Skip to main content
sharethis

สมาชิกรัฐสภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชนเผยรายงานฉบับใหม่ชาวโรฮิงญาถูกบีบหลายด้านเป็นตัวเร่งทำให้ต้องอพยพออกจากพม่า ส.ส.มาเลเซียเรียกร้องอาเซียนเตรียมมาตรการรองรับผู้อพยพทางเรือในฤดูกาลใหม่นี้ ขณะที่ ส.ส.ชาวโรฮิงญา เผยเลือกตั้งพม่า 8 พ.ย. ชาวโรฮิงญาหมดสิทธิ ทั้งที่เคยมีสิทธิเมื่อปี 53 รวมทั้งตัวเขาที่ลงสมัคร ส.ส. ไม่ได้

16 ต.ค. 2558 ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT) กลุ่มสมาชิกรัฐสภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชน (ASEAN Parliamentarians for Human Rights: APHR) ได้เผยแพร่รายงานหัวข้อ "การสูญสิ้นสิทธิและความสิ้นหวังในรัฐยะไข่ของพม่า: ตัวเร่งวิกฤตในภูมิภาค" (Disenfranchisement and Desperation in Myanmar's Rakhine State: Drivers of a Regional Crisis) เปิดเผยสภาพของชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่ ที่ถูกทำให้เป็นคนชายขอบและอยู่ในสภาพที่สิ้นหวังมากขึ้น ทั้งยังอยู่บีบให้อพยพออกจากประเทศพม่ามากยิ่งขึ้น และจะกลายเป็นวิกฤตระดับภูมิภาคหากผู้นำของประเทศสมาชิกชาติอาเซียนไม่เตรียมการรับมือต่อปัญหานี้

ส.ส.มาเลเซียเผยหลังลงพื้นที่รัฐยะไข่ ชาวโรฮิงญาอยู่ในสภาพลำบาก เหมือนถูกบีบให้ทิ้งแผ่นดิน

ชาร์ล ซานดิอาโก (ขวา) ส.ส. จากมาเลเซีย และไถ่ไถ่ (ซ้าย) นักวิจัยดา้นสิทธิมนุษยชนชาวโรฮิงญา

ชาร์ล ซานดิอาโก ส.ส. พรรคกิจประชาธิปไตย (DAP) ประเทศมาเลเซีย ประธานกลุ่มสมาชิกรัฐสภาเพื่อสิทธิมนุษยชน (APHR) ซึ่งได้เดินทางไปรัฐยะไข่เพื่อเก็บข้อมูลกล่าวว่า ปัจจัยที่ทำให้ชาวโรฮิงญาถูกบีบให้ออกจากพม่า ประการหนึ่ง คือ พวกเขาไม่สามารถเข้าถึงสาธารณสุข การศึกษา และอาหารซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ นอกจากนี้สภาพของที่อยู่อาศัยซึ่งถูกจัดให้อยู่เหมือนค่ายผู้อพยพภายในประเทศ (IDP) ก็อยู่ในสภาพลำบาก

สอง ปัญหาของการขาดเสรีภาพในการเดินทาง สำหรับชาวโรฮิงญาการเดินทางจากหมู่บ้านหนึ่ง ไปอีกหมู่บ้านหนึ่ง ต้องได้รับการอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น ดังนั้นแค่การจะไปเยี่ยมเพื่อน หรือการจะได้งานทำเป็นเรื่องยากมาก มีการควบคุมอย่างเข้มงวดในชุมชน โดยมีจุดตรวจจำนวนมากอยู่ในชุมชนชาวโรฮิงญา เจ้าหน้าที่จะสอบถามคนเดินทางว่ามาจากไหน กำลังจะไปที่ไหน

ชาร์ล ยังกล่าวถึงปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นล่าสุดว่า ในการเลือกตั้งทั่วไปของพม่า 8 พฤศจิกายนนี้ ชาวโรฮิงญาก็ไม่สามารถไปลงคะแนนในการเลือกตั้งได้ ทั้งนี้มีความพยายามทำให้ชาวโรฮิงญากลายเป็นคนชายขอบ และผลักให้พวกเขาออกจากโครงสร้างทางการเมืองพม่าทุกอย่าง

