อาจารย์นักศึกษา ม.อุบล จัดกิจกรรมจุดเทียนรณรงค์ยุติการสร้างเงื่อนไขไปสู่ความรุนแรงทางการเมือง ประกาศให้การเลือกตั้งคือฉันทามติสู่การปฏิรูปการเมือง นัดอีก10 ม.ค. 57 ใจกลางเมืองอุบล
วันอาทิตย์ ที่ 5 ม.ค. 57 เมื่อเวลา 19.30 น. ณ บริเวณหน้ามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มีการรวมตัวกันของ นักเรียน นักศึกษา ครู อาจารย์ นักวิชาการและประชาชนทั่วไป ร่วมกิจกรรม “แสงเทียนแห่งสันติภาพ ยุติการสร้างเงื่อนไขที่นำไปสู่ความรุนแรง แล้วไปเลือกตั้ง” โดยกลุ่มคนรุ่นใหม่จังหวัดอุบลราชธานี ประกอบด้วย กลุ่ม Student’s Role, กลุ่มกลุ่มแว่นขยาย, กลุ่มแสงแห่งเสรี, และนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีเป็นผู้จัดกิจกรรมนี้ขึ้น เพื่อเป็นการแสดงจุดยืนทางการเมืองที่ปฏิเสธไม่ยอมรับความรุนแรงทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น ฝ่ายใด สีไหน ก็ตาม โดยเห็นว่าสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบันนี้นั้นมีแนวโน้มที่จะนำไปสู่ความรุนแรง และความสูญเสียเหมือนอย่างในอดีต และทีสำคัญทางออกที่จะสามารถยุติปัญหาการเมืองได้ในเวลานี้คือ “การเลือกตั้ง”
กิจกรรมเริ่มด้วยการเปิดเสรีภาพให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกท่านได้ร่วมปราศรัย (Hipark) แสดงความคิดเห็น ต่อสถานการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและความรู้สึกที่มาร่วมกิจกรรมในค่ำคืนนี้
ต่อมาเป็นกิจกรรม “จุดเทียนแห่งสันติภาพและยืนสงบนิ่งรำลึกถึงผลของความรุนแรงที่ผ่านมา” ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้ร่วมจุดเทียนและสงบนิ่งเพื่อรำลึกถึงผู้ที่สูญเสียจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมือง แสดงออกเชิงสัญลักษณ์ “Peace” ที่แปลว่า “สันติภาพ” เพื่อปฏิเสธความรุนแรงทุกรูปแบบ และขอความสงบจงเกิดแก่ประเทศโดยเร็ว
ผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกคนได้ร่วมกันออกแบบป้ายรณรงค์ ที่แสดงข้อความว่า “ยุติการสร้างเงื่อนไขที่นำไปสู่ความรุนแรง แล้วไปเลือกตั้ง”
กิจกรรมสุดท้ายเป็นการสัมภาษณ์ผู้ร่วมงานเกี่ยวกับความรู้สึกต่อกิจกรรมในค่ำคืนนี้และประชาสัมพันธ์การจัดกิจกรรมลักษณะนี้อีกในวันที่ 10 ม.ค. 57 บริเวณใจกลางเมืองอุบลราชธานีต่อไป
ณรุจน์ วศินปิยมงคล อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์อุบลราชธานี กล่าวว่า ผมรู้สึกดีใจที่วันนี้ทุกคนมาร่วมแสดงจุดยืนทางการเมือง เพื่อต้องการให้ประเทศ ไม่มีการสร้างเงื่อนไขที่นำไปสู่ความรุนแรง เราต้องเข้าใจว่าสังคมไทย นั้นเป็นสังคมที่มีความคิดที่แตกต่างหลากหลายกันมานานแล้ว เราไม่เคยนำเอาปัญหาความรุนแรงนี้ขึ้นมาจัดการอย่างเป็นระบบ ประเด็นแรกคือ การเลือกตั้งนี้นั้น มันไม่ใช่การจัดการกับปัญหาความรุนแรงอย่างสมบูรณ์แบบ แต่มันก็จะเป็นวิธีการที่ให้คนที่เห็นต่างนั้น ได้มาร่วมกันแสดงฉันทามติว่าต้องการอะไร เพื่อนำไปสู่การปฏิรุปอย่างแท้จริง ที่พวกเรามาวันนี้ มีจุดประสงค์เพื่อแสดงออกว่า พวกเราต้องการการเลือกตั้งที่จะนำสังคมไปสู่ฉันทามติร่วมกันเพราะนี้คือสิ่งที่ประชาชนต้องการ ที่สำคัญที่สุดคือ “ระบอบประชาธิปไตยนั้นจะต้องยึดโยงประชาชนเป็นหลัก”
วรรษพงศ์ เขียวทอง นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวว่า “กิจกรรมในวันนี้เป็นการแสดงออกที่ไม่ผิด เพราะเราไม่ได้ไปคุกคามใคร เป็นการเคลื่อนไหวแบบนี้ในวิถีทางประชาธิปไตย ที่ทุกคนมีสิทธิเหมือนกัน เท่ากัน 1 คน 1 สิทธิ 1 เสียง ถึงแม้ว่าการเปลี่ยนแปลงการปกครองเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยในอดีต ประชาชนทุกคนไม่ได้ร่วมกันเปลี่ยนแปลง แต่ทุกวันนี้ไม่ได้หมายความว่า เราจะไม่มีส่วนร่วมกันเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาระบอบประชาธิปไตย และการที่เรามาในวันนี้ คือการแสดงออกถึงการเข้ามามีส่วนร่วมตามแบบประชาธิปไตย ผมคิดว่าความเป็นประชาธิปไตยของสังคมไทยปัจจุบันมีความพัฒนา ยิ่งทุกวันนี้มีสื่อออนไลน์ ที่ทำให้เราเข้าถึงรับทราบข่าวสาร ให้เรารู้เท่าทัน ว่าทุกวันนี้การเมืองเป็นอย่างไร มันจะทำให้ประชาธิปไตยเราสมบูรณ์มากขึ้น”