Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis
 
หมายเหตุ: Noppakun Dibakomuda เผยแพร่ข้อมูลที่น่าสนใจสำหรับอาสาสมัครช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ในการเก็บกู้น้ำมันดิบขึ้นจากทะเลและชายฝั่งจากเหตุการณ์น้ำมันรั่วไหลกลางทะเลอ่าวไทย ซึ่งได้จากการพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญ และเคยทำงานด้านการกำจัดและบำบัดการปนเปื้อนของน้ำมันและสารประกอบอื่นที่มีน้ำมัน ที่เขาใช้นามแฝงว่า Mr.A.V. ไว้ในเฟซบุ๊กส่วนตัว ประชาไทเห็นว่าน่าสนใจจึงขออนุญาตนำมาเผยแพร่ต่อ
 
“ถ้าเพื่อนๆ คิดจะลงไปเป็นอาสาสมัครช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ในการเก็บกู้น้ำมันดิบขึ้นจากทะเลและชายฝั่ง หรืออยากมีความรู้ความเข้าใจ ในเรื่องการรับมือกับกรณีน้ำมันดิบรั่วไหล จำเป็นอย่างยิ่งต้องอ่านเอาความรู้ในบทความข้างล่างนี้ก่อนครับ บทความนี้เขียนโดยผู้ที่มีความรู้ความชำนาญในด้านการกำจัดและบำบัดการปนเปื้อนของน้ำมันและสารประกอบอื่นที่มีน้ำมัน ซึ่งเขียนบทความนี้มาด้วยความเป็นห่วงในสวัสดิภาพของทุกๆ คนโดยเฉพาะคนที่กำลังจะอาสาไปช่วย เจ้าหน้าที่ทหารเรือ ทุกท่านที่กำลังปฏิบัติงานอยู่ในพื้นที่ครับ”  Noppakun Dibakomuda
 
ด้วยความเคารพในจิตอาสาของทุกคน ครั้งนี้ไม่เหมือนกับภัยต่างๆ ที่เคยเกิดขึ้นมา เช่น สึนามิ น้ำท่วม ที่เราแค่ มีใจ มีแรง มีรองเท้าบูท มีเรือ พร้อมของบริจาค ช่วยเหลือก็เข้าไปช่วยเหลือได้แล้ว  แต่ครั้งนี้สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นน้ำมันดิบที่รั่วไหล และยังคงไม่สามารถจัดการกับน้ำมันที่รั่วไหลในทะเลได้  ลองมาสำรวจตัวเราเองก่อนไหมว่าเรามีสิ่งพื้นเหล่านี้แล้วหรือยัง
 
1.รู้ถึงอันตรายของสิ่งที่เราจะไปเจอหรือยัง น้ำมันดิบ การสัมผัสตรงโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ ซึ่งองค์ประกอบทางเคมี โลหะหนักที่อยู่ในน้ำมันดิบมีความสามารถซึมผ่านชั้นผิวหนังได้ ต้องบอกไว้ก่อนนะครับว่าความไวของการรับรู้และการต้านทานสารพิษของแต่ละคนอาจจะไม่เท่ากัน บางคนอาจเริ่มต้น มีอาการคัน แสบผิว หรือไม่แสดงอาการอะไร แต่ถ้าสัมผัสโดยตรงสารเคมีซึมเข้าไปสะสมในร่างกายของเรา ปริมาณน้อยก็อาจจะไม่แสดงอาการ หรือแสดงอาการไม่ร้ายแรง แต่ปริมาณมากหน่อยก็จะเห็นชัดเจน คำถามว่ามากแค่ไหน ก็บอกได้ว่าแล้วแต่บุคคลเลยครับ แต่โดยส่วนตัว แค่ใช้มือเปล่าหรือใส่ถุงมือแล้วไปตักน้ำมันดิบที่มันมาเกยฝั่ง อยู่ซัก 2-3 ชั่วโมง แล้วมันกระเด็น โดนแขน โดนหน้าบ้าง ผมก็ว่ามันเยอะมากแล้วหล่ะครับ จะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต!!! ก็เสี่ยงที่จะทำให้เกิดมะเร็งได้ ที่ไหนในร่างกายหรอครับ ก็แล้วแต่ว่า อวัยวะ เครื่องใน ของแต่ละคน อันไหนมีความแข็งแรง อันไหนอ่อนแอ
 
การสูดดมเอาไอระเหยเข้าไปในร่างกาย เชื่อว่าไม่มีใครอยากดมกลิ่นน้ำมันหรอกครับ แต่ไปอยู่ในที่แบบนั้นอาจเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งสิ่งที่เราจะรับรู้ได้ง่ายมากถึงแม้ว่าจะเป็นช่วงเวลาที่สั้น โดยที่เราไม่มีเครื่องป้องกัน อาการมึน กลิ่นติดจมูก บางคนอาจจะแสบตา แสบจมูก หากสูดดมเป็นเวลานานไม่ได้มีการป้องกันก็มีโอกาสเสี่ยงที่จะมีผลต่อระบบทางเดินหายใจ ปอด รวมถึงอาจจะมีความสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดโรคมะเร็งตามมาในอนาคต อย่างที่กล่าวไปว่าระดับความไวต่อการรับรู้และการต้านทานของสารพิษแต่ละคน ไม่เหมือนกันนะครับ
 
2.คุณผ่านการอบรมการจัดการของเสียแบบนี้มาหรือเปล่า...?  ซึ่งสรุปแบบง่ายว่า การผ่านการอบรมจะทำให้เราตระหนักถึงสิ่งที่ควรและไม่ควรทำในการกำจัด วิธีการใช้งาน การสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันภัยส่วนบุคคล การอ่าน Material Safety Data Sheet (MSDS) ของสารที่รั่วไหลหรือปนเปื้อนบ่งบอกว่าอะไรรั่วไหล อะไรปนเปื้อน มีองค์ประกอบทางเคมีผสมอะไรบ้าง ต้องถามเจ้าของผลิตภัณฑ์โดยตรงหรือเปล่า ควรมีการประเมินความเสี่ยงในวิธีการกำจัด ควรจัดทำแผนการการเลือกใช้กำจัดที่ถูกวิธี การใช้สารเคมีที่ระงับ หรือบำบัดให้ตรงกับสิ่งที่ปนเปื้อน รวมถึงแผนและวิธีการกำจัดอุปกรณ์ และดินหรือน้ำที่ปนเปื้อน แผนฉุกเฉินสถานการณ์ที่ไม่ปลอดภัยอื่นที่อาจเกิดขึ้น เช่น ไฟไหม้ การปนเปื้อนที่อื่นโดยไม่ได้ตั้งใจ เป็นต้น
 
 
 
3.อุปกรณ์ ป้องกันภัยส่วนบุคคล ที่เหมาะสมกับระดับความเข้มข้น และสารเคมีที่ต้องปฏิบัติงานด้วยเรามีพร้อมแล้วหรือหรือไม่ อย่างไร...? ในกรณีที่มีความรุนแรงประมาณที่หาดอ่าวพร้าว เกาะเสม็ด สิ่งที่ต้องมี คือ 
 
a. หน้ากากกรองไอน้ำมันได้ หน้ากาก รวมชุดกรอง (Haft face resperator) ราคาประมาณ 900-1000 บาท 
 
b. ชุดหมีป้องกันน้ำมัน สารเคมีแบบใช้แล้วทิ้ง ที่บ้านเราเรียกกันว่า Tyvek suit ราคาประมาณ 200-300 บาท  ซึ่งใช้แล้วทิ้ง ไม่นำมาใช้ใหม่ ซึ่งเสี่ยงที่จะทำให้เราสัมผัสน้ำมัน หรือเคมีโดยตรงได้
 
c. ถุงมือไนไตรแบบหนา ที่เคยใช้เป็นสีเขียว หนาประมาณ 18 mil คู่ละประมาณ 40 บาท  ใช้แล้วทิ้งแล้วเปลี่ยนคู่ใหม่นะครับ ถ้าหากว่าน้ำมันเปื้อนถุงมือมาก การสวมใส่ที่ถูกต้องคือต้องใส่หลังจากใส่ชุดหมีแล้วต้องมีผู้ช่วยใช้เทปกาวพันรอบถุงมือเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำมันสามารถเข้าไปในภายในถุงมือได้
 
d. รองเท้าบูทยางสูงเลยหน้าแข้ง ที่ ป้องกันสารเคมี (น้ำมัน) ได้ต้องมีมาตรฐาน EN345 ซึ่งมีราคาประมาณคู่ละ 600-700 บาท การสวมใส่ที่ถูกต้องคล้ายกับถุงมือ คือสวมรองเท้าหลังจากใส่ชุดหมีแล้ว และต้องมีเทปกาวพันรอบขอบรองเท้าบูทด้านบนเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำมันสามารถเข้าไปในรองเท้าได้
 
e. แว่นตานริภัย ป้องกันไอระเหยเข้าตา ป้องกันน้ำมันกระเด็นเข้าตาแบบไม่ได้ตั้งใจ ราคาประมาณ 80 – 300 บาท
 
f. อุปกรณ์ทำความสะอาดอื่นๆ กระดาษทิชชู่ ถุงขยะหนาเพื่อใส่ ชุดหรืออุปกรณ์ที่ถูกเปลี่ยนเพราะปนเปื้อนอย่างมาก เพื่อที่จะนำขยะอันตรายนี้ไปกำจัดอย่างถูกวิธี
 
ประมาณราคาโดยประมาณ ต่อคนก็ก็ประมาณ 1700-2500 บาท จำได้ใช่ไหมครับ บางอย่างใช้แล้วต้องทิ้ง
 
