Skip to main content
sharethis

อดีตคนงานบริษัทเอ็มแคพไอราวัณ 40 คน เข้าแจ้งความครั้งที่ 3 เหตุนายจ้างปิดโรงงานไม่จ่ายค่าชดเชย-ค้างจ่ายค่าแรง ‘จิตรา’ เผยมีการบีบให้คนงานเปลียนเป็น‘กลุ่มอาชีพ’แทนลูกจ้าง รับงานได้ค่าจ้างรายชิ้นแทนค่าแรง 300

วานนี้(5 ต.ค.56) ที่สถานีตำรวจภูธรหนองบัวโคก จ.ชัยภูมิ อดีตคนงานตัดเย็บเสื้อผ้าบริษัทเอ็ม แคพ ไอราวัณ 40 คน เดินทางเข้าแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ กรณีที่นายจ้างเลิดจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชย และค้างจ่ายค่าจ้าง หลังจากที่ตำรวจดำเนินการประสานงานไกล่เกลี่ย ฝ่ายบุคคลได้นัดจ่ายค่าจ้างในวันที่ 9 ต.ค.นี้

นางไพรรัตน์ ทวีลาภ อดีตคนงานบริษัทเอ็ม แคพ ไอราวัณ ซึ่งเริ่มทำงานตั้งแต่เปิดบริษัทใหม่ๆ เมื่อ 6 ปีที่แล้ว กล่าวว่า เดินทางมาแจ้งความครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 แล้ว ฝ่ายบุคคลของบริษัทจึงนัดให้มารับค่าจ้างที่ค้างจ่ายในที่ 9 ต.ค.นี้ โดยที่โรงงานปิดกิจการเลิกจ้างคนงานกว่า 100 คน ตั้งแต่ 5 ก.ย.ที่ผ่านมา โดยอ้างว่าขาดทุน และค้างจ่ายค่าจ้างตั้งแต่เดือน ส.ค. ขณะที่ตอนนี้โรงงานที่ปิดตัวลงก็มีทหารมาเฝ้า 6 คน

นางไพรรัตน์กล่าวต่อว่า ค่าชดเชยที่นายจ้างไม่ยอมจ่ายให้นั้น ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ไปร้องต่อแรงงานจังหวัด ซึ่งเหตุเกิด 1 เดือนแล้ว เจ้าหน้าที่แรงงานจังหวัดนั้นทราบเรื่องแต่ก็ไม่มีการดำเนินการแต่อย่างไร จึงติดต่อให้จิตรา คชเดช ที่ปรึกษาสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ ช่วยประสานกับทางกระทรวงเพื่อดำเนินการต่อไป

สำหรับข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทเอ็ม แคพ ไอราวัณ นางไพรรัตน์ให้ข้อมูลว่า บริษัทนี้ตั้งขึ้นเมื่อ 20 เม.ย.49 อยู่ที่หนองบัวโคก อ.จตุรัส จ.ชัยภูมิ ผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปส่งออกให้กับยื่ห้อดัง เช่น Nike(ไนกี้) adidas(อาดิดาส) แกรนสปอร์ต Kappa (แคปป้า) ห่านคู่ เป็นต้น

จิตรา คชเดช ที่ปรึกษาสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่าในส่วนของการเรียกร้องค่าชดเชยจากบริษัทนั้นจะประสานงานกับเจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงาน และจะให้คนงานเดินทางมาร้องเรียนด้วยตัวเอง เนื่องจากคนงานไม่เชื่อมั่นในเจ้าหน้าที่แรงงานจังหวัด ที่ไม่ดำเนินการใดๆ แม้จะมีการร้องขอจากคนงานไปตั้งแต่ 1 เดือนที่แล้ว นอกจากนี้จากการสอบถามคนงานที่ถูกเลิกจ้างพบว่า หลังจากที่ปิดโรงงาน หน่วยงานของรัฐในท้องที่ได้พยายามเสนอแนะให้คนงานที่ถูกเลิกจ้างไปจดทะเบียนเป็นกลุ่มอาชีพตามนโยบายของรัฐ โดยมีเจ้าหน้าที่ของบริษัทและรัฐดำเนินการจดทะเบียนให้ แล้วให้คนงานกลับเข้าทำงานเหมือนเดิมหลังจากบริษัทได้เปลี่ยนชื่อเป็นบริษัทโกเด้นทอง จากที่เคยได้ค่าแรง 300 บาท คนงานเหล่านั้นก็จะกลายสภาพเป็นผู้รับงานมาทำตามกลุ่มอาชีพและได้ค่าตอบแทนตามชิ้นงาน แต่เนื่องจากคนงานไม่ยอมรับเงื่อนไขเหล่านี้จึงเรียกร้องให้บริษัทจ่ายค่าชดเชยจากการเลิกจ้างและค่าแรงที่ค้างจ่าย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net