Skip to main content
sharethis

นักข่าวสายตะวันออกกลางเขียนบทความเรื่องความล้มเหลวของนโยบาย 'สงครามต่อต้านการก่อการร้าย' (War on Terror) ทำให้กลุ่มติดอาวุธสายสงครามศาสนาในตะวันออกกลางยิ่งเข้มแข็งและมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ขณะที่ชาติตะวันตกพยายาม 'หลอกตัวเอง' และเมินเฉยต่อการสนับสนุนกลุ่มติดอาวุธโดยประเทศพันธมิตรของตน


7 ก.ย. 2557 แพทริก คอร์กเบิร์น นักข่าวชาวไอริชผู้ทำงานในพื้นที่ตะวันออกกลางมาตั้งแต่ปี 2522 ได้เขียนบทความเกี่ยวกับกรณีของการเติบโตขึ้นอีกครั้งของกลุ่มติดอาวุธไอซิส (ISIS) ซึ่งปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งมาจากความล้มเหลวด้านนโยบาย "สงครามต่อต้านการก่อการร้าย" (War on Terror) ของสหรัฐฯ

บทความของคอร์กเบิร์นวิพากษ์วิจารณ์การดำเนินนโยบายของสหรัฐฯ ที่กลายเป็นการเกื้อหนุนไอซิส คือการร่วมมือกับประเทศพันธมิตรอย่างกลุ่มประเทศยุโรปตะวันตก ซาอุดิอาระเบีย และกลุ่มประเทศอ่าวอาหรับ ในการพยายามโค่นล้มประธานาธิบดีบาชาร์ อัลอัสซาด ซึ่งเป็นศัตรูของไอซิสเช่นกัน

คอร์กเบิร์นชี้ว่าถ้าหากอัสซาดถูกโค่นล้ม ผู้ที่ได้ประโยชน์จะเป็นไอซิสเนื่องจากไอซิสเองได้ต่อสู้เอาชนะและหลอมรวมกลุ่มติดอาวุธต่อต้านรัฐบาลกลุ่มอื่นๆ ขณะที่กลุ่มติดอาวุธอื่นที่ต่อต้านรัฐบาลซีเรียซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ, กาตาร์, ตุรกี และซาอุดิอาระเบีย กลับอ่อนแอลงเรื่อยๆ และเป็นไปได้ที่กลุ่มสถาปนารัฐอิสลามจะขยายอาณาเขตมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งสิ่งที่จะหยุดยั้งได้คือกองทัพซีเรีย

ในกรณีที่สื่อและนักวิจารณ์การเมืองในโลกตะวันตกมักจะวิจารณ์ว่าความล้มเหลวในการสกัดกั้นกลุ่มไอซิสมาจากความผิดพลาดของนายกรัฐมนตรี นูรี อัลมาลีกิ ของอิรัก คอร์กเบิร์นโต้แย้งว่าไม่ใช่ความผิดของอัลมาลิกิทั้งหมด แต่นักการเมืองอิรักหลายคนเคยบอกกับเขาว่าการที่ต่างชาติหนุนหลังนิกายซุนนีให้ลุกฮือในซีเรียอาจส่งผลให้อิรักถูกทำลายเสถียรภาพไปด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในตอนนี้ โดยไอซิสได้อาศัยทรัพยากรจากการยึดครองพื้นที่ในซีเรียเพื่อทำให้ตัวเองแข็งแกร่งขึ้น


การใช้ชื่อเหมารวมกลุ่มอัลเคดา

ข้อผิดพลาดอีกอย่างหนึ่งของชาติตะวันตกตามที่คอร์กเบิร์นระบุไว้ในบทความคือ การที่หน่วยงานความมั่นคงของประเทศตะวันตกมักจะเหมารวมกลุ่มติดอาวุธเพื่อทำสงครามศาสนาเป็นกลุ่มที่ถูกชักใยโดยตรงจากกลุ่มอัลเคดาไปเสียหมด ซึ่งช่วยสร้างภาพให้พวกเขาดูเหมือนประสบความสำเร็จในนโยบายสงครามต่อต้านการก่อการร้ายแทนที่จะเป็นการรับประกันบนพื้นฐานความจริง

