Skip to main content
sharethis

คณะกรรมการนิติศาสตร์สากล (ไอซีเจ) องค์กรฮิวแมนไรท์วอชท์ และแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ชี้คำสั่งศาลไทยต่อกรณีนายฮาซัน อูเซ็ง ซึ่งถูกปฏิเสธสิทธิเยียวยา โดยระบุว่ารธน.  2550 ถูกยกเลิกไปแล้ว ทำให้เกิดการตั้งคำถามเกี่ยวกับการคุ้มครองประชาชนจากการทรมาน

เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2557ที่ผานมา คณะกรรมการนิติศาสตร์สากล (ไอซีเจ) องค์กรฮิวแมนไรท์วอชท์ และแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าว ได้แถลงร่วมกันโดยเรียกร้องว่ารัฐบาลไทยควรปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนในการให้การเยียวยาและชดเชยแก่เหยื่อที่ถูกกระทำทรมานหรือได้รับการปฏิบัติที่โหดร้าย

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2557 ศาลจังหวัดปัตตานีซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่เหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้ของไทย ได้มีคำสั่งในคดีนายฮาซัน อูเซ็ง เหยื่อที่อ้างว่าถูกกระทำทรมานหรือได้รับการปฏิบัติที่โหดร้าย โดยศาลมีคำสั่งว่าเขาไม่มีสิทธิได้รับการเยียวยาและชดเชย เนื่องจากเป็นคำร้องตามมาตรา 32 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ซึ่งถูกยกเลิกตามประกาศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หลังจากการทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ที่ผ่านมา

พี่สาวของนายฮาซัน อูเซ็ง เป็นผู้ยื่นคำร้องดังกล่าวไว้ต่อศาลเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2557 ซึ่งเป็นเวลาก่อนที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 จะถูกยกเลิกโดยคณะรัฐประหาร โดยในคำร้องมีการกล่าวหาว่าเมื่อวันที่ 13 เมษายน 2557 เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารจำนวนหนึ่งได้ควบคุมตัวนายฮาซัน อูเซ็ง และเข้าค้นบ้านพักของเขาในจังหวัดนราธิวาส ต่อมาจึงนำตัวเขาไปที่ค่ายอิงคยุทธบริหารในจังหวัดปัตตานี โดยคำร้องกล่าวอ้างว่านายฮาซันถูกเจ้าหน้าที่ทหารเตะและสั่งให้เขาวิดพื้นหลายร้อยครั้ง รวมทั้งยังสั่งให้กระโดดตบบนพื้นคอนกรีตร้อนด้วยเท้าเปล่า

“คำสั่งของศาลดังกล่าวไม่สอดคล้องกับพันธกรณีของประเทศไทยที่จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศในการห้ามมิให้มีการทรมานหรือการปฏิบัติที่โหดร้าย และต้องให้การเยียวยาและชดเชยแก่เหยื่ออย่างมีประสิทธิภาพและเพียงพอ” นายเอียน เซย์เดอร์แมน ผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมายและนโยบายแห่งคณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากลกล่าว “ผลจากการมีคำสั่งของศาลครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงการปฏิบัติของประเทศไทยที่ขัดต่อพันธกรณีทางกฎหมายระหว่างประเทศที่ต้องรับรองให้เหยื่อการทรมานหรือการปฏิบัติที่โหดร้ายเข้าถึงการเยียวยาที่มีประสิทธิภาพได้ทุกที่และทุกเวลา แม้แต่ภายใต้การบังคับใช้กฎอัยการศึกก็ตาม”

ในวันที่ 31 กรกฎาคม 2557 ไอซีเจได้ส่งเอกสาร “หนังสือเพื่อนศาล” ต่อศาลจังหวัดปัตตานี (ดูจากลิงค์ด้านล่าง) โดยโต้แย้งว่าการยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 2550 ไม่ส่งผลใดๆ ต่อพันธกรณีของรัฐบาลไทยในการที่จะชดเชยและเยียวยาให้แก่เหยื่อที่ถูกกระทำทรมานหรือได้รับปฏิบัติที่โหดร้ายภายใต้กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ซึ่งรวมถึงกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) และอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี (CAT) ซึ่งประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีอนุสัญญาทั้งสองฉบับด้วย

ในการอ่านคำสั่งคำร้อง ผู้พิพากษามิได้มีการกล่าวถึงพันธกรณีทางกฎหมายระหว่างประเทศของไทยเลย

ทั้งยังไม่มีการอ้างถึงมาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งบัญญัติรับรองความผูกพันตามพันธกรณีสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่ไทยมีอยู่แล้ว อันรวมถึงพันธกรณีตาม ICCPR และ CAT ด้วย ทั้งนี้ คำสั่งของศาลดังกล่าวมีกำหนดพิมพ์เป็นเอกสารในวันที่ 13 ตุลาคม 2557 นี้

มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม (MAC) ซึ่งเป็นตัวแทนพี่สาวนายฮาซัน อูเซ็ง แจ้งว่าเธอจะยื่นอุทธรณ์คำสั่งของศาลต่อศาลอุทธรณ์ต่อไป ทั้งนี้ มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมได้ก่อตั้งขึ้นโดยกลุ่มของทนายความมุสลิมตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2550 เพื่อให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายแก่ประชาชนในสี่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยที่ด้อยโอกาสโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ
“คำสั่งในคดีของนายฮาซัน อูเซ็ง ตอกย้ำถึงความเสียหายด้านการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยซึ่งเป็นผลมาจากการทำรัฐประหาร และข้อเท็จจริงที่ว่าขณะนี้เป็นไปไม่ได้ที่จะดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงสำหรับการกระทำของเขาเหล่านั้น” นายแบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชีย องค์กรฮิวแมนไรท์วอชท์ กล่าว “ในขณะที่คดีนี้เป็นเพียงการกล่าวถึงคดีของบุคคลเพียงคนเดียวเท่านั้น แต่ผลจากคำสั่งของศาลถือเป็นการปฏิเสธการมีผลบังคับใช้ของกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศในประเทศไทย ทั้งยังเป็นนัยยะว่าประเทศไทยไม่ให้การคุ้มครองทางกฎหมายแก่ประชาชนจากการทรมาน”

นอกจากนี้ คำสั่งของศาลจังหวัดปัตตานียังไม่สอดคล้องกับคำมั่นของรัฐบาลไทยที่เน้นย้ำมาตลอดว่าจะเคารพและปฏิบัติตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมานในประเทศไทย โดยล่าสุดรัฐบาลไทยได้แถลงไว้ต่อคณะกรรมการต่อต้านการทรมานแห่งสหประชาชาติ ณ กรุงเจนีวา เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2557

คณะกรรมการต่อต้านการทรมานได้มีข้อสรุปเชิงสังเกตต่อประเทศไทย โดยเรียกร้องให้ประเทศไทยกำหนดมาตรการต่างๆ ที่มีประสิทธิภาพทั้งในทางกฎหมายและในทางปฏิบัติเพื่อให้แน่ใจว่าผู้ถูกควบคุมตัวจะได้รับการคุ้มครองพื้นทางกฎหมายตั้งแต่เริ่มต้นที่มีการควบคุมตัว รวมถึงการจัดให้มีมาตรการเยียวยาทางศาลและทางอื่นๆ ให้แก่ผู้ถูกควบคุมตัวและบุคคลซึ่งอยู่ในความเสี่ยงที่จะถูกกระทำทรมานและได้รับการปฏิบัติที่โหดร้าย โดยมีช่องทางให้พวกเขาสามารถยื่นข้อร้องเรียนหรือข้อกล่าวหาว่าถูกกระทำทรมานหรือได้รับการปฏิบัติที่โหดร้ายได้โดยทันทีและได้รับการตรวจสอบที่เป็นธรรม เพื่อปกป้องคุ้มครองสิทธิและเพื่อโต้แย้งความชอบด้วยกฎหมายของการควบคุมตัวหรือการปฏิบัติที่โหดร้ายต่อตนเองได้

“พันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทยยังคงมีอยู่ รวมถึงการห้ามมิให้มีการทรมานซึ่งต้องมีการบังคับใช้ตลอดเวลา โดยไม่คำนึงถึงสภาพทางการเมืองหรือการบังคับใช้กฎอัยการศึก” นายริชาร์ด เบนเนตต์ ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าว “นอกจากนี้แล้วประเทศไทยยังต้องปฏิบัติตามพันธกรณีเหล่านี้โดยการยกเลิกการจำกัดการใช้สิทธิอื่นๆ อย่างกว้างขวางที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่มีการรัฐประหาร ซึ่งรวมถึงการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบด้วย”

ลิงค์สำเนา “หนังสือเพื่อนศาล” ของไอซีเจ
ภาษาอังกฤษ
ภาษาไทย
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net