เขายังกล่าวถึงการที่รัฐสภาพม่าแก้ไขกฎหมายหลายฉบับ โดยเป็นมาตรการควบคุมประชากร ซึ่งพุ่งเป้ามายังชาวโรฮิงญา เช่น กฎหมายที่กำหนดให้การแต่งงานข้ามศาสนาต้องขออนุญาต การห้ามสามีแต่งงานกับภรรยามากกว่า 1 คน รวมทั้งกฎหมายที่อนุญาตให้รัฐบาลพม่าควบคุมมารดาที่เพิ่งคลอดบุตร ไม่ให้มีบุตรเพิ่มอีก

นอกจากนี้ยังมีกลุ่มมะบะต๊ะ ที่เป็นกลุ่มอนุรักษ์นิยมพยายามเคลื่อนไหวต่อต้านชาวโรฮิงญา โดยชาร์ลกล่าวว่า "ทั้งหมดนี้ ทำให้คนโรฮิงญารู้สึกว่าไม่มีเสาหลักอีกแล้ว ประเทศต้องการผลักเขาออกไป พวกเขาเข้าไม่ถึงความจำเป็นพื้นฐาน และถูกปฏิเสธสิทธิทางการเมืองทุกอย่าง ห้าม ส.ส. โรฮิงญาลงสมัครทั้งที่ในการเลือกตั้งปี 2553 เคยอนุญาตให้เขาลงสมัครได้และเขาก็ชนะการเลือกตั้งด้วย"

ชาร์ลกล่าวด้วยว่า อีกสิ่งหนึ่งที่เป็นเรื่องใหม่ก็คือ บทบาทของสมาคมอาเซียน เดิมอาเซียนเดิมยึดหลักการไม่แทรกแซงระหว่างกัน แต่ปีนี้เป็นครั้งแรกที่มีการกดดันทั้งโดยสาธารณะ และสื่อมวลชน เพื่อให้รัฐบาลมาเลเซียและไทย ทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งเพื่อช่วยเหลือผู้อพยพทางเรือ เมื่อพวกเขาเดินทางมาถึงชายฝั่ง โดยกองทัพเรือของไทยและมาเลเซีย ได้ช่วยเหลือเรื่องน้ำกับอาหาร แต่ก็ยังให้พวกเขาหันเรือออกจากชายฝั่ง เพื่อไปยังประเทศอื่นต่อ

เรียกร้องอาเซียนเตรียมมาตรการรองรับผู้อพยพทางเรือในฤดูกาลใหม่นี้

โดยชาร์ล ซานดิอาโก เรียกร้องให้อาเซียนมีมาตรการที่จริงจังมากขึ้นในการช่วยเหลือผู้อพยพทางเรือ รวมทั้งการบังคับใช้กฎหมายเพื่อดำเนินคดีต่อผู้ค้ามนุษย์ด้วย

"ปลายปีนี้ อาเซียนจะรวมกันเป็นประชาคมทางเศรษฐกิจ อาเซียนต้องมีมาตรฐาน ไม่ใช่แค่ต่อคนร่ำรวยและนักลงทุนเท่านั้น ต้องมีมาตรฐานด้านสิทธิมนุษยชน ต้องปกป้องคนที่อ่อนแอ อาเซียนต้องตื่นตัว และรับผิดชอบต่อกรณีวิกฤตที่จะเกิดขึ้นด้วย" ชาร์ลกล่าว

เขาเตือนด้วยว่า "ฤดูการล่องเรือ (ของชาวโรฮิงญา) กำลังจะเริ่มขึ้นในอีกไม่กี่สัปดาห์นี้แล้ว ผู้นำในภูมิภาคต้องมีมาตรการ ภูมิภาคของเราจำเป็นต้องมีกรอบการทำงานด้านผู้ลี้ภัย เพื่อประกันความปลอดภัยและมาตรการทางกฎหมายสำหรับผู้แสวงหาที่ลี้ภัย"

ส.ส.ชาวโรฮิงญาเผยเลือกตั้ง 8 พ.ย. นี้ ชาวโรฮิงญาหมดสิทธิ ทั้งที่เคยมีสิทธิก่อนหน้านี้

