การเมือง เสรีภาพ และงานศิลปะ: Asylum Seeker I The Pond and the Fireflies

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

Asylum Seeker I The Pond and the Fireflies เป็นนิทรรศการที่ถูกจัดแสดงที่ The Jam Factory ตั้งแต่ 5 เมษายน 2559 – 15 พฤษภาคม 2559 โดยศิลปินคือ ประพัทธ์ จิระรังสรรค์ และมี Loredana Pazzini-Paracciani เป็นภัณฑารักษ์ นิทรรศการแสดงให้เห็นถึงการแสวงหาสถานะผู้ลี้ภัยผ่านงานศิลปะร่วมสมัย โดยพื้นที่ที่ศิลปินคัดเลือกคือ เชียงใหม่ ซึ่งนอกจากจะเป็นที่อยู่อาศัยของศิลปินแล้ว เชียงใหม่ ยังเป็นเมืองในภาคเหนือที่สำคัญที่มีการรวมตัวของกลุ่มชาติพันธุ์ที่หลากหลาย ทั้งผู้ที่อยู่ในพื้นที่และอีกมากมายที่พยายามจะเข้ามาอยู่ในฐานะของผู้ลี้ภัยด้วย ผู้คนเหล่านี้มีทั้งที่เข้ามาอย่างถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย สิ่งที่น่าสนใจก็คือ บ่อน้ำ พื้นที่ใกล้กับบ้านของศิลปิน ที่ทำให้เกิดเรื่องราวการแลกเปลี่ยนระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์หรือผู้อพยพกับศิลปินจนกลายมาเป็นผลงานในนิทรรศการแห่งนี้

เมื่อเดินเข้าไปภายในสถานที่จัดแสดงจะพบภาพชุด Invisible Shadow (2014) ซึ่งเป็นภาพถ่ายบุคคลที่ดูเลือนรางบนกระดาษไขโปร่งแสงที่แขวนไว้กับคาน แม้จะสามารถมองได้จากสองด้าน แต่ไม่ว่าจะมองในทิศทางใดบุคคลในภาพถ่ายก็ดูคลุมเครือไม่ชัดเจน โดยศิลปินได้อธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับบุคคลในบางภาพที่เป็นเด็กหนุ่มชาวกะเหรี่ยงที่หายไปอย่างไร้ร่องรอยในช่วงหลังรัฐประหารปี 2557 ที่มีข่าวเกี่ยวกับการกวาดล้างผู้อพยพที่เข้ามาอย่างผิดกฎหมาย ความเกรงกลัวทำให้เด็กหนุ่มหนีจากหมู่บ้านแห่งนั้น นอกจากชุดภาพเหล่านี้จะแสดงถึงความไม่ชัดเจนว่าภาพเหล่านี้คืออะไร บุคคลในภาพคือใคร ยังแสดงให้เห็นถึงความคลุมเครือของสถานภาพในการดำรงอยู่ของผู้คนเหล่านี้ ที่กลายเป็นบุคคลไร้สัญชาติจากการอพยพเข้าเพื่อแสวงหาคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าเดิม แต่ไม่สามารถรับสิทธิขั้นพื้นฐานเฉกเช่นบุคคลในประเทศ ถูกกดขี่ค่าแรง ต้องอยู่อย่างหลบซ่อนดั่งเงาที่ไม่มีตัวตน

ถัดมาคือ ผลงานชุด Illuminating Unreal (2014) ที่ถูกแปะไว้กับกระจก เป็นชุดภาพที่ศิลปินถ่ายภาพบ่อน้ำในแต่ละฤดู และนำไปแช่ไว้ในสระน้ำ ก่อนจะใช้มือขูดเพื่อก่อให้เกิดริ้วรอยบนภาพ นอกจากนี้ยังมีชุดภาพส่วนหนึ่งที่ศิลปินนำไปจัดวางบนรางไม้ราวกับเป็นการจำลองบ่อน้ำในแต่ละฤดูกาลมาไว้ในพื้นที่แห่งนี้ เนื่องจาก บ่อน้ำ คือการเชื่อมกันระหว่างโลกแห่งความเป็นจริงกับโลกในห้วงแห่งความฝัน การหลบซ่อนก่อให้เกิดการพบปะสังสรรค์ระหว่างผู้อพยพกับศิลปิน เกิดการทำความรู้จัก และมีการแลกเปลี่ยน ศิลปินทำผลงานที่เป็นเพียงแค่สเกลหนึ่งของปัญหาโดยพยายามชี้ให้เห็นว่าเกิดอะไรขึ้นผ่านสถานที่แห่งนี้

ผลงานชิ้นต่อมาคือผลงานวิดีโอ The Asylum (Dok Rak) นำเสนอถึงผลกระทบหลังจากการรัฐประหาร ที่ทำให้เด็กหนุ่มชาวกระเหรี่ยงหายไปจากความหวาดกลัว และดีเจดอกรักตกงานจากรายการวิทยุที่ปิดตัวไปโดยคำสั่งของ คสช. หรือ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ในช่วงหลังรัฐประหารปี 2557 จนต้องมาขับแท็กซี่เพื่อยังชีพตนเอง โดยในวิดีโอดีเจดอกรักได้ทำการจัดรายการอีกครั้งตรงบริเวณบ่อน้ำ และมีเด็กหนุ่มที่ไม่ใช่หนุ่มกะเหรี่ยงที่หายตัวไปแสดงแทนเป็นบุคคลนั้น การจัดรายการวิทยุที่โดนปิดไปแล้วกับภาพตัวแทนของเด็กหนุ่มที่หายไป ทำให้พื้นที่แห่งนี้กลายเป็นพื้นที่ระหว่างโลกแห่งความเป็นจริงกับโลกแห่งความทรงจำที่อยู่ในห้วงแห่งความฝัน การที่ภาพตัดลงไปใต้น้ำที่ขุ่นมัว มุมกล้องที่วกวน ภาพจากใต้น้ำที่ถูกวัตถุบนพื้นผิวน้ำปิดกั้นจากแสงด้านบนเหมือนกับเป็นเส้นแบ่งระหว่างโลกแห่งความฝันภายใต้ผิวน้ำ และโลกแห่งความเป็นจริงบนพื้นผิวน้ำ

ผลงานชุดสุดท้ายคือ In Letters from the Pond (2014) เป็นจดหมายที่เขียนโดยหมึกลงบนกระดาษ นำไปจุ่มในบ่อน้ำและใส่ลงไปในกรอบ จดหมายเหล่านี้เป็นภาพแทนเรื่องราวของศิลปินที่ต้องการลี้ภัยไปยังประเทศอื่น การโต้ตอบทางจดหมายอิเล็กทรอนิกส์กับสถานทูตและองค์กรต่างๆ มากกว่ายี่สิบแห่งเพื่อหาหนทางในการอพยพ หลบหนีจากสถานการณ์ความไม่ปลอดภัยทางการเมืองที่ส่งผลต่อการสร้างผลงานศิลปะของประพัทธ์ อย่างไรก็ตาม ศิลปินไม่สามารถขอลี้ภัยได้เนื่องจากเงื่อนไขยังไม่ถึงขั้นจะต้องลี้ภัย เช่น การถูกคุกคามจากภัยทางการเมือง ที่ทำให้นักวิชาการหลายคนต้องลี้ภัยออกนอกประเทศเนื่องจากเสี่ยงต่อการดำเนินการทางกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ดังนั้นศิลปินจึงนำจดหมายการโต้ตอบมาผลิตซ้ำอีกครั้ง เพื่อแสดงให้เห็นถึงส่วนหนึ่งของกระบวนการของการแสวงหาที่ลี้ภัย ทำให้สถานะของศิลปินใกล้เคียงกับกลุ่มชาวกะเหรี่ยงที่อพยพมาจากประเทศเพื่อนบ้าน ระหว่างสถานะผู้ลี้ภัยกับผู้อยากลี้ภัยอย่างศิลปิน

การเรียงลำดับการจัดแสดง เรียบเรียงข้อมูลตั้งแต่ประเด็นปัญหาที่เกิดตั้งแต่สภาวะไร้ตัวตนของผู้อพยพ จุดเชื่อมที่ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างผู้อพยพและศิลปินอย่างบ่อน้ำ จนมาถึงจดหมายซึ่งผลงานที่ทำให้เห็นถึงการเชื่อมโยงของการจัดแสดงทั้งหมด จากการสังเกตพบว่าผลงานทุกชิ้นล้วนมีเรื่องราวเกี่ยวกับบ่อน้ำทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นชุดภาพถ่ายบนกระดาษไขที่มีบ่อน้ำเป็นฉากหลัง ชุดภาพถ่ายที่เป็นบ่อน้ำในแต่ละฤดูกาลที่เกิดร่องรอยจากเทคนิคต่างๆ วิดีโอที่วนเวียนเกี่ยวข้องอยู่กับบ่อน้ำ หรือแม้แต่จดหมายโต้ตอบระหว่างศิลปินกับสถานทูตที่ผลิตซ้ำผ่านการเขียนมือก่อนนำไปสัมผัสกับบ่อน้ำจนกลายมาเป็นผลงานชุดนี้ขึ้นมา จดหมายจากบ่อน้ำ กลายเป็นจุดจบที่แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ในงานนิทรรศการระหว่างผู้อพยพที่อาจหนีภัยจากสงครามหรือต้องการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีกว่าเดิม การมาอยู่ในประเทศที่ตนเองถูกทำให้กลายเป็นพลเมืองชั้นรอง ไม่มีสถานะในการเป็นพลเมือง ไม่มีสัญชาติ สิทธิขั้นพื้นฐาน เลขบัตรประชาชนที่เป็นการยืนยันสถานภาพ ต้องอยู่อย่างแอบซ่อนตามหมู่บ้านต่างๆ และผู้อยากอพยพ (ศิลปิน) ที่ต้องการหลีกหนีการจำกัดเสรีภาพทางความคิดในการแสดงออกผ่านงานศิลปะที่สามารถวิพากษ์ประเด็นต่างๆ ในสังคมได้อย่างเสรี

นอกจากนี้ พื้นที่ในการจัดแสดงก็เป็นส่วนสำคัญ จำนวนผลงานที่จัดแสดงผลงานเหมาะสมกับพื้นที่ ทำให้ไม่เกิดที่ว่างมากจนเกินไป และไม่แน่นจนรู้สึกอึดอัด การใช้แสงเงาในการเน้นย้ำผลงานให้มีความโดดเด่นจากพื้นหลัง มากไปกว่านั้นก็คือ ตัวพื้นที่หรืออาคารที่เป็นอาคารกระจกทำให้ดูแตกต่างจากพื้นที่อื่นอย่างพิพิธภัณฑ์ที่มักเป็นกำแพงสีขาวโพลนไปทั่วทุกพื้นที่ จนผู้เขียนรู้สึกอึดอัดมากกับการอยู่ภายในอาคารที่มีแต่สีขาวและผลงานที่ถูกจัดแสดง แม้พื้นที่แห่งนี้จะถูกม่านปิดบังทำให้ไม่สามารถมองเห็นทัศนียภาพด้านนอกได้ แต่สามารถทำให้ผู้เขียนรู้สึกปลอดโปร่งได้มากกว่า

การมาชมนิทรรศการนี้ชวนให้ผู้เขียนทบทวนเรื่องราวเกี่ยวกับเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นในขณะนี้ การจำกัดสิทธิไม่ได้มีเพียงงานศิลปะเท่านั้น แม้แต่การจัดการเสวนาแลกเปลี่ยนทางวิชาการหลายงานก็ได้ถูกยกเลิกไปเพราะรัฐบาลเห็นว่าไม่เหมาะสม กิจกรรมหลายกิจกรรมที่เคยจัดในวันต่างๆ โดยเฉพาะวันสำคัญที่เกี่ยวกับการเมืองได้ถูกจับตามองจากทหารและตำรวจอย่างใกล้ชิด เช่น การจัดกิจกรรม 6 ตุลาคม บริเวณท้องสนามหลวง ในปี 2558 ที่ผ่านมา ได้มีกองกำลังตำรวจมาเฝ้าในระหว่างงาน หรือกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ต่างๆ ที่แสดงให้เห็นว่าเป็นการต่อต้านหรือวิพากษ์รัฐบาล ก็จะพบกองกำลังตำรวจทหารเข้ามาตรึงกำลังไว้ นอกจากนี้ อีกตัวอย่างหนึ่งที่ชวนให้ขบขันคือ ในช่วงปี 2557 ที่มีการรัฐประหารเกิดขึ้น การประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อออนไลน์บางงาน ของงานศิลป์เสวนาที่จัดโดยคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ปรากฏข้อความ “หมายเหตุ เรื่องการขออนุญาตทหารในการจัดงานเสวนาเรียบร้อยแล้ว” แม้จะดูเป็นเรื่องตลกแต่สิ่งเหล่านี้ได้สะท้อนให้เห็นถึงการจำกัดเสรีภาพทางความคิด แม้แต่เรื่องที่ทำเพื่อการเผยแพร่ความรู้ทางวิชาการ ก็ต้องได้รับการอนุมัติจากกลุ่มคนที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ เพียงแค่กังวลการวิพากษ์ที่เกี่ยวกับสถานภาพการเข้ามาเป็นรัฐบาลอย่างไม่ชอบธรรมในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยของตนเองเพียงเท่านั้น จึงทำให้ผลงานทางด้านความคิดต่างๆ ถูกกีดกันและไม่สามารถแสดงความคิดเห็นต่างได้ ทำให้รัฐบาลดูราวกับเป็นสถาบันที่เปราะบางที่ไม่สามารถพูดถึงหรือวิพากษ์ใดๆ ได้เลย

จากที่กล่าวมาเบื้องต้น จะพบว่าศิลปินพยายามชี้ให้เห็นถึงผลพวงของการทำรัฐประหาร ความหวาดกลัวแม้จะอยู่ในที่ห่างไกลจากศูนย์กลางทางอำนาจ นอกจากนี้ยังเป็นเรื่องของความรู้สึกของศิลปินที่รู้สึกถูกจำกัด สิทธิ เสรีภาพ ในการทำงานศิลปะ ทั้งที่สถานภาพทางสังคมต่างจากกลุ่มกะเหรี่ยงที่ไม่มีสัญชาติ ไม่มีเลขบัตรประชาชน แต่เมื่อเกิดการทำรัฐประหาร เรื่องการเซ็นเซอร์กับการจำกัดเสรีภาพการแสดงออกในการทำงาน ทำให้สถานะของศิลปินคล้ายคลึงกับกลุ่มผู้อพยพจนทำให้เกิดความต้องการอพยพและลี้ภัยเช่นกัน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท