สั่งฟ้องธัชพงศ์-นัชชชา เจ้าตัวกังวลการปฏิบัติต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศของเรือนจำ

29 มิ.ย.2558  เพจศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า เวลาประมาณ 12.00 น. อัยการศาลทหารมีคำสั่งฟ้องธัชพงศ์ แกดำ จำเลยที่ 1 และนัชชชา กองอุดม จำเลยที่ 2 ข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/58 ซึ่งทางจำเลยได้ยื่นขอประกันตัว โดยใช้หลักประกันเดิม คือ เงินสด 10,000 บาท ศาลอนุญาตให้ประกันตัว ขณะนี้รอนำตัวไปเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครเพื่อปล่อยตัว

กรณีนัชชชา กองอุดม ได้มีการยื่นคำแถลงขอให้ศาลมีคำสั่งปล่อยตัวที่เรือนจำหญิงด้วย แต่ศาลยกคำร้อง โดย พ.อ.พิเศษศักดิ์ ค้ำชู ตุลาการพระธรรมนูญอ้างเหตุผลว่า พิจารณาตามกฎหมาย จำเลยยังมีสถานภาพเป็นเพศชาย และไม่มีบทบัญญัติกฎหมายใดรองรับว่าชายที่แปลงเพศแล้วให้ถือเป็นเพศหญิง จึงให้ยกคำร้อง

ทั้งนี้ ช่วงสายของวันที่ 24 มิ.ย. ที่ผ่านมา นัชชชา กองอุดมถูกจับกุมขณะพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลมาแล้ว 2 คืน ก่อนถูกเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบแสดงหมายจับเข้าจับกุม ขณะเตรียมตัวไปที่ สน.ปทุมวันพร้อมเพื่อน

ภายหลังถูกจับกุมที่โรงพยาบาล เจ้าหน้าที่ได้พาตัวนัชชชาไปยังศาลทหารกรุงเทพฯ เพื่อทำเรื่องขอฝากขัง แต่ทางนัชชาได้ยื่นเรื่องคัดค้าน โดยให้เหตุผว่าตนกำลังไม่สบาย อยู่ระหว่างการศึกษา และเป็น transgender แต่ศาลไม่อนุญาตโดยให้เหตุผลว่า จำเลยเลยมีท่าทีปลุกปลั่นยุยงให้เกิดความไม่สงบ และมีมวลชน โดยที่ตุลาการไม่ขึ้นนั่งบัลลังก์ ระหว่างรอฝากขังนัชชชาจึงยื่นเรื่องขอประกันตัวโดยใช้เงินสด 10,000 บาท

เมื่อเดินทางถึงเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร จะต้องมีขั้นตอนการตรวจร่างกายที่กระทำโดยนักโทษที่เป็นผู้ช่วยเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ที่เป็นเพศชายทั้งหมด ระหว่างนั้นมีการส่งเสียงตะโกนแซวจากนักโทษชายคนอื่น ๆ อยู่ตลอด ซึ่งนัชชชากล่าวว่า ถ้อยคำเหล่านี้ทำให้ตนอึดอัดใจ ขณะที่ขั้นตอนการตรวจร่างกายก็คล้ายจะมีความจงใจลวนลาม ซึ่งขั้นตอนภายในเรือนจำทำให้ตนรู้สึกเครียดและวิตกกังวล เพราะมีกระบวนการซึ่งต้องเปิดเผยร่างกายและกระทำโดยเพศชายทั้งหมด

ทั้งนี้ กลุ่มเพื่อประชาธิปไตยและความหลากหลายทางเพศออกแถลงการณ์ ‘ข้อเรียกร้องต่อการควบตัวบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ’ โดยมีรายละเอียดบางส่วน ดังนี้

“...การควบคุมตัวบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศต้องกระทำการด้วยความระมัดระวังเเละอ่อนไหวต่อ สถานการณ์ของผู้มีความหลากหลายทางเพศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีที่ต้องมีการควบคุมตัวในเรือนจำ เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลในการควบคุมตัวบุคคลสำหรับผู้มีความหลากหลายทางเพศ ที่มีความต้องการพิเศษ เเละเพื่อป้องการการปฏิบัติที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม เเละย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เเละเพื่อปฏิบัติให้สอดคล้องตามกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นรัฐภาคี ได้แก่ ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนเเห่งสหประชาติ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองเเละสิทธิทางการเมือง ข้อ 17 เเละอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี ที่ประเทศไทยเป็นรัฐภาคีนั้น ได้ระบุว่าบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศจำเป็นต้องได้รับการปกป้องสิทธิมนุษยชนในระหว่างการควบคุมตัว

กรณีที่บุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศจำเป็นต้องถูกควบคุมตัว ผู้ถูกควบคุมตัวต้องได้รับการควบคุมตัวในเรือนจำตามอัตลักษณ์ทางเพศที่เหมาะสม ผู้มีความหลากหลายทางเพศที่เปลี่ยนอัตลักษณ์เป็นหญิงไม่สมควรถูกควบคุมตัว ตรวจค้นร่างกายโดยเจ้าหน้าที่ชาย ไม่ว่าด้วยกรณีใด ๆ ทั้งสิ้น เนื่องจากส่งผลให้เกิดการเลือกปฏิบัติเเละการย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ถูกควบคุมตัว เนื่องจากกระบวนการรับตัว ตามหลักการ Yogyakarta Principles on the Application of International Human Rights Law in relation to Sexual Orientation and Gender Identity ข้อ 9 ระบุว่า บุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศมีสิทธิที่จะได้รับการปฏิบัติด้วยมนุษยธรรมระหว่างถูกควบคุมตัว เเละควรได้รับการปฏิบัติด้วยความเคารพต่อสิทธิเเละศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โดยการได้รับความเคารพในเพศสภาพเเละเพศวิถีถือเป็นส่วนหนึ่งของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์...” อ่านฉบับเต็มที่http://www.prachatai.com/journal/2015/06/59954

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท