Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ผมคิดว่าเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นในเมืองไทยเวลานี้นั้น ทั้ง 2 ภาคส่วนของอเมริกัน คือ ส่วนของประชาชนคนอเมริกันและส่วนการเมืองของอเมริกันเช่น รัฐบาล คองเกรส ทราบเรื่องเป็นอย่างดีมิหนำซ้ำทั้งสองส่วนของอเมริกันทราบเรื่องราวที่เป็นต้นสายปลายเหตุของความขัดแย้งครั้งสำคัญครั้งนี้เป็นอย่างดีเช่น เพียงแต่จะพูดออกมาดังๆแบบเป็นทางการหรือไม่เท่านั้น

อย่างน้อยการแสดงออกของ สส.อเมริกัน Michael R. Turner หรือสส. "Mike"รีพับลิกัน เขต 10 โอไฮโอ  ที่ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงประธานาธิบดี บารัก  โอบามา ในช่วงก่อนหน้านี้ ก็เป็นเครื่องพิสูจน์ได้ เป็นอย่างดีว่าอเมริกันทั้ง 2 ภาคส่วนคือ ฝ่ายประชาชนกับฝ่ายรัฐบาลอเมริกัน จับจ้องมองดูสถานการณ์ทางการเมืองที่กำลังเกิดขึ้นในเมืองไทยอยู่เช่นกัน

ทั้งแน่นอนว่าสถานทูตอเมริกัน ประจำกรุงเทพ ได้ทำหน้าที่อย่างแข็งขันในหลายส่วน เช่น ในเรื่องการปกป้องความปลอดภัยของพลเมืองอเมริกัน  การหาข้อมูลและข้อเท็จจริงว่าเกิดอะไรขึ้นในเมืองไทย การกำหนดท่าทีความสัมพันธ์กับรัฐบาลไทย การดูแลปกป้องผลประโยชน์ทางธุรกิจของอเมริกัน ในประเทศไทย  ฯลฯ  

หากเป็นพลเมืองอเมริกันและอาศัยอยู่ในเมืองไทย สถานทูตอเมริกันประจำกรุงเทพ ย่อมต้องส่งข่าวสารเตือนผลกระทบจากความขัดแย้งทางการเมืองในไทย  โดยเฉพาะความขัดแย้งถึงขั้นใช้ความรุนแรง จนกระทั่งมีคนบาดเจ็บและเสียชีวิตไปจำนวนหนึ่ง

หลายฝ่ายวิเคราะห์ว่า การกำหนดท่าทีของรัฐบาลอเมริกัน ขึ้นอยู่กับผลประโยชน์ของคนอเมริกัน ซึ่งผมไม่เถียง เหตุการณ์ในอดีตที่ผ่านมาก็แสดงว่าเป็นเช่นนั้น  ไล่ตั้งแต่เมื่อคราวความสัมพันธ์ระหว่างไทย-อเมริกันที่โดดเด่นมากที่สุด คือ เมื่อคราวรัฐบาลเผด็จการสฤษดิ์ ธนะรัชต์  ในยุคสงครามเย็นหรือสงครามอุดมการณ์ระหว่างฝ่ายเสรีนิยมกับฝ่ายสังคมนิยม(คอมมิวนิสต์)

อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบระหว่างยุคสฤษดิ์กับยุคสมัยปัจจุบันสถานการณ์ต่างกันมาก โลกปัจจุบันเป็นโลกของการสื่อสารและข้อมูลข่าวสาร ซึ่งทำให้มีการเปิดหูเปิดตาประชาชนมากกว่ายุคใดๆ ที่ผ่านมา ดังนั้นท่าทีของรัฐบาลอเมริกันจึงไม่เหมือนเดิมนอกเหนือไปจากเหตุการณ์อื่นๆ เช่น เศรษฐกิจ และความมั่นคงในภูมิภาคที่เปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน ดังนั้น ยุทธศาสตร์ของอเมริกันในภูมิภาคจึงเปลี่ยนไป

สมาชิกคองเกรสหลายคนให้ความใจสถานการณ์ในไทย  กรณีของ สส. Turnerไม่ใช่เป็นกรณีเดียว หากแต่สมาชิกของสภาล่างบางคนอย่างเช่น Dana Tyrone Rohrabacher รีพับลิกัน จากเขต 48 แคลิฟอร์เนีย ก็เป็นหนึ่งในจำนวนนั้นด้วย Rohrabacher เคยเดินทางไปเมืองไทยหลายครั้งเขาสนใจปัญหา ชนกลุ่มน้อยตามแนวตะเข็บชายแดนไทย-พม่า มากพอๆ กับนโยบายด้านการทหารของสหรัฐฯ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  รวมถึงสนใจปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในหลายประเทศ

ในสมาชิกของคณะกรรมาธิการด้านการต่างประเทศของสหรัฐฯ มีการหารือถึงพันธะสัญญาของ อเมริกันในการเผยแพร่ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย  สมาชิกของทั้งสภาล่าง (Congress) และสภาบน (Senator) และเห็นด้วยตามผลของรายงานการวิจัยที่ทำโดยนาย Samuel P. Huntington ซึ่งได้นำเสนอไว้ตั้งแต่ปี 1984 แต่ผลนั้นยังใช้ได้จนถึงบัดนี้ว่า รัฐบาลอเมริกันและส่วนงานของรัฐที่เกี่ยวข้องจะต้องส่งเสริมระบอบประชาธิปไตยในประเทศต่างๆ ทั่วโลกเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของสหรัฐฯเอง ส่วนหนึ่งและสหรัฐฯกระทำในนามของสิทธิมนุษยชนส่วนหนึ่ง

เนื่องจากรายงานวิจัยของนาย Huntington ดังกล่าวนั้นเองที่ระบุถึงผลดีของการใช้ระบอบปกครองระบอบประชาธิปไตยอย่างน้อย 3 ประการ คือ

ประการแรก สามารถทำให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของอเมริกันสามารถ เข้าไปพัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศนั้นๆ เพื่อพัฒนาศักยภาพการผลิตและเพิ่มรายได้ให้กับ พลเมืองของประเทศนั้นๆ 

ประการที่สอง คือ เมื่อมีการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจย่อมทำให้เกิดชนชั้นกลาง มากขึ้น ซึ่งกลุ่มชนชั้นดังกล่าวมีส่วนสำคัญในความตั้งมั่นของระบอบประชาธิปไตย และ

ประการที่สาม คือ ผลจากประการที่หนึ่งและประการที่สอง ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใหม่ในเรื่องโครงสร้างของประเทศ โดยรวมที่สำคัญ ได้แก่ เศรษฐกิจ การทหารและพลังการเมือง ซึ่งจะดีกว่าที่เคยเป็นอยู่เดิม และเท่ากับเป็นการยกสถานะ(ระดับ)ของประเทศในประชาคมโลกด้วย

ดังนั้น ระบอบประชาธิปไตยในประเทศต่างๆ จึงเอื้อประโยชน์ต่อสหรัฐฯ และแน่นอนว่ากติกาประชาธิปไตยสากลอาศัยเครื่องมือ คือ การเลือกตั้งเป็นเครื่องมือสำคัญ การเลือกตั้งถือเป็นสัญลักษณ์ของประชาธิปไตยและสัญลักษณ์ของการอยู่ร่วมกันอย่างสันติมากที่สุด

กรณีของประเทศไทย หากย้อนไปเมื่อปี 2006 เมื่อทหารไทยออกมาทำการรัฐประหารโดยมี พล.อ.สนธิ บุญรัตกลิน เป็นหัวหน้าคณะรัฐประหาร หากเป็นไปตามที่ สื่อจอมแฉ “เคเบิล” WikiLeaksได้เปิดเผยถึงรายละเอียดของการรัฐประหารครั้งนั้นซึ่งทางการอเมริกันรับทราบมาตลอด ฝ่ายผู้ทำรัฐประหารของไทย  “มีการหารือ”หรือเป็นในเชิงของการบอกกล่าวกับฝ่ายทางการสหรัฐฯให้รับทราบก่อนจนกระทั่งถึงคราวของผู้ที่ต้องนำเสนอและรวบรวมข้อมูลส่งรัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของอดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐฯประจำประเทศไทย นาย Eric G. John ที่ในเวลานั้นทำหน้าที่เป็นหัวหน้าสถานทูตอเมริกันประจำกรุงเทพ

ไทยเป็นประเทศพันธมิตรของสหรัฐฯ มาอย่างยาวนาน มากพอที่จะให้รัฐบาลอเมริกันรู้ว่า ไทยคงเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่จะดุลอำนาจกับจีนและเป็นศูนย์กลางการประสานงานติดต่อกับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อื่นๆ เช่น พม่า กัมพูชาและลาว  ซึ่งแน่นอนว่าความเป็นไปใดๆก็ตามของเมืองไทยย่อมต้องอยู่ในสายตาของรัฐบาลอเมริกัน หรือแม้กระทั่งสมาชิกครองเกรสบางคน เหมือนที่เมื่อครั้งหนึ่ง สส. Rohrabacher เคยส่งคนของเขาเข้ามาเก็บข้อมูลและทำงานวิจัยในเมืองไทยบางอย่าง

ในเรื่องการมองปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในเมืองไทย ทั้งสื่ออเมริกันและนักการเมืองอเมริกัน เข้าใจจากการศึกษาและดูจากงานวิจัยในมหาวิทยาลัยต่างๆ ในสหรัฐฯ เกี่ยวกับการเมืองไทยและความขัดแย้งที่เกิดขึ้น พวกเขาไม่ได้มองว่า ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในเมืองไทยครั้งนี้ไม่มีเบื้องหน้าเบื้องหลัง ดูเหมือนสื่ออย่าง นิวยอร์คไทมส์ โดยนาย Thomas Fuller จะรายงานออกไปตรงๆว่าเกิดอะไรขึ้น ฝ่ายใดขัดแย้งกับฝ่ายใด ตื้นลึกหนาบางอย่างไร หลังจากที่เขาพำนักอยู่เมืองไทยมาหลายปี และเขาก็เข้าใจความรู้สึก(sense) แบบไทยๆเป็นอย่างดีด้วย การนำเสนอข่าวและ

รายงานของ Fuller มีการนำเสนอข้อมูลทั้งเชิงกว้างและเชิงลึก ชนิดที่แตกต่างจากสื่อไทยกระแสหลัก
เชิงกว้าง เพราะ Fuller ไม่ได้นำเสนอปัญหาของคนกรุงเทพและปัญหาที่เกิดในกรุงเทพเพียงอย่างเดียว หากแต่นำเสนอปัญหาของคนในภูมิภาคด้วย, เชิงลึก เพราะเขานำเสนอว่าอะไรคือ เบื้องหลังหรือที่มาของปัญหาความขัดแย้งในเมืองไทยที่แท้จริง

พร้อมๆกันนั้นในเมืองไทยก็มีการรุมประณามผู้สื่อข่าวต่างประเทศที่รายงานข่าวจากเมืองไทยไปเมืองนอกเป็นการใหญ่ว่า “ไม่มีความรู้เรื่องเมืองไทยดีเท่าคนไทย”  โดยฝ่ายรุมประณามซึ่งเป็นคู่ขัดแย้ง ทางการเมืองกับฝ่ายรัฐบาล มองไปที่ลักษณะของความเป็นต่างด้าวของสื่อฝรั่งเหล่านี้  หนึ่งในเหตุผลที่โจมตีพวกเขาคือ สื่อต่างด้าวไม่รู้ภาษาไทยดีเท่าคนไทย

ในส่วนของภาคประชาชนอเมริกัน คนอเมริกันให้ความสำคัญกับเหตุการณ์ทางการเมืองในเมืองไทยน้อย รวมทั้งสื่ออเมริกันในประเทศเองด้วย คงมีแต่คนไทยในสหรัฐฯที่ตื่นตัวบนความแตกแยกทางความคิดเหมือนที่เกิดขึ้นในเมืองไทย 

แม้รัฐบาลอเมริกันจะยังคงต้องการรักษาผลประโยชน์ของพลเมืองอเมริกันที่เกี่ยวพันกับประเทศไทย แต่ในเรื่องทางด้านเศรษฐกิจซึ่งขึ้นกับผลการประกอบการ(กำไร) ไม่สามารถรอได้ในช่วงที่เกิดความรุนแรงจากความขัดแย้งทางการเมืองธุรกิจอเมริกันจำนวนหนึ่ง โดยเฉพาะธุรกิจที่มีการลงทุนในตลาดเงินและตลาดทุน ก็ได้ถอนการลงทุนออกไปบ้างแล้ว ซึ่งเงินลงทุนดังกล่าวรวมอยู่ในเม็ดเงินที่ถอนออกจากเมืองไทยที่เป็นเงินลงทุนจากทั่วโลกจำนวนกว่า 4 พันล้านดอลลาร์ เม็ดเงินจำนวนนี้จะกลับไปไทยหรือไม่ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ทางการเมืองของไทยว่าเป็นอย่างไร ตลอดถึงแนวโน้มของสถานการณ์  

ธุรกิจอเมริกันอื่นๆ ที่ไปลงทุนภาคการลงทุนจริง (real sector) โดยใช้เมืองไทยเป็นฐานการผลิตสินค้าก็กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะเอาย้ายฐานการลงทุนหรือไม่ ซึ่งหากธุรกิจประเภทนี้ย้ายออกไปจากไทยไทยเองก็เตรียมรับผลกระทบ อย่างเช่น ปัญหาแรงงานและปัญหาต่อเนื่องที่จะตามมาอย่างเลี่ยงไม่ได้

สมาชิกคองเกรสอเมริกันบางคนจึงออกมากระชุ่นให้รัฐบาลโอบามาแสดงจุดยืนเพื่อปกป้องระบอบประชาธิปไตยในไทย ซึ่งก็หมายถึงผลประโยชน์ของอเมริกันในเมืองไทยรวมอยู่ในนั้น. 

 


 
หมายเหตุ: บทความนี้เขียนก่อนหน้าที่จะมีการเลือกตั้งในประเทศไทย คือ วันที่ 2 ก.พ. 2557
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net