ฉ่วย หม่อง (ในจอภาพ) ส.ส.พรรค USDP จากพม่าร่วมแถลงผ่านระบบสไกป์ โดยในการเลือกตั้ง 8 พ.ย. นี้ กกต.พม่า ปฏิเสธคุณสมบัติทำให้เขาลงสมัครไม่ได้ 

ด้าน ฉ่วย หม่อง ปัจจุบันเป็น ส.ส.พรรคสหภาพเพื่อความสามัคคีและการพัฒนา (USDP) ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลพม่า แต่ในการเลือกตั้ง 8 พ.ย. เขาถูก กกต.พม่า ปฏิเสธคุณสมบัติไม่ให้ลงสมัคร ส.ส. ได้ร่วมแถลงข่าวด้วยผ่านระบบสไกป์

ฉ่วย หม่อง กล่าวว่า เดิมโรฮิงญาเคยมีสิทธิเลือกตั้งในปี 2553 และการเลือกตั้งซ่อมในปี 2555 แต่ครั้งนี้เป็นเพราะขบวนการคลั่งชาติในพม่า ทำให้ชาวโรฮิงญาไม่มีสิทธิเลือกตั้ง ทั้งนี้คนโรฮิงญาปัจจุบันถือบัตรประจำตัวที่เรียกว่า "บัตรสีขาว" (บัตรผู้อยู่อาศัยชั่วคราว) ซึ่งไม่ใช่บัตรประชาชน และในการเลือกตั้งซึ่งเป็นครั้งประวัติศาสตร์นี้ พวกเขาไม่สามารถมีส่วนร่วมทางการเมืองได้ ที่ว่าการถือบัตรสีขาวแล้วชาวโรฮิงญาจะมีสิทธินั้นจึงเป็นเรื่องไม่จริง

"ผมเป็น ส.ส. แต่ถูกปฏิเสธไม่ให้ลงสมัคร ส.ส. อีกครั้ง กกต. บอกว่าผมขาดคุณสมบัติ แต่ที่จริงเป็นเพราะผมเป็นคนโรฮิงญา และนับถือศาสนาอิสลามต่างหาก" ฉ่วย หม่อง กล่าว

รัฐบาลพม่านั้น ยังปฏิเสธแม้แต่ตัวตนของโรฮิงญา ซึ่งเป็นการเลือกปฏิบัติ นอกจากนี้ยังมีกลุ่มอนุรักษ์นิยมอย่าง "มะบะต๊ะ" ที่พยายามรังควานโรฮิงญาและชาติพันธุ์อื่นที่เป็นมุสลิม

"กลุ่มโรฮิงญาพยายามหนีออกจากประเทศ ทั้งรวยทั้งจน ถ้าไปหาที่อื่นอยู่ที่มีอนาคตที่ดีกว่าบ้านเกิดของตัวเองได้เขาก็ไป ลองคิดดูคงไม่มีใครอยากจะหนีออกจากบ้านเกิดหรอก และนี่คือสิ่งที่อาเซียนกำลังเผชิญ" ฉ่วย หม่องกล่าว และกล่าวด้วยว่า "ชาวโรฮิงญาเหมือนนักโทษในคุกเปิด พวกเขาถูกลงโทษทั้งที่ไม่ได้กระทำผิดอะไร"

เผยสถานการณ์ผู้อพยพชาวโรฮิงญาในไทยและอาเจะห์

ไถ่ไถ่ นักวิจัยด้านสิทธิมนุษยชนชาวโรฮิงญา กล่าวถึงสถานการณ์ที่ชาวโรฮิงญาถูกควบคุมตัวอย่างไม่มีกำหนด (Indefinite detention) ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย โดยเธอกล่าวว่า ชาวโรฮิงญาที่ถูกควบคุมตัวในประเทศไทย โดยมากถูกควบคุมตัวในสถานีตำรวจ และสถานที่ควบคุมตัวของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง หรือ ตม.

