Skip to main content
sharethis
'จิตรา บอยคอต' ยันไม่ใช่การนิ่งเงียบแต่สร้างพื่นที่ทางเลือก ชี้ประชามติไร้เกณฑ์ขั้นต่ำผู้มาโหวต ขาดหลักประกันว่าเสียงที่ลงไปจะถูกนับ เหตุถูกห้ามตรวจสอบ ฝ่ายโหวตเยสชูร่างนี้ปราบโกง แต่กังวลที่มา ส.ว. 'โรม โหวตโน' ยันแม้ร่างจะผ่านก็ไม่เสียความชอบธรรมที่จะไม่ยอมรับ ระบุคอร์รัปชั่นไม่อาจแก้ได้ด้วย รธน. แต่แก้ได้ด้วยประชาธิปไตย
 

19 มิ.ย.2559 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อช่วงบ่ายวันนี้ที่ผ่านมา ที่อนุสรณ์สถานณ์ 14 ตุลา มีการจัดกิจกรรม เสวนาวิชาการ ‘ร่างรัฐธรรมนูญ + ประชามติ ซึ่งเป็นการฟังเหตุผลของ 3 กลุ่มคือ โหวตเยส บอยคอต โหวตโน  จัดโดย กลุ่มเสียงจากคนหนุ่มสาว มหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่ก่อนหน้านี้ต้องย้ายจากการจัดในพื้นทีมหาวิทยาลัยรามคำแหง หลังเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจและมหาวิทยาลัยเข้าเจรจา (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม) สำหรับผู้ร่วมอภิปรายประกอบด้วย จิตรา คชเดช นักสหภาพแรงงานและสมาชิกพรรคพลังประชาธิปไตย ซึ่งเป็นผู้ชู 'บอยคอต' ร่าง รธน. ฉบับนี้ รังสิมันต์ โรม ตัวแทนขบวนการประชาธิปไตยใหม่ (NDM) ผู้ชูธง 'โหวตโน' และปัณณธร รัตน์ภูมิเดช จากเครือข่ายรัฐประศาสนศาสตร์ (นิด้า) ซึ่งเป็นตัวแทนฝ่ายโหวตเยส

จิตรา บอยคอต : ประชามติเป็นกระบวนการหนึ่งของรัฐประหาร

จิตรา กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ท่ามกลางบรรยากกาศที่จะพูดอะไรมากเป็นเรื่องลำบาก อย่างไรก็ตามก็เป็นสิ่งจำเป็นที่เราต้องพยายามทำให้เสียงของพวกเรามีขึ้นมา โดยที่จะมาพูดในวันนี้จะพูดในนามของพรรคพลังประชาธิปไตย ซึ่งพรรคมีความเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญและ พ.ร.บ.ประชามติอย่างไร สืบเนื่องจากที่เราเห็นว่ามันมีการรัฐประหารเกิดขึ้น และประชามติก็เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการรัฐประหาร เรามองร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นผลมาจากการฉีกรัฐธรรมนูญ 2550 จึงมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นมา ซึ่งเป็นการร่างขึ้นมาโดยที่ประชาชนไม่มีส่วนร่วม ก่อนหน้านั้นมีประชาชนหลายกลุ่มพูดถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 โดยมีข้อเสนอเยอะแยะมากมายว่ารัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวมีปัญหาตรงไหนบ้าง  แต่เมื่อคณะคสช. ได้ฉีกรัฐธรรมนูญแล้วมีการร่างขึ้นมาใหม่ สิ่งที่ประชาชนพูดถึงเหล่านั้นกลับไม่ได้ถูกหยิบเข้ามาในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เมื่อประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมและเนื้อหาของร่างนี้ก็ไม่สามารถเป็นที่ยอมรับได้
 
เมื่อพูดถึงประชามติ ต้องมีความเป็นธรรม ต้องสามารถรณรงค์ได้อย่างกว้างขวาง ใครเห็นด้วยก็สามารถพูดข้อดีได้อย่างเต็มที่ ส่วนใครไม่เห็นด้วยก็สามารถพูดข้อเสียของรัฐธรรมนูญได้อย่างเต็มที่เช่นกัน ต้องมีสิทธิเสรีภาพและเปิดพื้นที่ในการพูดได้อย่างเต็มที่ แต่อย่างที่เห็นว่าขณะนี้เรามีกฏหมายประชามติที่จำกัดสิทธิเหล่านั้น ไม่สามารถลงพื้นที่ในการหาเสียงได้ รวมทั้งผู้ที่รณรงค์ไม่ให้คนไปประชามติก็ทำไม่ได้เช่นกัน 
 

ไร้เกณฑ์ขั้นต่ำผู้มาโหวต

จิตรา กล่าวด้วยว่า ประชามติครั้งนี้จุดที่สำคัญคือไม่มีเกฏเกณฑ์ในเรื่องของจำนวนคนที่จะไปลงประชามติ ตนในฐานที่ทำงานสหภาพแรงงาน เมื่อมีการลงมติใดๆ ยังต้องมีเงื่อนไขที่ระบุถึงจำนวนขั้นต่ำของคนที่จะเข้าไปใช้สิทธิออกเสียงต่อมตินั้นๆ เพื่อให้ครบองค์ประชุม เช่น ต้องมีสมาชิกไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งที่จะไปลงมติจึงทำให้มติเหล่านั้นสามารถผ่านได้ แต่ประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญนี้ ทั้งที่เป็นเรื่องใหญ่เรื่องสำคัญที่กำหนดโครงสร้างความสัมพันธ์ขององค์กรทางการเมืองต่างๆ ในประเทศแต่กลับไม่มีข้อกำหนดเหล่านี้ กลายเป็นว่าคนไปลงเท่าไหร่ก็ได้ ผลแพ้ชนะนับเพียงแค่คนไปโหวต ขณะที่คนที่ไม่ไปลงก็ถูกทำให้กลายเป็นเสียงที่ไม่มีหรือไม่เกิดขึ้น
 
ในภาวะที่สถานการณ์การเมืองแบบนี้ที่คนไม่สามารพูดอะไรได้เลย แล้วจะเกิดประชามติที่เป็นธรรมได้อย่างไร เราจึงคิดว่านอกจากประชามติที่ไม่เป็นธรรมแล้ว ที่มาของรัฐธรรมนูญก็ไม่มีส่วนร่วมจากประชาชน รวมถึงเคยมีข้อเสนอว่ารัฐธรรมนูญที่ดีหรือการเแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 50 ก็ไม่ถูกบรรจุไว้ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพราะฉะนั้นพวกเราจึงมีความเห็นว่าเราไม่สามารถที่จะไปเข้าร่วมการลงประชามติครั้งนี้ได้ 
 

ประชามติที่ตัวเลือกหนึ่งไม่ชัดเจน

จิตรา กล่าวว่า หากประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่าน เราก็จะเห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญที่นำไปปฏิบัติใช้แล้วประชาชนจะถูกริดรอนสิทธิอะไรบ้าง แต่ถ้าร่างรัฐะรรมนูญฉบับนี้ไม่ผ่านก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะเอารัฐธรรมนูญฉบับไหนมาใช้หรือจะทำอย่างไรต่อไป จึงคิดว่าไม่สามารถเข้าร่วมการลงประชามติครั้งนี้ได้ ดังนั้นต้องยืนหยัดว่า ถ้าประชาชนไม่ส่วนร่วม และไม่สามารถรณรงค์ ไม่สามารถที่จะเสนอข้อต่อรองได้ว่ารัฐธรรมนูญที่ดีเป็นอย่างไร เราก็ไม่ควรจะไปยุ่ง และเราจะบอกว่าเราไม่ยอมรับกระบวนการของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ตั้งแต่ต้นและก็ไม่ยอมรับการฉีกรัฐธรรมนูญนี้
 

เผยตอน 50 โหวตโน ทำเต็มที่ รธน.ยังผ่าน

ผู้ดำเนินรายการได้ถามถึงประสบการณ์การรณรงค์โหวตโนตอนประชามติร่างรัฐธรรมน 50 จิตรา กล่าวว่า ตอนนั้นตนอยู่ร่วมกับการรณรงค์โหวตโน แล้วเราอยู่ในบรรยากาศที่สามารถทำกันได้อย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นการแจกเอกสาร ที่สมัยนั้นเราจะแจกเอกสารตามหน้าโรงงานต่างๆ ตามสถานีขนส่ง อย่างไรก็ตามก็มีเรื่องของบรรยากาศการประชุมก็ทำค่อนข้างยากเหมือนกัน เช่นแถวโรงงานถูกสั่งให้ยกเลิก แต่สำหรับการแจกเอกสารนั้นสามารถทำได้ ภายใต้การทำงานได้อย่างเต็มที่ โหวตโนยังไม่สามารถจะผ่านไปได้ และในสถานการณ์แบบนี้ตนก็ไม่อยากประเมินว่ามันจะแพ้หรือชนะอะไร แต่เอาเป็นว่าเมื่อปี 50 เราก็ทำกันมาอย่างเต็มที่แล้ว และเมื่อมีรัฐธรรมนูญก็ไม่สามารถแก้ไขหรืออะไรได้ ตนคิดว่าครั้งนี้เราควรได้เล็งเห็นผลหากภาคประชาชนเห็นว่าสิ่งไหนที่มันไม่ดีไม่ควร ไม่ถูกต้องและไม่สามารถนำไปสู่สิ่งที่ดีได้ ก็ไม่ควรเข้าไปร่วม และเพื่อประกาศให้รู้ว่าในเมื่อคุณไม่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมตั้งแต่แรก คุณจะให้เราไปร่วมในขั้นตอนสุดท้ายทำไม 
 

ยันบอยคอตไม่ใช่การนิ่งเงียบแต่เป็นการสร้างพื่นที่ทางเลือก

ตัวแทนเสียงฝ่ายบอยคอต กล่าวต่อว่า กระบวนการประชามตินั้นเริ่มขึ้นแล้วไม่ใช่มีเพียงวันที่ 7 สิงหา เท่านั้น แต่มันเริ่มมานานแล้ว ขณะที่เรามี มาตรา 61 วรรค 2 ของ พ.ร.บ.ประชามติ ที่แม้แต่ผู้ตรวจการแผ่นดินเองยังต้องส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ ยังเห็นว่ามันมีปัญหาเลย เนื่องจากอาจจะกระทบต่อสิทธิในเสรีภาพการแสดงออก การรณรงค์ของฝ่ายต่างๆ ส่งผลให้ประชาชนไม่ได้รับข้อมูลที่แท้จริงและเป็นธรรมในการไปลงประชามติ ว่ามันมีข้อดีข้อเสีอย่างไร จึงถือว่ามันไม่เป็นธรรม  เมื่อเรารู้อยู่แล้วว่าเมื่อมันไม่ชอบธรรม 
 
"ความนิ่งเงียบของประชาชนกับการบยคอตมันคนละอย่างกัน การบอยคอตคือการสร้างพื้นทีที่ให้เห็นว่ามีประชาชนกลุ่มหนึ่ง ที่ไม่เอาประชามติที่ไม่เป็นธรรม มันไม่ใช่ความนิ่งเงียบ ถ้าเป็นความนิ่งเงียบก็จะไม่มีคำว่าบอยคอต แต่บอยคอตคือพื้นที่ในการที่จะบอกว่าเราไม่ยอมรับในกติกาที่ไม่เป็นธรรม และเราไม่เพียงไม่ยอมรับกติกาที่ไม่เป็นธรรม เราไม่ยอมรับร่างรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นธรรม รวมทั้งที่มาที่ไม่ยึดโยงกับประชาชนด้วย" จิตรา กล่าว
 

ไม่มีหลักประกันว่าคะแนนจะถูกประกาศ เพราะขาดการตรวจสอบที่แท้จริง

ตัวแทนเสียงฝ่ายบอยคอต เสนอว่า เรามาเรียกร้องกติกาที่เป็นธรรมก่อนแล้วเราร่วมกันโหวตอย่างนี้จะดีกว่า พร้อมกล่าวอีกว่า ภายใต้กระบวนการประชามติที่ไม่เป็นธรรม ขาดเสรีภาพ ดังนั้นผลประชามติจึงไม่สามารถยอมรับได้ เราไม่สามารถมีหลักประกันที่แน่นอนคะแนนเสียงที่ออกมาจะสะท้อนความจริงได้ เนื่องจากเราไม่สามารถที่จะตรวจสอบอะไรได้เลย อย่างกรณี นปช. ที่ตั้งศูนย์ปราบโกงประชามติก็ไม่สามารถทำได้ รวมทั้งเจตนาที่แท้จริงของประชาชนด้วยว่าเขาต้องการอะไร เนื่องจากขาเสรีภาพในการรณรงค์ที่จะบอกข้อดีข้อเสียในมุมมองของแต่ละคน ทำให้ประชาชนได้ข้อมูลที่จำกัดและไม่เป็นธรรม
 
"เชื่อว่าคนอาจไปโหวตจำนวนมากก็ได้ที่จะไม่เอารัฐธรรมนูญฉบับนี้ แต่เราก็ไม่รู้อีกว่าผลจะเป็นอย่างไร เพราะการประกาศผลหรืออะไรนั้น เราไม่สามารถที่จะตรวจสอบได้อย่างแท้จริง" จิตรา กล่าว
 
ต่อกรณีคำถามว่าหากโหวตโนชนะแล้วจะยอมรับผลประชามติครั้งนี้หรือไม่ จิตรา ตอบว่า เมื่อตนบอยคอตร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ หากรัฐธรรมนูญฉบับนี้มันตกไปก็เริ่มกระบวนการใหม่ ดังนั้นเราไม่มีความขัดแย้งกับการไม่เอาร่างรัฐธรรมนูญนี้เลย โดยเมื่อผลตกไปก็เสนอว่าให้หยิบเอารัฐธรรมนูญ 40 หรือ 50 มาใช้เพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งและร่างรัฐธรรมนูญร่วมกันใหม่ได้ 

ปัณณธร : ชี้ ร่างรธน. นี้ปราบโกง คุม ส.ส.

ปัณณธร รัตน์ภูมิเดช ตัวแทนฝ่ายโหวตเยส กล่าวว่า ตนเข้าใจเรื่องคณะรัฐประหารที่เข้ามาควบคุมยุติความรุนแรง เมื่อมองไม่เห็นทาออกขณะนั้น จนมีการร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ อยากให้เห็นมุมที่ดี ไม่อยากหยิบยกมาตำหนิ เนื่องจากสังคมไทยบอบช้ำมาเยอะแล้ว ในจุดที่เห็นว่าเป็นจุดเด่น คือ การมีการควบคุม ส.ส. เรื่องการควบมุการทุจริตคอร์รัปชั่น เรื่องของการเพิ่มโทษในการตัดสิทธิ์ แต่ก็มีจุดอ่อน เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ต้องใช้เสียงข้างมากและมี ส.ว. 1 ใน 3 มาสนับสนุน ตรงนี้เกรงว่าจะมีปัญหาต่อไปหรือไม่อย่างไร

ปัณณธร กล่าวต่อว่า จุดเด่นการใช้มาตรการลงโทษการทุจริต คอร์รัปชั่นนั้นถือว่าเป็นจุดดี วันนี้ถ้าเราได้แก้ปัญหาตรงจุดนี้ได้อย่างจริงจัง เชื่อว่าประเทศเราจะสามารถกรั่นกรองนักการเมืองที่จะเข้ามาได้ดีขึ้น

ห่วงที่มาของ ส.ว.ไม่ได้มาจาก ปชช.โดยตรง

อย่างไรก็ตาม ปัณณธร ยังมองว่า ส่วนที่น่าเป็นห่วงใน รธน.ฉบับนี้คือเรื่องของที่มาของ ส.ว. ไม่ได้มาจากประชาชนโดยตรง เพราะเป็นการแต่งตั้ง ต้องเป็นจุดที่น่าสังเกตว่าจะมีผลกระทบหรือไม่ หากร่างฉบับนี้ผ่านจะมีปัญหาระยะยาวหน้าไม่

