Skip to main content
sharethis

18 ก.ค.2559 อภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า มอบหมายให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เร่งส่งเสริมและพัฒนามาตรฐานการบริหารจัดการ ธุรกิจบริการดูแลผู้สูงอายุ ให้มีคุณภาพ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ใช้บริการทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ พร้อมรองรับสังคมผู้สูงอายุ ที่เติบโตเป็นอย่างมากทั่วโลก เนื่องจากมีปัจจัยสนับสนุนหลายประการ อาทิ คนไทยมีหัวใจบริการ ความสะดวกสบายในการรับบริการ ค่าใช้จ่ายความเหมาะสม สถานที่พักผ่อนที่หลากหลายสอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของแต่ละบุคคล รวมทั้งมีสถานบริการทางการแพทย์และสถานบริการสุขภาพที่ได้มาตรฐานสากล ทำให้ธุรกิจบริการดูแลผู้สูงอายุของไทยสามารถตอบโจทย์ผู้สูงอายุจากทั่วทุกมุมโลกได้ครบทุกมิติ

กระทรวงพาณิชย์ให้ความสำคัญในการเตรียมความพร้อมให้ไทยขึ้นเป็นศูนย์กลางธุรกิจบริการดูแลผู้สูงอายุของโลก ซึ่งเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2554 ได้แก่ สร้างองค์ความรู้ และเสริมสร้างศักยภาพด้านการบริหารจัดการ เพื่อยกระดับการบริการ ช่วยลดต้นทุนของกิจการและเพิ่มสัดส่วนรายได้ให้มากขึ้น ปัจจุบันมีธุรกิจบริการดูแลผู้สูงอายุผ่านการพัฒนาในขั้นที่ 1 แล้ว จำนวน 442 ราย , การพัฒนาธุรกิจสู่เกณฑ์มาตรฐานคุณภาพการบริหารจัดการธุรกิจ เป็นการสร้างศักยภาพในการแข่งขัน และสร้างให้ธุรกิจมีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล โดยทำการประเมินวิเคราะห์ธุรกิจ ตลอดจนการให้คำปรึกษาแนะนำเชิงลึก ณ สถานประกอบการ เพื่อให้ธุรกิจสามารถพัฒนาเข้าสู่เกณฑ์มาตรฐานคุณภาพได้ จนถึงปัจจุบันมีจำนวนธุรกิจที่ผ่านการพัฒนาในขั้นที่ 2 แล้ว จำนวน 55 ราย และขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาสู่ขั้นที่ 3 คือ การพัฒนาศักยภาพการตลาดให้สามารถสร้างเครือข่ายกับนักลงทุนหรือเครือข่ายนักธุรกิจในประเทศและต่างประเทศ

ไทยพร้อมเป็นฮับอุตสาหกรรมชีวภาพ

วันเดียวกัน อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงการผลักดันอุตสาหกรรมชีวภาพของไทย ว่า ผลผลิตทางการเกษตรของไทยไม่ใช่แค่นำไปแปรรูปเป็นอาหารอย่างเดียว แต่สามารถใช้นวัตกรรม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาต่อยอดอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตรไปสู่อุตสาหกรรมชีวภาพ ได้แก่ พลังงานชีวภาพ เช่น ไบโอดีเซล เอทานอล และผลิตภัณฑ์ชีวภาพ เช่น พลาสติกชีวภาพ เคมีชีวภาพ ผลิตภัณฑ์อาหารเสริม สารสกัดจากธรรมชาติ รวมถึงต่อยอดไปสู่การผลิตในอุตสาหกรรมยา และเครื่องสำอาง โดยอุตสาหกรรมชีวภาพ เป็น 1 ใน 5 อุตสาหกรรมใหม่ของประเทศ ที่รัฐบาลมุ่งส่งเสริมด้วยการดึงดูดการลงทุนจากประเทศเป้าหมาย เช่น เนเธอร์แลนด์ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา เป็นต้น  ดังนั้นประเทศไทยต้องดำเนินการด้านต่างๆ เช่น 1.ด้านการเชื่อมโยงวัตถุดิบสู่ภาคอุตสาหกรรม 2.ด้านการส่งเสริมการลงทุน มีการปรับปรุงมาตรการภาษีและสิทธิประโยชน์จูงใจ 3.ด้านการวิจัยพัฒนาและนวัตกรรม เช่น แลกเปลี่ยนบุคลากรวิจัยระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน จัดสรรเงินทุนให้หน่วยงานวิจัย 4.ด้านการตลาด เนื่องจากผลิตภัณฑ์ชีวภาพและพลังงานชีวภาพมีราคาสูง ในช่วงแรกภาครัฐจึงต้องช่วยสนับสนุนผ่านกองทุนฯ เช่น กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง หรืองบประมาณอุดหนุน และการรณรงค์ประชาสัมพันธ์เพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนผู้บริโภค

อรรชกา กล่าวว่าเพื่อผลักดันให้เกิดอุตสาหกรรมชีวภาพ  กระทรวงอุตสาหกรรมได้จัดทำโครงการพัฒนาเครือข่ายนวัตกรรมภาคอุตสาหกรรมขึ้น เป็นโครงการต่อเนื่อง 5 ปี (พ.ศ.2559-2563) ภายใต้งบประมาณ 9ล้านบาท โดยมอบหมายสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมเป็นเจ้าภาพ มีกลุ่มเป้าหมายนำร่อง 2 กลุ่มหลัก คือ กลุ่มแปรรูปเกษตร และกลุ่มที่ใช้เทคโนโลยี นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้ตั้งงบประมาณอยู่ในวาระการปฎิรูปสู่การเป็น Thailand 4.0 วงเงินกว่า 3 หมื่นล้านบาท สำหรับกลุ่มเกษตรแปรรูปและอุตสาหกรรมชีวภาพ โดยมีหลายกระทรวงบูรณาการขับเคลื่อน เช่น การพัฒนาประสิทธิภาพและผลิตภาพฯ การพัฒนาบุคลากรทั้งผู้เชี่ยวชาญและบุคลากรปฏิบัติการ การพัฒนาเครือข่ายนวัตกรรมของอุตสาหกรรมอาหาร การเชื่อมโยงความต้องการของผู้ประกอบการไปสู่นักวิจัย การพัฒนาเมืองนวัตกรรมอาหาร การสร้างห้องปฏิบัติการเพิ่ม รวมทั้งการสนับสนุนเอาเทคโนโลยีขั้นสูงและระบบผลิตอัจฉริยะมาใช้พัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพ เป็นต้น

 

ที่มา : สำนักข่าวไทย 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net