ข้อมูลจากการวิจัยของไถ่ไถ่ เปิดเผยว่า นับตั้งแต่ปีก่อนมีชาวโรฮิงญา 900 คนที่ถูกควบคุมตัวอยู่ในสถานกักกัน ตม. และสถานที่พักพิงชั่วคราวที่ทางการไทยจัดไว้ให้ โดยต้องอยู่ในสถานที่ดังกล่าวอย่างไม่มีกำหนด ทั้งนี้ทางเลือกของชาวโรฮิงญาที่จะหนีออกไปก็คือ ยอมถูกเนรเทศออกจากไทย หรือหนีออกจากสถานที่กักกัน

นอกจากนี้ยังพบชาวโรฮิงญาบางส่วนถูกดำเนินคดีในข้อหาเป็นแรงงานหลบหนีเข้าเมือง และต้องอยู่ในเรือนจำที่แออัด โดยที่การเข้าถึงอาหารและการรักษาสาธารณสุขเป็นไปอย่างจำกัด และไม่ได้รับโอกาสในการติดต่อสื่อสารกับญาติ

ส่วนชาวโรฮิงญา ที่อพยพทางเรือไปถึงอาเจะห์ ทางตอนเหนือของเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซียนั้น ไถ่ไถ่ เผยว่ามีค่าย 4 แห่งในอาเจะห์ที่มีผู้อพยพทางเรือกว่า 1,744 คน โดยพวกเขาขึ้นฝั่งได้ด้วยความช่วยเหลือของชาวประมงอาเจะห์ มีทั้งชาวโรฮิงญา และบังกลาเทศ

ทั้งนี้ในจำนวนผู้อพยพทางเรือ 1,744 คน มีชาวโรฮิงญา 957 คน และในจำนวนผู้อพยพชาวโรฮิงญามีเด็กและผู้หญิง 354 คน ทั้งนี้มีผู้อพยพถูกย้ายจากค่ายที่เมืองลังสา (Langsa) ไปยังที่พักชั่วคราวที่รัฐบาลอินโดนีเซียจัดให้

ขณะที่ผู้อพยพที่เมืองอาเจะห์อุตระ (Aceh Utara) ก็ถูกย้ายเช่นกัน ทั้งนี้ที่เมืองลกซุมาเว (Lhokseumawe) มีผู้อพยพจำนวนมากที่หลบหนี โดยปัจจุบันมีผู้อพยพอยู่ 90 คน จากเดิม 300 คน

ไถ่ไถ่ กล่าวว่า จำนวนชาวโรฮิงญาที่อยู่ในค่ายที่พักพิงชั่วคราวที่เหลือคือ 600 คน โดยมีจำนวนหนึ่งมุ่งหน้าไปเมดาน แต่เมื่อเปรียบเทียบสภาพของผู้อพยพชาวโรฮิงญาในไทยและในอาเจะห์ ถือว่าในอาเจะห์อยู่ในสภาพดีกว่า คืออยู่ในที่พักพิงชั่วคราว ที่สามารถเข้าถึงได้

ทั้งนี้ในรายงานของสมาชิกรัฐสภาอาเซียน มีข้อเสนอเร่งด่วน ได้แก่ หนึ่ง รัฐบาลต้องให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเข้าถึงในรัฐยะไข่ สอง ให้เสรีภาพในการเคลื่อนย้ายแก่ชาวโรฮิงญา และสาม เรียกร้องต่อรัฐบาลชาติสมาชิกอาเซียนให้สามารถเข้าถึงความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมที่เพียงพอ

ข้อเสนอในระยะยาว ได้แก่ หนึ่ง เสนอให้รัฐบาลพม่ายุติการทำให้ชาวโรฮิงญาเป็นบุคคลไร้รัฐ สอง จัดโครงการศึกษาในพม่าเพื่อให้มีการยอมรับคนต่างศาสนาให้สามารถอยู่ร่วมกันอย่างสันติ สาม เสนอให้ชาติสมาชิกอาเซียนที่ยังไม่ได้ลงนามอนุสัญญาผู้ลี้ภัย ค.ศ. 1951 ลงนามในอนุสัญญาดังกล่าว และให้มีการพัฒนาโครงการร่วมกันที่สามารถให้ความช่วยเหลือผู้ลี้ภัยได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net