Skip to main content
sharethis

ไทยได้รับเลือกจัดประชุมเวทีระดับโลกเรื่องความหลากหลายทางเพศ ปี 2016 โชว์จุดเด่นสังคมที่มีความอดทนอดกลั้นต่อคนเพศต่างๆ


ประเทศไทย โดยสมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย และมูลนิธิเพื่อเครือข่ายฟ้าสีม่วงร่วมกับกรรมการสมาคมอิลก้าเอเชีย ร่วมรับธงเพื่อเป็นสัญลักษณ์ในการส่งต่อประเทศเจ้าภาพการจัดงานประชุมระดับโลกอิลก้าจากเม็กซิโก สู่ไทย ในปี 2016
 

6 พ.ย.2557 ก้าวหน้า เสาวกุล ประธานร่วมสมาคมอิลก้าเอเชีย และกรรมการระดับโลกอิลก้า ให้สัมภาษณ์ว่า เมื่อวันที่ 1 พ.ย. ที่ผ่านมา ที่ประชุม ILGA World Conference 2014 ที่ประเทศเม็กซิโก ได้เลือกประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ILGA World Conference 2016 จากผู้เสนอตัวสามประเทศ ได้แก่ ไทย บอตสวานา และคิวบา

ก้าวหน้า กล่าวว่า สมาคมอิลก้า หรือสมาคมหญิงรักหญิง ชายรักชาย คนรักสองเพศ คนข้ามเพศ และคนสองเพศ เป็นสมาคมที่มีสมาชิกกว่า 1,100 กลุ่ม จาก 80 ประเทศทั่วโลก ซึ่งจะมีการจัดเวทีระดับโลกทุกๆ สองปี โดยการประชุมนี้จัดมาแล้ว 27 ครั้งทั่วโลก แต่ไม่ได้จัดในเอเชียมากว่า 10 ปีแล้ว ทั้งนี้ สมาคมอิลก้าเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่ให้ความเห็นต่อประเด็นความหลากหลายทางเพศที่สำคัญองค์กรหนึ่งของโลก รวมถึงยังทำงานร่วมกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UNHRC) ในประเด็นดังกล่าวด้วย

สำหรับการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพของไทยครั้งนี้ เสนอโดย สมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย และมูลนิธิเพื่อเครือข่ายฟ้าสีม่วง ภายใต้การสนับสนุนจากเครือข่ายความหลากหลายทางเพศ โดยในการคัดเลือกนั้น ประเทศที่เสนอตัวจะส่งตัวแทนนำเสนอทีมละ 10 นาที ก่อนจะเปิดให้มีการโหวต สำหรับประเทศไทย นพ.แท้จริง ศิริพานิช กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เป็นผู้ไปนำเสนอ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการทำงานร่วมกันระหว่างภาคประชาสังคมกับองค์กรสิทธิของรัฐ

ก้าวหน้า ระบุว่า ประเด็นที่นำเสนอคือการที่ประเทศไทยเป็นเหมือนเมืองหลวงของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยถือเป็นประเทศที่มีความอดทนอดกลั้นต่อเพศที่สามค่อนข้างมาก แม้ว่ายังมีความลักลั่นด้านกฎหมายและสิทธิมนุษยชนก็ตาม โดยไทยจะเป็นพื้นที่ที่มีความปลอดภัยในเอเชีย ให้ผู้เข้าร่วมจากประเทศอื่นๆ ที่อาจจะไม่มีความปลอดภัยในประเทศ ได้ใช้พื้นที่ในไทยเพื่อรวมตัวเรียกร้องสิทธิได้

ก้าวหน้า เล่าว่า ในการลงคะแนนนั้น มีผู้กังวลเรื่องวิกฤตการณ์ทางการเมืองในไทย แต่ก็ได้ชี้แจงว่า รัฐประหารกับการเมืองไทยนั้นกลายเป็นของคู่กันไปแล้ว และแม้ว่ารัฐไทยจะปิดกั้นเรื่องเสรีภาพในการแสดงออก แต่ก็ดูเหมือนจะไปเปิดพื้นที่เรื่องเพศทดแทน อย่างไรก็ดี ที่สุดแล้วประเทศไทยก็ได้รับการโหวตให้เป็นเจ้าภาพ ด้วยคะแนน 179 เสียงจากผู้โหวตกว่า 300 เสียง

ก้าวหน้า กล่าวว่า ในการประชุมที่จะเกิดขึ้นนี้ จะมีผลลัพธ์คือ การได้เชื่อมโยงและถ่ายทอดแลกเปลี่ยนองค์ความรู้เรื่องสิทธิทางเพศในระดับนานาชาติ ทั้งผู้เข้าร่วมจากทั่วโลกที่จะได้ฟังเสียงจากเอเชียมากขึ้น และผู้เข้าร่วมจากจังหวัดต่างๆ ของไทยก็จะได้โอกาสในการแลกเปลี่ยนระดับนานาชาตินี้ด้วย

เมื่อถามถึงกรณีคลิปที่มีการระบุว่าเป็นคู่ทอมดี้กอดจูบกันบนรถไฟฟ้าบีทีเอส และถูกวิจารณ์ในวงกว้างช่วง 1-2 วันมานี้ เขามองว่า การกอดกันในที่สาธารณะเป็นอัตวิสัย ขึ้นอยู่กับแต่ละคนว่าจะรู้สึกอย่างไร ขณะที่กฎหมายได้คุ้มครองเรื่องหมิ่นประมาทไว้ ส่วนเรื่องอนาจารนั้นก็สามารถแจ้งความจับได้ แต่กรณีนี้ก็จะเห็นว่าไม่มีหลักฐาน พร้อมย้ำว่า การโอบกอดเป็นอัตวิสัย แล้วแต่จะมองว่าละเมิดจารีตประเพณีหรือไม่ แต่สังคมนั้นต้องใช้กฎหมายเป็นหลัก

ก้าวหน้า กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ กรณีนี้ยังเป็นเรื่องทับซ้อนระหว่างเรื่องจารีตประเพณีและเรื่องความเป็นเพศที่สามด้วย โดยดูเหมือนว่าพอเป็นเพศที่สามแล้วจะถูกเรียกร้องให้ทำตามกรอบ หรือต้องเป็น "คนดี" มากกว่าคนอื่นด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net