Skip to main content
sharethis

เครือข่ายพลเมืองเน็ตตั้งข้อสังเกตต่อโครงสร้างอำนาจ-หน้าที่ใหม่ของหน่วยงานไอซีที หลังวานนี้ ครม.ผ่านหลักการร่าง พ.ร.บ.หลายฉบับที่เกี่ยวข้อง พร้อมชวนคุยต่อในเฟซบุ๊กกลุ่ม

7 ม.ค. 2558 เครือข่ายพลเมืองเน็ตทำแผนผังสรุปโครงสร้างใหม่ของหน่วยงานด้านไอซีทีที่จะมีการเปลี่ยนแปลงและที่กำลังจะเกิดขึ้น หลังจาก ครม.มีมติเห็นชอบหลักการร่าง พ.ร.บ. และร่าง พ.ร.ฎ. รวม 8 ฉบับ วานนี้ และมีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ. 2 ฉบับ เกี่ยวกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 2557

เครือข่ายพลเมืองเน็ตชี้ว่า ร่างกฎหมายทั้ง 10 ฉบับ ซึ่งจะมีการตั้งหน่วยงานใหม่ 12 หน่วยงาน จะเปลี่ยนโฉมโครงสร้างการกำหนดและกำกับนโยบายไอซีทีไทย แต่ก็ยังมีข้อเป็นห่วงเรื่องอำนาจหน้าที่และความรับผิดของหน่วยงานใหม่ รวมถึงการคุ้มครองสิทธิด้านข้อมูลข่าวสารของประชาชน พร้อมระบุข้อสังเกตเบื้องต้น 4 ข้อ ได้แก่

  1. หน่วยงานจำนวนมากที่จะจัดตั้งใหม่ ถูกกำหนดให้จัดตั้งเป็น “หน่วยงานของรัฐมีฐานะเป็นนิติบุคคล และไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ” (เป็นที่คาดว่ารายได้ของหน่วยงานจะไม่ต้องนำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน)
  2. การปราบปรามอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ และ การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล จะถูกดูแลโดยหน่วยงานเดียวกัน คือ สำนักงานคณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ ทำให้มีคำถามถึงการตรวจสอบคานอำนาจเพื่อป้องกันเจ้าหน้าที่ใช้อำนาจโดยมิชอบหรือตามอำเภอใจ ว่าจะทำได้มีประสิทธิภาพเพียงใดถ้าหน่วยงานดูแลเป็นหน่วยงานเดียวกัน
  3. ยังไม่มีความชัดเจนว่าคณะกรรมการกสทช.และสำนักงานกสทช.จะมีอิสระจากรัฐบาลเพียงใดในการกำกับกิจการ (ดูความเห็นส่วนตัวของ สุภิญญา กลางณรงค์ หนึ่งในกรรมการ กสทช.)
  4. การเสนอร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้ง 8 ฉบับ (เป็นการเสนอแก้ไขกฎหมายเดิม 4 ฉบับ และเสนอกฎหมายใหม่ 4 ฉบับ) ต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันที่ 6 ม.ค. 2558 ไม่ได้อยู่ในวาระปกติ

ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจสามารถร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนในประเด็นนี้ได้ที่กลุ่มเฟซบุ๊กเครือข่ายพลเมืองเน็ต
 


คลิกเพื่อดูภาพขนาดเต็ม
 

นโยบายดิจิทัลภาพรวม

  • กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและ สังคม (ปรับปรุงโครงสร้างจากกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเดิม แบ่งส่วนราชการเป็น 5 ส่วน ประกอบด้วย สำนักงานรัฐมนตรี สำนักงานปลัดกระทรวง สำนักงานเศรษฐกิจดิจิทัล กรมอุตุนิยมวิทยา และสำนักงานสถิติแห่งชาติ โดยสำนักงานเศรษฐกิจดิจิทัลจะทำหน้าที่เป็นหน่วยงานเลขานุการของคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ)
  • คณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (ตั้งใหม่ มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน)
  • คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) (ปรับลดอำนาจหน้าที่จาก กสทช.เดิม รวมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) และคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) เข้าด้วยกันเหลือคณะเดียว และกำหนดให้การดำเนินงานต้องสอดคล้องกับที่คณะรัฐมนตรีได้แถลงต่อรัฐสภาและสอดคล้องกับนโยบายจากคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ)

ด้านธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์

ด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์

  • คณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (ตั้งใหม่)
  • คณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (ตั้งใหม่)
  • สำนักงานคณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (ตั้งใหม่ เป็นหน่วยงานของรัฐมีฐานะเป็นนิติบุคคล และไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ โดยโอนจากส่วนงานที่เกี่ยวข้องที่เดิมอยู่กับ สพธอ. และจะเป็นหน่วยงานกลางที่ดูแลทั้งพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับ คอมพิวเตอร์และ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล)

ด้านเศรษฐกิจดิจิทัล

  • คณะกรรมการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลแห่งชาติ (ตั้งใหม่)
  • สำนักงานเศรษฐกิจดิจิทัลแห่งชาติ (ตั้งใหม่ เป็นหน่วยงานของรัฐมีฐานะเป็นนิติบุคคล และไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ โดยโอนจากสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) และเพิ่มเติมงานส่วนอื่น — หมายเหตุ: การแบ่งส่วนราชการของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จะมีส่วนราชการหนึ่งชื่อคล้ายกันคือ “สำนักงานเศรษฐกิจดิจิทัล”)

ด้านเศรษฐกิจและสังคม

 

ที่มา:
เปิดผัง 12 หน่วยงานใหม่ “ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม” ของขวัญปีใหม่จากรัฐบาลประยุทธ์
https://thainetizen.org/2015/01/new-thailand-digital-economy-organizations-structure-2015/#commentary

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net