‘ประวัติศาสตร์ช่วยจัดการความขัดแย้งได้’ ปาฐกถาพิเศษ ‘ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ’

ปาฐกถาพิเศษ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียน “ชายแดนใต้กับพรมแดนความรู้ใหม่และอนาคตที่ท้าทาย” ชี้การเข้าใจประวัติศาสตร์คือเข้าใจตัวตนอธิบายแนวคิด “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” ในมิติประวัติศาสตร์ และประวัติศาสตร์ช่วยจัดการความขัดแย้งได้ แต่ต้องเข้าใจวิธีขยายและตัวเชื่อมต่อ นโยบายที่ใจกว้างจะสร้างความถูกต้องให้ปรากฏ

 

ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณอดีตเลขาธิการอาเซียน กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง “ชายแดนใต้กับพรมแดนความรู้ใหม่และอนาคตที่ท้าทาย” ในการสัมมนาทางวิชาการระดับชาติในชื่อเดียวกัน ซึ่งจัดโดยศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยร่วมกับโครงการจัดตั้งสถาบันสมุทรรัฐเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานีเวลา 09.30 น.วันศุกร์ที่ 30 ตุลาคม 2558 ณ ห้องน้ำพราว 2 โรงแรมซีเอส ปัตตานี อ.เมือง จ.ปัตตานี

โดยนางสาวสุวรา แก้วนุ้ย อาจารย์นักวิจัย สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ (CSCD) ได้สรุปความประเด็นสำคัญๆจากปาฐกถาพิเศษดังกล่าวอย่างน่าสนใจได้ดังนี้

เข้าใจประวัติศาสตร์คือเข้าใจตัวตน

1.ประวัติศาสตร์: พื้นฐานในการทำความเข้าใจ ความรู้ ความจริง การทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ คือทำความเข้าใจตัวตน

ประวัติศาสตร์ คือ ความพยายามในการเข้าใจตัวเองตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน โดยมนุษย์ถือเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความพิเศษกว่าสิ่งมีชีวิตอื่นบนโลกใบนี้ มนุษย์มีความสามารถในการเก็บเรื่องราวเป็นความทรงจำ รวมถึงสามารถถ่ายทอดเรื่องราวเหล่านั้นผ่านสัญลักษณ์ต่าง ๆ เช่น การสื่อสารผ่านภาษา ภาพปรากฏการณ์ต่างๆ เป็นต้น

ในการสั่งสมความรู้ทางประวัติศาสตร์นั้นเปรียบได้กับการทำความเข้าใจตนเอง จากอดีตถึงปัจจุบันที่จะไปสู่อนาคต โดยประวัติศาสตร์ที่ถูกต้องจะเป็นสัจธรรม (ความจริง) ที่มนุษย์ทุกคนต้องการ

นอกจากนี้ประวัติศาสตร์ ยังเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เรามีความเป็นตัวเอง มีเสรี มีอัตลักษณ์ และเอกลักษณ์ที่ถูกต้อง เป็นจริง ดังนั้น เราจึงควรตระหนักว่าเราจะทำความเข้าใจกับประวัติศาสตร์อย่างลึกซึ้งอย่างไร และเราจะสามารถแลกเปลี่ยนความรู้ ความเข้าใจด้านประวัติศาสตร์กับคนอื่นได้อย่างไร

“เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” ในมิติประวัติศาสตร์

แนวคิด“เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” นับเป็นแนวคิดสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ “เข้าใจ” ไม่ได้หมายความเพียงแค่การเข้าใจปัจจุบัน แต่หมายถึง การเข้าใจอดีต เข้าใจเนื้อแท้ของประวัติศาสตร์ เข้าใจค่านิยมและบรรทัดฐานของพื้นที่แห่งนั้นด้วย โดยต้องทำความเข้าใจทั้งในประวัติศาสตร์เชิงลึก และประวัติศาสตร์เชิงกว้าง

โดยการเข้าใจประวัติศาสตร์ที่ถูกต้อง เป็นจริง จะนำไปสู่การเข้าถึงและนำไปสู่การพัฒนา จนสร้างสันติสุข/สันติภาพในพื้นที่ได้จริง

ประวัติศาสตร์ช่วยจัดการความขัดแย้ง

ปัจฉิมบท (บทสรุป) ของความขัดแย้ง คือ การค้นหาความจริง (ประวัติศาสตร์ที่เชื่อมโยง) ของการเหตุการณ์นั้นโดยเมื่อค้นเจอความจริงจะเป็นสิ่งที่ช่วยให้เกิดความเข้าใจและเดินต่อไปเพื่อจัดการกับปัญหาเหล่านั้นได้ และเส้นทางของประวัติศาสตร์สามารถเป็นแนวทางการดำเนินงาน (road map) ให้กับอนาคตได้

นอกจากนี้ การเรียนรู้ประวัติศาสตร์ในพื้นที่ความขัดแย้งต่างๆ เช่น แอฟริกา บอสเนีย รูวันดา หรือไอร์แลนด์เหนือ เป็นสิ่งที่ช่วยให้เกิดองค์ความรู้ และเห็นแนวทางในการจัดการปัญหาความขัดแย้งผ่านกระบวนการต่างๆ ได้ ดังนั้น เราต้องทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ของตนเอง เพื่อเข้าใจความจริงที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน อันจะช่วยสร้างทางสันติสุข/สันติภาพ ให้เกิดขึ้นในพื้นที่ได้จริง -- You have to understand your history

เข้าใจวิธีขยายและตัวเชื่อมต่อ

2. ข้อเสนอแนะเพื่อการขยายพรมแดนความรู้ใหม่ และอนาคตในการทำงานที่ท้าทาย

1) การเข้าใจความจริงของความรู้ – เมื่อรู้ว่าความจริงอยู่ตรงไหน เราสามารถนำไปสู่การจัดการปัญหาได้ตรงจุด การจัดทำนโยบายที่มีประสิทธิภาพ และตรงเป้า/โดนจุด

2) การเข้าใจบริบทและพื้นที่ – การเข้าใจบริบทพื้นที่ หมายรวมถึงการเข้าใจวัฒนธรรม วิถีชีวิต ค่านิยมและบรรทัดฐาน ซึ่งส่วนนี้สามารถเชื่อมโยงและต่อยอดการทำงานในสังคมประชาคมอาเซียน และส่วนหนึ่งต้องมีการมองมุมกลับในประเด็นของการมองให้เห็นว่าพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นพื้นที่ที่มีโอกาสของการพัฒนาเมื่อมีการเปิดประชาคมอาเซียน โดยภาษาที่มีในพื้นที่เป็นตัวเชื่อมที่ดี

3) การขยายคนทำงาน – ในบริบทพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ยังต้องการการทำความเข้าใจและมีอีกหลายเรื่องที่ยังขาดความรู้ ซึ่งกลุ่มนักวิชาการภายนอกอาจจะช่วยนำเสนอกรอบแนวคิด เครื่องมือในการทำงานที่ช่วยหนุนเสริมให้คนทำงานในพื้นที่สามารถทำงานต่อได้ และจุดแข็งสำคัญของคนในพื้นที่คือการเป็นคนที่ใกล้ชิด จะมีความเข้าใจและมีโอกาสเข้าถึงข้อมูลอย่างแท้จริง โดย “ความจริงจะทำให้คุณรู้สึก ทำให้เข้าใจตัวเอง เข้าใจสถานภาพและบริบทที่ตนเองดำรงอยู่มากขึ้น”

โดยผู้ที่มีความรู้/นักวิชาการ ที่ทำงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จำเป็นต้องมีความรู้สึกถ่อมตนในทางปัญญาความคิดให้มาก “แท้จริงแล้วเรารู้น้อยมาก มาช่วยให้เรารู้มากกว่านี้ได้ไหม เพราะพื้นที่ที่นี่ยังมีสิ่งซับซ้อนอีกมาก”

นโยบายที่ใจกว้างจะสร้างความถูกต้องให้ปรากฏ

4) การขยายประเด็นในการทำงาน – การค้นคว้าวิจัยในอนาคตต้องมีการตั้งประเด็นใหม่ๆ “หากเรายังไม่รู้คำตอบ ขอให้เราตั้งคำถามที่ถูกต้อง เพราะหากเราเริ่มต้นผิดตั้งแต่การตั้งคำถามจะนำไปสู่อวิชชาตลอดไป”

5) การขยายพื้นที่ในการทำงานความรู้ – การเปลี่ยนแปลงของการดำเนินงานต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียนเกิดขึ้นอยู่เสมอ ดังนั้นเราควรมองให้เห็นโอกาสว่าประชาคมอาเซียนเปรียบเสมือนสะพานเชื่อม ตัวเชื่อม ให้เกิดการพัฒนา และขยายพื้นที่ในการทำงานด้านความรู้

6) การมีเครื่องมือในการทำงาน – เครื่องมือในการทำงานเพื่อการขยายพรมแดนความรู้ใหม่ และการทำงานในอนาคตที่มีความท้าทาย มีหลายส่วนด้วยกัน เช่น การส่งเสริมด้านการศึกษา การสร้างความเข้าอกเข้าใจในความหลากหลายที่มีอยู่ในพื้นที่นี่ การมีความรู้เรื่องทิศทางด้านต่างๆ ของโลก การมีผู้นำที่สามารถเชื่อมโยงประเด็นได้

ในพื้นที่ต้องเดินหน้าต่อโดยมีความมั่นใจพอ มุ่งมั่นพอ และนโยบายก็มีความใจกว้างพอ ที่จะอนุญาตให้เห็นว่าพื้นที่กำลังสร้างความถูกต้องและชำระความไม่ถูกต้องที่มีมาในอดีต และท้ายที่สุดสัจธรรมที่เป็นจริงจะปรากฏขึ้น

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท