Skip to main content
sharethis

วงเสวนาสื่อมลายู ชี้เป็นภาษาสากลแต่คนชายแดนใต้ใช้น้อยลง สารพัดปัญหาทำอัตลักษณ์ทางภาษา เผย70ปีกว่ารัฐจะยอมรับมลายู จากยุคหะยีสุหลงกระทั่งรัฐตั้งสถาบันภาษามลายูเองในปัจจุบัน แนะรัฐต้องสนับสนุนจริงจัง หวังลดเงื่อนไขความขัดแย้งและสร้างสันติภาพถาวร ย้ำสื่อต้องเรียนรู้กระบวนการสันติภาพ ‘ทวี’ยกคำคึกฤทธิ์ “อย่าไปหลอกว่าเขาเป็นคนไทย”

เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2556 ที่ห้องสะบารัง 2 โรงแรมซี เอส อ.เมือง จ.ปัตตานี โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้(DSJ) ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch) สถาบันวิจัยความขัดแย้ง และความหลากหลายทางวัฒนธรรม (CSCD) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (วิทยาเขตปัตตานี) ร่วมกับ วิทยาลัยประชาชน สถานีวิทยุร่วมด้วยช่วยกันสลาตัน (Media Selatan) สำนักข่าวประชาไท และกลุ่ม Awan book จัดงานเสวนาสื่อภาษามลายู ครั้งที่ 3 ว่าด้วย “ภาษามลายู 'ระหว่างทาง' กระบวนการสันติภาพ” (Bahasa Melayu Dalam Era Proses Damai) มีผู้เข้าร่วมประมาณ 100 คน

 

70ปีกว่ารัฐจะยอมรับภาษามลายูแล้ว

พล.ต.ต.จำรูญ เด่นอุดม ประธานคณะกรรมการดำเนินสถานีโทรทัศน์และวิทยุภาษามลายู กล่าวในพิธีเปิดว่า ความพยายามในการรื้อฟื้นภาษามลายูในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เกิดขึ้นมาเมื่อประมาณ 70 ปีมาแล้ว คือในสมัยหะยีสุหลง อับดุลกอเดร์ผู้นำศาสนาในสมัยนั้นที่มีข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล 7 ข้อที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมี 2 ข้อที่เกี่ยวข้องกับภาษามลายู คือ ข้อเรียกร้องที่ให้มีการเรียนการสอนภาษามลายูทุกระดับการศึกษาและข้อเรียกร้องที่ให้ภาษามลายูเป็นภาษาราชการควบคู่กับภาษาไทย

พล.ต.ต.จำรูญ กล่าวต่อไปว่า เมื่อข้อเรียกร้องดังกล่าวไม่ถูกตอบรัฐจากรัฐบาลไทย จึงมีอาการที่จะล่มสลายไปของภาษามลายูในพื้นที่ จนกระทั่งมีปัญหาการใช้ภาษามลายูในพื้นที่เกิดขึ้นถึงขนาดเด็กๆ ไม่สามารถฟังคุตบะห์(การเทศนาธรรม)ภาษามลายูเข้าใจ ถามว่าเกิดอะไรขึ้นกับภาษามลลายูในพื้นที่ในช่วงที่ผ่านมา

พล.ต.ต.จำรูญ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตามปัจจุบันเริ่มเห็นความพยายามในการฟื้นตัวของภาษามลายูในพื้นที่มากขึ้น เห็นได้จากการมีสื่อภาษามลายู เช่น วิทยุภาษามลายู หนังสือพิมพ์หรือวารสารภาษามลายู รวมทั้งการที่รัฐยอมรับภาษามลายูมากขึ้น เห็นได้จากการที่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศอ.บต.) ได้ก่อตั้งสถาบันเพื่อการพัฒนาภาษาและวัฒนธรรมมลายูขึ้นมาแล้ว

 

ชี้เป็นภาษาสากลแต่คนชายแดนใต้ใช้น้อยลง

อาจารย์ชินทาโร ฮารา อาจารย์แผนวิชาภาษามลายู มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวว่า เหตุที่ตนเลือกสอนภาษามลายู เพราะภาษามลายูคือภาษาระหว่างประเทศหรือเป็นภาษาสากลที่ใครๆก็สอนได้ เหมือนคนฟิลิปปินส์หรือคนประเทศอื่นๆ สอนภาษาอังกฤษในประเทศไทย ซึ่งพวกเขาก็ไม่ใช่คนอังกฤษ

อาจารย์ชินทาโร กล่าวว่า การที่ขบวนการบีอาร์เอ็นใช้ภาษามลายูในการสื่อสาร แต่กลับทำให้คนในพื้นที่เองไม่เข้าใจภาษามลายูนั้น สาเหตุส่วนหนึ่งที่ประชาชนในพื้นที่ปาตานีใช้ภาษามลายูลดลงมาจากนโยบายกลืนวัฒนธรรม (Assimilate) ของรัฐบาลไทยในสมัยอดีต ซึ่งแตกต่างจากประเทศมาเลเซียที่รัฐบาลพยายามอย่างสุดความสามารถในการสนับสนุนให้ภาษามลายูเป็นภาษานานาชาติและให้เป็นภาษาที่ทันสมัย

อาจารย์ชินทาโร กล่าวว่า จากการที่ตนร่วมดำเนินรายการของสถานีวิทยุร่วมด้วยช่วยกันสลาตัน พบว่า ประชาชนโทรศัพท์เข้าในรายการที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปมักพูดภาษามลายูได้ดีมาก ส่วนอายุต่ำกว่า 40 ปีลงมา มีการใช้ภาษามลายูในเกณฑ์ปานกลาง ส่วนระดับเยาวชนพูดภาษามลายูได้ไม่ถึง 40 เปอร์เซ็นต์

“สิ่งที่น่าวิตกกังวลอย่างมาก คือเยาวชนที่อยู่ในตัวเมือง เพราะโดยส่วนใหญ่พูดภาษาไทยมากกว่าพูดภาษามลายู นอกจากนี้ยังพบว่า คนมุสลิมที่พูดภาษามลายูมักเป็นผู้ชายมากกว่าผู้หญิง” อาจารย์ชินทาโร กล่าว

อาจารย์ชินทาโร กล่าวอีกว่า ในอดีตจากการศึกษาพบว่าคนในจังหวัดสงขลาและจังหวัดสตูลมีการใช้ภาษามลายู แต่ปัจจุบันมีการใช้ภาษามลายูลดลง โดยเฉพาะในจังหวัดสตูลที่ในอดีตเคยมีหมู่บ้านที่พูดภาษามลายูเป็นร้อยหมู่บ้าน แต่ปัจจุบันเหลือเพียง 13 หมู่บ้าน ถามว่าสาเหตุเกิดจากอะไร

แนะต้องสร้างสื่อเพื่อสร้างอัตลักษณ์และสันติภาพ

อาจารย์มะหาหมัด อาหะมะ กรรมการมูลนิธิวัฒนธรรมอิสลามภาคใต้ กล่าวระหว่างการเสวนาว่า ภาษามลายูมีบทบาทสำคัญมากในทางศาสนาอิสลามในพื้นที่ แต่จะทำอย่างไรที่จะให้ภาษามลายูเป็นภาษาแห่งความรู้ด้วย ภาษามลายูเป็นความภูมิใจของคนพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประชาชนในพื้นที่จะต้องช่วยกันอนุรักษ์ภาษามลายูให้อยู่คู่กับประชาชนต่อไป

 “รัฐต้องสนับสนุนให้ประชาชนในพื้นที่ใช้ภาษามลายูอย่างจริงจัง เพราะเป็นเงื่อนไขหนึ่งที่จะลดความขัดแย้งและสร้างสันติภาพอย่างถาวรในพื้นที่ได้ แต่หากรัฐยังใจแคบอยู่โดยเฉพาะทางด้านภาษาซึ่งเป็นอัตลักษณ์ของคนในพื้นที่แล้ว จะทำให้สันติภาพที่แท้จริงเกิดขึ้นได้อย่างไร ” อาจารย์มะหาหมัด กล่าว

อาจารย์มะหาหมัด กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันโอกาสทางด้านภาษามลายูของคนให้พื้นที่ได้เปิดกว้างมากขึ้นกว่าในอดีต เพราะฉะนั้นจะทำอย่างไรที่จะให้โอกาสนี้ในการสร้างอัตลักษณ์ของคนในพื้นที่มา ส่วนหนึ่งคือการผลิตสื่อสิ่งพิมพ์ เพราะจะเป็นการยกระดับภาษามลายูให้สูงขึ้นได้มากกว่าการพูดอย่างเดียว แต่ปัจจุบันสื่อสิ่งพิมพ์ที่เกิดขึ้นก็ยังอยู่ในช่วงของการฝึกหัดเท่านั้น

