Skip to main content
sharethis

กลุ่มสมาชิกรัฐสภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชน (APHR) แถลงประณาม กม.เลือกตั้งใหม่พม่า ระบุกฎเกณฑ์ทำลายพรรคการเมืองอื่นๆ จนเหลือฝ่ายกองทัพฯ ทำให้เกิดการแข่งขันไม่เป็นธรรม พร้อมเรียกร้องนานาชาติไม่ยอมรับการเลือกตั้งของกองทัพที่มาจากรัฐประหาร

 

10 มี.ค. 2566 กลุ่มสมาชิกรัฐสภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชน หรือ APHR ประณามกฎหมายจดทะเบียนพรรคการเมืองฉบับใหม่ของสภาบริหารแห่งรัฐ หรือ SAC ซึ่งมีพลเอกอาวุโส มินอ่องหล่าย ผู้บัญชาการสูงสุดแห่งกองทัพพม่า เป็นประธาน ที่เพิ่งมีการผ่านร่างกฎหมายไม่นานมานี้ 

APHR มองว่า กฎหมายฉบับดังกล่าวเป็นการโจมตีประชาธิปไตย ซึ่งร่างโดยกลุ่มอำนาจที่ไร้ความชอบธรรม และเป็นกฎหมายที่เอื้อประโยชน์ให้พรรคการเมืองฝ่ายอำนาจเผด็จการกองทัพพม่า หรือพรรคสหสามัคคีและการพัฒนา (USDP) ก่อนหน้าที่จะมีการเลือกตั้งแบบบังหน้าในปี 2566 นี้

กฎหมายดังกล่าวผ่านร่างเมื่อวันที่ 26 ม.ค.ที่ผ่านมา เนื้อหาของกฎหมายระบุถึงเกณฑ์กำหนดต่างๆ ในการจดทะเบียนพรรคการเมือง ซึ่งเป็นเรื่องยากมากสำหรับองค์กรการเมืองส่วนใหญ่ในพม่า ทั้งหมด 91 องค์กร จะสามารถผ่านเกณฑ์เหล่านี้ ยกเว้น พรรค USDP ของกองทัพพม่า ยกตัวอย่าง มาตรา 5(f) ที่กำหนดว่า พรรคการเมืองแห่งชาติจะต้องมีสมาชิกอย่างน้อย 100,000 ราย ซึ่งมากกว่าที่กฎหมายเดิมระบุไว้ถึง 100 เท่า และจะต้องหาสมาชิกให้ได้ภายใน 90 วัน ซึ่งเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เมื่อดูจากการขาดเสถียรภาพและปัญหาความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในประเทศตอนนี้ อันเป็นผลพวงมาจากการที่มินอ่องหล่าย ทำการรัฐประหารประเทศอย่างไร้ความชอบธรรมเมื่อ 2 ปีที่แล้ว

กฎหมายที่เพิ่งผ่านร่างนี้บีบบังคับให้พรรคการเมืองต่างๆ ในพม่ามีเวลาแค่ 2 เดือน ในการจดทะเบียนภายใต้เกณฑ์กำหนดที่เข้มงวด ไม่เช่นนั้นแล้วพวกเขาก็จะถูกบังคับให้ต้องยุบพรรคและถูกประกาศว่าเป็นพรรคการเมืองที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ซึ่งเคยเป็นพรรครัฐบาลก่อนหน้าที่จะถูกรัฐประหารในเดือน ก.พ. 2564 ได้ประกาศว่าพวกเขาไม่ยอมรับกฎหมายใหม่นี้และไม่ยอมรับคณะกรรมการการเลือกตั้งชุดปัจจุบัน แต่พรรคการเมืองอื่นๆ ก็อาจจะถูกสั่งยุบพรรคได้ถ้าหากว่าเผด็จการทหารพม่าตัดสินว่าพรรคเหล่านี้ติดต่อกับ "องค์กรก่อการร้าย" ซึ่งหมายถึงกองกำลังพิทักษ์ประชาชน (PDFs) ที่ตั้งขึ้นเพื่อสู้รบกับเผด็จการทหาร หรือหมายถึงรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติของพม่า (NUG) ซึ่งเป็นรัฐบาลเงาที่ฝ่ายประชาธิปไตยตั้งขึ้นเพื่อคู่ขนานโต้ตอบเผด็จการทหาร

ชาร์ลส์ ซานติอาโก ประธานร่วมของกลุ่มสมาชิกรัฐสภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชน (ASEAN Parliamentarians for Human Rights: APHR) ผู้เป็นอดีต ส.ส.ของประเทศมาเลเซีย กล่าวว่า กฎหมายฉบับนี้เป็นสิ่งที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามของหลักประชาธิปไตยโดยทั้งหมด ไม่เพียงแค่จากเนื้อหาของมันที่ออกแบบมาเพื่อเป็นช่องทางทำให้พรรคตัวแทนอำนาจของกองทัพอย่าง USDP เป็นพรรคเดียวเท่านั้นที่ถูกกฎหมายเท่านั้น แต่ยังมาจากกระบวนการที่กฎหมายฉบับนี้มีการผ่านร่างโดยกลุ่มอำนาจที่ไร้ความชอบธรรมอย่างคณะรัฐประหารที่นำโดยมินอ่องหล่ายด้วย

ซานติอาโก บอกว่า เผด็จการทหารที่นำโดยมินอ่อนหล่ายนั้นไม่มีความชอบธรรมใดๆ ในการปกครองประเทศ หลังจากที่ก่อการรัฐประหารอย่างไร้ความชอบธรรม และกระทำการโหดร้ายทารุณต่อประชาชนของประเทศตัวเองต่อเนื่องเป็นเวลา 2 ปี ทำให้พวกเขาไม่มีความชอบธรรมใดๆ ในการออกกฎหมาย และขอให้ประชาคมโลกเริ่มต้นจากอาเซียนประณามกฎหมายใหม่นี้อย่างถึงที่สุด

กฎหมายใหม่นี้ออกมาก่อนที่จะมีการเลือกตั้งทั่วไปภายในปีนี้ (2566) จากที่รัฐธรรมนูญฉบับปี 2551 ของพม่าระบุว่า การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินนั้นจะคงอยู่ได้แค่ 2 ปี หลังจากนั้นรัฐบาลจะมีพันธะในการที่จะต้องจัดให้มีการเลือกตั้ง ซึ่งภายในช่วงเวลา 2 ปีนี้เอง มินอ่องหล่ายและกลุ่มผู้นำกองทัพก็พยายามจะควบรวมอำนาจให้อยู่แต่ในมือของกลุ่มตัวเองท่ามกลางการต่อต้านจากประชาชนซึ่งก็ทำไม่สำเร็จ กลุ่มเผด็จการทหารได้ก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติรายวัน ไม่ว่าจะเป็นการวิสามัญฆาตกรรม การโจมตีทางอากาศอย่างไม่เลือกเป้าหมายต่อทั้งหมู่บ้าน การคุมขังโดยพลการ และการทารุณกรรม จนถึงขั้นสังหารใครก็ตามที่ร่วมมือกับฝ่ายต่อต้านเผด็จการ

สมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมืองในพม่า (AAPP) ระบุว่ามีนักโทษการเมืองในประเทศรวมแล้ว 13,689 ราย และเผด็จการพม่าได้สังหารผู้คนไปแล้วอย่างน้อย 2,894 ราย ซึ่งมีความเป็นได้ว่าตัวเลขจริงอาจจะสูงยิ่งกว่านี้ การที่เผด็จการทหารทำสงครามอย่างเต็มรูปแบบต่อประชาชนของตัวเองก็ส่งผลให้มีผู้พลัดถิ่นหลายแสนราย และทำลายเศรษฐกิจของพม่า สร้างหายนะด้านมนุษยธรรมในระดับมโหฬาร

ซานติอาโก กล่าวว่า "ในสภาพย่ำแย่ที่กำลังเกิดขึ้นไปทั่วในพม่า มันเป็นไปไม่ได้โดยสิ้นเชิงที่จะจัดให้มีการเลือกตั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นการจัดให้มีการเลือกตั้งโดยเผด็จการทหารกลุ่มเดียวกับที่ทำให้เกิดสภาพย่ำแย่เช่นนี้ขึ้นมาตั้งแต่แรก

ซานติอาโก มองว่า "การเลือกตั้งนี้ไม่ใช่อะไรเลยนอกจากการพยายามดิ้นรนอย่างไร้หนทางอื่นของมินอ่องหล่ายในการให้ความชอบธรรมต่อการดำรงตำแหน่งของตัวเอง และมันจะแค่ส่งผลให้เกิดการนองเลือดมากยิ่งขึ้นกว่านี้"

"ประชาชนชาวพม่าจะไม่ถูกหลอกโดยการเลือกตั้งบังหน้าเช่นนี้ของเผด็จการทหาร และประชาคมโลกก็ควรจะไม่ยอมให้พวกเขาหลอกเช่นกัน มันจึงเป็นเรื่องสำคัญที่นานาชาติจะต้องปฏิเสธไม่ยอมรับการเลือกตั้งในครั้งนี้ และไม่ยอมรับเผด็จการทหารของมินอ่องหล่ายเองด้วย แล้วพวกเขาก็ควรจะต้องปฏิสัมพันธ์กับฝ่ายประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการในพม่าอย่างจริงจัง เพื่อแสวงหาทางแก้ไขปัญหาต่อวิกฤตในพม่า" ซานติอาโก กล่าว


เรียบเรียงจาก

MPs from Southeast Asia condemn the Myanmar junta’s parties registration law as an assault on democracy, APHR, 31-01-2023

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net