Skip to main content
sharethis

หลังถูกสั่งปิดไปพร้อมกับวิทยุชุมชนทั่วประเทศตั้งแต่รัฐประหาร พ.ค 57 มีเดีย สลาตัน สื่อท้องถิ่นของชาวมลายูในสามจังหวัดชายแดนใต้ กำลังจะกลับมาต้นปีหน้า ผอ.มีเดียสลาตันกล่าวว่า การปิดสื่อ เท่ากับปิดช่องทางสื่อสารความคิดของประชาชนต่อกระบวนการสันติภาพ 

เป็นเวลากว่าสี่เดือนแล้ว ที่การพูดคุยสันติภาพระหว่างรัฐบาลไทย กับ ขบวนการปลดแอกเอกราชปาตานี ไร้ความคืบหน้า ในขณะที่ประชาชนในพื้นที่ก็ไม่ตื่นตัวกับการพูดคุยเท่าไรนัก การเจรจาที่เป็นไปแบบปิด และยังไม่เป็นทางการ เริ่มดูจะหยุดนิ่งเมื่อฝ่ายขบวนการยื่นข้อเสนอสามข้อต่อรัฐบาลทหารไทย 
 

ภายใต้รัฐบาลทหาร การพูดคุยกับขบวนการปลดแอกเอกราชถูกเรียกว่า ไดอะล็อก 2 เป็นการพูดคุยที่ริเริ่มโดยรัฐบาลทหารไทย กับ องค์กรร่มของขบวนการชื่อ มาร่า ปาตานี ซึ่งประกอบด้วยหลากหลายองค์กร ในขณะที่การพูดคุยสันติภาพซึ่งถูกริเริ่มโดยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในปี 2556 กับ บีอาร์เอ็น ซึ่งนำโดย นายฮัสซัน ตอยิบ การพูดคุยนี้ถูกเรียกว่า ไดอะล็อก 1 แต่การเจรจาจบลงอย่างค้างเติ่ง หลังจากบีอาร์เอ็น ซึ่งเป็นขบวนการที่มีกองกำลังในพื้นที่มากที่สุด ยื่นข้อเสนอห้าข้อที่ยากจะตอบสนอง และรัฐบาลยิ่งลักษณ์เจอภัยการเมืองภายในจากกลุ่มผู้ชุมนุม กปปส. และถูกรัฐประหารในที่สุด 

 

ข้อเรียกร้องห้าข้อของบีอาร์เอ็น ในไดอะล็อก 1

  1. ต้องให้มาเลเซียเป็นคนกลางในการเจรจา ไม่ใช่ผู้อำนวยความสะดวก
  2. ยอมรับว่า เป็นการพูดคุยระหว่างชาวมลายูปาตานีที่นำโดยกลุ่มบีอาร์เอ็น กับรัฐไทย
  3. ในระหว่างการพูดคุยจะต้องมีผู้สังเกตการณ์จากประชาคมอาเซียน โอไอซี (องค์การการประชุมอิสลาม) และเอ็นจีโอ 
  4. ไทยต้องปล่อยนักโทษที่ถูกคุมขังและยกเลิกหมายจับทั้งหมดโดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ
  5. ไทยจะต้องยอมรับว่ากลุ่มบีอาร์เอ็นเป็นองค์กรเพื่อการปลดปล่อยปาตานี ไม่ใช่กลุ่มแบ่งแยกดินแดน

ข้อเรียกร้องสามข้อของมาร่า ในไดอะล็อก 2 

  1. ยอมรับ “มาร่า ปาตานี” ในฐานะคู่เจรจาอย่างเป็นทางการ 
  2. ให้รัฐสภาไทยรับรองการเจรจาสันติภาพเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อให้รัฐบาลต่อๆ ไปสานต่อ 
  3. ยกเว้นการรับผิดตัวแทนมาร่า เพื่อให้สามารถเข้าประเทศไทยมารับฟังความเห็นของประชาชนได้ 

มาร่า ประกอบด้วย บีอาร์เอ็น พูโล บีไอพีพี และ จีเอ็มไอพี ตัวแทนบีอาร์เอ็นในมาร่าปฏิเสธที่จะตอบคำถามว่า การเข้าร่วมมาร่าของบีอาร์เอ็นนี้ได้ฉันทานุมัติหรือไม่ 

 

 

ประชาไทคุยกับ แวหามะ แวกือจิ ผู้อำนวยการ มีเดีย สลาตัน สื่อท้องถิ่นซึ่งมีอิทธิพลต่อชาวบ้านรากหญ้า ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และเกาะติดสถานการณ์การเมืองและประเด็นความไม่สงบมาโดยตลอดตั้งแต่เมื่อก่อตั้งปี 2551 ทั้งยังมีบทบาทสูงในการสื่อสารทำความเข้าใจกับชาวบ้านเมื่อครั้งไดอะล็อก 1 แวหามะพูดถึงบทบาทของสื่อท้องถิ่น ในฐานะผู้สื่อสารความคิดของประชาชนต่อคู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่าย ซึ่งกระตุ้นให้เกิดการพูดคุยที่ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนมากขึ้น หากแต่มีเดียสลาตัน รวมถึงวิทยุชุมชนอื่นๆ ในสามจังหวัดถูกปิดตั้งแต่รัฐประหารเป็นต้นมา แวหามะบอกว่า การปิดสื่อส่งผลอย่างยิ่งยวดต่อปฏิกริยาของชาวบ้านต่อไดอะล็อก 2 

อย่างไรก็ตาม มีเดียสลาตัน ซึ่งเน้นจัดรายการโดยให้ประชาชนโทรศัทพ์เข้ามาแสดงความเห็น กำลังจะกลับมาออกอากาศอีกครั้งในเดือนมกราคมปีหน้า (2559) 

แวหามะ แวกือจิ 

คุณเห็นความเหมือนหรือแตกต่างอย่างไร ระหว่าง การเจรจาสันติภาพในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ กับสมัย คสช. 

ตอนไดอะล็อก 1 นั้น ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารเรื่องการเจรจาสันติภาพมากกว่าไดอะล็อก 2 ในตอนนั้นทุกคนมีความหวังกับการเจรจา แต่ไม่ถึงกับตั้งตารอความสำเร็จ แต่มองว่า อย่างน้อยการเจรจาก็เป็นทางออกหนึ่ง 

บริบทช่วงนั้น ประชาชนได้รับข้อมูลลวงต่างๆ การจัดฉากต่างๆ แต่พอข่าวเปิดเผยออกมาว่า เป็นการพบปะกันระหว่าง ฮัสซัน ตอยิบ กับ คณะของพล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร ของลวงต่างๆ ก็หายไป กลายเป็นมิติใหม่ของการพูดคุยของรัฐไทย ชาวบ้านก็ตื่นเต้น ประกอบกับ ตอนนั้นการเจรจาเป็นวงเปิด และรัฐก็ให้ข้อมูลสื่อและประชาชนตลอดเวลา และฝ่ายเห็นต่างก็ให้ข้อมูลด้วยเช่นกัน เช่น ทางยูทูบ ประชาชนที่รับสารก็รับสารจากทางสองฝ่าย แล้วก็ชั่งน้ำหนัก เลือกเอาว่าจะเชื่ออย่างไร 

โชคดีตอนนั้น สื่อมีความเป็นอิสระสูง เลยทำหน้าที่ให้ข้อมูลประชาชนได้มากกว่าตอนนี้ ผมจำได้ว่า ในตอนนั้น ตอนแรกๆ ประชาชนก็ยังไม่เชื่อในการพูดคุย ว่าจะเป็นทางออกได้ แต่พอถึงเดือนรอมฎอน เราก็เห็นผลได้เลย ในสองอาทิตย์แรก แทบจะไม่มีความรุนแรงเลย ทำให้คนที่ตอนแรกไม่เชื่อ เริ่มจะคล้อยตาม ว่า เฮ้ย มันใช่ มันคือหนทางที่จะนำไปสู่ความสงบสุขเสียที จนต่อมา ความรุนแรงประทุขึ้นในสองสัปดาห์สุดท้าย ฮัสซัน ตอยิบ ก็ออกมาชี้แจงผ่านยูทูบว่า เป็นเพราะรัฐไทยไม่ตอบสนองข้อเรียกร้องของบีอาร์เอ็น ที่ว่าฝ่ายไทยจะต้องหยุดปิดล้อม ตรวจค้น หยุดใช้ความรุนแรงเช่นกัน แต่กลับมีผู้ต้องหาที่ถูกวิสามัญฆาตกรรมที่บันนังสตา และการปิดล้อมตรวจค้นเกิดขึ้น ซึ่งต่อมาบีอาร์เอ็นก็ออกมาแถลงผ่านยูทูบอีกสามถึงสี่รอบ ทำให้ชาวบ้านซึ่งเป็นผู้รับสารก็มีคำถามในใจมากมาย 

ตอนนั้นเราเป็นสื่อซึ่งอยู่ตรงกลาง เราก็นำเสนอเรื่องจากทั้งสอง่ฝ่ายเท่าๆ กัน ชาวบ้านมีคำถามกับสารของฮัสซัน ตอยิบ เราก็รวบรวมคำถามเหล่านั้นไปถามฮัสซัน ตอยิบ โดยเราประสานกับฝ่ายมาเลเซียให้ช่วยติดต่อให้ มีเดีย สลาตันจึงสามารถไปสัมภาษณ์ฮัสซัส ตอยิบได้ เราก็เอาข้อข้องใจของชาวบ้านไปถาม เช่น คำถามเรื่องการดูแลคนกลุ่มน้อยในสามจังหวัด ฮัสซันก็ตอบว่า ศาสนาของฉัน ฉันปฏิบัติ ศาสนาของคุณคุณปฏิบัติ แล้วก็ยกตัวอย่างมาเลเซีย พูดถึงพหุวัฒนธรรม และพหุศาสนา เป็นการคุยกันแบบสดๆ ตรงไปตรงมา ยี่สิบกว่าคำถาม พอกลับมา เราก็เปิดให้ประชาชนฟัง และแปลภาษาไทยด้วย ประชาชนเลยยิ่งตื่นตัวกับการพูดคุยสันติภาพ ตอนนั้นวิทยุเป็นช่องทางหลักในการรับข่าวสารของชาวบ้านที่นี่เลย วิทยุเป็นช่องทางที่เข้าถึงชาวบ้านรากหญ้าได้อย่างดี  

ช่วงนั้นมีเดียสลาตันก็ได้รับทั้งดอกไม้ และเสึยงขู่ รัฐเข้าใจว่า เราคือกระบอกเสียงให้ฝ่ายบีอาร์เอ็น บีอาร์เอ็นก็มองว่า เราทำงานให้รัฐ แต่เราก็สามารถพิสูจน์ตัวเองได้พอสมควร เราก็โดนทหารเรียกไปคุย เพื่อถามว่า เราไปสัมภาษณ์ทำไม ใครให้ไป คือสำหรับรัฐไทยเนี่ย ระดับนโยบายอาจต่าง แต่ระดับปฏิบัติเหมือนกันตลอด นั่นคือ เขามีความระแวง สงสัย คิดลบตลอด เราก็พยายามเสนอข้อมูลให้รอบด้านและสมดุล เราไม่สัมภาษณ์ฝ่ายเดียว โชคดีที่ตอนนั้นคีย์แมนของฝ่ายรัฐในการพูดคุยก็เล่นกับสื่อด้วย เราจึงเข้าถึงฝ่ายไทยได้ และสามารถถามเขาได้ทุกคำถาม 

สำหรับไดอะล็อก 2 แม้เราจะได้ข้อมูลข่าวสารไม่น้อยไปกว่าตอนไดอะล็อก 1 แต่มันมีก็ขาดอะไรบางอย่าง ทำไมเสียงตอบรับจากคนในพื้นที่ ถึงได้เย็นชา ไม่ตื่นเต้น หรือตื่นตัวกับการพูดคุยครั้งนี้? นี่เป็นคำถามที่ชาวบ้านคุยกันที่ร้านน้ำชา

ประชาชนไม่ค่อยตั้งความหวังกับการคุยครั้งนี้ เพราะ หนึ่ง ภาพลักษณ์ของทหารที่เป็นฝ่ายใช้ความรุนแรง ทหารเป็นผู้ที่จับอาวุธมาโดยตลอด และทหารเป็นคู่ต่อสู้ คู่ขัดแย้งโดยตรงของบีอาร์เอ็น สองคือ มาร่าก็เป็นที่น่าสงสัยว่า เป็นตัวจริงไหม ได้รับฉันทานุมัติหรือไม่ มันไม่เหมือนครั้งแรกที่หัวหน้าคณะพูดคุยคือบีอาร์เอ็น มีการยอมรับสถานะของบีอาร์เอ็นอย่างชัดเจน แต่มาร่านี่ค่อนข้างคลุมเครือ ตอนนั้นบีอาร์เอ็นได้ฉันทานุมัติจากสภาสูงสุดของเขา แต่คราวนี้ไม่มึคำยืนยันเรื่องนี้ บีอาร์เอ็นไม่ยอมรับ และไม่ปฏิเสธ มันเลยดูเฉื่อยชา ประกอบกับรัฐเองก็ยังสงวนท่าที

ถ้าข้อเรียกร้องของบีอาร์เอ็นห้าข้อไม่ได้ถูกสานต่อ แล้วนี่มีมาใหม่จากมาร่าอีกสามข้อ โดยที่ห้าข้อแรกก็ยังไม่ถูกสานต่อ ประชาชนก็มองแล้วว่า ละครเรื่องนี้ไม่สมจริงสมจังแล้ว นอกจากนี้ ก็ยังขาดการสื่อสารไปยังชาวบ้านรากหญ้าอีก 

โจทย์ตอนนี้คือ เราจะสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการติดต่อการพูดคุยครั้งนี้ได้อย่างไร ทำให้คนเข้าใจ และสนใจมากกว่านี้ได้อย่างไร ควรทำให้ชาวบ้านรู้สึกว่า นี่คือเรื่องราวที่จำเป็นต้องรู้ เราเคยมีบรรยากาศแบบนั้นตอน ไดอะล็อก 1 ที่ร้านกาแฟ คนจะคุยกันเยอะมาก แต่ทุกวันนี้ไม่มี ไม่มีการวิพากษ์วิจารณ์อาจเป็นเพราะคนกลัวทหารด้วย สื่อท้องถิ่นที่จะสื่อสารไปถึงชาวบ้านเป็นภาษามลายูถิ่นก็ถูกปิด 

คนในพื้นที่มองมาร่า ปาตานี อย่างไร? 

ทำไมถึงเกิดมาร่า เราน่าจะตั้งคำถามอันนี้ก่อน เพราะมาเลเซียบีบขบวนการ หรือ เพราะไทยต้องการ หรือ เพราะขบวนการต้องการเอง ถ้าตอบข้อนี้ยังไม่ได้ ก็ยากที่จะตอบได้ว่า มาร่ามีความชอบธรรมหรือไม่ 

คนในพื้นที่ยังให้ความนับถือกับมาร่าน้อย ดูจากความเย็นชาและปฏิกริยาที่เขาไม่สนใจ ไม่ตื่นตัว มันไม่มีอะไรที่จะทำให้ชาวบ้านเห็นคล้อยตาม หรือมีวาระร่วมกับมาร่า ซึ่งเคยเห็นในไดอะล็อก 1

ตอนแรกๆ เลย ชาวบ้านเขาก็ไม่ค่อยเชื่อว่าฮัสซัน ตอยิบเป็นตัวจริงเหมือนกัน แต่คำถามนั้น ใช้เวลาตอบไม่นาน แต่ตอนนี้ สำหรับมาร่า ยังไม่มีคำตอบชัดเจน 

การที่มาร่าขอการยกเว้นภาระการรับผิดเพื่อเข้ามาในพื้นที่ปาตานีเพื่อพูดคุยกับประชาชน และกลุ่มประชาสังคมต่างๆ มองเป็นข้อเรียกร้องที่แปลกใหม่หรือไม่ 

ผมรู้สึกเฉยๆ เพราะมองว่ามันเป็นไปไม่ได้ แค่ให้เป็นเงื่อนไขในการพูดคุยเฉยๆ คือมองว่า มันเพ้อเจ้อ มันยากที่ทหารจะยอม และยากที่เขาจะมาคุยกับคน ฟังความเห็นคนเพราะปีกการเมืองของพวกเขาไม่เข้มแข็ง   แนวคิดนี้จะปฏิบัติได้ก็เมื่อปีกการเมืองของบีอาร์เอ็นมันชัด เป็นรูปธรรม มีความเป็นองค์กรการเมืองมากกว่านี้ แต่นี่ก็ยังเป็นองค์กรลับอยู่ สมมติถ้าผมไปคุยกับมาร่า ผมจะโดนเก็บไหม สำหรับภาคประชาสังคมอาจจะเป็นไปได้ แต่ในหมู่ภาคประชาสังคมเองมันก็มีความหลากหลายมากๆ คุณจะคุยกับใคร ถ้าภาคประชาสังคมกลุ่มนี้ไปคุยด้วยแล้ว และไปสานต่อเจตนารมณ์จากการพูดคุย จะถูกมองว่า เป็นกระบอกเสียงของมาร่าไหม  

มีการจัดการแถลงข่าวเปิดตัวฝ่ายขบวนการต่อสื่อเป็นครั้งแรกที่กัวลาลัมเปอร์ เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โดยรัฐบาลมาเลเซียเป็นผู้จัด คุณมองว่าเพราะอะไรมาเลเซียจึงมีบทบาทเยอะในการเจรจาสันติภาพครั้งนี้ อะไรคือประโยชน์ของมาเลเซีย 

ผมก็คาดไว้แล้วว่า จะมีการแถลงข่าว เพราะมันเป็นวาระของมาเลเซีย คือถ้าที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยไม่สงบ มันก็พัฒนาไม่ได้เต็มที่ มาเลเซียทำเพื่อหวังประโนชน์ของชาติมากกว่า 

ตอนนี้ดูเหมือนการพูดคุยสันติภาพถึงทางตัน ควรทำอย่างไรต่อ

ควรสร้างพื้นที่กลาง เปิดพื้นที่สื่อ ให้คนอยากรู้อยากเห็น ไม่ใช่รู้เฉพาะคนวงใน โดยที่มองชาวบ้านว่าไม่สำคัญ ตอนนี้ยังไม่มีพื้นที่ให้ชาวบ้านได้แสดงความเห็นเลย รัฐควรเปิดโอกาสให้สื่อท้องถิ่นทำหน้าที่ มีบทบาทมากกว่าที่เป็นอยู่ ให้เกิดการสื่อสารความเห็นของประชาชนออกมา ถ้าสื่อท้องถิ่นทำงานยาก กระแสในพื้นที่ก็เกิดยาก นี่คือดัชนีชี้วัดถึงการมีส่วนร่วมของของประชาชน 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net