ในความเป็นจริงแล้วกลุ่มไอซิสเป็นกลุ่มที่แม้แต่ผู้นำของกลุ่มอัลเคดาอย่างไอมาน อัลซาวาฮิรี วิพากษ์วิจารณ์ว่าใช้ความรุนแรงเกินเหตุและแบ่งแยกนิกายมากเกินไป

คอร์กเบิร์นยังได้ชี้ให้เห็นปัญหาจากการส่งอาวุธเข้าไปช่วยเหลือกลุ่มติดอาวุธในสงครามกลางเมืองซีเรีย ที่ถึงแม้ว่าสหรัฐฯ และซาอุฯ จะส่งอาวุธให้กับกลุ่มกบฏสายกลางอย่างกองพลน้อยยามุก แต่กลุ่มติดอาวุธนี้ก็แบ่งอาวุธให้กับอัลนุสราซึ่งเป็นกลุ่มติดอาวุธที่เกี่ยวข้องกับอัลเคดา ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ของอิรักก็กล่าวว่ามีการสนับสนุนด้านอาวุธแก่กลุ่มไอซิสจากประเทศที่ต่อต้านกลุ่มอัลเคดา

ดูเหมือนว่ากลุ่มอัลเคดามักจะถูกนำมาอ้างถึงว่าเป็นศัตรูอย่าง 'ยืดหยุ่น' ในหลายสถานการณ์มาก ตั้งแต่การเป็นกลุ่มต่อต้านสหรัฐฯ และอังกฤษในอิรักช่วงปี 2546-2547 อัลเคดาถูกอ้างว่าได้ก่อเหตุจำนวนมาก แต่ในความเป็นจริงแล้วผู้ก่อเหตุส่วนใหญ่มาจากกลุ่มชาตินิยมอิรักและพรรคบาธ ซึ่งการอ้างเช่นนี้ทำไปเพื่อให้ได้คะแนนเสียงในช่วงก่อนการบุกโจมตีอิรัก แต่การกล่าวอ้างนี้กลับให้ประโยชน์ต่ออัลเคดาในแง่ที่พวกเขาสามารถอ้างตัวเป็นผู้ต่อต้านสหรัฐฯ และอังกฤษที่มีประสิทธิภาพ แต่ในความคิดของคอร์กเบิร์นความเชื่อดังกล่าวนี้ก็เป็นเรื่อง "หลอกตัวเอง"

รัฐบาลตะวันตกยังนำเสนอภาพลักษณ์ในทางตรงกันข้ามช่วงที่มีสงครามโค่นล้มผู้นำลิเบียในปี 2554 ซึ่งกลุ่มกบฏติดอาวุธที่ได้รับการสนับสนุนจากนาโต้ไม่ได้ถูกนำเสนอในแง่ของความเกี่ยวข้องกับกลุ่มอัลเคดามากเท่าที่ควร การไม่สนใจเรื่องนี้ทำให้เกิดโศกนาฏกรรมในเดือน ก.ย. 2555 ตามมาคือเหตุการณ์ที่กลุ่มติดอาวุธบุกสังหารเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำลิเบีย คริส สตีเวนส์ ซึ่งเป็นฝีมือเดียวกับกลุ่มติดอาวุธที่ตะวันตกให้การสนับสนุน


อัลเคดาในจินตนาการ

คอร์กเบิร์นระบุอีกว่าจริงๆ แล้วอัลเคดาดูเป็น "แนวความคิด" มากกว่าจะเป็นองค์กร แม้ว่าอัลเคดาจะมีจะสร้างกองทัพและทรัพยากรขึ้นมาได้ในอัฟกานิสถานช่วงหลังปี 2539 แต่กองกำลังที่ว่านี้ก็ถูกกำจัดในช่วงหลังกองกำลังตอลิบานถูกปราบปรามในปี 2544 หลังจากนั้นคำว่า 'อัลเคดา' จึงกลายเป็นคำในเชิง "เรียกรวมตัว" ของผู้มีความเชื่อในรัฐอิสลามที่มีการบังคับใช้กฎหมายตามหลักศาสนา การกดขี่ผู้หญิง และทำสงครามศาสนากับมุสลิมนิกายอื่น อีกทั้งยังมีการฝังแนวคิดแบบสละชีพตนเองในเชิงเป็นการแสดงความศรัทธาทางศาสนาจนเกิดคนที่ไม่ได้รับการฝึกฝนทางทหารแต่เป็นพวกระเบิดพลีชีพเกิดขึ้น

แต่ทางการสหรัฐฯ กลับมองว่าอัลเคดาเป็นองค์กรที่มีโครงสร้างแบบกองทัพขนาดย่อมหรือมีลักษณะคล้ายกับมาเฟียในอเมริกา ทำให้พวกเขาคิดว่าจะกำจัดได้ด้วยการสังหารหรือกักขัง ซึ่งในความเป็นจริงแล้วโอซามา บิน ลาเดน สามารถรวบรวมกลุ่มติดอาวุธได้จากแนวคิดและการแสดงให้เห็นจากเหตุการณ์ 9/11 มากกว่า รวมถึงการใช้สงครามในอิรัก การที่ทางการสหรัฐฯ ทำให้เป็นตัวร้าย ยิ่งทำให้แนวคิดของอัลเคดาเป็นที่รู้จักมากขึ้น และในตอนนี้กลุ่มติดอาวุธแนวสงครามศาสนาก็มีหลายกลุ่มโดยที่แนวคิดไม่ต่างกันนักแม้ว่าจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับกลุ่มอัลเคดาโดยตรงก็ตาม

"ไม่แปลกใจเลยว่ารัฐบาล (ชาติตะวันตก) ชอบมองภาพของอัลเคดาตามจินตนาการมากกว่า เพราะมันทำให้พวกเขาอ้างชัยชนะได้เมื่อได้สังหารสมาชิกกลุ่มหรือพันธมิตรที่เป็นที่รู้จักดี ซึ่งส่วนมากที่ถูกกำจัดมักจะเป็นพวกที่มีตำแหน่งไม่สูงมากเช่นหัวหน้าหน่วยปฏิบัติการ เพื่อทำให้ดูเหมือนว่ากลุ่มก่อการร้ายเกิดความสูญเสียอย่างใหญ่หลวง" คอร์กเบิร์นระบุในบทความ


การละเลยบทบาทของซาอุฯ และปากีสถาน

บทความระบุอีกว่าอีกเรื่องหนึ่งที่ชาติตะวันตกทำพลาดคือการละเลยเรื่องบทบาทของซาอุดิอาระเบียและปากีสถาน คอร์กเบิร์นระบุว่าบิน ลาเดน เป็นผู้ที่มาจากกลุ่มชนชั้นสูงของซาอุฯ และในรายงานของซีไอเอเกี่ยวกับเหตุการณ์ 9/11 ก็ระบุว่ากลุ่มอัลเคดาได้รับเงินสนับสนุนจากกลุ่มประเทศอ่าวอาหรับโดยเฉพาะซาอุฯ แต่ก็ดูเหมือนว่าอดีตประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ไม่ได้เห็นว่าทางการซาอุฯ มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ เลย และการพยายามสืบสวนของนักข่าวในเรื่องของซาอุฯ ก็ถูกปฏิเสธหรือถูกจำกัดข้อมูล นอกจากนี้ยังมีการตัดรายงานความเกี่ยวข้องระหว่างผู้โจมตี 9/11 กับทางการซาอุฯ อีก 28 หน้า