เรื่องของระบบ ปัณณธร ยังมองว่า ถ้าประเทศเรามีรัฐบาลที่เข้มแข้ง และมีการตรวจสอบอย่างเข้มงวด เชื่อว่าประเทศเราสามารถเดินหน้าต่อไปได้ ดังนั้นต้องมีกลไกในการตรวจสอบเช่นกัน โดยเฉพาะปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น เชื่อว่าการบริหารงานของหน่วยงานต่างๆ จะทำได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ดังนั้นในสถานการณ์ปกติแล้วอยากให้ช่วยกันตรวจสอบด้วย พวกเราประชาชนต้องช่วยกันเข้มแข็งเรื่องนี้ ใส่ใจเรื่องการศึกษารัฐธรรมนูญ คุณธรรมจริยธรรม ด้วย ไม่ใช่เฉพาะในสถานการณ์ที่เป็นแบบนี้

ปัณณธร ยืนยันด้วยว่า การทุจริต มีในทุกวงการ ไม่เพียงนักการเมือง แต่มีทั้งข้าราชการและเอกชน อยากให้ภาคประชาชนเข้มเข็งเพื่อตรวจสอบ 

โรม 'โหวตโน' ระบุ ร่าง รธน.ก่อผลกระทบ 3 กลุ่ม

ด้านรังสิมันต์ โรม กล่าวว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวจะมีผลกระทบโดยตรงต่อคน 3 กลุ่ม หนึ่งคือกลุ่มนักเรียนผู้ปกครอง เพราะในร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดให้รัฐบาลจัดการศึกษาฟรีให้กับนักเรียนชั้นมัธยมปลาย นั่นหมายถึงผู้ปกครองของนักเรียนชั้นมัธยมปลายจะต้องแบกรับค่าใช้จ่ายในส่วนนี้เพิ่มจากแต่ก่อน และถึงแม้ปัจจุบัน คสช.จะออกประกาศเป็นคำสั่งตามมาตรา 44 ให้เรียนฟรีถึงม.ปลาย แต่ก็เป็นเพียงการทำตามอำเภอใจของผู้มีอำนาจซึ่งสามารถถูกแก้ไขหรือยกเลิกคำสั่งได้ตลอดเวลา

กลุ่มที่สองคือ กลุ่มชาวบ้านและ NGO โดยในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีการพูดถึงสิทธิชุมชนของคนกลุ่มนี้น้อยมากและตัดการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดการบริหารทรัพยากรธรรมชาติออกไป อีกทั้งตัวบทกฎหมายก็เขียนด้วยถ้อยคำลอยๆ ที่ไม่สามารถนำเอาไปปรับใช้ในการรักษาผลประโยชน์ของชาวบ้านได้ และกลุ่มที่สามที่จะได้รับผลกระทบ คือกลุ่มศาสนา เนื่องจากร่างรัฐธรรมนูญได้กำหนดแนวทางให้ภาครัฐต้องเลือกข้างศาสนาหนึ่งที่มีการกำหนดนิกายที่ชัดเจน ทั้งที่ความจริงแล้วศาสนาควรแยกออกจากรัฐและเป็นเรื่องของปัจเจก ซึ่งการที่รัฐต้องเลือกข้างศาสนาจะทำให้ทุกศาสนาและทุกนิกายที่เคยอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข ไม่สงบสุขอีกต่อไป

รังสิมันต์ กล่าวด้วยว่า ยิ่งไปกว่านั้นหากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านประชามติและประกาศใช้ จะทำให้คำสั่งตามมาตรา44 ที่สั่งตามอำเภอใจของผู้มีอำนาจ ได้รับการรับรองให้มีสถานะเทียบเท่ารัฐธรรมนูญ ซึ่งจะไม่สามารถแก้ไขได้ นอกจากการรัฐประหารเท่านั้น

ชี้คอร์รัปชั่นไม่อาจแก้ได้ด้วย รธน. แต่แก้ได้ด้วยประชาธิปไตย

รังสิมันต์ ยังกล่าวอีกว่า การเอารัฐธรรมนูญไปโยงกับการแก้ไขทุกจริตคอรัปชั่นเป็นวิธีคิดที่มีปัญหา เพราะการทุจริตไม่ได้มีเพียงในหมู่นักการเมือง แต่มีอยู่ในทุกระดับของสังคม ฉะนั้นหากประชาชนต้องการจะตรวจสอบว่ารัฐบาลมีการทุจริตหรือไม่ ก็ยิ่งต้องทำให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตย เพื่อจะทำให้ได้เห็นกระบวนการที่ชัดเจนและตรวจสอบได้ที่สุด ซึ่งรัฐธรรมนูญไม่ใช่กลไกแก้ไขการทุจริต แต่เป็นสัญญาประชาคมที่ต้องเป็นที่ยอมรับของประชาชนทุกคน

รังสิมันต์ ยังกล่าวอีกว่าการลงประชามติในครั้งนี้คือ การตัดสินใจของผู้มีอำนาจสูงสุดของประเทศ นั่นก็คือประชาชน เป็นโอกาสในการแสดงออกของประชาชน ซึ่งถ้าผลออกมาเป็นการไม่รับ มันไม่ใช่เพียงแค่การไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ แต่มันคือการไม่ยอมรับและไม่ให้ความชอบธรรมกับ คสช. และถ้า คสช.ยังไม่ฟังก็แสดงว่าเขามองว่าเสียงของประชาชนไม่มีความหมาย และมองว่าประชาชนไม่ได้เป็นเจ้าของประเทศอย่างแท้จริง  

แนะบอยคอตควรโจมตีที่กติกาไม่เป็นธรรม

นอกจากนั้น รังสิมันต์ ยังกล่าวถึงกลุ่มคนที่จะบอยคอตร่างรัฐธรรมนูญว่า กลุ่มบอยคอตจะต้องแยกให้ออกระหว่างการมีประชามติกับกติกาประชามติ เพราะการมีประชามติที่ประชาชนเป็นคนตัดสินใจอนาคตของประเทศ เป็นเรื่องที่ต้องมีอยู่แล้ว แต่ที่มีปัญหาคือกติกาของการลงประชามติที่ไม่ชอบธรรม เพราะฉะนั้นกลุ่มบอยคอตจะต้องโจมตีไปที่ตัวกติกาพยายามเรียกร้องให้มันมีความชอบธรรมที่สุด เพราะหากกลุ่มคนบอยคอตนิ่งเงียบไม่ไปลงคะแนน อาจหมายถึงการรับรอง คสช.

ยันแม้ร่างจะผ่านก็ไม่เสียความชอบธรรมที่จะไม่ยอมรับ

รังสิมันต์ กล่าวต่อว่า ถึงแม้ประชาชนจะออกไปโหวตโนแล้วแต่ร่างรัฐธรรมนูญก็ยังผ่าน ก็ไม่ทำให้สูญเสียความชอบธรรม เพราะบนกติกาการลงประชามติที่ไม่เป็นธรรมแบบนี้ จะไม่มีใครยอมรับผลของการลงประชามติ ไม่ว่าจะเป็น NDM ประชาชน หรือ นานาชาติ ก็ตาม 

ส่วนประเด็นที่สมาชิคพรรคประชาธิปัตย์ออกมาบอกให้รับร่างรัฐธรรมนูญไปก่อนค่อยแก้ไขทีหลังนั้น รังสิมันต์ กล่าวว่า เป็นวิธีพูดเดิมๆ ที่เคยใช้ในสมัยรัฐธรรมนูญปี 50 ซึ่งขนาดกลไกในรัฐธรรมนูญปี 50 ที่ไม่ยุ่งยากเท่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ ยังไม่สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้เลย ฉะนั้นหากประชาชนรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไปก่อน ก็จะไม่สามารถแก้ไขอะไรได้ คสช. หรือ ม.44 ก็ยังคงจะอยู่ต่อไป และอาจจะได้นายกเป็นคนเดิมก็ได้ เพราะตามร่างรัฐธรรมนูญ สว.มีอำนาจในการเลือกนายก และที่มาของสว. ก็มาจากการสรรหา

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net