อาจารย์มะหะหมัด กล่าวอีกว่า ภาษามลายูที่ใช้กันอยู่ในพื้นที่ โดยเฉพาะที่ใช้ในโรงเรียนตาดีกา เป็นภาษามลายูท้องถิ่นปัตตานี ซึ่งทำให้คนมาเลเซียหรือคนอินโดนีเซียไม่เข้าใจ ดังนั้นในอนาคตเป็นหน้าที่ของคนในพื้นที่ทุกคนที่จะต้องแก้ปัญหาสิ่งเหล่านี้

 

สิ่งพิมพ์ช่วยยกระดับภาษา สื่อโทรทัศน์เข้าถึงรากหญ้าได้ดี

นายมะนาวาวี มามะ อาจารย์สาขาวิชาภาษามลายู คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา กล่าวว่า ปัจจุบันมีสื่อสิ่งพิมพ์ภาษามลายูจำนวนหนึ่งในพื้นที่ เช่น หนังสือพิมพ์ซีนารัน และหนังสือพิมพ์ Fokus Rumi แต่หนังสือพิมพ์เหล่านี้อยู่ในมือของนักวิชาการหรือคนชั้นกลาง ยังไม่ไปถึงประชาชนระดับรากหญ้า จะทำอย่างไรที่จะให้สื่อสิ่งพิมพ์ภาษามลายูเข้าถึงประชาชนระดับรากหญ้าด้วย เพราะสื่อสิ่งพิมพ์จะทำให้ภาษามลายูมีชีวิตชีวามากยิ่งขึ้น

นายมะนาวาวี กล่าวว่า สื่อที่มีบทบาทสำคัญที่จะเข้าถึงคนรากหญ้าได้และช่วยยกระดับภาษามลายูได้อย่างดี คือสถานีโทรทัศน์ นอกจากนี้จำเป้นจะต้องสร้างตลาดแรงงานรองรับให้กับคนที่เรียนจบทางด้านภาษามลายูในพื้นที่ให้มากขึ้นด้วย

 

สื่อต้องเรียนรู้กระบวนการสันติภาพ

นายตูแวดานียา มือรีงิง ผู้สื่อสารข่าวในจังหวัดปัตตานี กล่าวแสดงความเห็นว่า แม้คนในพื้นที่พูดภาษามลายูได้ดีก็ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถเป็นผู้ดำเนินรายการที่ดีได้ โดยเฉพาะการดำเนินรายการท่ามกลางความขัดแย้งที่มีมาถึง 9 ปีแล้ว หากไม่มีความกล้าหาญหรือไม่มีความรู้เกี่ยวกับกระบวนการสร้างสันติภาพ เพราะสันติภาพเป็นเรื่องใหม่ที่ผู้ดำเนินรายการต้องศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม  

 

‘ทวี’ยกคำคึกฤทธิ์ “อย่าไปหลอกว่าเขาเป็นคนไทย”

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) กล่าวว่า มีคนถามตนเองเยอะมากทั้งในเวทีของรัฐหรือเวทีของประชาชนว่า จะแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่อย่างไร ตนขอยกคำพูดของหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมทย์ อดีตนายกรัฐมนตรีที่พูดที่วิทยาลัยครูยะลา เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2519 ว่า “คิดอย่างไรก็คิดไม่ออก เพราะเราไปหลอกเขาเป็นคนไทย ความจริงเขาเป็นชาวมลายู ปัญหาอยู่ที่เราไปหลอกเขามาตลอด”

“วันนี้เราต้องส่งเสริมให้เขาเป็นเขา รักษาเอกลักษณ์ความเป็นมลายู เพียงแต่ต้องให้ความเท่าเทียนกับคนไทยพุทธที่อยู่ในพื้นที่”

พ.ต.อ.ทวี กล่าวอีกว่า ส่วนตัวคิดว่า พื้นที่แห่งนี้เป็นพื้นที่ความขัดแย้ง มีหนทางเดียวทีจะแก้ปัญหาคือ ต้องเปิดพื้นที่ให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา ทั้งคนมุสลิมและคนไทยพุทธในพื้นที่ โดยไม่กำจัดโดยเฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น

“ดังนั้นผมเชื่อมั่นว่า หากคิดอะไรไม่ออก เราก็ต้องเอาประชาชนมาเป็นศูนย์กลาง และให้ประชาชนขับเคลื่อนในการแก้ปัญหา” พ.ต.อ.ทวี กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net