“เขื่อนแม่วงก์” อย่าให้อ้อยเข้าปากช้าง

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ในที่สุดเขื่อนแม่วงก์ก็ได้กลายเป็นประเด็นสาธารณะ  หลังจากคุณศศิน เฉลิมลาภ นักอนุรักษ์ ศิลปิน กวี ชาวบ้าน นิสิตนักศึกษา  และ  ‘พลเมืองที่มีสำนึก’  เดินทางไกล และออกมาร่วมกันแสดงพลังไม่เห็นด้วยกับกระบวนการพิจารณาโครงการนี้

ผมเห็นว่ากระแสคัดค้านเขื่อนแม่วงก์ ย่อมส่งผลสะเทือนต่อรัฐบาล  ไม่มากก็น้อย  เพราะหลังจากวันสุดท้ายของการเดินแล้ว  การเคลื่อนไหวก็ถูกตอบโต้ในหลายระดับด้วยกัน

ในระดับพื้นที่  เห็นได้ชัดเจนว่าฝ่ายรัฐใช้วิธีพิเศษซึ่งรัฐทุกยุคสมัยมักจะเลือกใช้  นั่นก็คือ การระดมมวลชนแสดงพลังสนับสนุนรัฐและโจมตีฝ่ายคัดค้านผ่านกลุ่มที่เรียกว่า  ‘บรรดาอำนาจท้องถิ่น’

ในระดับสาธารณะ  ปรากฏว่าเกิดการโต้ตอบจากนักเขียน นักคิด คอลัมนิสต์ บางคนถึงกับกล่าวว่าการเคลื่อนไหวครั้งนี้เป็นความ “ฟิน” ของคนชั้นกลาง  ขณะที่ผมเห็นว่าปรากฎการณ์นี้เป็นปรากฎการณ์แรกๆ ของสังคมไทยที่ฝ่ายที่เรียกตนเองว่าก้าวหน้า (ไม่ว่าจะเป็นสื่อ นักวิชาการ นักเขียน ฯลฯ) ที่เขียนบทความหรือแสดงความเห็นโดยมุ่งไปที่การวิพากษ์ขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาสังคมมากที่สุด  ขณะที่แต่เดิมการเขียนในทำนองนี้มักจะเกิดจากฝ่ายขวาหรือรัฐหรือกลุ่มที่เสียประโยชน์  ผมจึงเห็นว่ากระแสตอบโต้การเคลื่อนไหวนี้เท่ากับการตกเป็น ‘แนวร่วมมุมกลับ’ ไปโดยปริยาย

อย่างไรก็ตาม  ผมไม่ได้คิดแค่ว่าการเคลื่อนไหวคัดค้านเขื่อนแม่วงก์เกิดจากกระแสคิดสิ่งแวดล้อมนิยมที่ข้ามพ้นเรื่องของชนชั้นเท่านั้น  แต่ประเด็นเขื่อนแม่วงก์ได้กลายเป็นประเด็นสาธารณะไปแล้ว

การเป็นประเด็นสาธารณะนี้ไม่ค่อยปรากฏนักในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา   นับแต่สังคมไทยเกิดความขัดแย้งแบ่งฝักฝ่ายแบ่งสีเสื้อ  ขณะที่การเคลื่อนไหวเหล่านั้นได้ไปกดทับการเคลื่อนไหวของกลุ่มอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิ่งแวดล้อมหรือปัญหารากหญ้าของชาวบ้านก็ตาม

ดังนั้น  การที่มีผู้คนจำนวนมากเข้าแสดงพลังสนับสนุนการคัดค้านเขื่อนแม่วงก์   ส่วนหนึ่งก็เพราะพวกเขาเป็น ‘พลเมืองที่มีสำนึก’  ที่ข้ามพ้นการแบ่งสี  ในขณะที่บริบททางการเมืองเริ่มคลี่คลาย เปิดพื้นที่ให้กับคนกลุ่มอื่นได้มีที่ยืนในพื้นที่สาธารณะอีกครั้ง

ผมคิดว่าประเด็นนี้เองที่ทำให้คนบางกลุ่มที่มีท่าทีสนับสนุนรัฐบาลนี้หวั่นไหว  และพยายามทำลายความชอบธรรมของฝ่ายคัดค้านเขื่อนแม่วงก์  โดยเฉพาะการชี้ว่าการเคลื่อนไหวนี้เป็นความ “ฟิน” ของชนชั้นกลาง  ซึ่งข้อหานี้คล้ายๆ กับการที่สื่อบางกลุ่มกล่าวหาคนที่เคลื่อนไหวเรื่องน้ำมันของ ปตท.รั่วลงทะเลว่า  “ดราม่า” ซึ่งเป็นการเบี่ยงประเด็นไปจากปัญหาหลัก  และทำให้ต้นตอของปัญหาไม่ถูกกล่าวถึง

