Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

บทความนี้เกิดจากการที่ผู้เขียนได้อ่านข่าวเกี่ยวกับการแสดงแสงสีเสียงในจังหวัดลพบุรีเกี่ยวกับตำนานของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชที่รับบทโดยพลตำรวจโทอำนวย นิ่มมะโนเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาแล้วทำให้นึกสงสัยว่าอย่างกษัตริย์ไทยเช่นสมเด็จพระนารายณ์ซึ่งได้รับการยกย่องจากทั้งคนในท้องถิ่นและระดับประเทศตามความเชื่อที่อิงอยู่บนประวัติศาสตร์แบบกระแสหลักว่าพระองค์มีส่วนสำคัญในการดำรงไว้ซึ่งเอกราชของ "ประเทศไทย"  เหตุใดจึงไม่มีวัฒนธรรมแบบประชานิยม (Pop culture) มาตอบรับตัวตนของพระองค์ได้อย่างน่าพอใจเหมือนกับพระมหากษัตริย์ไทยพระองค์อื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาพยนตร์ 

ผู้เขียนจะลองสรุปสาเหตุสำคัญนั้นก็คือ  "ลัทธิราชาชาตินิยมที่ผสมกลมกลืนกับอุดมการณ์อื่นๆ เช่นลัทธิกองทัพนิยม( Praetorianism)  " ที่ถูกตอกย้ำและครอบงำสังคมไทยมานานหลายทศวรรษนั้นเอง


ปัญหาเกี่ยวกับตัวตนของพระนารายณ์

ผู้เขียนคิดว่าคนทั่วไปที่อยู่นอกวงการประวัติศาสตร์นั้นมีการรับรู้ตัวตนของพระนารายณ์โดยเฉพาะผ่านวิชาสังคมศึกษาซึ่งก็ถูกลัทธิราชาชาตินิยมเข้าครอบงำอย่างแนบเนียน  ดังจะพิจารณาผ่านหนังสือประวัติศาสตร์ของชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ที่กระทรวงศึกษาอนุญาตให้ใช้เป็นสื่อในการเรียนรู้ในสถานศึกษา  ฉบับ 2551  หน้าที่ 97-98     พระนารายณ์ถูกเสนอภาพในฐานะเป็นกษัตริย์นักการทูต “ผู้ชาญฉลาด สุขุม” ที่สามารถดุลอำนาจกับต่างชาติได้อย่างละมุนละม่อมเช่นให้ฝรั่งเศสเข้ามาคานอำนาจกับฮอลันดา อันส่งผลให้ประเทศไทย (ซึ่งตามความจริงกว่าจะมีตัวตนก็ปาไปสมัยรัชกาลที่ 5) เป็นเอกราชสืบมา  หนังสือยังอ้างว่าแม้พระนารายณ์จะทรงให้บาทหลวงฝรั่งเศสมาเผยแพร่ศาสนาคริสต์ในอยุธยาได้อย่างเสรี แต่พระองค์ได้ทรงโปรดให้มีการศึกษาและการแต่งวรรณคดีไทยเป็นจำนวนมากเพื่อให้ชาวอยุธยาอ่านอย่างแพร่หลายอันเป็นการป้องกันไม่ให้เข้ารีต

แต่ในปัจจุบันก็มีคนจำนวนไม่น้อยยึดถือตามหนังสือของนักประวัติศาสตร์ยุคร่วมสมัยดังเช่น ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์คือ “การเมืองไทยสมัยพระนารายณ์” ซึ่งได้นำเสนอแง่มุมของพระองค์ที่อยู่นอกรอยประวัติศาสตร์กระแสหลักดังที่ได้กล่าวมาซึ่งสามารถสรุปตามสำนวนของดุลยภาพได้ว่า  

พระนารายณ์ทรงมีฐานกำลังและน้ำพระทัยที่โน้มเอียงมาทางขุนนางต่างชาติและประชาคมคริสตจักร-มุสลิม จนทำให้เกิดความไม่พอใจในหมู่พระสงฆ์ ขุนนางและไพร่ฟ้าสยามสายอนุรักษ์นิยม ประกอบกับกิจการด้านนโยบายต่างประเทศในรัชกาลของพระองค์มักถูกกลบทับด้วยวาทกรรมการขายชาติให้กับมหาอำนาจฝรั่ง 
(ดุลยภาค 'พระนารายณ์' มหาราชปลายขอบในโลกภาพยนตร์ไทย ในเว็บ ประชาไท)  

สำหรับข้อมูล 2  แหล่งที่นำเสนอภาพของพระนารายณ์แบบขาวกับดำเช่นนี้ คนไทยจำนวนมากซึ่งไม่ได้อยู่ในแวดวงประวัติศาสตร์และไม่ได้อ่านหนังสือของนิธิก็คงจะเชื่อหนังสือที่แต่งโดยกระทรวงศึกษาธิการเสียมากกว่าแถมพกด้วยการถูกปลูกฝังผ่านวัฒนธรรมแบบประชานิยม ( เช่นภาพยนตร์ ละคร การ์ตูน ฯลฯ ) ที่อิงอยู่กับกระแสราชาชาตินิยมซึ่งความศักดิ์สิทธิ์กินพื้นที่ไปถึงพ่อขุนรามคำแหงดังเช่นผู้เขียนในสมัยก่อนเป็นต้น ดังนั้นตัวตนด้านบวกของพระนารายณ์จึงน่าจะเป็นประวัติศาสตร์กระแสหลักหรือเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปเช่นเดียวกับสมเด็จพระนเรศวรมหาราช หรือพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ฯลฯ  และไม่น่าจะมีผลในด้านลบมากนักหากจะหยิบยกชีวิตของพระองค์มาทำเป็นภาพยนตร์โดยอิงอยู่กับความเชื่อที่รัฐยึดถือหรือส่งเสริมเหมือนสมเด็จพระนเรศวรแม้ว่าจะถูกโจมตีจากฝ่ายเสรีนิยมถึงความถูกต้องทางประวัติศาสตร์อยู่บ้าง  

นอกจากนี้ไม่เป็นที่น่าสงสัยว่าตลอดเวลาที่ผ่านมาคนสร้างภาพยนตร์ของไทยโดยส่วนใหญ่นั้นมักปฏิบัติตามกฎเหล็กของลัทธิราชาชาตินิยมเป็นอย่างดี เพราะต้องคำนึงว่าภาพยนตร์ของเขาจะต้องไม่ถูกรัฐสั่งห้ามออกฉายหรือถูกเซ็นเซอร์จนเสียภาพยนตร์เพราะไปนำเสนอภาพของกษัตริย์ไม่ว่าในยุคไหนก็ตาม หรือดังกรณีพระนารายณ์ในด้านลบ (ดังที่เสนอในงานของนิธิ) นอกจากนี้ผู้สร้างต้องคำนึงถึงรายได้ของภาพยนตร์มากกว่าเพียงชื่อเสียงหรือรางวัลที่ได้จากภายในหรือภายนอกประเทศ  เพราะภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์โดยเฉพาะกษัตริย์นั้นต้องใช้งบประมาณในการสร้างอย่างมาก อันแตกต่างจากภาพยนตร์อิสระหรืออินดี้

กระนั้นก็ยังทำให้เกิดปัญหาตามมาอีกว่าเหตุใดพระนารายณ์จึงไม่สามารถเป็นวีรบุรุษในตำนานที่อยู่ตรงแกนกลางของลัทธิราชาชาตินิยมเสียที 


 ศัตรูที่ดีมักเป็นพม่า

ผู้เขียนขอใช้คำตอบดังที่ได้กล่าวมาข้างต้นคือลัทธิราชาชาตินิยม นั้นมุ่งสร้างบารมีของกษัตริย์ในอดีตผ่านสงครามขนาดยิ่งใหญ่เต็มไปด้วยการต่อสู้ ซึ่งจะเป็นการตอกย้ำความรู้สึกที่แตกต่างกันระหว่าง "เรา" กับ "เขา" With Us or against  Us   ได้อย่างทรงพลัง และที่สำคัญ "เขา" นั้นต้องเป็นศัตรูที่โหดเหี้ยม ไร้มนุษยธรรมซึ่งศัตรูนั้นจะเป็นใครไปไม่ได้นอกจาก "พม่า" ที่ตั้งอยู่บนลัทธิชาตินิยมของไทยซึ่งเหยียดเชื้อชาติโดยมีเพื่อนบ้านเป็นผู้ร้าย  ภาพยนตร์ประเภทนี้ยังดูเหมือนจะแสดงภาพบวกให้กับเจ้าเมืองน้อยใหญ่ที่เข้ากับฝ่ายอยุธยาและภาพลบให้กับเจ้าเมืองที่เข้ากับฝ่ายพม่าหรือว่าทำตัวเป็นกลาง ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดอันเป็นการเอากรอบของการเป็นรัฐชาติในปัจจุบันมายัดเหยียดให้กับคนดู เช่นเดียวกับการบังคับให้ภาพยนตร์ต้องเน้นฉากการทำสงครามระหว่างคน 2 ชาติเป็นกิจกรรมหลักและกิจกรรมอื่นๆ ไม่ว่าการค้าขาย การทูต  วิถีชีวิตต่างๆ ของชาวบ้านเป็นเพียงกิจกรรมรองที่ตอบรับสงคราม

สาเหตุที่รัฐไทยยังคงหมกมุ่นอยู่กับการทำสงครามกับเพื่อนบ้านคือพม่าไม่ว่าจะภายใต้ชื่อกรุงอังวะหรือกรุงหงสาวดีก็เพราะหลายทศวรรษมาแล้วที่ไทยได้ใช้วัฒนธรรมแบบประชานิยมสารพัดวิธีโดยเฉพาะภาพยนตร์เพื่อต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ในช่วงสงครามเย็นเช่นเดียวกับความพยายามของรัฐบาลทหารผสมราชการนิยมในการเอาชนะฝ่ายเสรีนิยมประชาธิปไตยโดยการสถาปนาลัทธิชาตินิยมที่อิงกับสถาบันพระมหากษัตริย์ แม้ว่าศัตรูจะเป็นคอมมิวนิสต์ แต่รัฐน่าจะเห็นว่าฉากแห่งความหายนะอันมีประสิทธิภาพต่อจิตวิทยาของคนไทยมากกว่าการขู่ว่าจะถูกคอมมิวนิสต์จับไปไถนาแทนควาย หรือสึกพระไปฆ่า ก็คือการถูกพม่าเผากรุงศรีอยุธยา การฆ่าฟันคนไทย การฉุดคร่าคนไทยไปทารุณกรรมหรือการกวาดต้อนเป็นเชลยของพม่าโดยมีฉากหลังเป็นบ้านเมืองที่ราบเป็นหน้ากลองนอกจากนี้คนไทยยังรู้จักการสิ้นชาติเช่นนี้มาตั้งแต่ละครและเพลงปลุกใจของหลวงวิจิตรวาทการในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม วาทกรรมเช่นนี้สะท้อนถึงความสามารถอย่างยิ่งยวดของรัฐไทยในการสวมภาพของเหตุการณ์หนึ่งมาเพื่อทำให้คนเข้าใจในอีกเหตุการณ์หนึ่งซึ่งเกิดขึ้นห่างกันหลายร้อยปีและการแยกไม่ออกระหว่างอาณาจักรและประเทศ (ซึ่งหนังสือเรียนที่ผู้เขียนยกมาก็จงใจจะเป็นเช่นนั้น)

ผู้เขียนคิดว่าสาเหตุที่ทำให้ไทยสามารถผลิตซ้ำวาทกรรม “ความเป็นศัตรู” กับพม่ามาหลายทศวรรษได้โดยไม่เกรงว่าจะกระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศนั้นนักอาจเพราะพม่าปิดประเทศตั้งแต่ปี 1962 และแม้จะยึดถือลัทธิสังคมนิยมแต่ก็ไม่ได้เป็นภัยคุกคามกับไทยอันแตกต่างจากทางเวียดนาม ลาวหรือกัมพูชา นัยไม่รวมมหาอำนาจเช่นจีนหรือสหภาพโซเวียต การสร้างภาพยนตร์ด้านลบเกี่ยวกับประเทศเหล่านั้นที่หากบ่อยเกินไปย่อมอาจก่อให้เกิดผลกระทบทางการเมืองยิ่งขึ้นไปอีก การผลิตซ้ำเช่นนี้ก็ยังคงมีแรงเฉื่อยจนมาถึงปัจจุบันแม้ว่าไทยจะผ่านสงครามเย็นมาได้ร่วม 2 ทศวรรษและมีการเปลี่ยนแปลงอยู่บ้างเช่นอิทธิพลจากการเป็นหนึ่งเดียวของประชาคมอาเซียนจะทำให้ละครเรื่องบางระจันเวอร์ชั่นปี 2015 พูดคำว่า “อังวะ” แทนพม่าแต่คนดูก็รู้อยู่ว่าเป็นพม่าอยู่นั้นเอง


ความเป็นไทยของพระนารายณ์และสมเด็จพระนเรศวร

นอกจากพระนารายณ์จะไม่มีพม่าเป็นศัตรูหลักแล้ว ในทางกลับกันรัชสมัยของพระองค์เป็นยุคแห่งความหลากหลายของเชื้อชาติทั้งหลาย ประกอบด้วยบุคลิกภาพของพระองค์ซึ่งถูกนำเสนอว่ามีความเป็นชายและความเป็นนักรบน้อยกว่าพระนเรศวร จึงทำให้พระองค์ดูเป็นกษัตริย์หัวเสรีนิยมที่ยอมรับความหลากหลายของชาติต่างๆ  อันมีลักษณะของความเป็นเมืองนานาชาติหรือ Cosmopolitan และมีการติดต่อสังสรรค์กับคนเหล่านั้นในลักษณะที่ค่อนข้างใกล้ชิดและเสมอกัน

สิ่งนี้อยู่ตรงกันข้ามกับตัวตนของพระนเรศวรที่ดื่มด่ำอยู่กับความเป็นไทยแท้ แม้ว่าหากได้พิจารณาภาพยนตร์ตำนานสมเด็จพระนเรศวรแล้วจะพบว่ามีชาวต่างชาติหลายชาติอาศัยอยู่ในอยุธยาและทหารต่างชาติมารับใช้หลายคน (ในภาพยนตร์ตำนานสมเด็จพระนเรศวรถือได้นำเสนอสิ่งใหม่ๆ เพราะผู้ชมหากไม่สนใจประวัติศาสตร์แล้วย่อมไม่คาดคิดว่าจะมีฉากผู้หญิงสวมชุดกิโมโนเดินกลางตลาดในกรุงศรีอยุธยา) แต่เป็นการนำเสนอเพื่อตอบรับกับความเป็นรัฐแห่งความยิ่งใหญ่ภายใต้มหาบุรุษของพระองค์  ลัทธิราชาชาตินิยมไทยจึงไม่ใช่เป็นแบบ inclusive หรือการยอมรับความหลากหลายแต่เป็นแบบบังคับหรือการบีบให้ความหลากหลายอยู่ภายใต้ความเป็นหนึ่งเดียวโดยการใช้ความรุนแรงทางการเมืองและการทหารมากกว่า

ยิ่งในปัจจุบันซึ่งไทยกลายเป็นรัฐอนุรักษ์นิยมที่มีแนวโน้มในการปฏิเสธรัฐบาลตะวันตกด้วยน้ำเสียงที่ค่อนข้างแข็งกร้าวและมุ่งปลุกกระแสต่อต้านตะวันตกด้วยแล้ว พระนารายณ์มหาราชในสายตาของคนไทยเลือดรักชาติ.ย่อมทรงกลายเป็น "ฝรั่ง" มากกว่า "ไทย" (ดังนั้นเครื่องรางของขวัญของพระนารายณ์จึงไม่เป็นที่นิยมกันในระดับประเทศนัก)  จึงไม่สามารถถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ได้อย่างมีพลังเท่ากับสมเด็จพระนเรศวร ฉากที่พระนารายณ์ทรงประทับอยู่บนสีหบัญชรเพื่อรับสารจากทูตชาวฝรั่งเศสที่ยืนถือด้ามพานที่ถือพระราชสารของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ในระดับต่ำเพื่อให้พระองค์ทรงโน้มตัวมารับหรือการส่งทูตคือออกญาโกษาธิบดีและคณะไปหมอบคลานต่อหน้าพระพักตร์ของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14  ซึ่งแวดล้อมโดยข้าราชบริพารทั้งหลายที่ยืนค้ำหัวพวกทูตอยู่นั้นย่อมไม่มีทางจะสร้างความประทับใจให้กับคนไทยรักชาติได้เหมือนกับฉากที่พระนเรศวรทรงประทับยืนอย่างสง่างามในการหลั่งน้ำทักษิโณทกเพื่อประกาศอิสรภาพของกรุงศรีอยุธยา

นอกจากนี้ในปลายรัชสมัยของพระนารายณ์ที่ถูกทำรัฐประหารโดยพระเพทราชาซึ่งเป็นกษัตริย์แบบ “ไทยๆ” ที่รักชาติบ้านเมือง  ภาพยนตร์จึงไม่สามารถนำเสนอในฐานะเป็นวายร้ายเพื่อสร้างความโดดเด่นให้พระนารายณ์ได้ ในทางตรงกันข้ามดังเช่นหนังสือประวัติศาสตร์สำหรับมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 2   ที่ผู้เขียนได้ยกมาก่อนหน้านี้ในหน้า 97  ได้เขียนยกย่องว่าพระเพทราชานั้นได้กวาดล้างอิทธิพลของชาวฝรั่งเศสที่ร่วมมือกับออกญาวิชไชเยนทร์ หรือ คอนสแตนติน ฟอลคอน โดยที่หนังสือหลีกเลี่ยงไม่ยอมกล่าวถึงความสัมพันธ์อันแนบแน่นระหว่างสมเด็จพระนารายณ์กับขุนนางเชื้อสายกรีกผู้นี้แม้แต่น้อย ด้วยการที่ผู้ร้ายกลายเป็นออกญาวิชไชเยนทร์แทนที่พระนารายณ์นั้น ภาพยนตร์จึงไม่สามารถดึงดูดคนดูจากการสร้างฉากความรักระหว่างออกญาวิชไชเยนทร์และภรรยาผู้มีชื่อเสียงโด่งดังคือท้าวทองกีบม้าได้เพราะคนดูที่นิยมลัทธิชาตินิยมย่อมไม่ “อิน” กับความรักของคนทรยศต่อชาติตนแม้ว่าผู้แสดงจะหน้าตาดีหรือมีฉากเข้าพระเข้านางที่งดงามเร้าอารมณ์ก็ตาม ส่วนชีวิตรักของพระนารายณ์ซึ่งดูคลุมเครือไม่ชัดเจนได้เท่ากับชีวิตรักของพระนเรศวรอันอิงอยู่อยู่ลัทธิชาตินิยมเป็นหลักเพราะพระมเหสีคือพระมณีรัตนาคอยเป็นช้างเท้าหลังค้ำจุนให้พระองค์สามารถนำชาติให้ชนะพม่าได้

ซ้ำร้ายการทำรัฐประหารของพระเพทราชาเช่นมีการฆ่าพระปีย์ซึ่งเป็นโอรสบุญธรรมของพระนารายณ์รวมไปถึงทหารคนอื่นๆ ก็เป็นโครงเรื่องที่ไม่น่าพิศวาสสำหรับสังคมในปัจจุบันที่กำลังตื่นกลัวอยู่กับภาพของคนไทยแตกแยกกันถึงกลับเข่นฆ่ากันเป็นเบือเพื่อแย่งชิงอำนาจ อันเป็นฉากจบที่ภาพยนตร์ถ้าซื่อสัตย์ต่อประวัติศาสตร์หลีกเลี่ยงได้ยากแม้จะการสร้างจะมีวัตถุประสงค์เพื่อสอดคล้องกับลัทธิราชาชาตินิยมมาตลอดเวลาก็ตาม (ดังนั้นสำหรับภาพยนตร์เกี่ยวกับมหาราชพระองค์อื่นๆ เช่นพระเจ้าตากสินมหาราช ผู้สร้างก็ต้องคำนึงถึงฉากจบให้ดีมิเช่นนั้นชะตากรรมจะเหมือนกับละครโทรทัศน์เมื่อ 3 ทศวรรษก่อนที่ถูกเซ็นเซอร์ไปหลายตอน)


บทเรียนจากทวิภพ

กระนั้นช่องทางในการสร้างภาพยนตร์เกี่ยวกับพระนารายณ์ก็ไม่หมดสิ้นไปเสียทีเดียว ผู้เขียนคิดว่าการจะสร้างภาพยนตร์เกี่ยวกับพระนารายณ์นั้นต้องพิจารณาถึงภาพยนตร์เรื่องทวิภพ อันมีพื้นหลังเกี่ยวกับรัชกาลที่ 4 และ 5  โดยเฉพาะพระองค์หลังได้รับการยกย่องจากประวัติศาสตร์กระแสหลักมากยิ่งกว่าพระนารายณ์  แม้นวนิยาย "ทวิภพ" ของทมยันตี จะถูกนำมาดัดแปลงเป็นละครเวที ละครโทรทัศน์และภาพยนตร์อยู่หลายครั้ง   แต่สื่อเหล่านั้นมักไม่มีพลังในตัวเองนักเพราะไม่มีผู้ร้ายคือ "พม่า" อีกเช่นกัน  สิ่งที่จะมาชดเชยได้ก็คือความสามารถของคนสร้างในการทักทอเรื่องราวความรักต่างเวลาของแม่มณีจันทร์กับคุณหลวงอัครเทพวรากรให้เข้ากับพื้นหลังทางประวัติศาสตร์ที่สยามประเทศถูกคุกคามจากอังกฤษและฝรั่งเศสเสียมากกว่า  ตัวอย่างได้แก่ ภาพยนตร์ทวิภพ ในปี 2547  ที่กำกับโดย สุรพงษ์ พินิจค้า ซึ่งใช้ทุนสูงมากแต่ขาดทุนอย่างยับเยิน ถึงแม้จะมีจุดขายเช่นให้มีคนสวมบทเป็นรัชกาลที่ 4 และ 5 เป็นครั้งแรก  หรือการมีฉากอลังการสมจริงสมจังเพราะมีนักประวัติศาสตร์คอยเขียนบทร่วมด้วย

แต่สาเหตุที่ทำให้ภาพยนตร์ล้มเหลวนั้นมีมากมายโดยเฉพาะตัวนางเอกซึ่งเป็นผลให้การเข้าพระเข้านางจืดชืดขาดความน่าเคลิบเคลิ้มเหมือนกับภาพยนตร์เรื่องคู่กรรมภาคล่าสุด ดังนั้นภาพยนตร์จึงเหลือตัวเลือกอื่นในการสร้างความประทับใจแก่คนดูคือฉากของความขัดแย้งทางการเมืองซึ่งก็ล้มเหลวอีกเพราะไม่มีฉากอะไรที่จะสร้างความบันเทิงแก่ผู้นิยมในลัทธิกองทัพนิยมเช่นคนไทยฆ่าฝรั่งเกลื่อนจอเหมือนกับยามปะทะกับพม่า แถมฉากในจินตนาการเช่นการสร้างหอไอเฟลในประเทศไทย หรือให้คนใช้ของแม่มณีจันทร์พูดภาษาฝรั่งเศส เป็นทำนองว่าไทยถูกต่างชาติยึดครองเสียแล้วยิ่งทำให้คนดูสับสนเข้าไปอีก  สาเหตุอาจเพราะแรงกดดันทางฝ่ายเซ็นเซอร์ที่เกรงว่าจะกระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หรือการซื่อสัตย์ต่อข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ของผู้สร้างจนเกินไปก็เป็นได้   ภาพยนตร์ยังล้มเหลวไม่สามารถทำให้ "ฝรั่ง" ดูป่าเถื่อนเช่นเดียวกับพม่า เช่นเซอร์จอห์น เบาว์ริงแม้ยามเข้าเฝ้าจะดูยิ่งยโสแต่ดูคงแก่เรียนและน่าเกรงขาม  ที่สำคัญทั้งทวิภาพและภาพยนตร์ปลุกใจรักชาติเรื่องไหนของไทยไม่ว่าอดีตหรือในอนาคตคงจะไม่สามารถทำให้สนธิสัญญาเบาว์ริงซึ่งทำให้ไทยสูญเสียเอกราชโดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจและด้านการศาลสร้างความคับข้องใจหรือโกรธแค้นให้กับคนดูได้มากกว่าพม่าข่มขืนหญิงไทยหรือลอกทองจากกรุงศรีอยุธยาไป หากมีผู้คิดจะเอาเรื่องของพระนารายณ์มาทำเป็นภาพยนตร์ด้วยความซื่อสัตย์ต่อวัฒนธรรมแม้จะกระแสหลักก็ตาม ก็มีความเป็นไปได้ว่าจะพบกับชะตากรรมเดียวกับ ทวิภพ ของ สุรพงษ์ พินิจค้า เพราะขาดปัจจัยอันอิงอยู่บนลัทธิราชาชาตินิยมปนกองทัพนิยมที่มี “พม่า” เป็นศัตรูผูกขาดดังที่ได้กล่าวมา

ดังนั้นผู้คิดจะสร้างภาพยนตร์เกี่ยวกับสมเด็จพระนารายณ์ ควรจะมีกลยุทธ์ดังต่อไปนี้เช่นเลี่ยงบาลีโดยใช้ว่า “ตำนาน” นำหน้าชื่อเรื่อง เพื่อหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบจากการบิดเบือนประวัติศาสตร์ให้กับชาวบ้านที่จำนวนมากแยกไม่ออกระหว่างความจริงกับจินตนาการ  ภาพยนตร์ยังควรแต่งเติมโครงเรื่องอย่างไรก็ได้โดยไม่มีทางจะกระทบต่อ “คนดี” และ “พระบารมี”  ของพระนารายณ์ ไม่ว่าจะมีเรื่องรักโรแมนติกระหว่างออกญาวิชไชเยนทร์กับท้าวทองกีบม้าโดยมีการแก้ต่างให้เขาดูเป็นผู้บริสุทธิ์ มีเจตนาดีต่ออยุธยาแต่มาถูกทางฝรั่งเศสหักหลังในตอนท้ายก็ย่อมได้ (ซึ่งอาจจะเอามาจากนิยายประโลมโลกเกี่ยวกับออกญาวิชไชเยนทร์ที่เคยตีพิมพ์ในนิตยสารของผู้หญิงมานานแล้วมาเป็นดัดแปลง) หรือจะแต่งให้พระมเหสีของพระนารายณ์ไม่ว่าพระองค์ไหนก็ตามมีส่วนในการหนุนพระสวามีชิงไหวชิงพริบกับฝรั่งก็ย่อมได้  อย่างไรก็ตามบทด้านดรามาเช่นนี้ต้องมีความเข้มข้นเช่นเดียวกับการคัดเลือกตัวผู้แสดงที่เหมาะกับบท  ผสมกับส่วนตลกจากตัวละครที่ถูกสมมติขึ้นมา ซึ่งควรจะทำให้ผู้ดูหัวเราะได้เต็มเสียงกว่าบางตอนในหนังเรื่องสุริโยทัยหรือตำนานสมเด็จพระนเรศวร  เช่นเอาผู้แสดงหลัก 4 คนจากเรื่องพี่มาก...พระโขนงมาร่วม

ที่สำคัญความเป็นตำนานจะช่วยให้ผู้สร้างออกแบบฉากของสถานที่เช่นวังหรือเครื่องแต่งกายของตัวผู้แสดงให้สวยงาม ดูอลังการอย่างไรก็ได้เพราะผู้ดูเกือบทั้งหมดแทบไม่มีความรู้เกี่ยวกับศิลปะสมัยอยุธยาหรือของลพบุรีเท่าไรนัก เช่นเดียวกับการออกแบบฉากสงครามอย่างดุเดือดและสนุกสนานแต่ต้องมีทิศทางมากกว่าจะสะเปะสะปะไปเรื่อยเปื่อย แบบตำนานสมเด็จพระนเรศวรในบางภาค นอกจากนี้ท่ามกลางกระแสต่อต้านตะวันตกของรัฐไทย หากผู้สร้างจะลองทำในสิ่งตรงกันข้ามกับทวิภาพคือกำหนดให้ฝรั่งเป็นศัตรูผู้ชั่วช้าไม่ใช่พม่าหรือชนชาติอื่นซึ่งเป็นบรรพบุรุษของประเทศเพื่อนบ้านหรือภูมิภาคอื่นที่เราน่าจะเชื่อมความสัมพันธ์ทางการค้าแทนตะวันตกหากในอนาคตถูกชาติเหล่านั้นคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจแบบรัสเซีย และการที่ฝรั่งเหล่านั้นก็ถูกกองทัพที่นำโดยพระเพทราชาฆ่าฟันจนเลือดนองจอภาพยนตร์ แทนที่จะเป็นฉากล้อมวังพระนารายณ์ อาจจะไม่ถูกเซ็นเซอร์จากรัฐบาลทหารซึ่งผิดหวังจากท่าทีของสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปและอาจจะดึงดูดเงินจากกระเป๋าของคนไทยเลือดรักชาติไม่แพ้ตำนานสมเด็จพระนเรศวรหรือบางระจันก็เป็นได้  หากภาพยนตร์ประสบสำเร็จก็สามารถสะท้อนให้เห็นว่า คำว่า “ศัตรู” เริ่มเลื่อนไหลจากพม่าไปสู่ฝรั่งแล้วแม้ว่าจะไม่มีสหรัฐอเมริกาเป็นผู้ร้ายก็ตาม ที่สำคัญนอกจากภาพยนตร์ควรได้รับการสนับสนุนจากกองทัพแล้ว ผู้กำกับควรเป็นหม่อมเจ้าชาตรี เฉลิมยุคลหรือหม่อมหลวงพันธุ์เทวนพ เทวกุล อันจะทำให้ภาพยนตร์คลาดแคล้วจากการถูกเซ็นเซอร์ในฉากที่หมิ่นเหม่แต่สามารถเรียกคนดูให้เข้าโรงได้เป็นจำนวนมากเช่นจะไม่มีการทำภาพเบลอหน้าอกอันเปล่าเปลือยของสตรีที่ถูกนำมาถวายตัวต่อชนชั้นสูงในวังเป็นต้น

 

หมายเหตุ: อัพเดตล่าสุดเมื่อ 25 ก.พ. 2558 เวลา 23.48 น.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net