Skip to main content
sharethis

ถอดคำบรรยายฉบับเต็ม งานเสวนาทำความเข้าใจปรากฏการณ์ Charlie Hebdo ในประเทศฝรั่งเศส พิจิตรา ชี้  Hate speech มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ขึ้นอยู่กับการรับรู้ของสังคม และสิ่งที่ท้าทายคือเราอยู่ในโลกที่เชื่อกันคนละแบบ

 

 

หมายเหตุ : เมื่อวันที่ 22 ม.ค. 2558 ที่ห้อง ร.102  ชั้น 1 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ได้มีการจัดงานเสวนาวิชาการ “ทำความเข้าใจปรากฎการณ์ Charlie Hebdo ในประเทศฝรั่งเศส” โดยคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งมีวิทยากรทั้งหมด 3 คน ประกอบด้วย ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาตร์ พิจิตรา ศุภสวัสดิ์กุล อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และจันจิรา สมบัติพูนศิริ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดำเนินรายการโดย จิติภัทร พูนขำ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ภายในงานมีผู้สนใจเข้าร่วมการเสวนา ราว 150 คน

ประชาไทถอดความคำบรรยายฉบับเต็มของวิทยากรแต่ละคน รวมทั้งช่วงตอบคำถาม แบ่งเป็น 4 ตอน โดยในตอนนี้เป็นคำบรรยายของ พิจิตรา ศุภสวัสดิ์กุล

 

พิจิตรา ศุภสวัสดิ์กุล : ปัญหาว่าด้วยเรื่อง ความพร่าเลือนของเส้นแบ่ง และการแยกแยะ Hate speech ของสังคม

ความพร่าเลือนของเส้นแบ่ง Freedom of expression กับ Hate speech และความไม่ธรรมดาของภาพการ์ตูน

ประเด็นในเรื่องของเสรีภาพในการแสดงออก กับ hate speech ได้มีการถกเถียงกันมานาน งานวิจัยที่เราเคยทำก็ได้เข้าไปศึกษาในเรื่องนี้ด้วย แน่นอนว่าเรื่อง Hate speech ถือเป็นกฏเหล็กของคนทำงานสื่อพอสมควร เพราะเรามอง สื่อมีอิทธิพลค่อนข้างมาก และสามารถสร้างบรรทัดฐาน เหมารวม และสร้างอคติไปถึงกลุ่มบุคคลต่างๆ ได้ด้วย แม้เราจะไม่เคยรู้จักกลุ่มบุคคลเหล่านนั้นมาก่อน  แต่อาจจะเป็นเพราะสื่อที่เข้ามามีส่วนที่สร้างบรรยากาศของความเกลียดชัง และตอกย้ำมากขึ้นเรื่อยๆ เราสามารถพัฒนา Hate speech ให้ไปถึงขั้น Hate crime ได้ หรือเราอาจจะสามารถใช้ความรุนแรงกับบุคคลแปลกหน้าได้ แม้เราจะไม่รู้จักเขาเป็นการส่วนตัว เพียงแต่เพราะถูกจัดเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มนั้น เราก็อาจจะมีความเกลียดชังต่อเขาไปแล้ว

จากที่ทำการศึกษาเราพบว่า หลายครั้งสื่อพยายามจะอ้างว่าตัวเองมีเสรีภาพในการสื่อสาร เราสามารถที่จะแสดงออกอะไรก็ได้ ซึ่งเป็นพื้นฐานของสังคมในระบอบประชาธิปไตย แต่ท้ายที่สุดแล้วถ้าการแสดงออกนั้นกลายเป็น Hate speech ก็จะเท่ากับว่าสื่ออ้างประชาธิปไตย หรือเสรีภาพในการแสดงออก เพื่อทำลายประชาธิปไตย จากที่เราทำการรวบรวมข้อมูลเฉพาะประเทศไทยพบว่า ในสื่อสิ่งพิมพ์จะมีภาพการ์ตูนที่โดดเด่นออกมาคือ ภาพการ์ตูนล้อการเมือง ซึ่งดูแล้วเหมือนจะเป็นอะไรที่เบา แต่ก็ไม่เบา แม้จะไม่ใช่ภาพตัดต่อทางคอมพิวเตอร์ แต่มันมีความลุมลึกทางวัฒนธรรมอยู่ เพียงภาพเดียวมันสามารถสะท้อนทัศนคติ และอคติอยู่ในนั้น ซึ่งเป็นทัศนคติที่เหมารวม

สิ่งที่เราค้นพบคือ ภาพการ์ตูนมีพลังค่อนข้างมาก เมื่อแทบกับภาพตัดต่อ หรือคำพูด ข้อถกเถียงที่ตามมาในเรื่องของ Hate speech คือ โดยตัวมันเองมันเป็นอะไรที่ขึ้นอยู่กับบริบทของสังคมด้วย เป็นไปตามบริบทของสังคม เปลี่ยนไปตามบริบทของสังคม และกาลเวลา สมัยก่อนเราพูดถึง “เจ๊ก” คำนี้อาจจะเป็น Hate speech ในช่วงนั้น แต่ในสมัยนี้เด็กรุนใหม่อาจจะไม่ได้รู้สึกอะไร เพราะมันเปลี่ยนไปตามสภาพสังคม ประวัติศาสตร์ และบริบท นอกจากเรายังพบว่า แต่ละสังคมจะการสถาปนาความศักดิ์สิทธิ์ ในกลุ่มของตัวเอง หรือในสังคมตัวเองที่แตกต่างกับสังคมอื่น นอกจากสถาปนาความศักดิ์สิทธิ์ที่แตกต่างกัน ขณะเดียวกันแต่ละสังคมก็จะมีสิ่งที่ห้าม สิ่งที่ล่วงละเมิดไม่ได้ เป็นข้อห้ามต่างๆ ซึ่งก็แตกต่างกันเช่นกัน

สิ่งที่ทำให้ Hate speech ทำงานได้ดีมาก หมายถึงมีประสิทธิภาพในการสร้างความเกลียดชังคือ การใช้ Hate speech โดยที่มีความรักอยู่ในนั้นด้วย และสิ่งที่เราเจอคือ ความเกลียดชังจะพัฒนาเป็นอารมณ์ที่รุนแรงมาก เมื่อมีใครก็ตามมาทำอะไรกับคนที่เราบูชา หรือคนที่เรารัก ซึ่งเป็นสัญญะของกลุ่ม หรือสัญญะความเป็นพวกพ้อง อย่างตอนที่เราทำวิจัยก็ได้มีการศึกษาสื่อของทั้งฝั่งเสื้อเหลือง และฝั่งเสื้อแดง จะเห็นว่าถ้ามีการด่าทอ เสียดสี พอๆ กัน แต่ถ้าเป็นการเสียดที่มีเป้าหมายเป็น ระบบ ระบอบก็จะไม่สร้างความโกรธเท่ากับ การเสียดสีที่ตัวบุคคลที่เขารู้สึกรัก

Hate speech ที่เราพบเจอ ไม่ได้หมายความว่า มีการใช้เพียงครั้งเดียวแล้วสามารถกระตุ้นทำให้เกิดอาชญากรรมได้ แต่ว่าต้องมีการสะสม มีการล้อเลียนเสียดสีไปเรื่อยๆ จนกระทั้งถึงระดับที่มีการสร้างทัศนคติที่มีการแบ่งแยกพวกเขาพวกเรา เมื่อถึงจุดหนึ่งเมื่อเกิดเหตุการณ์น้ำผึงหยดเดียว ซึ่งมักเกิดขึ้นง่ายท่ามการสถานการณ์ที่เราได้รับข้อมูลข่าวสารไม่ครบ และมีความหวาดกลัวและความหวาดระแวงเกิดขึ้น เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่เป็นความรุนแรง แม้จะเป็นเหตุการณ์เล็กๆ มันสามารถที่จะกระตุ้นคนในสังคมให้ออกมาปะทะกันได้

Market place of idea ที่มีมารยาทเข้ามากำกับ

กลับมาในเรื่องของเส้นแบ่งระหว่างเสรีภาพในการแสดงออกกับ Hate speech เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับแต่ละสังคมว่าจะมีมุมมองต่อมันอย่างไร ถ้ามองว่าสังคมมีเสรีภาพฉะนั้นทุกคนสามารถแสดงออกได้ แล้วเมื่อแสดงออกมันจะเกิดพื้นที่ ซึ่งเรียกว่าเป็นตลาดของความคิดเห็น และกลไกตลาดทางความคิดมันจะคัดกรองเองว่า อุดมการณ์หรือความคิดใดควรจะดำรงอยู่ในสังคมตัวเอง นี่ก็เป็นแนวคิดแบบ Market place of idea ซึ่งเชื่อว่าทุกคนมีเสรีภาพในการแสดงออก และถ้าใครมีการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นที่แย่ๆ ความคิดเห็นเหล่านี้มันจะหายไปเองเพราะมันมีความคิดเห็นอื่นๆ เข้ามาแย้ง ซึ่งแนวคิดลักษณะนี้เด่นชัดมากที่ประเทศสหรัฐอเมริกา แต่จริงๆแล้วแม้ว่าอเมริกาจะเชิดชูเสรีภาพในการแสดงออก และ Market place of idea ขนาดไหน แต่ในองค์กรย่อยๆ เช่น สถาบันการศึกษาเองก็จะมีการควบคุม ไม่ให้ใครก็ได้สามารถพูดอะไรก็ได้ อาทิ ห้ามเหยียดสีผิว ห้ามเหยียดเพศ แม้ว่าจะมีเสรีภาพมากขนาดไหน แต่ก็มีสิ่งที่เรียกว่ามารยาทเข้ามากำกับ


Charlie hebdo ในฐานะบทเรียนที่สำคัญ และความท้าทายในโลกที่โยงใยถึงกัน

สำหรับกรณีของ Charlie hebdo เป็นซึ่งนิตยสารซึ่งมีที่มาจากนิตยสาร Hara-kiri ซึ่งเป็นนิตยสารที่ค่อนข้างสุดขั้ว มีภาพล้อเลียนในลักษณะของการเหยียดเพศ และก็ถูกรัฐบาลสั่งห้ามพิมพ์จนในที่สุดก็เปลี่ยนมาเป็น Charlie hebdo สิ่งที่เรากำลังเผชิญหลังจากกรณีบุกยิงสำนักพิมพ์ Charlie hebdo คือข้อถกเถียงที่ตามมาจากนักวิชาการหลายๆ คน ซึ่งกล่าวว่า คุณค่า หรือวัฒนธรรมของชาวฝรั่งเศส ซึ่งเชื่อในเสรีภาพในการสื่อสาร และนิตยสารฉบับนี้ก็มีจุดยืนลักษณะนี้ และไม่ได้เสียดสีเฉพาะ ศาสนาอิสลาม แต่เสียดสีทุกศาสนา

ถามว่า Charlie hebdo ถูกดำเนินคดีหรือไม่ ก็เคยแต่ท้ายที่สุด ศาลก็ตัดสินบนคุณค่าแบบฝรั่งเศสคือ ให้คุณค่ากับเสรีภาพในการสื่อสาร และการที่เขาสื่อสารก็เป็นคุณค่าส่วนหนึ่งของสังคมฝรั่งเศสด้วย ทั้งนี้ศาลก็ไม่ได้ตัดสินโดยเหมารวมทั้งหมด แต่ดูหน้าปกเป็นรูปๆ ไป และคำตัดสินของศาลคือ ศาลไม่ได้มองว่าภาพที่มีผู้ฟ้องร้องเป็นภาพที่ดูหมิ่นศาสนาอิสลาม แต่เป็นการต่อต้านผู้ก่อการร้าย กระนั้นก็ตามแม้การสื่อสารจะไม่ได้พุ่งเป้าไปที่ศาสนา แต่การสื่อสารมีภาพที่ไปกระทบกับศาสนาคือ มีภาพของศาสดามูฮัมหมัด

ถึงที่สุดกรณีนี้ของ Charlie hebdo เป็นจุดเล็กๆ จุดหนึ่งที่กลายกระจายตัวไปทั่วโลก และตอนนี้ความรุนแรงก็ยังดำเนินอยู่ ทำให้ผู้คนมาฆ่าบนฐานความเชื่อที่ต่างกัน และความเชื่อที่ต่างกันก็มีมุมมองที่ต่างกัน คุณค่าของสังคมก็ต่างกัน เพราะฉะนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นมันเกิดขึ้นในสังคมที่มีวิธีคิดอีกแบบหนึ่ง และในสังคมมุสลิมก็มีวิธีคิดอีกแบบหนึ่ง สิ่งที่มุสลิมบอกคือ สื่อย่อมมีเสรีภาพในการแสดงออก แต่บอกรู้สึกว่ามีความเป็น 2 มาตรฐานในการแสดงออกของสื่อด้วย เขามองว่าสื่อสร้างทัศนคติที่แย่ๆ กับคนมุสลิม  ขณะเดียวกันในฝั่งรัฐเองก็เริ่มหันมาควบคุมสื่อมากขึ้นเช่นใน ออสเตเรียก็มีการห้ามเผยแพร่ภาพบางภาพ ซึ่งมีลักษณะต่อต่านคนยิว นี่คือภาพสะท้อนของโลกเสรีที่รัฐเริ่มมีการดูแล และระมัดระวังมากขึ้น

สิ่งที่เราเจออยู่ในตอนนี้คือ สมดุลระหว่างโลกหนึ่งที่เชื่อในเสรีภาพในการแสดงออก และอีกโลกหนึ่งที่เชื่อคุณค่าของเขา และยิ่งตอนนี้เราอยู่ในสังคมออนไลน์ที่ทุกอย่างเชื่อมโยงถึงกันหมด นี่คือความท้าทายที่เรากำลังเผชิญ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net