ความจริงแล้ว ในภาวะอย่างนี้  ผมคิดว่าฝ่ายต่างๆ ควรจะตั้งคำถามต่อกระบวนการผลักดันเขื่อนของรัฐที่ไม่มีความชอบธรรมมากกว่า  โดยเฉพาะประเด็นสำคัญ 4 ประเด็น คือ

ประเด็นแรก  การตั้งคำถามต่อการระดมบรรดาอำนาจท้องถิ่นเพื่อมาเชียร์เขื่อน  ผมจำเป็นต้องเน้นประเด็นนี้อีกครั้ง  เพราะการเคลื่อนไหวของบรรดาอำนาจท้องถิ่นไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นที่นี่ที่เดียว  แต่เกิดขึ้นในหลายกรณี  และกลุ่มเหล่านี้เองที่ไปกดทับเสียงของคนในชนบทที่เดือดร้อนจากการสร้างเขื่อน

ในกรณีเขื่อนแก่งเสือเต้น  ก็เห็นได้อย่างชัดเจนว่า กลุ่มคนที่เคลื่อนไหวผลักดันเขื่อนแห่งนี้คือบรรดาอำนาจท้องถิ่น   ตั้งแต่จังหวัดแพร่ลงมาจนถึงพิษณุโลก  และการเคลื่อนไหวก็มีทั้งการปิดล้อมชาวสะเอียบแทบทุกด้าน   โดยเฉพาะการปิดล้อมข้อมูลข่าวสาร  การใช้พลังเข้ากดดัน  การอ้างความชอบธรรมว่าคนส่วนน้อยต้องเสียสละเพื่อคนส่วนใหญ่ ฯลฯ

ขณะที่กรณีของเคลื่อนแม่วงก์ก็คล้ายกัน   เพราะเขื่อนแห่งนี้เป็นที่รู้กันว่านักการเมืองตระกูลหนึ่งในจังหวัดนครสวรรค์ ผลักดันมาโดยตลอด  ก่อนหน้านี้ก็อ้างเรื่องภัยแล้ง  และตอนนี้ได้เปลี่ยนมาเป็นเรื่องการป้องกันน้ำท่วม  และในการเคลื่อนไหวหลังสุดเราก็ยิ่งเห็นได้ชัดถึงบทบาทบรรดาอำนาจท้องถิ่นเหล่านี้ไม่ได้ต่อสู้ด้วยเหตุด้วยผล  แต่อาศัย ‘อิทธิพล’ เข้าผลักดัน

บทบาทของบรรดานักการเมืองท้องถิ่น  จึงมีความสำคัญยิ่ง  เพราะเป็นปัญหาของการพัฒนาประชาธิปไยที่สังคมไทยจะต้องตั้งคำถามเพื่อที่จะทลายให้ได้

ประเด็นที่สอง  ที่มาของโครงการเขื่อนแห่งนี้  แต่เดิมเป็นโครงการอิสระ (stand alone project) โดยวัตถุประสงค์เพื่อการชลประทาน กลับกลายเป็นหนึ่งในหลายสิบเขื่อนภายใต้โครงการเงินกู้เพื่อป้องกันน้ำท่วม 3.5 แสนล้านบาท  ความไม่ชอบมาพากลนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร

ประเด็นที่สาม  เหตุใดรัฐบาลจึงได้อนุติงบประมาณ  13,000 ล้านบาทในการก่อสร้างเขื่อนแห่งนี้โดยไม่ได้ปฏิบัติตามพระราชบัญญํติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม  การกระทำดังกล่วเราจะพิจารณามันอย่างไร

ประเด็นที่สี่   จะอธิบายอย่างไรในกรณีของรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA)  ที่ฝ่ายคัดค้านเขื่อนได้อุตส่าห์ไปหาข้อมูลมาโต้แย้ง  แต่แทนที่คนในรัฐบาลจะรับฟังกลับจะยกเลิกรายงานนี้  และประกาศจะทำรายงานขึ้นมาใหม่เพื่อให้รายงานผ่านให้ได้

โดยส่วนตัว  ผมไม่เชื่อรายงานเหล่านี้หรอกครับเพราะทำโดย นักวิชาการเครื่องซักผ้า  แต่การที่กลุ่มคนที่คัดค้านเขื่อนแม่วงก์มองว่านี้เป็นเครื่องมือที่จะตรวจสอบโครงการขนาดใหญ่ภายใต้เงื่อนไขทางกฎหมาย  ผมจึงคิดว่าเราต้องรับฟัง  เพราะมิฉะนั้นแล้วเขื่อนแม่วงก์ก็จะซ้ำรอยกับเขื่อนในอดีต

สำหรับผมแล้ว  ผมเห็นว่ายุคสมัยของการสร้างเขื่อน ควรสิ้นสุดลงได้แล้ว  เพราะประวัติศาสตร์ของการสร้างเขื่อนของรัฐคือประวัติศาสตร์ของการใช้อำนาจที่ไม่ชอบธรรม   โดยไม่มีเหตุผลใดๆ รองรับ  นอกเหนือจากความคิดหรืออุดมการณ์ที่เชื่อว่า ‘การสร้างเขื่อนคือการพัฒนา’  ขณะที่ในความเป็นจริงเขื่อนล้วนแต่แสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวในแทบทุกมิติ

ยกตัวอย่างในประเด็นเศรษฐศาสตร์ที่เป็นหัวใจของการตัดสินใจของรัฐในอดีต  ก็จะเห็นว่าเขื่อนขนาดใหญ่จำนวนมากขาดทุนตั้งแต่ยังสร้างไม่เสร็จ เขื่อนศรีนครินทร์ ขออนุมัติ  1,800 ล้านบาท  แต่สร้างจริง 4,623 ล้านบาท,เขื่อนเขาแหลมขออนุมัติ  7,711ล้านบาท แต่สร้างจริง   9,100 ล้านบาท  , เขื่อนบางลาง ขออนุมัติ  1,560 ล้านบาท   แต่สร้างจริง  2,729.2 ล้านบาท   หรือกรณีเขื่อนปากมูล ที่ขออนุมัติ  3,880  แต่สร้างจริง  6,600 ล้านบาท 

ขณะที่ผลกระทบทางสังคม  เห็นได้ชัดเจนว่ายังไม่มีชาวบ้านที่ถูกอพยพจากเขื่อนแห่งไหนในประเทศไทยที่ได้รับการดูแลและฟื้นฟูชุมชนหลังจากเป็น ‘คนหลังเขา’  คำตอบก็จะคล้ายคลึงกัน  นั่นก็คือ เขื่อนได้สร้างความทุกข์ให้กับพวกเขาจนสุดจะเยียวยา  ซึ่งผมอยากเรียกมันว่าเป็น  ความทุกเชิงสังคมที่เกิดจากบาดแผลของการพัฒนา

ส่วนผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม  ผมอยากยกกรณีของเขื่อนปากมูลที่สร้างในยุคเผด็จการทหาร รสช. มาชี้ให้เห็นครับ   เขื่อนแห่งนี้ถูกสร้างโดยไม่ฟังเสียงของประชาชน  ไม่มีการทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม  เมื่อสร้างเสร็จมันได้ปิดตายลุ่มน้ำชี  ลุ่มน้ำมูลทั้งลุ่มน้ำ  และทำให้เกิดภัยพิบัติตามมา  นั่นคือแม่มูลวิบัติ  โดยชาวปากมูลต้องสูญเสียอาชีพประมงตลอดกาล  ขณะที่ผลประโยชน์ทางด้านชลประทานเท่ากับศูนย์  ส่วนการผลิตกระแสไฟฟ้าก็กะปริดกะปรอยเพราะเดินเครื่องได้แค่ 40 เมกะวัตต์จากการผลิตติดตั้ 136 เมกะวัตต์

ดังนั้นไม่ว่าจะมองในแง่มุมไหน  เขื่อนขนาดใหญ่จึงได้ ไม่คุ้มเสีย   ขณะที่ประชาชนต้องแบกรับภาระ

ผมจึงเห็นว่าในขณะนี้  สังคมไทยต้องหยุดเขื่อนแม่วงก์ไว้ก่อนครับ  อย่าให้อ้อยเข้าปากช้าง  เพราะหากเข้าไปแล้ว ยากที่จะดึงออกมาได้  และนั่นอาจจะทำให้เขื่อนแห่งนี้ สร้างหายนะเหมือนกับเขื่อนหลายแห่งที่ผ่านมา

 

 

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน: เนชั่น สุดสัปดาห์ 4 ตุลาคม 2556

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท