันไปประกอบอาชีพปลูกพืชเศรษฐกิจ/รับจ้างชั่วคราว/ประกอบธุรกิจรายย่อยต่าง ๆ, แล้วมักตกอยู่ในอาการปริ่มน้ำ จวนจะล่มจมมิจมแหล่ ไม่รู้แน่ว่าจะว่ายถึงฝั่งหรือไม่ – ได้อาศัยมันเป็นห่วงชูชีพประคองตัวลอยคออยู่รอดและพอมีหวังที่จะสู้แล้วรวยได้ในเศรษฐกิจทุนนิยมโลกาภิวัตน์ต่อไป

ขณะที่ความถูกต้องยั่งยืนแห่งแนวนโยบายข้างต้นของระบอบทักษิณยังคงเป็นที่โต้แย้งถกเถียงกันได้ไม่ยุติ แต่ก็ประจักษ์ชัดว่ามันจับใจยึดกุมจินตนาการของมวลชนผู้เลือกตั้งที่เป็นคนชั้นกลางระดับล่างจำนวนมากทั้งในเมืองและชนบท จนพวกเขาพร้อมแปรความเรียกร้องต้องการของตนเป็นพลังการเมืองเพื่อปกป้องแนวนโยบายดังกล่าวและรัฐบาลทักษิณทั้งด้วยคะแนนเสียงเลือกตั้งและการเคลื่อนไหวชุมนุม

 

2) โจทย์ใหญ่ทางการเมืองของฝ่ายเสื้อเหลืองและพันธมิตร

หากถือเอาความคิดทางสังคมการเมืองของอาจารย์ ดร. เสกสรรค์ ประเสริฐกุลในระยะหลังเหตุการณ์พฤษภาประชาธิปไตย 2535 เป็นต้นมา ดังที่ปรากฏในงานวิจัยสำคัญเรื่อง การเมืองภาคประชาชนในระบอบประชาธิปไตยไทย (2548) ของท่านเองและหนังสือ ความคิดทางสังคมการเมืองของเสกสรรค์ ประเสริฐกุล (2556) ของอาจารย์พัชราภา ตันตราจิน ว่าเป็นตัวแทนสะท้อนโจทย์และการแสวงหาคำตอบทางเศรษฐกิจการเมืองแห่งช่วงทศวรรษแรกหลังเหตุการณ์พฤษภา 2535 อย่างรวมศูนย์แล้ว เราก็อาจใช้แนวคิดของอาจารย์เสกสรรค์เป็นเส้นด้ายนำทางเพื่อสังเกตและทำ

ความเข้าใจบริบทกระแสความคิดการเมืองในช่วงทศวรรษหลังถึงปัจจุบัน โดยเปรียบเทียบแนวคิดดังกล่าวกับแนวคิดของคู่ขัดแย้งหลักในสังคมการเมือง (เพื่อความสะดวก ขออนุญาตใช้สัญลักษณ์สีแทน) ได้แก่ “แดง” (คือแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติหรือนปช.และผู้สนับสนุน) กับ“เหลือง” (คือพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยหรือพธม.และผู้สนับสนุน)

1) ประเด็นหลักเรื่องอำนาจทุนในความคิดของอาจารย์เสกสรรค์ยังปรากฏต่อมา

เสกสรรค์เสนอว่าเศรษฐกิจทุนนิยมโลกาภิวัตน์ทำให้อำนาจอธิปไตยของรัฐชาติเสื่อมโทรมลง ⇒ แนวคิดชาตินิยมเสื่อมโทรมลง ⇒ ส่งผลสืบเนื่องให้ฉันทมติและฉันทาคติทางการเมืองพลอยเสื่อมถอยไปด้วย (political consensus & consent หมายถึงความเห็นพ้องต้องกันและการยอมรับอำนาจปกครองในทางการเมือง) ทั้งหลายเหล่านี้ย่อมก่อความไร้เสถียรภาพทางการเมืองเรื้อรังเพราะรัฐขาดพร่องความชอบธรรม, ไม่มีความเห็นพ้องต้องกันและการยอมรับอำนาจปกครองของสังคมภาคส่วนต่าง ๆ นอกคูหาเลือกตั้งคอยประคองรองรับอำนาจของรัฐไว้

2) น่าสนใจว่าประเด็นอำนาจทุนนี้ “เหลือง” มองเห็น แต่ “แดง” กลับมองข้าม

สะท้อนออกในแนวคิดของคณะนิติราษฎร์ที่นับได้ว่าเป็นคลังสมองหรือเสนาธิการทางแนวคิดการเมืองของนปช.และผู้สนับสนุน กล่าวคือปัญหาทางการเมืองที่นิติราษฎร์มองเห็นและนำเสนอจะยุติแค่มิถุนายน - ธันวาคม พ.ศ. 2475 (กล่าวคือจำกัดเฉพาะปัญหาอำนาจรัฐและเครือข่าย“อำมาตย์” หรือชนชั้นนำเก่าที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง อันสืบเนื่องมาจากการอภิวัฒน์รัฐธรรมนูญและประชาธิปไตย 2475 ที่ยังไม่เสร็จสิ้นสมบูรณ์) นิติราษฎร์ยังไม่เริ่มขึ้นเดือนมกราคม -มีนาคม พ.ศ.2475 ด้วยซ้ำไป (กล่าวคือไม่ได้เริ่มตั้งคำถามกับระบบเศรษฐกิจทุนนิยมตลาดเสรี ดังที่อาจารย์ปรีดีวิเคราะห์วิจารณ์และนำเสนอทางออกไว้ในเค้าโครงเศรษฐกิจหรือที่เรียกว่าสมุดปกเหลือง ซึ่งมีที่มาจากวิกฤตเศรษฐกิจทุนนิยมตกต่ำใหญ่ทั่วโลกเมื่อปี ค.ศ. 1929 และต่อมา) ทั้ง ๆ ที่ในปัจจุบัน อำนาจทุนโลกสำคัญขึ้นเรื่อย ๆ และผูกมัดกลายเป็นเนื้อเดียวกับอำนาจรัฐในสังคมไทย (ขอให้ดูตอนน้ำท่วมใหญ่ปลายปี พ.ศ. 2554 และบทบาทอิทธิพลกดดันต่อรองข่มขู่โน้มนำกำกับของรัฐบาลและทุนอุตสาหกรรมข้ามชาติญี่ปุ่นเป็นตัวอย่าง)

3) ขณะที่ “เหลือง”มองเห็นปัญหาอำนาจทุน ทว่าวิธีแก้ที่นำเสนอคือเผด็จการ

พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยและองค์กรพันธมิตรอาทิกลุ่มสยามประชาภิวัฒน์ ยืนกรานว่าปัญหา “เผด็จการโดยพรรคการเมืองทุนนิยมผูกขาด” ไม่อาจแก้ได้ด้วยประชาธิปไตยจากการเลือกตั้ง หากต้องแก้ด้วยการรัฐประหารหรือวิธีพิเศษอื่นนอกระบบเพื่อมอบอำนาจแก่คนดีผู้จงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์และมีความเป็นไทยมากกว่า ให้ถ่วงทานตรวจสอบอำนาจทุนไว้  อย่างไรก็ตาม แนวทางดังกล่าวเป็นที่ประจักษ์ชัดแล้วว่าใช้การไม่ได้ ไม่เป็นที่ยอมรับของสังคมไทยและโลก รังแต่สร้างความขัดแย้งใหม่ซ้ำซ้อนเพิ่มเติมลุกลามออกไป

 

3) โจทย์ใหญ่ทางการเมืองของฝ่ายเสื้อแดงและแนวร่วม

ในทางกลับกัน ประเด็นหลักสำคัญประการหนึ่งในกระแสความคิดการเมืองปัจจุบันที่ไม่ปรากฏเด่นชัดในความคิดสังคมการเมืองช่วงหลังเหตุการณ์พฤษภาประชาธิปไตย พ.ศ. 2535 ของอาจารย์เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ก็คือความเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่หลากหลายด้านในชนบท จนนำไปสู่การเคลื่อนไหวมวลชนคนเสื้อแดงที่สนับสนุนรัฐบาลทักษิณและพวกพ้อง, ต่อต้านรัฐประหารและเครือข่าย “อำมาตย์” ในขอบเขตกว้างขวางหลายพื้นที่ทั่วประเทศ โดยเฉพาะทางภาคเหนือและอีสาน นี่เป็นความรู้ที่ก่อตัวมานานแต่ค่อนข้างใหม่ในวงวิชาการกระแสหลัก จึงเป็นธรรมดาที่ยังไม่ค่อยเป็นที่ตระหนักรับรู้ในวงวิชาการทั่วไปก่อนรัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ. 2549 โดยคณะปฏิรูป

การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) อันเป็นระยะที่งานความคิดสังคมการเมืองสำคัญ ๆ ในช่วงหลังของอาจารย์เสกสรรค์ถูกผลิตออกมา

ความเปลี่ยนแปลงซับซ้อนหลายมิติในชนบทนี้มีหัวใจอยู่ที่กระบวนการเลิกทำเกษตรกรรม (deagrarianization) แล้วหันไปสู่กิจกรรมหลักและรายได้หลักในภาคส่วนเศรษฐกิจอื่น เรื่องนี้เป็นกระบวนการต่อเนื่องยาวนานที่ค่อย ๆ ก่อตัวคลี่คลายนับแต่ราว พ.ศ. 2529 - 2530 เป็นต้นมาร่วม 26 ปี กลุ่มนักวิชาการแรก ๆ ที่สังเกตเห็น ชี้ชวนให้สนใจและวิเคราะห์วิจัยจึงได้แก่นักเศรษฐศาสตร์, นักมานุษยวิทยา, นักรัฐศาสตร์ที่สนใจการเมืองท้องถิ่น, เอ็นจีโอ, ปัญญาชนสาธารณะที่เกาะติดชนบทเป็นสำคัญ เช่น อัมมาร สยามวาลา, สมชัย จิตสุชน, บัณฑร อ่อนดำ, นิธิ เอียวศรีวงศ์, อรรถจักร สัตยานุรักษ์ เป็นต้น
 

 

อย่างไรก็ตาม ความสนใจเรื่องนี้ในหมู่นักวิชาการส่วนน้อยถูกปลุกกระตุ้นจากการปรากฏขึ้นอย่างรวดเร็วแข็งขันเหนียวแน่นใหญ่โตกว้างขวางของการเคลื่อนไหวมวลชนคนเสื้อแดงหลังรัฐประหาร 2549 จนกลายเป็นกระแสการศึกษาวิจัยวิเคราะห์ตีความความเปลี่ยนแปลงหลากหลายด้านในชนบทไทยขนานใหญ่ แผ่กว้างขยายวงออกไปในปัจจุบัน ที่โดดเด่นสำคัญเช่นทีมวิจัยเรื่อง “ทบทวนภูมิทัศน์การเมืองไทย” ของคณาจารย์หลายสาขาหลากมหาวิทยาลัย อาทิ อภิชาต สถิตนิรามัย, ยุกติ มุกดาวิจิตร, ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี, จักรกริช สังขมณี, อนุสรณ์ อุณโณ, เวียงรัฐ เนติโพธิ์, ประภาส ปิ่นตบแต่ง, นิติ ภวัครพันธุ์และคนอื่น ๆ,  หนังสือ Thailand’s Political Peasants: Power in the Modern Rural Economy (2012) ของ Andrew Walker, งานเขียนบทความและปาฐกถาของ Charles F. Keyes, Naruemon Thabchumpon กับ Duncan McCargo , สมชัย ภัทรธนานันท์ เป็นต้น ประเด็นสำคัญในเรื่องนี้ (ดูตารางเปรียบเทียบประกอบ) มีดังนี้คือ: -

1) ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจสังคมในชนบทรอบ 26 ปีที่ผ่านมา

-สังคมไทยกลายเป็นสังคมที่คนส่วนใหญ่เป็นคนชั้นกลาง ประเทศไทยกลายเป็นประเทศเศรษฐกิจรายได้ปานกลาง

-เกิดกระบวนการเลิกทำเกษตรกรรม/เลิกเป็นชาวนา Deagrarianization/Depeasantization ขยายตัวออกไปเรื่อย ๆ

-มี inverse resource flows หรือทรัพยากรไหลย้อนกลับตาลปัตรจากเมืองสู่ชนบท (เทียบกับช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจสังคมฯระยะแรกซึ่งทรัพยากรไหลจากชนบทสู่เมืองเป็นหลัก) ผ่านมาตรการโอบอุ้มของรัฐและการกระจายการคลังสู่ท้องถิ่น

-ชาวนารายได้ปานกลางที่รายได้ส่วนมากมาจากนอกภาคเกษตรกลายเป็นคนส่วนใหญ่

-คนชนบทกลายเป็น cosmopolitans & extralocal residents มากขึ้น

2) สังคมการเมืองชนบทของชาวนารายได้ปานกลางผลิตภาพต่ำที่ประคองไว้ด้วยเงินอุดหนุนจากรัฐ

-ปัญหาหลักของชนบทไม่ใช่ยากไร้ไม่พอกิน (food sufficiency) อีกต่อไป แต่กลายเป็นความเหลื่อมล้ำทางชนชั้น, ภูมิภาค, ภาคส่วนเศรษฐกิจ (inequalities)

-ปัญหาผลิตภาพต่ำเรื้อรังแก้ไม่หายในส่วนภาคเกษตรและการผลักดันไปสู่เศรษฐกิจนอกภาคเกษตร เช่น ธุรกิจ SMEs เปลี่ยนสินทรัพย์เป็นทุน เปลี่ยนตาสีตาสาเป็นเถ้าแก่ ฯลฯ ได้ผลจำกัด

-รัฐกระเตงอุ้มประชากรชนบทที่เป็นชาวนารายได้ปานกลางผลิตภาพต่ำไว้มหาศาล แต่ผลักไม่พ้น ไม่หลุดจากอก (นี่คือที่มาสุดท้ายของนโยบายจำนำข้าวและค่าแรงวันละ 300 บาททั่วประเทศรวมทั้งเมกะโปรเจคต์ลอจิสติกส์ 4 ล้านล้านบาท)

3) สังคมการเมืองชนบทและธรรมนูญชนบท

-ชาวบ้านชนบทไม่ได้สัมพันธ์กับรัฐแบบพึ่งพาการอุปถัมภ์แนวดิ่งอย่างหยุดนิ่งและเป็นฝ่ายถูกกระทำข้างเดียว, อีกทั้งก็ไม่ใช่สัมพันธ์กับรัฐแบบต่อต้านคัดค้านรัฐที่เข้ามาขูดรีดทรัพยากรและแรงงานด้วยการรวมตัวแนวราบในนามชนชั้นชาวนาหรือชุมชนชาวบ้านเป็นส่วนใหญ่อีกต่อไป

-หากแต่ชาวบ้านชนบทดึงอำนาจรัฐและอำนาจภายนอกอื่น ๆ เข้ามาในสังคมการเมืองชนบทเพื่อกล่อมเกลาเอาใจ ต่อรองกดดัน แล้วหลอกล่อฉวยใช้ ในอันที่จะดูดดึงและขัดแย้งแย่งชิงกันซึ่งทรัพยากร งบประมาณ ทุน เทคโนโลยี ฯลฯ เอามาเพิ่มผลิตภาพเศรษฐกิจและอำนาจของตน เหมือนขุนแผนชุบเลี้ยงผีกุมารทองเอาไว้ใช้งาน (ชาวบ้านสัมพันธ์กับผี, รัฐ, ทุน, ชุมชน ในโหมดเดียวกัน)

-ธรรมนูญค่านิยมชาวบ้านที่กำกับความสัมพันธ์ทางการเมืองนี้แตกต่างจากรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมไทย/ฉบับสากลตะวันตกของคนเมือง

ทั้ง 3 ประเด็นนี้ นักวิชาการและปัญญาชนที่พยายามเข้าใจและเห็นอกเห็นใจการเคลื่อนไหวของมวลชนคนเสื้อแดงมองเห็น แต่นักวิชาการสนับสนุนพันธมิตรฯกลับมองข้าม เช่น นักวิชาการกลุ่มสยามประชาภิวัฒน์ติดอยู่กับปัญหาคอร์รัปชั่น เผด็จการทุนผูกขาด ผู้มีสิทธิเลือกตั้งส่วนใหญ่ในชนบทโง่จนเจ็บ ขาดความรู้ ถูกซื้อเสียง ฯลฯ ทั้งที่ชนบทเปลี่ยนไปมหาศาลทุกด้าน รวมทั้งในความสัมพันธ์กับรัฐและเมือง ทว่าในทางกลับกัน นักวิชาการและปัญญาชนเสื้อแดงออกจะมองข้ามจุดอับตันของสังคมการเมืองชนบท 2 อย่าง กล่าวคือ:

1) ในทางเศรษฐกิจ ภาวะดังที่เป็นอยู่จะยั่งยืนยาวนานได้ยาก มีขีดจำกัด รัฐจะกระเตงอุ้มเลี้ยงไข้เลี้ยงต้อยชาวนารายได้ปานกลางผลิตภาพต่ำอันเป็นประชากรส่วนใหญ่ในชนบทไปได้นานแค่ไหน?

2) ค่านิยมธรรมนูญชนบทของสังคมการเมืองชนบทที่มีลักษณะคับแคบ เฉพาะส่วน parochial และแตกต่างตรงข้ามกับประชาสังคมอย่างที่เป็นอยู่ หากแม้นไม่ปรับเปลี่ยนคลี่คลายขยายตัวก็ยากจะพาไปสู่สังคมการเมืองร่วมกันในระดับชาติอันเป็นที่รับได้ของหลักการเมืองสมัยใหม่ที่เป็นสากล เช่น ท่าทีไม่ใส่ใจไยดีเรื่องสิทธิมนุษยชนในกรณีฆ่าตัดตอนยาเสพติด เป็นต้น

 

4) ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างการเมืองกับศีลธรรม

ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองรอบหลายปีที่ผ่านมา ประเด็นหนึ่งที่มักถูกหยิบยกขึ้นมากล่าวหาโจมตีและถกเถียงวิวาทะกันเสมอคือความสัมพันธ์ระหว่างการเมืองกับศีลธรรม ในลักษณะที่ว่าฝ่ายตรงข้ามประพฤติปฏิบัติการเมืองอย่างทุจริตเลวร้าย ขาดพร่องหรือปราศจากศีลธรรมกำกับ ทำให้การเมืองเสื่อมทรามและเกิดวิกฤต ทางออกได้แก่การช่วยกันให้คนดีเข้ามามีอำนาจ เพื่อป้องกันไม่ให้คนไม่ดีเข้ามาก่อความเดือดร้อนวุ่นวายแก่บ้านเมือง

กล่าวในทางวิชาการ ชุดโครงการวิจัยเรื่อง “วิกฤตความแตกแยกของธรรมวิทยาแห่งพลเมือง: การศึกษาการประกาศธรรมของประกาศกร่วมสมัย” ที่มีศาสตราจารย์ ดร. สมบัติ จันทรวงศ์ เป็นหัวหน้าโครงการและได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้เข้าจับปมปริศนาความสัมพันธ์ระหว่างการเมืองกับศีลธรรมร่วมสมัยนี้โดยตรงผ่านแนวคิด “ธรรมวิทยาแห่งพลเมือง” หรือ Civic Religion ดังสะท้อนออกในบทคัดย่อของคำบรรยายพิเศษโดยศาสตราจารย์สมบัติในการประชุมวิชาการรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์แห่งชาติ ครั้งที่ 11 (พ.ศ. 2553) ข้างล่างและต่อมาได้เขียนเป็นบทความสมบูรณ์

 
“ผู้เขียนใช้กรอบแนวคิดเรื่องธรรมวิทยาแห่งพลเมือง (civic หรือ civil religion) ของ Robert
Bellah เพื่อศึกษาความคิดซึ่งอยู่เบื้องหลังความขัดแย้งทางการเมืองปัจจุบันระหว่างเสื้อเหลือง-เสื้อแดง โดยพบว่าอุดมการณ์ของพวกเสื้อแดงหลัก ๆ แล้วเป็นผลผลิตทางความคิดของนักประวัติศาสตร์ ซึ่งปฏิเสธค่านิยมแบบจารีตของไทยทั้งที่เป็นค่านิยมทางศีลธรรมและการเมืองที่ผูกโยงอย่างใกล้ชิดกับพุทธศาสนาและระบบกษัตริย์ เหล่าประกาศกของธรรมวิทยาแห่งพลเมืองใหม่ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักประวัติศาสตร์อาชีพชั้นนำของไทย เลือกที่จะทดแทนสิ่งเหล่านี้ด้วยตัวระบอบประชาธิปไตยที่เน้นความเท่าเทียมกัน ซึ่งก็ต้องอาศัยการดำรงอยู่ของมวลมหาประชาชนผู้ล่วงรู้แจ้งและความแน่นอนว่าจะต้องเกิดขึ้นของกระบวนการทางประวัติศาสตร์อีกทีหนึ่งก่อน ในขณะที่ความตื่นตัวทางการเมืองและความใฝ่ฝันในความเสมอภาค (ทั้งในแง่ของผลประโยชน์และสิ่งอื่นใด) อาจถือได้ว่าเป็นคุณสมบัติอย่างหนึ่งของการเป็นพลเมืองที่ดี แต่เป็นเรื่องไม่ง่ายนักที่จะเห็นว่าธรรมวิทยาแห่งพลเมืองที่ปราศจากเนื้อหาทางศาสนาหรือจริยธรรมเลยจะสามารถยึดโยงประชาชาติใดให้อยู่ด้วยกันได้เป็นเวลาที่นานพอ สังคมในอุดมคติที่ไม่ต้องการสำนึกทางศีลธรรมนี้อาจเกิดขึ้นได้จริง แต่จะเหมาะหรือไม่กับการพัฒนาจิตวิญญาณของมนุษย์เป็นเรื่องที่ยังต้องการคำตอบ

ผมอยากใคร่ถือโอกาสนี้อภิปรายปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างการเมืองกับศีลธรรมในบริบทสถานการณ์ขัดแย้งทางการเมืองเสื้อสีร่วมสมัยสักเล็กน้อย เพื่อเป็นการสานต่อบทสนทนาทางวิชาการและสังคมการเมืองในเรื่องดังกล่าว

ไม่นานมานี้ ขณะทานข้าวไปพลาง ฟังสถานีวิทยุ “ชุมชน” ใกล้บ้านที่เปิดเพลงสลับกับขายยาและสอนธรรมะไปพลาง ผมก็ได้ยินเสียงอุบาสิกาอ่านหลักพุทธธรรมคำสอนของหลวงพ่อวัดแห่งหนึ่งแถบชานเมืองกรุงเทพฯยาวหลายนาที คำสอนนั้นผูกร้อยเชื่อมโยงความคิดชาตินิยม ความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์และหลักธรรมคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเข้าด้วยกันเป็นเรื่องเดียวเนื้อเดียวอย่างไร้รอยต่อ ในลักษณะที่ว่า “ชาติ”, “ในหลวง” และ “พุทธธรรม” ถูกเปล่งออกมาต่อกันรวดเดียวในชั่วอึดใจอย่างคล้องจองสอดรับเป็นธรรมชาติในทำนอง “ธรรมราชาชาตินิยม”

อันที่จริงนี่ก็ไม่ใช่อะไรแปลกใหม่พิสดารนัก เป็นที่คาดหมายเข้าใจได้และเราท่านก็มักได้ยินได้ฟังกันอยู่เป็นปกติ แต่ที่สะดุดหูผมจนแทบสะอึกต้องวางช้อนส้อมนิ่งคิดไปพักหนึ่งคือวลีที่ว่า:

“...คนชั่วที่แอบอ้างเป็นคนไทย...”

ในวลีสั้นกระทัดรัดนี้ ได้ผูกโยงหลอมรวม ศีลธรรม, ชาตินิยม, การเมืองวัฒนธรรม, กฎหมาย,ความเป็นพลเมือง, เอกลักษณ์ชาติ เข้าด้วยกันอย่างแยกไม่ออกทีเดียว คำปราศรัยของท่านประธานองคมนตรีในวาระโอกาสต่าง ๆ ระยะหลายปีที่ผ่านมานี้ก็โน้มนำไปทำนองเดียวกัน คือผูกโยงการเมืองเข้ากับศีลธรรม, ชาตินิยมและเอกลักษณ์ชาติ เหล่านี้ทำให้ยากจะแยกแยะเสียงเรียกร้องแห่งความเป็นไทยดังที่ยกมาข้างต้นออกจากข้อเสนอที่วางอยู่บนกรอบคิดและหลักเหตุผลทางปรัชญาว่า “ไม่อาจแยกการเมืองออกจากศีลธรรมได้ หากแยกออกจากกัน การเมืองนั่นแหละจะเสื่อมทรามลง” ซึ่งโครงการวิจัย “ธรรมวิทยาแห่งพลเมืองฯ” ที่ศาสตราจารย์สมบัติ จันทรวงศ์ เป็นหัวหน้าได้นำเสนออย่างจริงจังและลึกซึ้งเป็นระบบ

ผมอยากเสนอข้อคิดตอบสนองและข้อกังวลอย่างรวบรัดไว้ในที่นี้เป็นเบื้องต้นว่า:

-ถ้าข้อเสนอคือให้ประสาน Politics + Morality (การเมือง + ศีลธรรม) ในความหมาย A free marketplace of moral ideas (ตลาดความคิดศีลธรรมที่เลือกได้อย่างเสรี) แล้ว ผมก็เห็นด้วย

-แต่ถ้าข้อเสนอนั้นเป็น Politics + Moralism (การเมือง + ลัทธิยึดศีลธรรมเป็นเจ้าเรือน) ในความหมาย Self-centered, coercive moralism (ลัทธิศีลธรรมที่บังคับเอาด้วยอัตตาธิปไตย) แล้ว ผมเกรงว่ามันจะเป็นที่รับกันได้ในสังคมเสรีประชาธิปไตยหรือ? และจะใช้การได้จริงหรือ?

และจะอย่างไรก็ตาม ข้อเสนอที่จะผูกโยงการเมืองกับศีลธรรมควรคำนึงถึงข้อสังวรในบริบทโลกสมัยใหม่และสังคมการเมืองไทยดังที่เป็นจริงปัจจุบันดังต่อไปนี้:

1) ทุกวันนี้เราอยู่ในโลกที่มีความแตกต่างหลากหลาย (พหุนิยม) ของคุณค่าพื้นฐานเชิงศีลธรรมและศรัทธาศาสนาอย่างที่ไม่อาจลดลัดตัดทอนหรือย่นย่อเหมารวมเป็นหนึ่งเดียวได้อีกแล้ว การบังคับกดดันให้ยึดหลักศีลธรรมเดียวหรือศรัทธาศาสนาเดียวเป็นที่ตั้งเจ้าเรือนรังแต่จะก่อความขัดแย้งไม่รู้จบสิ้นดังเราเห็นกันอยู่ในเขตจังหวัดชายแดนภาคใต้ของเรา, ประเทศเพื่อนบ้านและที่ต่างๆ ในโลก

2) ขณะเดียวกัน เอาเข้าจริงในทางปฏิบัติ สังคมวัฒนธรรมไทยไม่มีตลาดความคิดศีลธรรมที่เลือกได้อย่างเสรี หรือสนามประชันข้อเสนอทางศีลธรรมที่ราบเรียบเสมอหน้ากันอยู่จริง หากเทเอียงกระเท่เร่ไปทางหนึ่งตามฐานคติของรัฐและ/หรือประชากรส่วนใหญ่

3) ฉะนั้นแทนที่เราจะได้เห็น [การเมือง+ศีลธรรม] สมดังความมุ่งมาดปรารถนาของศาสนิกชน เรากลับมักเห็นผู้กุมอำนาจฐานะในสังคมการเมืองแสดงจริตศีลธรรม (moral pretensions)ออกมา ไม่มากไปกว่านั้น

4) นั่นแปลว่าข้อเรียกร้องที่ชอบด้วยเหตุผลให้มี “การเมืองที่กำกับด้วยศีลธรรม” บ่อยครั้งเมื่อเอาไปวางในโลกปฏิบัติที่เป็นจริงของสังคมการเมืองไทย รังแต่จะนำไปสู่ “ผู้อวดอ้างสวมสิทธิอำนาจวินิจฉัยตัดสินศีลธรรมทางการเมืองเอาเองโดยพลการและปราศจากการตรวจสอบควบคุม”

5) ในทางปรัชญา ผมเชื่อว่ามีความขัดแย้งขั้นมูลฐานอยู่ระหว่าง [หลักเป้าหมายที่ดีที่ถูกต้องย่อมให้ความชอบธรรมกับวิธีการใด ๆ ก็ได้ หรือ The end justifies the means. ในทางการเมือง] กับ [หลักเอกภาพทางศีลธรรมของเป้าหมายกับวิธีการ หรือ the moral unity of means and end] อุปมาเหมือนคนอุ้มห่อระเบิดออกวิ่งบนลู่อำนาจ ถึงจุดหนึ่งถ้าระเบิดที่อุ้มแนบอกไม่แตกตูมจนตัวเองตายคาที่ (หมดสิ้นอำนาจไป), ห่อที่ว่าก็อาจเน่าเสียคาอกได้ (ศีลธรรมเสื่อม)

การประคองสองอย่างนี้ให้ไปด้วยกันตลอดรอดฝั่งนับเป็นภาวะลำบากอิหลักอิเหลื่อ (dilemmas) ของความพยายามจะผูกพันการเมืองเข้ากับศีลธรรมทั้งหลายทั้งปวง

 

=================================

เชิงอรรถ

1. บทความประกอบการแสดงปาฐกถากีรตยาจารย์แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สาขาสังคมศาสตร์ ประจำปี2555, 27 มิถุนายน พ.ศ. 2556

2. ดูกำเนิดของคำว่า “ระบอบทักษิณ” ใน เกษียร เตชะพีระ, “ระบอบทักษิณ: บันทึกเรื่องราวของคำสร้างคำหนึ่ง (ตอนต้น)”, ทางแพร่งและพงหนาม: ทางผ่านสู่ประชาธิปไตยไทย (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน, 2551), หน้า 91 – 95.

3.เกษียร เตชะพีระ, “ลัทธิเลือกตั้ง”, บุญเลิศ วิเศษปรีชา, บก. ราษฎร์ดำเนิน (กรุงเทพฯ: สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประ เทศไทย, 2537). และ เกษียร เตชะพีระ, “ชำแหละระบอบเลือกตั้งธิปไตย: บทเรียนทางการเมืองจากวิกฤตเศรษฐกิจ ไทย”, กาญจนี ละอองศรีและธเนศ อาภรณ์สุวรรณ, บก., กระจกหลายด้านฉายประวัติศาสตร์: รวมบทความเนื่องใน วาระครบรอบ 60 ปีชาญวิทย์ เกษตรศิริ (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน, 2544), หน้า 29 - 59.

4.เกษียร เตชะพีระ, แต่ง, ประจักษ์ ก้องกีรติ, แปล, “จุดอับทางเศรษฐกิจกับการฟื้นตัวทางการเมืองหลังวิกฤตในประเทศไทย: การเฟื่องฟูใหม่ของชาตินิยมทางเศรษฐกิจ,” จุลสารไทยคดีศึกษา, 19: 1 (สิงหาคม-ตุลาคม2545), 3-29.

5.งานวิชาการที่เป็นตัวแทนสะท้อนข้อเสนอทางออกดังกล่าวอย่างรวมศูนย์เป็นระบบที่สุดได้แก่ผลงานวิจัยที่ได้รับทุนปรีดี พนมยงค์ของธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นรายแรก คือ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล, การเมืองภาคประชาชนในระบอบประชาธิปไตยไทย (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์อมรินทร์, 2548).

6.ดูภาคผนวกที่ประมวลสรุปข้อเสนอทำนองนี้ได้ในภาคผนวก “การแสวงหาทางเลือกออกจากโลกาภิวัตน์แบบเสรีนิยมใหม่: สาระสำคัญของข้อเสนอกู้ชาติทางเศรษฐกิจบางประการ” ท้ายบทความ เกษียร, “จุดอับทางเศรษฐกิจฯ”, น. 16 - 19.

7.เกษียร เตชะพีระ, จากระบอบทักษิณสู่รัฐประหาร 19 กันยายน 2549: วิกฤตประชาธิปไตยไทย (กรุงเทพฯ: มูลนิธิ 14 ตุลา, 2550).

8. Pasuk Phongpaichit and Chris Baker, “Thaksin’s Populism”, Journal of Contemporary Asia, 38: 1(February 2008), 62 – 83. และ เกษียร เตชะพีระ, “ภาคสอง: ระบอบทักษิณ”, ใน บุชกับทักษิณ: ระบอบอำนาจนิยมขวาใหม่ไทย-อเมริกัน (กรุงเทพฯ: โครงการจัดพิมพ์คบไฟ, 2547), โดยเฉพาะหน้า 144 - 64.

9. พัชราภา ตันตราจิน, ความคิดทางสังคมการเมืองของเสกสรรค์ ประเสริฐกุล (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น, 2556), โดยเฉพาะหน้า 113 - 25, 146 - 58, 194 - 249, 285 - 91.

อนึ่งหนังสือเล่มนี้ปรับปรุงจากวิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปี พ.ศ.2551 ของผู้เขียนซึ่งเป็นอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา

10. ดูการประเมินบทบาททางความคิดและการเคลื่อนไหวของเสกสรรค์ ประเสริฐกุลและกลุ่ม ป X ป ช่วงดังกล่าวได้ใน อุเชนทร์ เชียงแสน, “ประวัติศาสตร์ “การเมืองภาคประชาชน”: ความคิดและปฏิบัติการของ “นักกิจกรรมทางการเมือง” ในปัจจุบัน” (วิทยานิพนธ์รัฐศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาการปกครอง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,2556), บทที่ 1 หัวข้อ “ทบทวนวรรณกรรม” และบทที่ 4 หัวข้อ “รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนและการเมืองภาคประชาชนในยุครัฐบาลชวน หลีกภัย”.

11. เกษียร เตชะพีระ, “ข้อสังเกตเกี่ยวกับสถานการณ์ปัจจุบัน: The Spectral Material Force”, มติชนรายวัน, 5ต.ค. 2555, น. 6.

12. ปรีดี พนมยงค์, “หมวดที่ 3 เค้าโครงการเศรษฐกิจและบันทึกบางประการที่เกี่ยวข้องกัน”, ปรีดี พนมยงค์กับสังคมไทย: รวมข้อเขียนของปรีดี พนมยงค์ (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และโครงการ “ปรีดี พนมยงค์กับสังคมไทย, 2526), หน้า 167 – 330. และ เกษียร เตชะพีระ, “ไตรลักษณ์ทางความคิดของปรีดี พนมยงค์”, เนชั่นสุดสัปดาห์, 9: 424 (17 – 23 ก.ค. 2543), 32 – 33.

13. อาทิ “การพบปะเจรจากันระหว่างนายกรัฐมนตรีโนดะและนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์”, สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย, เข้าใช้ 1 มิ.ย. 2556, http://www.th.emb-japan.go.jp/th/policy/PM_111125.htm ; “ญี่ปุ่นให้ไทยทำตามแผนแก้ไขแก้น้ำท่วม "กิตติรัตน์"เผย2สัปดาห์มีความชัดเจน”, ประชาชาติธุรกิจออนไลน์, สร้าง 29 พ.ย.2554, http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1322567626&grpid=03&catid=00 ; “นักลงทุนญี่ปุ่นรายเล็กแหยงน้ำท่วมขู่แผนจัดการไม่ชัดทิ้งไทยแน่-จี้ผุดโมเดลใหม่”, ข่าวสด, 9 ธันวาคม 2554,http://www.thaichamber.org/scripts/detail.asp?nNEWSID=4738. เป็นต้น

ดร.วีรพงษ์ รามางกูร ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) ที่รัฐบาลแต่งตั้งขึ้นเพื่อรับมือแก้ไขผลกระทบทางเศรษฐกิจจากวิกฤตมหาอุทกภัยเมื่อปลายปี พ.ศ. 2554 จึงได้ให้สัมภาษณ์หลังรับตำแหน่งดังกล่าว โดยสะท้อนความจริงเรื่องนี้ว่า:

“ช่วงนี้ผมจะไปหารือกับญี่ปุ่น เพราะเป็นกลุ่มประเทศที่มีนักลงทุนรายใหญ่อยู่ในไทย ทั้งการผลิตและส่งออก

หากเขาต้องการเห็นอะไรก็จะช่วยทุกเรื่อง หรือบริษัทประกันภัยในญี่ปุ่นซึ่งรับประกันอุตสาหกรรมในไทย ถ้าจะรับประกันภัยร่วมกัน ต้องการเห็นหรืออยากได้อะไรก็บอกมา”

“ผมขอท่านทูตญี่ปุ่นจัดให้ไปพบและฟังข้อเสนอจากนักลงทุนญี่ปุ่นที่อยู่ในไทยและในญี่ปุ่น เพื่อถามเขาว่าช่วง 1 ปีข้างหน้า เมื่อการฟื้นฟูประเทศกลับมาสู่ภาวะปกติได้ บริษัทต่าง ๆ จะต้องรับแรงงาน 8 แสนคนกลับมาทำงานอย่างเดิมได้ จะให้ผมทำอะไรบ้าง จะไปหาไจก้าหรือรัฐบาลญี่ปุ่น ถามเขาว่าจะช่วยด้านเทคนิคหรือการเงินทางไหนได้บ้าง เรื่องเงินทองเท่าไรก็ต้องลง เพราะเราไม่ได้มีปัญหาด้านความมั่นคงทางการเงินการคลังเหมือนสมัยก่อนแล้ว”

“ผมเชื่อว่าถ้าเราทำสุดความสามารถอย่างนี้ เขาคงจะเห็นความตั้งใจกอบกู้สถานการณ์อย่างแท้จริง ให้ความเชื่อมั่นว่าเขาสามารถอยู่ประเทศไทยได้ต่อไป ไม่ต้องย้ายไปที่อื่น”

(“เปิดใจ...วีรพงษ์ รามางกูร ขอ 1 ปี ปรับโฉมประเทศฟื้นเชื่อมั่น-เศรษฐกิจ”, ประชาชาติธุรกิจออนไลน์,สร้าง 12 พ.ย. 2554,www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1321070016&grpid=no&catid=04)

อนึ่ง ดร. สมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ได้กล่าวตอนหนึ่งในงานเสวนาสาธารณะเรื่อง “คิดใหม่ประชานิยม: จากรัฐบาลทักษิณถึงยิ่งลักษณ์ เราเรียนรู้อะไรบ้าง” ณ ห้องประชุมที่ทำการสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม ศกนี้ว่าท่านได้ทราบจากแวดวงผู้วางนโยบายรัฐบาลว่าอันที่จริงนโยบายคืนภาษีรถยนต์คันแรกของรัฐบาลยิ่งลักษณ์นั้นมีขึ้นเพื่อสนองตอบช่วยเหลือกระตุ้นยอดขายรถยนต์ของอุตสาหกรรมรถยนต์ต่างชาติโดยเฉพาะญี่ปุ่นในประเทศไทยที่โรงงานของพวกเขาประสบความเสียหายอย่างหนักจากอุทกภัยใหญ่เมื่อปลายปี พ.ศ. 2554

14. “คำต่อคำ: เปิดใจแกนนำพันธมิตรฯ ลั่นพร้อมรบ “สนธิ”ย้ำชุมนุมต้องแตกหัก จี้ทหารร่วมมือปชช.ปฏิวัติ”, ผู้จัดการออนไลน์, สร้าง 20 ม.ค. 2555, www.manager.co.th/politics/viewnews.aspx?NewsID=9550000009019 ; ““ดร.อมร”ชำแหละเผด็จการนายทุนพรรคใช้ช่องโหว่ รธน.ยึดอำนาจรัฐเพื่อคอร์รัปชัน”, ASTVผู้จัดการออนไลน์, สร้าง 6 ก.พ.2555, http://www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9550000016707;

““สยามประชาภิวัฒน์”เตือนถ้าไม่หยุดทุนผูกขาดแก้ รธน. จะเหลือทางแก้เดียวคือรัฐประหาร”, ประชาไทออนไลน์, สร้าง 7 ก.พ. 2555,http://prachatai.com/journal/2012/02/39140 ; “พธม.ถกสยามประชาภิวัฒน์ เห็นพ้องป้องสถาบัน ปฏิรูปโครงสร้างเพิ่มความรู้ ปชช.”, ASTVผู้จัดการออนไลน์, สร้าง 19 เม.ย. 2555,http://www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9550000048897 .

15. Andrew Walker, Thailand’s Political Peasants: Power in the Modern Rural Economy (Madison,Wisconsin: The University of Wisconsin Press, 2012), Section “The Nonagricultural Economy” pp. 74 – 80; และอภิชาต สถิตนิรามัย, “นโยบายอุดหนุนภาคชนบท: เมื่อภาคชนบทไม่ใช่ภาคเกษตรกรรม”, สร้าง 15 ม.ค. 2013,http://thaipublica.org/2013/01/subsidy-policy-for-rural/ .

16. มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด, “มายาคติว่าด้วยการเกษตรและประเทศไทย”, มติชนรายวัน, 29 ก.ค. 2552, น. 6; และ รองศาสตราจารย์ ดร. อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์, “โครงการวิจัย: ความเปลี่ยนแปลงและกระบวนการสร้างประชาธิปไตยใน “ชนบท”” (ฉบับร่าง 2555).

17. อภิชาต สถิตนิรามัยได้สรุปรวบยอดผลการค้นพบร่วมกันของทีมวิจัยไว้อย่างกระชับชัดเจนใน อภิชาต สถิตนิรามัย, “สองนคราประชาธิปไตยฉบับลัทธิแก้”, มติชนรายวัน, 6 พ.ค. 2556, น. 7; นอกจากนี้โปรดดู อารีรัตน์ ปานจับ, “เก็บตกจากงานสัมมนา”,วารสารสังคมวิทยามานุษยวิทยา, 30: 2 (ก.ค. - ธ.ค. 2554), 179 - 89. (http://socanth.tu.ac.th/wp-content/uploads/2012/09/JSA-30-2-seminar-report.pdf ) ซึ่งบันทึกการอภิปรายถกเถียงในงานสัมมนา “ภูมิทัศน์และการเมืองของการพัฒนาชนบทไทยร่วมสมัย” ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อ 8 ก.ค.2554

18. Pun-arj Chairatana, “A Romance of the Rural Middle Class: An Interview with Professor Charles F.Keyes”, Trendnovation Southeast Issue 13: The Rural Challenge, accessed 1 June 2013,http://trendsoutheast.org/2011/dl/newsletter/issue13-w.pdf.

19. Naruemon Thabchumpon and Duncan McCargo, “Urbanized Villagers in the 2010 Thai RedshirtProtests: Not Just Poor Farmers?” Asian Survey, 51: 6 (November/December 2011), 993–1018.

20. สมชัย ภัทรธนานันท์, แต่ง, อัญชลี มณีโรจน์, แปล, “การเมืองของสังคมหลังชาวนา: เงื่อนไขการก่อตัวของคนเสื้อแดงในภาคอีสาน”, ฟ้าเดียวกัน, 10: 2 (ก.ค.-ธ.ค. 2555), 122 - 42.

21. เป็นข้อสรุปสอดคล้องต้องกันของงานวิชาการที่เอ่ยถึงในย่อหน้าก่อนนี้ทั้งหมด สำหรับตัวอย่างการแถลงเรื่องนี้อย่างกระชัดชัดเจน ดู Walker, Thailand’s Political Peasants, pp. 8 - 9; และอภิชาต, “สองนคราประชาธิปไตยฉบับลัทธิแก้”.

22. ขณะงานส่วนใหญ่พูดถึงกระบวนการทั้งสองควบคู่กันไป Andrew Walker กลับจำแนก 2 กระบวนการนี้จากกันและยืนกรานว่ามี deagrarianization แต่ไม่เกิด proletarianization หรือ depeasantization กล่าวคือยังมีชาวนาอยู่ในบางความหมาย ดู Walker, Thailand’s Political Peasants, pp.9 – 10, 34 – 36, 74 – 75, 120 – 21.

23. Walker, Thailand’s Political Peasants, section “From Taxation to Subsidy” pp. 49 – 56; อภิชาต, “สองนคราประชาธิปไตยฉบับลัทธิแก้”.

24. Walker, Thailand’s Political Peasants, section “The Rise of the Middle-Income Peasantry” pp. 36 – 44;อารีรัตน์, “เก็บตกจากงานสัมมนา”, น. 180 – 81.

25. คำแรกเป็นของ Charles F. Keyes จาก Pun-arj, “A Romance of the Rural Middle Class”; ส่วนคำหลังเป็นของ Andrew Walker จาก Thailand’s Political Peasants, pp. 65 – 67.

26. Walker, Thailand’s Political Peasants, pp. 8 – 9, 21 – 22, 44 – 56.

27. Walker, Thailand’s Political Peasants, pp. 10 – 33, 190 – 218.

28. “อะไรคือสยามประชาภิวัฒน์ สัมภาษณ์ รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต”, Siam Intelligence, สร้าง 19 มี.ค.2012, http://www.siamintelligence.com/phichai-rattanadilok-na-phuket-interview/

29. คำถามนี้แฝงอยู่ในคำบรรยายของ Andrew Walker ซี่งเรียกสถานการณ์ดังกล่าวนี้ว่าเป็น “dilemmas of its (the peasantry’s) preservation” ดู Walker, Thailand’s Political Peasants, p. 56, 220 – 21.

30. Walker, Thailand’s Political Peasants, pp. 22 – 24, 26, 145, 165, 213, 223 – 27, 229 – 30.

ทว่าถึงแม้สังคมการเมืองชนบทดังกล่าวจะบกพร่องไม่สมบูรณ์แบบ แต่กระนั้น Andrew Walker ก็ยังเห็นว่ามันมีคุณสมบัติบางอย่าง (หลากหลาย, ทรงไว้ซึ่งเกณฑ์วินิจฉัยเชิงคุณค่าของตน, สอดคล้องกับความเป็นจริงของการเมืองไทยปัจจุบัน) ที่จะเป็นความหวังที่ดีที่สุดในการพัฒนาไปเป็นประชาธิปไตยของสังคมไทยต่อไป (pp. 230 –32).

31. โดยเฉพาะชุดปาฐกถาแก่โรงเรียนนายทหาร 3 เหล่าทัพของประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ พลเอกเปรมติณสูลานนท์ ได้แก่ “พล.อ. เปรมปลูกจิตสำนึกนายร้อยจปร. เป็นทหารของชาติ ทหารของพระเจ้าอยู่หัว”, มติชนรายวัน, 15 ก.ค. 2549, น. 2; พลเอกเปรม ติณสูลานนท์, “บทบรรยายพิเศษในหัวข้อการเสริมสร้างการเป็นผู้นำด้วยหลักคุณธรรม ความพอเพียงและความเสียสละของ พลเรือเอก เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ณ โรงเรียนนายเรือ เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2549”, นาวิกศาสตร์, 90: 2 (ก.พ. 2550), www.navy.mi.th/navic/document/900202a.html ; และ “‘เปรม’ ย้ำสำนึกทหารอาชีพ ให้ถอยห่าง ‘คนไม่ดีแต่มีเงิน’”, มติชนรายวัน, 1 ก.ย.2549, น. 2.

32. สมบัติ จันทรวงศ์, “ความแตกแยกของธรรมวิทยาแห่งพลเมืองกับมุมมองทางปรัชญาการเมือง: ข้อสังเกตเบื้องต้น” (คำบรรยายพิเศษในการประชุมวิชาการรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์แห่งชาติ ครั้งที่ 11, 2553,http://www.scribd.com/doc/63522618/ความแตกแยกของธรรมวิทยาแห่งพลเมืองกับมุมมองทางปรัชญาการเมือง-ข้อสังเกตเบื้องต้น ). และ สมบัติ จันทรวงศ์, “ประชาธิปไตยไทย: ปรัชญาและความเป็นจริง” (บทความวิจัยในโครงการวิจัย วิกฤตความแตกแยกของธรรมวิทยาแห่งพลเมือง: การศึกษาคำประกาศธรรมของประกาศกร่วมสมัย ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, 2555). ตัวอย่างงานวิจัยที่โดดเด่นน่าสนใจอีกชิ้นหนึ่งในโครงการวิจัยนี้ได้แก่ ศุภมิตร ปิติพัฒน์, บทวิพากษ์ธรรมวิทยาแห่งพลเมืองของประกาศกร่วมสมัย: เกษียร เตชะพีระ, ธงชัย วินิจจะกูล, สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล (กรุงเทพฯ:สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยและโครงการจัดพิมพ์คบไฟ, 2555).

33. สมบัติ, “ความแตกแยกของธรรมวิทยาแห่งพลเมือง”, น. 13.

34. โปรดพิจารณา C.A.J. Coady, Messy Morality: The Challenge of Politics (Oxford: Clarendon Press,2008). โดยเฉพาะบทที่ 1 Morality, Moralism, and Realism

35. ทรรศนะของ Hannah Arendt ในบทความ “Truth and Politics” อ้างถึงและอธิบายใน ชัยวัฒน์ สถาอานันท์,ความรุนแรงกับการจัดการ “ความจริง”: ปัตตานีในรอบกึ่งศตวรรษ (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,2551), น. 30 - 32.

36. นิธิ เอียวศรีวงศ์, “รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมไทย”, สุพจน์ แจ้งเร็ว, บรรณาธิการ, ชาติไทย, เมืองไทย,แบบเรียนและอนุสาวรีย์: ว่าด้วยวัฒนธรรม, รัฐและรูปการจิตสำนึก (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ มติชน, 2538), หน้า 136 – 71. และ ยุกติ มุกดาวิจิตร, “คนเสื้อแดงกับรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมไทย”, วิภาษา, 3: 2 (1 พ.ค. – 15 มิ.ย.2552), 26 – 34.

37. แน่นอนว่านี่มาจากการอ่านตีความประยุกต์ The Prince ของ Machiavelli และแนวคิดการเมืองแห่งความไม่รุนแรงของชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ท่านที่สนใจโปรดดูหัวข้อ Ideological Nonviolence ใน Thomas Weber and Robert J. Burrowes, “Nonviolence: An Introduction”, accessed 2 June 2013, www.nonviolenceinternational.net/seasia/whatis/book.php.

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท