Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


ที่มาภาพ:http://pantip.com/topic/31425281

ที่มาภาพ: redyouthuk.wordpress.com

เนื่องจากผู้เขียนไม่ใช่ตัวคุณดิวหรือปริญณภัทร สุภาพ ผู้สร้างความฮือฮาโดยการปีนขึ้นไปโบกธงชาติอยู่บนอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิเมื่อวันที่  22 ธันวาคมของปีที่แล้ว จึงไม่อาจกล่าวได้เต็มปากว่าเหตุใดเขาจึงได้กระทำเช่นนั้นลงไปนอกจากคำพูดของเจ้าตัวว่าเพราะต้องการแสดงออกถึงความรู้สึกรักชาติ   หากคนมองโลกในแง่ร้ายก็จะอาจจะต่อว่าเขาเป็นทำนองว่าอยากดังหรือว่าได้รับใบสั่งจากแกนนำของกลุ่มว่าเพื่อสร้างความชอบธรรมสำหรับการประท้วงด้วยอนุสาวรีย์นั้นตั้งอยู่บนจุดศูนย์กลางของสถานีรถไฟฟ้าและเป็นชัยภูมิเหมาะสำหรับการยึดครองพื้นที่สำหรับการเรียกร้องความสนใจไปทั่วโลก  แต่ผู้เขียนเห็นว่าการถกเถียงถึงแรงจูงใจต่อการกระทำของคุณดิวไม่ใช่วัตถุประสงค์ของบทความนี้

อย่างไรก็ตามผู้เขียนจะขอลองเดาเล่นๆ ว่าคุณดิวน่าจะได้แรงบันดาลใจไม่มากก็น้อยมาจากเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครองในต่างประเทศโดยเฉพาะภาพซึ่งจัดได้ว่าเป็นภาพอันโด่งเด่นของทหารกองทัพแดงหรือสหภาพโซเวียตที่ปีนขึ้นไปโบกธงชาติตนเหนือรัฐสภาของเยอรมันภายหลังจากกองทัพแดงเข้ายึดกรุงเบอร์ลินในปี 1945 หากคุณดิวหรือพวก กปปส.คิดเช่นนั้น ย่อมกลายเป็นลางดีสำหรับกลุ่มผู้ประท้วงว่าตัวเองจะมีชัยชนะเหนือรัฐบาลเช่นเดียวกับสหภาพโซเวียตที่มีชัยเหนือเยอรมันนาซี  ที่สำคัญการปีนขึ้นไปบนยอดรัฐสภาของเยอรมันย่อมบ่งบอกได้ว่าทหารรัสเซียไม่ได้ให้ความเคารพต่อสถานที่ซึ่งเคยเปี่ยมด้วยความศักดิ์สิทธิ์ของรัฐบาลฮิตเลอร์ เช่นเดียวกับการที่คุณดิวไม่น่าจะให้ความเคารพต่ออนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิแม้จะอ้างว่าได้ขอขมาวิญญาณบรรพบุรุษหรืออ้างว่ามีนามสกุลของทหารหรือตำรวจผู้เสียชีวิตคล้ายคลึงกับตน แต่ในสังคมไทยซึ่งสามารถเสกสรรบันดาลให้อนุสาวรีย์ซึ่งแม้ว่าจะรับมาจากตะวันตกกลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ไว้กราบไหว้ได้อย่างน่าอัศจรรย์ใจและยังถือว่าเท้าเป็นอวัยวะเบื้องต่ำนั้น คำพูดของเขาจึงไม่ค่อยจะมีน้ำหนักเท่าไร

อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิตามประวัติคืออนุสาวรีย์ที่สร้างขึ้นเพื่อเชิดชูหรือระลึกถึงวีรกรรมของทหาร ตำรวจและพลเรือนที่เสียชีวิตไปในความขัดแย้งระหว่างไทยกับฝรั่งเศสในเรื่องแย่งชิงดินแดนของไทยกลับมาจากการครอบครองของฝรั่งเศส อันเป็นดำริของจอมพล ป.พิบูลสงคราม และพลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นผู้วางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2484 ส่วนจอมพล ป.เองไปเป็นประธานในพิธีเปิดเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน ในอีกหนึ่งปีต่อมา แน่นอนว่าอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิย่อมเป็นอนุสาวรีย์รุ่นแรกๆ สำหรับการเชิดชูสามัญชนซึ่งไม่ค่อยมีเท่าไรนักในยุคนั้นด้วยความพยายามของจอมพล ป.ในการนำมาเสริมสร้างความเป็นรัฐสมัยใหม่เพื่อกลบทับรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชซึ่งถึงแม้จะได้รูดม่านลงแล้วแต่ก็ยังคงอิทธิพลแฝงอยู่ไม่น้อย  (ซึ่งเพียงแค่วันที่วางศิลาฤกษ์กับวันเปิดก็บ่งบอกได้ว่าคณะราษฎรต้องการใช้สัญลักษณ์เพื่อสร้างอำนาจให้กับระบอบตน)    ดังเช่นในยุคปัจจุบัน อนุสาวรีย์สำหรับคนทุกชนชั้นไม่ว่าเชื้อพระวงศ์ อดีตกษัตริย์ประจำท้องถิ่นหรือแม้แต่ประชาชนธรรมดาจะเพิ่มขึ้นอย่างมากมายก็ตามแต่ด้วยการเมืองไทยถูกครอบงำโดยอุดมการณ์ราชาชาตินิยมที่เน้นความภักดีต่อองค์กษัตริย์ในปัจจุบันเป็นสำคัญ  อนุสาวรีย์สำหรับสามัญชนตามจังหวัดต่างๆ จะถูกเน้นย้ำในประวัติศาสตร์ไทยอย่างมากมายเพราะสามารถเชื่อมโยงกับเครือข่ายอำนาจของทางกรุงรัตนโกสินทร์เป็นสำคัญ เช่นอนุสาวรีย์ย่าโม (ซึ่งคณะราษฎรสร้างขึ้นมาเพื่อเอาใจคนโคราชภายหลังขบถบวรเดชในปี 2476 แต่ต่อมาได้สะท้อนภาพของวีรสตรีที่ภักดีต่อกรุงรัตนโกสินทร์เพียงประการเดียว)  อนุสาวรีย์พระยาพิชัยดาบหัก อนุสาวรีย์หมู่บ้านบางระจัน อนุสาวรีย์ท้าวเทพกระษัตรีและท้าวศรีสุนทร  เป็นต้น  และมักกลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำท้องถิ่นควบคู่ไปด้วย

สำหรับอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ผู้เขียนคิดว่าคนทั่วไปที่เดินผ่านอยู่ทุกวันหากไม่อ่านหนังสือเรียนหรือค้นหาจากอินเทอร์เน็ต ก็คงจะมีโอกาสน้อยมากที่จะทราบว่าอนุสาวรีย์แห่งนี้เป็นฝีมือของจอมพล ป.ซึ่งถูกถือว่าเป็นผู้ร้ายอยู่ตามวาทกรรมกระแสหลักคือชาติคือลัทธิราชาชาตินิยมเช่นเดียวกับนายปรีดี พนมยงค์ (1) นอกจากนี้นักประวัติศาสตร์กระแสหลักจำนวนมากน่าจะมองว่าอนุสาวรีย์เป็นผลงานของจอม ป.ผู้เกลียดเจ้าที่นำกองทัพไทยเข้าสู่สงครามเพื่อสร้างความยิ่งใหญ่ให้กับตัวเองมากกว่าเพื่อชาติ แถมศัตรูคือฝรั่งเศสซึ่งซึ่งรัฐไทยไม่ได้บรรจุไว้ในวาทกรรมเต็มตัวนักว่าเป็นศัตรูตัวฉกาจฉกเช่นพม่าหรือลาว (2) ด้วยสาเหตุนี้เองคงจะทำให้อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิเป็นที่ระลึกทางประวัติศาสตร์ที่อยู่แบบลอยๆ เพราะปราศจากการตอกย้ำให้เกิดความศักดิ์สิทธิ์โดยรัฐ  แม้ว่าจะมีการมาวางพวงมาลาโดยองค์การทหารผ่านศึกในต้นเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี แต่ก็ไม่ต้องมีกฎว่าต้องวางพวงมาลาโดยทุกหน่วยงานของราชการเหมือนกับอนุสาวรีย์ของอดีตพระมหากษัตริย์ แถมยังไม่ได้มีการประชาสัมพันธ์ตัวพิธีกรรมโดยเอิกเกริกผ่านสื่อต่างๆ  

หากเทียบกับอนุสาวรีย์ 14 ตุลาฯ ซึ่งถูกสร้างขึ้นมาทีหลังและอยู่มิดชิดกว่า พิธีกรรมและความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิยังดูด้อยกว่าเสียด้วยซ้ำ เพราะพิธีกรรมทุกปีที่ถูกจัดในอนุสาวรีย์ 14 ตุลาฯ ยังสามารถถูกนำเสนอผ่านสื่อกระแสรองได้เสมอเพื่อใช่ก่นด่ารัฐบาลเผด็จการ และเชิดชูขบวนการนักศึกษา นอกจากนี้อนุสาวรีย์ 14 ตุลาคมยังได้รับการยกย่องโดยนักประวัติศาสตร์กระแสรองหรือหัวเสรีนิยม แต่คนกลุ่มนี้ก็ไม่น่าจะให้ความสำคัญต่ออนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิเพราะมีมุมมองต่อจอมพล ป.ไม่ต่างจากนักประวัติศาสตร์กระแสหลักเท่าไรนัก แต่ที่จุดแตกต่างที่สำคัญก็เพราะนักคิดเสรีนิยมเห็นว่าอนุสาวรีย์เป็นตัวแทนของลัทธิชาตินิยมเชิงก้าวร้าว (aggressive Nationalism) ที่ทำให้เกิดสงคราม  แม้ว่าเมื่อไม่นานมานี้จะมีนักประวัติศาสตร์กระแสรองโดยเฉพาะฝั่งเสื้อแดงจะพยายามรื้อฟื้นความชอบธรรมของจอมพล ป.ในฐานะผู้สถาปนาความถูกต้องชอบธรรมของรัฐธรรมนูญและระบอบประชาธิปไตยนอกเหนือไปจากภาพของกากเดนฟาสซิสต์ที่ยังติดตากันมา  แต่กลุ่มประวัติศาสตร์กระแสรองเองก็ไม่น่าจะเลยไปถึงการเชิดชูสงครามระหว่างไทยกับฝรั่งเศสเช่นเดียวกับการที่จอมพล ป.นำไทยเข้าเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลก

อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิยังสร้างความเหินห่างให้กับประชาชนหรือชาวต่างประเทศผู้ผ่านไปผ่านมาเพราะความยากลำบากในการข้ามถนนที่เต็มไปด้วยการจราจรอันคับคั่งเพื่อเข้าไปเยี่ยมชมรายชื่อและที่เก็บกระดูกของวีรบุรุษผู้เสียชีวิตภายในที่อุตสาห์ยังมีรั้วกั้นไว้   อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิจึงกลายเป็นโบราณสถานที่มีคนสนใจบ้างไม่สนใจบ้างและมักจะรู้เป็นประโยคง่ายๆ ว่า "ไว้เทิดทูนบรรพบุรุษที่เสียชีวิตเพื่อชาติ" ซึ่งมีตัวแทนที่เห็นชัดเจนคือรูปปั้นของทหารและตำรวจทั้งสี่ด้านซึ่งก็ปราศจากพลังพอที่จะได้รับการอุปโลกน์หรือเสกให้กลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ต้องกราบไหว้หรือให้ความยำเกรง  หลักฐานที่ชัดเจนคือสำหรับชาวพระนคร การที่รถไฟฟ้าผ่านไปผ่านมาเฉียดอนุสาวรีย์ย่อมไม่ใช่เรื่องอันมิบังควรแม้รูปลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมและความสง่างามของอนุสาวรีย์จะไม่แพ้ย่าโมหรือชาวบ้านบางระจัน (เช่นเดียวกับสถาปัตยกรรมของสิ่งก่อสร้างอื่นๆ เช่นตึกหรืออาคารที่ถูกสร้างในสมัยคณะราษฎรที่ดูสวยงามแต่ไร้คุณค่าในสายตาของคนยุคใหม่)   ดังนั้นการขอขมาด้วยวาจาก็เป็นสิ่งเพียงพอแล้วสำหรับคุณดิวและใครก็ได้ที่ใจกล้าขึ้นไปเยียบบนอนุสาวรีย์นั้น โดยไม่กลัวว่าจะถูกสิ่งเหนือธรรมชาติลงโทษเพราะไสยศาสตร์ที่ปั้มความศักดิ์สิทธิ์ให้กับอนุสาวรีย์ดูเหมือนจะแผ่วเบาด้วยตัวอนุสาวรีย์ไม่สามารถตอบสนองกระแสราชาชาตินิยมได้ถนัดนักดังที่ได้กล่าวไว้ข้างบน กระนั้นสมมติว่าคุณดิวเชื่อว่าวิญญาณในอนุสาวรีย์มีจริงก็คงจะบอกกับตัวเองว่าการกระทำเช่นนี้คงเป็นสิ่งให้อภัยได้เพราะทำเพื่อชาติโดยไม่สนใจข้อสงสัยที่ว่าวิญญาณในรูปปั้นถ้ามีจริงจะมีความคิดทางการเมืองแบบ กปปส.หรือแบบเสื้อแดงกันแน่  

ด้วยกระแสอุดมการณ์ราชาชาตินิยมนี้เอง จึงเป็นเรื่องที่อยู่เหนือจินตนาการสำหรับคุณดิวที่จะปีนขึ้นไปอยู่บนอนุสาวรีย์อดีตกษัตริย์หรือแม้แต่เชื้อพระวงศ์หากตั้งอยู่จุดเดียวกับอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ  แม้คุณดิวอาจจะยืนอยู่ไม่สูงกว่าหรือไม่สัมผัสกับตัวของรูปปั้นแต่ก็สามารถนำใครก็ได้ไปพบกับปัญหามากมายนอกจากจะถูกด่าทออย่างรุนแรง อันจะทำให้ กปปส.เสียท่าทีของกลายเป็นพวกรักเจ้าแบบ "แซบเว่อร์" ผ่านการอ้างรัฐธรรมนูญมาตรา 7  ซ้ำแล้วซ้ำเล่าและคุณดิวยังอาจพบกับการดำเนินคดีอาญามาตรา 112 อีกด้วย แต่สำหรับการเหยียบบนตัวอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิแล้วโบกธงนั้นมีแต่นำไปสู่เสียงก่นด่าพอสมควรในโลกโซเชียลมีเดียลก่อนจะเงียบหายไปอย่างรวดเร็วแต่ก็ได้รับความชื่นชอบจากกลุ่มคนที่มีแนวคิดเช่นเดียวกันอย่างล้นหลามอย่างน้อยก็นิตยสารเดอะเนชั่นรายสัปดาห์ซึ่งลงภาพของคุณ  ดิวบนหน้าปกด้วยมุมและแสงเงาที่สวยงาม  ตอกย้ำด้วยข้อสังเกตจากบทความก่อนๆ ของผู้เขียนว่า ภาพยนตร์ไทยเรื่องหนึ่งสามารถผ่านกรรไกรอันแหลมคมของหน่วยเซ็นเซอร์ที่มีโลกทัศน์ฝังอยู่กับยุคแม่พลอยในสี่แผ่นดินได้อย่างฉลุยแม้ว่าจะให้ผู้ก่อการร้ายสามารถวางระเบิดอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิได้ราบเป็นหน้ากองก็ตาม อันสะท้อนให้เห็นว่ารัฐไทยรวมไปถึงคนไทยในยุคปัจจุบันไม่เคยอินังขังขอบกับอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิเลย

อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิจึงเป็นอนุสาวรีย์ที่ไม่มีใครรักเท่าใดนัก

 

 

หมายเหตุผู้เขียน
(1)  ตามความจริงแล้ววีรบุรุษนอกคอกของประวัติศาสตร์ไทยอย่างเช่นจอมพล ป. และนายปรีดี พนมยงค์ได้ถูกรับการเชิดชูและถูกสร้างเป็นอนุสาวรีย์ในพื้นที่ซึ่งคนทั้งคู่มีอิทธิพลในอดีตบนอุดมการณ์ที่เป็นกระแสรองจากกระแสราชาชาตินิยมเหมือนกันแต่ตั้งอยู่บนอุดมการณ์คนละขั้ว อย่างเช่นอนุสาวรีย์ของจอมพล ป.นั้นถูกสร้างตามที่ต่างๆ เช่นลพบุรี ซึ่งเป็นเมืองที่จอมพล ป.ได้ช่วยส่งเสริม ให้ยิ่งใหญ่กลายเป็นเมืองทหาร อนุสาวรีย์จอมพล ป.เป็นตัวแทนของแนวคิดขวานิยมหรือตัวแทนของลัทธิทหารนิยมหรือระบบข้าราชการนิยมที่จอมพล ป.เป็นผู้สถาปนาขึ้นมาแม้ว่าจะปราศจากภาพเงาของสถาบันกษัตริย์เป็นศูนย์กลางก็ตาม   แต่สำหรับอนุสาวรีย์นายปรีดีในธรรมศาสตร์นั้นเป็นตัวแทนของแนวคิดเสรีนิยม ด้วยนักวิชาการทั้งหลายพยายามไม่สถาปนาความศักดิ์สิทธิ์ให้กับนายปรีดี ตามแบบพวกขวาจารีตของไทยแต่มองแบบฝรั่งคือเป็นเพียงสิ่งที่ระลึกถึงคุณงามความดีของนายปรีดีในฐานะผู้สถาปนามหาวิทยาลัยและการอภิวัฒน์เปลี่ยนแปลงการปกครอง ไม่ใช่สิ่งสำหรับกราบไหว้ในฐานะวัตถุศักดิ์สิทธิ์ จึงเหมาะสำหรับสัญลักษณ์ทางอำนาจของกลุ่มนักคิดเสรีนิยมที่ต่อต้านลัทธิราชาชาตินิยม

(2)  แม้ว่าฝรั่งเศสทำให้รัฐสยามเสียดินแดนไปในช่วงรัชกาลที่ 5 แต่ก็พอให้อภัยได้สำหรับคนไทยเพราะเป็นดินแดนแห่งน่าปรารถนาสำหรับคนไทยทุกหมู่เหล่าเช่นเป็นดินแดนแห่งการปฏิวัติและอุดมการณ์ ประชาธิปไตยสำหรับพวกหัวเสรีนิยม  ฝรั่งเศสยังเป็นทำให้พวกนิยมเจ้าหรือนักการทหารชื่นชอบเพราะการเชิดชูพระเจ้านโปเลียนหรือเป็นดินแดนแห่งแฟชั่น น้ำหอมและไวน์เหมาะสำหรับบรรดาไฮโซ

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net