Skip to main content
sharethis

เนเธอร์แลนด์และบางประเทศในยุโรปเตรียมนำร่องใช้หลักสวัสดิการแบบเรียบง่ายอย่างเช่นการจ่าย "รายได้ขั้นพื้นฐาน" เพื่อช่วยเหลือผู้ติดกับดักความจน เช่น คนที่ตกงานซ้ำซ้อน เพื่อให้มีโอกาสหางานที่เหมาะสมและยั่งยืนได้ รวมถึงอาจจะสอดรับกับเศรษฐกิจแบบรับจ้างทำงานชั่วคราวที่เรียกว่า "กิ๊กอิโคโนมี" ซึ่งกำลังทำให้เส้นแบ่งการทำงานแบบเดิมพร่าเลือน

(ที่มาของภาพประกอบ: World Bank/Flickr/IMF 2012 Spring Meetings. Close the Gap: Safety Nets Work Event / CC BY-NC-ND 2.0)

31 ธ.ค. 2558 - 20 เมืองในประเทศเนเธอร์แลนด์เตรียมใช้โครงการช่วยเหลือคนชายขอบและต่อสู้กับความยากจนในรูปแบบใหม่ที่ชื่อว่า "รายได้ขั้นพื้นฐาน" (Basic Income) โดยเป็นการที่รัฐให้เงินทุนกับประชากรส่วนหนึ่งอย่างไม่มีเงื่อนไข เพื่อช่วยเหลือด้านความอยู่รอดและทำให้เกิดความมั่นคงทางการเงินในหมู่ประชากรที่ตกอยู่ภายใต้ "กับดักความยากจน" หวังทำให้พวกเขาออกจากกับดักและสามารถมีส่วนช่วยเหลือสังคมได้

สำนักข่าวเดอะการ์เดียนระบุว่าแนวคิดนี้มีที่มาดั้งเดิมจากจุลสารแผ่นพับ 'อกราเรียน จัสติส' (Agrarian Justice) ของโทมัส เพน นักปฏิวัติเสรีประชาธิปไตยชาวอังกฤษ ที่เสนอว่าทุกคนควรมีรายได้ส่วนหนึ่งแบบได้เปล่าโดยไม่จำเป็นต้องถูกทดสอบหรือทำงานเพื่อให้ได้มา โดยแนวคิดนี้กำลังจะถูกนำมาปรับใช้กับหลายเมืองในเนเธอร์แลนด์สวนกระแสยุคสมัยที่ยุโรปอีกหลายประเทศกำลังถือนโยบายรัดเข็มขัด ลดงบประมาณด้านที่จะเป็นสวัสดิการประชาชน

ฮาลีน เดอ โบเออร์ สมาชิกสภาเมืองอูเทรชต์ ประเทศเนเธอร์แลนด์ หนึ่งในเมืองที่จะมีการดำเนินโครงการนี้เปิดเผยว่าในแต่ละเมืองผู้ที่มีสิทธิ์ได้รับรายได้ขั้นพื้นฐานจะได้รับเงินแบบให้เปล่าเดือนละ 660 ปอนด์ต่อเดือน (ราว 35,000 บาท) แต่ผู้คนเหล่านี้ก็ยังสามารถหาเงินเพิ่มขึ้นจากการทำงานได้โดยไม่มีผลต่อการคิดคำนวณเงิน "รายได้พื้นฐาน" ที่พวกเขาจะได้รับแต่อย่างใด

ซึ่งโครงการดังกล่าวนี้มีขึ้นเพื่อให้บุคคลที่ได้รับสิทธิเล่านี้มีความมั่นคงทางการเงินทุกเดือนและให้พวกเขาได้มีทางเลือกเองว่าอยากได้รายได้เพิ่มขึ้นจากการทำงานหรือไม่ โครงการนี้จะมีการวิเคราะห์และประเมินผลที่เกิดขึ้นโดยนักเศรษฐศาสตร์ชื่อดัง ลุค โกรท ผู้เป็นศาตราจารย์จากมหาวิทยาลัยแห่งอูเทรชต์

โครงการนี้ยังไม่มีการประกาศวันเริ่มต้นที่ชัดเจนแต่จะมีการทดสอบนำร่องในเมืองอูเทรชต์เพื่อหาทางให้ประชาชนบางส่วนหลุดพ้นจากกับดักความยากจน นอกจากนี้แนวคิดเรื่อง "รายได้ขั้นพื้นฐาน" ยังมีเป้าหมายนำมาใช้กับกลุ่มคนที่ต้องออกจากงานซ้ำซ้อนโดยเชื่อว่าคนกลุ่มนี้มักจะถูกบีบจากระบบให้ต้องรีบมีงานทำแต่ก็ออกจากงานในเวลาต่อมา ขณะที่การที่ทำให้คนกลุ่มนี้มีรายได้ขั้นพื้นฐานอาจจะทำให้มีเวลาและพื้นที่ในการจัดการหางานในระยะยาวที่เหมาะสมกับตัวเองได้

นอกจากในเนเธอร์แลนด์แล้วโครงการนี้ยังได้รับความสนใจจากพรรคกรีนของอังกฤษและจากราชสมาคมแห่งลอนดอน รวมถึงมีการทดลองในเรื่องคล้ายๆ กันนี้ในเยอรมนี และในฟินแลนด์ก็มีข้อเสนอในแบบเดียวกันคือการเสนอให้ประชาชนได้รับเงิน 870 เหรียญสหรัฐต่อเดือน (ราว 31,000 บาท) เป็น "รายได้มาตรฐาน" (Universal income) โดยจะมีการหารือตัดสินใจเกี่ยวกับโครงการนี้ภายในเดือน พ.ย. ปี 2559 ทำให้เรื่องของ "รายได้ขั้นพื้นฐาน" จะเป็นประเด็นที่กลายเป็นข้อถกเถียงกันอย่างมากในปี 2559

อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ก็ชวนให้ตั้งคำถามว่าการให้รายได้แบบให้เปล่าเช่นนี้จะส่งผลในทางที่ดีจริงหรือไม่ แต่ก็มีผู้มองว่า "รายได้ขั้นพื้นฐาน" เป็นสวัสดิการในแบบที่เรียบง่ายที่สุดและจะสามารถลดความเป็นพิธีรีตองแบบราชการที่คอยล้อมระบบรัฐสวัสดิการอยู่โดยทำให้มีความซับซ้อนน้อยลงและใช้งบประมาณน้อยลงในด้านการจัดการ

ส.ส. รายหนึ่งชื่อลูคัสจากพรรคกรีนของอังกฤษต้องการให้มีการอภิปรายในเรื่อง "รายได้ขั้นพื้นฐาน" นี้ในสภาของอังกฤษโดยบอกว่าชาวอังกฤษมีแนวคิดเรื่องการทำงานแบบเคร่งครัดมากเกินไปและการทำงานแบบ "ตอกบัตรเข้างาน 9 โมงออกงาน 5 โมง" ก็กำลังจะหมดยุคสมัย เพราะผู้คนกำลังหันมาทำงานในแบบเศรษฐกิจ "กิ๊กอิโคโนมี" (Gig Economy คำว่า Gig หมายถึงการรับงานชั่วคราวมักใช้เรียกการแสดงของนักดนตรี) คือการรับทำงานเป็นครั้งคราวตามความต้องการ เช่น การขับแท็กซี่ Uber ทำให้ลูคัสมองว่าระบบในปัจจุบันไม่เป็นไปความวัตถุประสงค์ของผู้คน

เมื่อวันที่ 29 ธ.ค. สำนักข่าวไฟแนนเชียลไทม์ก็เผยแพร่บทความระบุว่าคำว่า "กิ๊กอิโคโนมี" ในฐานะคำสำคัญคำหนึ่งของปี 2558 ว่าเป็นสิ่งที่กำลังทำให้เส้นแบ่งของการรับจ้างและการทำงานประจำพร่าเลือนลง แต่ก็มีญหาในเรื่องสวัสดิการและการถูกฟ้องร้องจากคนทำงานประจำผู้ได้รับผลกระทบ แต่บทความของไฟแนนเชียลไทมืก็ยังระบุว่ามีบางบริษัทที่เป็นนายหน้าดูแลในเรื่องนี้เริ่มรับคนที่เป็นผู้รับเหมาจ้าง (contractor) เข้าเป็นลูกจ้างประจำเต็มเวลาหรือบางบริษัทก็เสนอสวัสดิการหลังเกษียณหรือประกันชีวิตให้กับผู้ร่วมงานด้วย

 

เรียบเรียงจาก

Dutch cities to experiment with guaranteed basic income for residents in 2016, Inhabitat, 30-12-2015 http://inhabitat.com/dutch-cities-to-experiment-with-guaranteed-basic-income-for-residents-in-2016/

Dutch city plans to pay citizens a ‘basic income’, and Greens say it could work in the UK, The Guardian, 26-12-2015 http://www.theguardian.com/world/2015/dec/26/dutch-city-utrecht-basic-income-uk-greens

A year in a word: Gig economy, Leslie Hook, Financial Times, 29-12-2015 http://www.ft.com/cms/s/0/b5a2b122-a41b-11e5-8218-6b8ff73aae15.html#axzz3vqCDcgTV

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net