Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมืองได้นำเสนอหลักการใหม่ที่จะให้มีการปฏิรูปการเมืองของประเทศไทย โดยเสนอให้มีการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีทางตรง หรือ คาบิเนตลิสต์(Cabinet List) โดยนายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.)ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง อธิบายเหตุผลว่า เพราะกรรมาธิการฯเสียงข้างมากพิจารณาแล้วเห็นปัญหาจากการเมืองรูปแบบเดิม คือระบบรัฐสภาที่ให้ประชาชนเลือก ส.ส. แล้วให้ ส.ส.เลือกนายกฯนั้น หาก ส.ส.มีความสุจริตเที่ยงธรรม ก็จะมีส่วนทำให้ได้นายกฯที่ดี แต่หากว่าได้ ส.ส.ที่มาจากการซื้อสิทธิขายเสียง จะมีปัญหาตามมาว่านายกฯต้องมาดูแลและคอยอุปถัมภ์ ส.ส.ที่ยอมจ่ายเงินจำนวนมากเพื่อซื้อเสียงเข้ามา และหากรัฐบาลมีเสียงข้างมากแบบเด็ดขาดก็จะเข้าครอบงำทั้งฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ ทำให้การตรวจสอบอ่อนแอ ระบบการตรวจสอบโดยการอภิปรายไม่ไว้วางใจไม่เป็นผล เพราะอภิปรายเมื่อใดก็แพ้ทุกครั้ง ทำให้ฝ่ายบริหารยิ่งเหิมเกริมในการทุจริตคอร์รับชัน

นายสมบัติกล่าวต่อไปว่า ที่ประชุมเสียงส่วนใหญ่จึงเห็นว่าแนวคิดในการให้ประชาชนเลือกคณะรัฐมนตรีโดยตรงน่าจะแก้ไขปัญหาได้ เพราะคณะรัฐมนตรีไม่ต้องไปพึ่งพา ส.ส.หรือยืมมือทำให้ได้เป็นรัฐบาลอีกต่อไป และยังทำให้ประชาชนได้รู้ว่าคนที่จะมาเป็นนายกฯและรัฐมนตรี มีประวัติมีผลงานน่าเชื่อถือเพียงใด รู้ก่อนตั้งแต่ยังไม่เลือกเข้ามาทำงาน ถ้าไม่พอใจก็ไม่ต้องเลือก หากปล่อยให้นายกฯมาเลือกคณะรัฐมนตรีภายหลัง บางครั้งอาจไปเลือกนายทุน ผู้มีอิทธิพล เจ้าของบ่อน เข้ามาเป็นรัฐมนตรีเพื่อเป็นการตอบแทนกันก็ได้ ดังนั้นการที่ประชาชนได้รู้ประวัติและนโยบายคณะรัฐมนตรี จะเป็นประโยชน์กับประชาชน

ข้อเสนออื่นที่ตามมาด้วย คือ การล้มเลิก ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และให้ ส.ส.มาจากเลือกตั้งทั้งหมด 350 คน แบ่งเขตไม่เกิน 3 คน เพราะเขตใหญ่จะลดอิทธิพลเจ้าพ่อท้องถิ่นและลดความเป็นไปได้ในการซื้อเสียง นอกจากนี้จะคงให้มีวุฒิสภามาจากเลือกตั้ง 77 คน และจัดตั้งจากกลุ่มอาชีพหรือองค์กรที่จัดตั้งตามกฎหมายอาทิ แพทย์สภา สภาทนายความ เป็นต้น อีก 77 คน รวมเป็น 154 คน

แต่กระนั้น ในคณะกรรมาธิการก็ยังมีเสียงข้างน้อยที่ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอ เช่น นายประสาร มฤคพิทักษ์ โฆษกกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง อธิบายว่า การเลือกนายกรัฐมนตรีโดยตรง เป็นการเพิ่มอำนาจนายกรัฐมนตรีมากเกินไปเหมือนเสือติดปีก การตรวจสอบยาก เพราะการมีอัยการอิสระนั้นยังคงมีกระบวนการอีกมากมาย เมื่อขึ้นถึงศาลและใช้เวลานาน รวมถึงการเลือกคณะรัฐมนตรีโดยตรงเป็นวิธีที่ใช้ทุนสูงและไม่แก้ปัญหาการซื้อสิทธิ์ขายเสียง ไม่แก้ปัญหาการอุปถัมภ์ เสียงจากประชาชนจะกลายเป็นอาญาสิทธิ์ในการให้นักการเมืองอยู่ในตำแหน่งถึง 4 ปี

ความจริงแล้ว ข้อเสนอเรื่องการปฏิรูปการเมืองโดยให้ประชาชนเลือกนายกรัฐมนตรีทางตรงในสังคมไทยไม่ใช่เรื่องใหม่ อย่างน้อยที่สุดตั้งแต่ พ.ศ.2523 ครป. หรือ คณะทำงานรณรงค์เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย ที่นำโดย พ.อ.สมคิด ศรีสังคม และ พงศ์เพ็ญ ศกุนตาภัย ก็เคยเสนอว่า การให้ประชาชนเลือกนายกรัฐมนตรีโดยตรง จะช่วยป้องกันการรัฐประหารได้ เพราะนายกรัฐมนตรีจะมีความชอบธรรมและมีประชาชนสนับสนุน อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอลักษณะนี้จะถูกคัดค้านเสมอมาจากฝ่ายอนุรักษ์นิยม ที่จะโจมตีว่า เป็น”ระบอบประธานาธิบดี” ซึ่งขัดพระราชอำนาจ ทั้งที่การเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีเป็นการเลือกฝ่ายบริหาร ไม่เกี่ยวกับองค์พระประมุขแต่อย่างใด ข้อเสนอของคณะกรรมการปฏิรูปการเมืองเรื่องการเลือกนายกรัฐมนตรีโดยตรงจากประชาชน จึงต้องถือว่าเป็นวิธีการที่ก้าวหน้า และเป็นการขยายสิทธิประชาธิปไตยให้กับประชาชน น่าที่ฝ่ายประชาชนจะต้องสนับสนุน เพียงแต่ว่า ข้อเสนอนี้มาจากองค์กรที่ขาดความชอบธรรม ภายใต้จินตภาพทางการเมืองที่ผิด และคาดการณ์ได้ว่า ข้อเสนอนี้ไม่น่าจะบรรลุความเป็นจริงได้

ที่อธิบายว่า องค์กรขาดความชอบธรรมเพราะสภาปฏิรูปทั้งชุด ตั้งมาจากคณะรัฐประหารที่ล้มล้างอำนาจประชาชน และยังเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญฉบับ คสช.(คณะรักษาความสงบแห่งชาติ)ที่เขียนเอาเองตามอำเภอใจ หน้าที่หลักของสภาชุดนี้คือการสร้างความชอบธรรมให้มีการเลื่อนการเลือกตั้งไปตามความพอใจของฝ่ายชนชั้นนำอนุรักษ์นิยม การเสนอข้อเสนออันน่าสนใจก็เป็นส่วนหนึ่งของการทำให้สภาชุดนี้ดูมีความชอบธรรมที่จะกินเงินเดือนของประชาชนสูง ๆ ได้อยู่ต่อไป

แต่ปัญหาสำคัญของข้อเสนอในครั้งนี้ อยู่ที่จินตภาพทางการเมืองผิด เพราะเสนอขึ้นมาภายใต้คำอธิบายที่ว่า ระบบการเมืองแบบเดิมเต็มไปด้วยการทุจริต ประชาชนเลือก ส.ส.เพราะอิทธิพลและการซื้อสิทธิ์ขายเสียง ส.ส.ที่ได้มาจึงไม่มีความสุจริตเที่ยงธรรม และนำมาซึ่งรัฐบาลที่ทุจริต รัฐมนตรีที่เลือกมาก็เป็น “นายทุน ผู้มีอิทธิพล เจ้าของบ่อน” ดังนั้น จึงต้องใช้การเลือกคณะรัฐมนตรีโดยตรงจากประชาชนมาแก้ปัญหาเหล่านี้ แต่คำอธิบายทั้งหมดนี้เป็นมายาคติ เพราะไม่เคยมีรัฐบาลชุดใดในอดีตเลยที่เป็นไปตามภาพแบบนี้ ยิ่งกว่านั้น ผลจากการที่มีการเลือกตั้งอย่างสม่ำเสมอตั้งแต่หลัง พ.ศ.2522 ทำให้ประชาชนเลือก ส.ส.เป็นระบบพรรคมากขึ้น ตั้งแต่ พ.ศ.2544 เป็นต้นมา ส.ส.ที่มาแบบ“ซื้อสิทธิ์ขายเสียง”แทบจะไม่มีเหลือ เพราะประชาชนส่วนมากเลือกพรรคมากกว่าบุคคล

ปัญหาในระบบเลือกตั้งแบบเดิมมีเพียงแต่ว่า พรรคที่ประชาชนเลือกมาเป็นรัฐบาล คือ “พรรค พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร(ไม่ว่าจะชื่อพรรคอะไร)” เป็นพรรคที่ไม่ต้องใจกลุ่มชนชั้นนำอนุรักษ์นิยม ชนชั้นนำไทยจึงละเมิดกติกาของตนเองโดยสนับสนุนให้กองทัพก่อการรัฐประหารโค่นอำนาจรัฐบาลเลือกตั้ง คือ รัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ.2549 ซึ่งล้มล้างรัฐธรรมนูญเดิม และสร้างรัฐธรรมนูญใหม่ฉบับ พ.ศ.2550 ที่มอบอำนาจสูงสุดให้กับฝ่ายตุลาการ สร้างการตรวจสอบควบคุมฝ่ายบริหารอย่างไร้เหตุผล โดยหวังที่จะล้มล้างและฆ่าตัดตอนพรรคการเมืองฝ่ายทักษิณ แต่สิ่งที่คณะรัฐประหารและฝ่ายตุลาการล้มเหลวในระยะ 8 ปีที่ผ่านมา ก็คือ ความล้มเหลวในการเปลี่ยนใจประชาชน ดังนั้น การเลือกตั้งที่มีขึ้นครั้งใด พรรคการเมืองฝ่ายทักษิณจึงชนะการเลือกตั้งเข้ามาทุกครั้ง โดยเฉพาะการเลือกตั้ง เมื่อ พ.ศ.2544 ที่นำ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มาสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

แต่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ก็ยังคงไม่เป็นที่พอใจของฝ่ายชนชั้นนำ ทั้งที่การบริหารประเทศก็เป็นไปโดยเรียบร้อย ไม่มีข่าวหรือกรณีทุจริตเหตุการณ์ใด และภาพลักษณ์ระหว่างประเทศของนายกรัฐมนตรีไทยก็สูงเด่นมาก ในที่สุด ชนชั้นนำอนุรักษ์นิยมก็อ้างเหตุความผิดพลาดของพรรคเพื่อไทย ที่เสนอกฎหมายนิรโทษกรรมเหมาเข่งเมื่อปลาย พ.ศ.2556 มาสร้างกระแสประชาชนในการต่อต้านรัฐบาล เพื่อเปิดทางให้ฝ่ายทหารก่อการยึดอำนาจ จนในที่สุด ฝ่ายกองทัพบกที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ก่อการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ.2557 แล้วล้มรัฐธรรมนูญ สถาปนาระบอบเผด็จการ ที่ปิดกั้นความคิดของประชาชน และตั้งสภาเถื่อน เช่น สภานิติบัญญัติแห่งชาติ และ สภาปฏิรูปแห่งชาติ มาทำหน้าที่รองรับทิศทางการเมืองตามอำเภอใจของฝ่ายชนชั้นนำ ดังที่เป็นอยู่ในขณะนี้

ดังนั้น จึงขอวิเคราะห์ล่วงหน้าเลยว่า ข้อเสนอเรื่องการเลือกนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีโดยตรง จะไปไม่รอด ในสังคมไทยที่ชนชั้นนำมีความคิดอนุรักษ์นิยมจัดเช่นนี้ และยังเป็นเพราะข้อเสนอนี้ไม่สอดคล้องกับแนวคิดการสร้างประชาธิปไตยแบบลดอำนาจประชาชนที่เป็นทิศทางที่ดำเนินอยู่

 

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน โลกวันนี้วันสุข ฉบับที่ 494วันที่ 13 ธันวาคม 2557

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net