เว็บไซต์วิกิลีกส์ยังเคยเผยแพร่เรื่องที่ฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐฯ กล่าวแสดงความไม่พอใจเรื่องที่ซาอุดิอาระเบียเป็นแหล่งให้เงินสนับสนุนกลุ่มก่อการร้ายนิกายซุนนีทั่วโลก แต่ดูเหมือนชาติตะวันตกก็ยังคงเมินเฉยในเรื่องเกี่ยวกับซาอุฯ แม้ว่าทางการซาอุฯ จะเผยแพร่สื่อความเกลียดชังนิกายชีอะฮ์โดยบอกว่าเป็น "พวกนอกศาสนา" ที่ต้องสังหาร

คอร์กเบิร์นเปิดเผยในบทความอีกว่าหน่วยงานข่าวกรองทางการทหารได้จัดตั้งหน่วยไอเอสไอที่มีส่วนเกื้อหนุนกลุ่มตอลิบาน และหลังจากตอลิบานสลายกลุ่มไปในปี 2544 หน่วยงานนี้ก็สลายตัวไปด้วยโดยที่ทางการสหรัฐฯ ไม่ได้เผชิญหน้ากับทางการปากีสถานในเรื่องนี้จนทำให้กลุ่มนักรบตอลิบานฟื้นตัวขึ้นมาอีกครั้งในปี 2546

"'สงครามต่อต้านการก่อการร้าย' ล้มเหลวเพราะพวกเขาไม่ได้ตั้งเป้ากลุ่มขบวนการสงครามศาสนาทั้งหมด และที่สำคัญกว่านั้นคือไม่ตั้งเป้ากับซาอุดิอาระเบียและปากีสถาน" คอร์กเบิร์นระบุในบทความ

เหตุที่สหรัฐฯ ไม่ตั้งเป้ากับสองประเทศนี้ คอร์กเบิร์นเชื่อว่าเป็นเพราะสหรัฐฯ มองพวกเขาเป็นพันธมิตรและไม่ต้องการล่วงล้ำ โดยที่ซาอุฯ ถือเป็นแหล่งตลาดค้าอาวุธสำคัญของอเมริกันซึ่งผู้ค้าอาวุธมีอิทธิพลกับสถาบันทางการเมืองของสหรัฐฯ ทางด้านปากีสถานก็มีพลังงานนิวเคลียร์และมีกองทัพที่มีสายสัมพันธ์กับเพนตากอน

สิ่งที่สหรัฐฯ และอังกฤษกระทำแล้วไม่เป็นผลอีกอย่างหนึ่งคือการเพิ่มงบประมาณด้านข่าวกรองหลังเหตุการณ์ 9/11 ซึ่งได้มีการพยายามสร้างรัฐตำรวจขึ้นหลังจากสงครามอัฟกานิสถานและอิรักโดยพยายามจับกุมและทารุณกรรมผู้คนโดยไม่มีการไต่สวนคดี รวมถึงมีการใช้วิธีการจารกรรมในประเทศตนโดยอ้างว่าพลเรือนควรเสียสละเพื่อความมั่นคง ซึ่งแทนที่จะทำให้กลุ่มก่อการร้ายอ่อนแอลงกลับทำให้ขบวนการที่พวกเขาต่อต้านยิ่งเข้มแข็งขึ้นจากที่เป็นองค์กรเล็กๆ ในช่วงเหตุ 9/11 ในตอนนี้กลุ่มที่มีลักษณะคล้ายอัลเคดามีกำลังพลเพิ่มมากขึ้นและมีอำนาจมาก


เรียบเรียงจาก

Why Washington’s War on Terror Failed, Foreign Policy in Focus, 26-08-2014
http://fpif.org/washingtons-war-terror-failed/

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net