Skip to main content
sharethis

ครม.เห็นชอบมาตรการช่วยเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุน ลดภาษีเหลือร้อยละ 10 หากจดทะเบียนใหม่ยกเว้นให้ 5 ปี - ปิดโครงการรถคันแรก ขณะที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เชื่อเอสเอ็มอีเข้าระบบภาษีมากขึ้น

8 ก.ย. 2558 สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ร่วมชี้แจงมาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอี ว่า หลังจากนายกรัฐมนตรีมีนโยบายให้เร่งรัดช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว เพื่อให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำและลดภาษีเงินได้นิติบุคคลระยะสั้นจากนั้นจึงปรับขึ้นมาเหมือนเดิม คาดว่าในช่วง 4-5 ปีข้างหน้าเอสเอ็มอีจะมีความเข้มแข็งมากขึ้น เนื่องจากบริษัทขนาดใหญ่ธนาคารพาณิชย์ให้ความสำคัญมากขึ้นทั้งการต่อยอดธุรกิจและการให้สินเชื่อ

อภิศักดิ์ กล่าวว่า มาตรการทางการเงินช่วยเหลือเอสเอ็มอี คือ การให้ธนาคารออมสินปล่อยกู้ให้กับธนาคารเฉพาะกิจของรัฐและธนาคารพาณิชย์เอกชนด้วยอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.1 วงเงิน 100,000 ล้านบาท จากนั้นสถาบันการเงินจะนำไปปล่อยกู้ให้ผู้ประกอบการดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 4 โดยรัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยให้กับธนาคารออมสินร้อยละ 2.86 เป็นเงินชดเชยประมาณ 2,800 ล้านบาทต่อปี ระยะเวลา 7 ปี รวมเงินชดเชยกว่า 20,000 ล้านบาท

รวมทั้งมาตรการส่งเสริมการค้ำประกันให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี วงเงิน 100,000 ล้านบาท สำหรับการขอสินเชื่อเมื่อเกิดปัญหาหนี้เสีย บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) รับผิดชอบความเสี่ยงร้อยละ 15 ธนาคารผู้ปล่อยสินเชื่อร้อยละ 15 ส่วนที่เหลือผู้ประกอบการรับผิดชอบ โดยรัฐบาลชดเชยค่าธรรมเนียมให้ บสย. คิดค่าธรรมเนียมค้ำประกันร้อยละ 0 ในปีแรก ปีที่ 2 คิดค่าธรรมเนียมร้อยละ 0.5 ปีที่ 3 ค่าธรรมเนียมร้อยละ 1 ปีที่ 4 ค่าธรรมเนียมร้อยละ 1.5 ปีที่ 5 ขึ้นไปค่าธรรมเนียมร้อยละ 1.75 รัฐบาลชดเชยค่าธรรมเนียมให้กับ บสย. เป็นเงิน 4,000 ล้านบาท ด้วยการยกเลิกโครงการค้ำประกันซึ่งได้เห็นชอบในช่วงที่ผ่านมา และเพื่อให้เอกชนเข้าถึงแหล่งทุนมากขึ้นเห็นชอบให้จัดตั้งกองทุนร่วมลงทุนวงเงิน 6,000 ล้านบาท ใช้เงินทุนของธนาคารออมสิน กรุงไทย และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) เพื่อนำไปร่วมลงทุนนอกจากการกู้ยืมเงินเพิ่มอีกทางหนึ่ง

ส่วนมาตรการทางการคลัง ครม.เห็นชอบลดภาระให้กับผู้ประกอบการด้วยการลดภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรเกิน 300,000 บาทต่อปี เพราะหากไม่ถึงเกณฑ์ได้รับการยกเว้น ด้วยการลดภาษีจากร้อยละ 15 เหลือร้อยละ 10 เป็นเวลา 2 ปี และหากเป็นผู้ประกอบการรายใหม่จดทะเบียนตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2558-31 ธันวาคม 2559 ได้รับการยกเว้นภาษีเป็นเวลา 5 ปี เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการดำเนินธุรกิจในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เชื่อเอสเอ็มอีเข้าระบบภาษีมากขึ้น

ประสงค์ นิลบรรจง รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เชื่อว่าตามที่กระทรวงการคลังเสนอมาตรการช่วยเหลือทางการเงินและมาตรการลดภาระภาษีเงินได้นิติบุคคลให้กับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี) วันนี้ ทำให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เข้าสู่ระบบภาษีมากขึ้น จากปัจจุบันเอสเอ็มอีทั่วประเทศที่มีมากกว่า 2.7 ล้านราย เข้าสู่ระบบภาษียังไม่ถึง 1 ล้านราย

นายแบงก์หนุนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ

ขณะที่ สุรงค์ บูลกุล นายกสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย กล่าวว่า สนับสนุนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล เน้นการกระจายรายได้สู่ผู้มีรายได้น้อย ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนมีรายได้มากขึ้น และเชื่อมั่นว่าการดำเนินการของทีมเศรษฐกิจจะเป็นไปด้วยความรวดเร็ว โดยเฉพาะการผลักดันเรื่องของการจดทะเบียนบริษัทนิติบุคคลให้เสร็จภายใน 1 วัน ซึ่งจะเป็นการสนับสนุนให้การทำธุรกิจในประเทศไทยง่ายขึ้น ดึงดูดการลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติ

เช่นเดียวกับ ชาญศักดิ์ เฟื่องฟู กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า สนับสนุนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล โดยเฉพาะการช่วยเหลือประชาชนในระดับฐานรากและผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ให้มีความสามารถและมีสภาพคล่องในการจับจ่ายเพิ่มขึ้น ซึ่งการที่รัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือก็จะทำให้สามารถปรับตัวและเดินหน้าต่อไปได้

เห็นชอบปิดโครงการรถคันแรก

วันเดียวกัน วิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบปิดโครงการรถยนต์คันแรกวันที่ 30 กันยายน 2558 หลังจากเลื่อนเวลาระยะหนึ่งแล้ว และที่ผ่านมาเจ้าของรถจองสิทธิ์ไว้จำนวน 10,000 คน และได้ใช้สิทธิ์เพียง 3,000 คน โดยมีการซื้อรถจริง 2-5 คันต่อเดือน ยอดรวมทั้งโครงการรถยนต์คันแรกมีประชาชนจองซื้อรถกว่า 1 ล้านคัน เป็นเงินช่วยเหลือประมาณ 90,000 ล้านบาท ส่วนข้อเสนอภาคเอกชนให้ปลดล็อคการถือครองจาก 5 ปี เหลือเพียง 3 ปีนั้น ต้องศึกษาให้เหมาะสมเนื่องจากต้องแก้มติ ครม.เดิม

 

เรียบเรียงจาก สำนักข่าวไทย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net