Skip to main content
sharethis
ผลศึกษา ‘การเปลี่ยนผ่านการกระจายเสียงสู่ระบบดิจิตอลในประเทศไทย’ ชี้ผลกระทบ พร้อมตั้งคำถามจะนำไปสู่การปฏิรูปสื่อในแง่ความเป็นเจ้าของ-เนื้อหาหลากหลายได้เพียงใด รวมถึงความเหลื่อมล้ำทางเทคโนโลยีที่อาจยิ่งถ่างกว้างขึ้น
 
 
วันนี้ (30 ก.ย.56) สาโรจน์ แววมณี นักวิจัยอิสระ จากสหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติ (สวชช.) นำเสนอข้อมูลการศึกษา "การเปลี่ยนผ่านการกระจายเสียงสู่ระบบดิจิตอลในประเทศไทย" ในการประชุมสมัชชากรรมการสหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติ ที่สำนักกลางนักเรียนคริสเตียน
 
ก่อนหน้านี้ แผนแม่บทกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ฉบับที่1 กำหนดให้เริ่มเปลี่ยนผ่านเข้าสู่การรับส่งสัญญาณวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ระบบดิจิตอลภายใน 4 ปี คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) วางแผนเปิดประมูลการให้บริการวิทยุดิจิตอลในปี 57 โดยระบุว่า จะไม่มีการยุติการกระจายเสียงวิทยุระบบอนาล็อกทั้งหมดเหมือนกิจการโทรทัศน์ และอาจเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการบางส่วนใช้ระบบอนาล็อกต่อไป ขณะเดียวกัน กสทช.ก็กำลังพิจารณาให้ผู้ประกอบการที่สนใจเข้ามาทดลองออกอากาศในระบบดิจิตอลหรือให้ใบอนุญาตออกอากาศในระยะเริ่มต้นเพื่อสร้างแรงจูงใจ
 
สาโรจน์ชี้ว่า ผลกระทบในการเปลี่ยนสู่ระบบดิจิตอล ประกอบด้วย ผลกระทบด้านเทคโนโลยี เนื่องจากไทยไม่ได้พัฒนาระบบรับส่งสัญญาณวิทยุโทรทัศน์ และเทคโนโลยีนี้ก็ต้องปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพขึ้นเรื่อยๆ คำถามคือไทยจะนำเข้าเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดเพื่อเปลี่ยนแปลงมาตรฐานในการรับส่งสัญญาณดิจิตอลบ่อยแค่ไหน
 
ผลกระทบด้านเศรษฐกิจ เนื่องจากเทคโนโลยีที่ปรับปรุงขึ้นใหม่มักมีราคาแพง ผู้ให้บริการกิจการกระจายเสียงวิทยุและโทรทัศน์ในการบริการชุมชนจะประสบปัญหาการลงทุน เนื่องจากไม่มีรายได้จากการโฆษณา รวมถึงผลกระทบด้านสังคม ที่กลุ่มผู้ใช้ที่ไม่คุ้นเคยหรือมีอาชีพที่ไม่ต้องใช้เทคโนโลยีใหม่ เช่น ผู้สูงอายุ เกษตรกรในชนบท ชนกลุ่มน้อยที่ไม่ได้ใช้ภาษาไทยเป็นภาษาแม่ และคนพิการ จำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือเพื่อเรียนรู้การใช้เทคโนโลยีใหม่
 
สาโรจน์ยังตั้งคำถามถึง กสทช.ในฐานะองค์กรกำกับดูแลด้วยว่า การเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิตอลนี้เป็นเพียงการเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยีเท่านั้นหรือไม่ จะนำไปสู่การปฏิรูปสื่อในแง่ความเป็นเจ้าของและความหลากหลายของเนื้อหาได้เพียงใด รวมถึงความเหลื่อมล้ำทางดิจิตอลระหว่างคนรวยที่เข้าถึงและมีความรู้ในการใช้เทคโนโลยี กับคนจนที่เข้าไม่ถึงและไม่มีความรู้ด้านนี้จะยิ่งถ่างกว้างขึ้นหรือไม่
 
ในการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่การกระจายเสียงวิทยุดิจิตอล สาโรจน์เสนอว่า ควรให้สถานีวิทยุธุรกิจขนาดใหญ่และสถานีวิทยุบริการสาธารณะเริ่มกระจายเสียงในระบบดิจิตอลก่อน เพราะมีความสามารถในการเข้าถึงทุนและความรู้ เทคโนโลยีดิจิตอล ส่วนวิทยุธุรกิจขนาดเล็ก (ท้องถิ่น) และวิทยุชุมชนควรกระจายเสียงระบบอนาล็อก (เอฟเอ็ม) ไปก่อน จนกว่าเครื่องส่งดิจิตอลจะราคาถูกลง และผู้รับซื้อเครื่องรับดิจิตอลมาใช้มากกว่า 50% ถึงจะเริ่มส่งเสริมให้วิทยุธุรกิจขนาดเล็กและวิทยุชุมชนเข้าสู่กระบวนการกระจายเสียงในระบบดิจิตอล
 
นอกจากนี้ ในการกำหนดมาตรฐานเครื่องรับวิทยุควรจะกำหนดให้สามารถรับคลื่นสัญญาณทั้งอนาล็อกและดิจิตอลด้วย
 
ด้านการส่งเสริมทดลองกระจายเสียงระบบดิจิตอล สาโรจน์เสนอว่า จำเป็นต้องให้ทุนสนับสนุนค่าใช้จ่ายด้านโครงสร้างพื้นฐานแก่สถานีวิทยุชุมชน และเริ่มก่อตั้งสถานีวิทยุชุมชนดิจิตอลในเขตเมืองใหญ่ก่อน เพื่อใช้เป็นพื้นที่สะสมองค์ความรู้และเผยแพร่ความรู้การกระจายเสียงวิทยุดิจิตอลแก่สถานีวิทยุชุมชนนอกเขตเมืองใหญ่ในอนาคต
 
ส่วนศรีจุฬา หยงสตาร์ จากมูลนิธิไฮน์ริค เบิลล์ กล่าวในการเสวนา ‘แลไปข้างหน้า วิทยุชุมชนไทย’ เล่าถึงบทเรียนเรื่องวิทยุชุมชนจากประเทศเพื่อนบ้าน 3 ประเทศ ได้แก่ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และศรีลังกา
 
ศรีจุฬา กล่าวว่า ฟิลิปปินส์ ถือเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จในการทำวิทยุชุมชน มีองค์กรกำกับดูแลคล้ายกับ กสทช.ของไทย โดยข้อเสนอจากวิทยุชุมชนต่อองค์กรกำกับดูแล ประกอบด้วย 1.การขอคลื่นความถี่เฉพาะสำหรับวิทยุชุมชน 2.กฎเกณฑ์การจัดตั้งวิทยุชุมชนที่ยืดหยุ่น เนื่องจากกฎเดิมแข็งตัวเกินไป ทำให้การจัดตั้งล่าช้า
 
3.ขอให้ควบคุมวิทยุธุรกิจในพื้นที่ที่มีวิทยุชุมชนอยู่แล้ว เนื่องจากวิทยุธุรกิจจะมีความพร้อมกว่าด้านเงินทุน 4.ขอให้ลดภาษีนำเข้าอุปกรณ์วิทยุชุมชน 5.ให้มีการกำกับดูแล 6.ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นช่วยเหลือสนับสนุนวิทยุที่สะท้อนความเป็นชุมชนจริงๆ
 
ขณะที่ในอินโดนีเซีย แม้จะมีองค์กรอิสระเพื่อกำกับดูแลโดยเฉพาะ แต่ศาลรัฐธรรมนูญได้ตัดสินให้ทำหน้าที่ส่งเสริมการทำงานของกระทรวงสื่อสารและเทคโนโลยีเท่านั้น เป็นผลให้การออกใบอนุญาตวิทยุขนาดเล็กล่าช้า
 
บทเรียนสุดท้ายคือ ประเทศศรีลังกา ซึ่งเป็นประเทศแรกที่ได้รับการสนับสนุนจากยูเนสโกในการจัดตั้งวิทยุชุมชน แต่ปรากฏว่าล้มเหลว เพราะเมื่อแหล่งทุนและรัฐลงไปจัดตั้ง จึงไม่สะท้อนความต้องการของชุมชนจริงๆ
 
สำหรับอนาคตของวิทยุชุมชนไทย ศรีจุฬา เสนอว่า มี 4 ประเด็นที่ต้องพูดคุยกัน แต่ยังไม่เห็นในการพูดคุยของ กสทช. ได้แก่ 1.การเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิตอลของวิทยุชุมชน 2.การออกใบอนุญาตวิทยุชุมชน นั้นตอบโจทย์อนาคตของวิทยุชุมชนจริงหรือไม่ 3.สัดส่วน 20% ของสื่อภาคประชาชนตามที่ระบุในกฎหมายนั้น อยู่ในฝั่งชุมชนหรือฝั่งสาธารณะด้วย และ 4.การมีอยู่ของกองทุนวิจัย กสทช.สนับสนุนการมีอยู่อย่างยั่งยืนของวิทยุชุมชนหรือไม่
 
ด้านสิขเรศ ศิรากานต์ อดีตผู้อำนวยการหลักสูตรนิเทศศาสตร์มหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยเนชั่น กล่าวถึงบทบาทของ กสทช.ด้วยว่ายังขาดการพิจารณาถึงผู้ใช้หรือประชาชน โดยที่ผ่านมา จะเห็นว่าเน้นในด้านเศรษฐศาสตร์ ด้านกฎหมาย ระเบียบประกาศต่างๆ และด้านเทคนิคมากเกินไป

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net