สรุปนะครับ เมื่อเราตั้งใจดีไปช่วยแบบไม่มีความรู้ ไม่มีความเข้าใจ ก็จะเป็นเพียงแค่การย้ายของเสียจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง โดยไม่ได้ตั้งใจ ซึ่งเราก็คงไม่อยากให้มันเกิดขึ้นใช่ไหมครับ คิดต่ออีกนะครับ  เราจะเอาตัวเราไปเสี่ยงเพราะไม่รู้อะไรในการจัดเรื่องนี้ที่ต้องอาศัยเจ้าที่ที่ชำนาญการ เราเองก็จะไปเป็นภาระให้กับเจ้าหน้าที่ซึ่งกำลังปฏิบัติหน้าที่ แต่กลับต้องดูแลเรา หรือมาเสียเวลา ต้องมาทำให้เราเข้าใจ ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาอธิบายกันพอสมควร ว่าตรงนี้ปลอดภัย ไม่ปลอดภัย อยู่ได้ อยู่ไม่ได้ ช่วยได้ไหม หรือช่วยไม่ได้ เพราะเราไปแบบไม่พื้นฐาน ไม่มีความชำนาญ ไม่มีความรู้  ที่จะแย่ไปกว่านั้นอีก
 
ถ้าหากมีคนเข้าไปเยอะแยะแต่ช่วยอะไรได้ไม่มาก หรือที่แย่คือช่วยอะไรไม่ได้เลย เพราะด้วยการประเมินขั้นต้นทั้ง 3 ข้อ ได้แค่ไปนั่งดูเจ้าหน้าที่ทำงาน เราก็จะไปเพิ่มมลพิษ ขยะขึ้นจากเดิมที่มีเฉพาะเจ้าหน้าที่ที่ทำได้จริงๆ  คิดดูนะครับ กล่องโฟมหรือถุงพลาสติกที่ใส่อาหารมาให้เรากิน ขวดน้ำดื่มพลาสติกที่เพิ่มขึ้น เปลืองเงินที่ต้องซื้ออาหาร น้ำดื่มเพิ่มขึ้น ทำให้ไปเบียดเรื่องเงินสำหรับอุปกรณ์เก็บกู้ อุปกรณ์หรือเครื่องมือที่ต้องใช้แล้วทิ้งและต้องเปลี่ยนใหม่เสมอ ซึ่งส่งผลทำให้เจ้าหน้าที่ต้องดำเนินการให้เร็ว ต้องรีบทำ สุดท้ายก็ทำแบบขอไปที อันนี้ต้องเผื่องบประมาณสำหรับสารเคมี หรือแบคทีเรีย ที่ต้องซื้อมากินสารเคมี กรดอีกกว่า 700 ชนิดจากน้ำมันดิบที่สามารถละลายอยู่ในน้ำทะเล ผมนึกภาพไม่ออกเลยว่าต้องซื้อมาเยอะแค่ไหน และต้องบำบัดและติดตามวัดผล เก็บตัวอย่างน้ำไปอีกนานเท่าไร แต่ต้องไม่น่าต่ำกว่า 2 ปี ท้ายที่สุดแล้วระบบนิเวศน์ก็จะไม่ได้รับการช่วยบำบัดอย่างถูกต้อง และตลอดลอดฝั่ง เพราะความตั้งใจดีและจิตอาสาของเราหรือเปล่า
 
ผมว่า “เก็บพลังและความตั้งใจไว้ช่วยฟื้นฟูขั้นต่อไป ซึ่งอาสาสมัครอย่างพวกเราน่าจะช่วยได้และดีกว่าแน่นอนครับ” 
 
บทความโดย Mr. A.V. อดีตเจ้าหน้าที่ชำนาญด้านการกำจัดและบำบัดการปนเปื้อนของน้ำมันและสารประกอบอื่นที่มีน้ำมัน (ไม่ประสงค์ออกนาม)
 
“ผมเห็นภาพข่าวในโทรทัศน์ เห็นอาสาสมัครในชุดที่อาจจะเรียกได้ว่า เปลือย สำหรับสารพัดสารพิษ รองเท้าเอาถุงพลาสติกห่อไว้ ถุงมือซื้อจากตลาดนัด บางคนใส่เสื้อกันฝน หน้ากากกรองสารพิษที่กันอะไรไม่ได้เลย แว่นตาแทบไม่มีใส่ กำลังเอาถังพลาสติกจ้วงตักน้ำมันดิบจากชายฝั่ง...ภาพนี้หลายคนคงเคยเห็น ผมรู้อย่างหนึ่งว่า อาสาสมัครเหล่านั้น ไม่มีความรู้ในสาระข้างบนนี่เลย...เป็นห่วงครับ แชร์และส่งต่อกันให้มากที่สุด มากกว่า ที่คุณแชร์เรื่องดารากับยาไอซ์นะครับ ขอขอบคุณ Mr. A.V. ที่เอื้อเฟื้อบทความข้างบนด้วยเจตนาดีบนความรู้ที่ถูกต้องแก่สังคมครับ”  Noppakun Dibakomuda
 
 
ประกาศรับสมัครอาสาในภาพเป็นการประกาศภายในองค์กร แต่ในโซเชียลเนตเวิร์คมันมีผลเชิงนัยยะต่อจิตอาสาที่ไม่รู้ความว่าการลงพื้นที่ แม้ไม่ใช่โปรเฟสชั่นแนล ก็สามารถลงได้ พิจารณาครับ
 
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net