Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 26 ก.ย. ที่ผ่านมา ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ พระราชบัญญัติ สภาความมั่นคงแห่งชาติ พ.ศ. 2559 ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร. ให้ไว้ ณ วันที่ 26 ก.ย. พ.ศ. 2559 เป็นปีที่ 71 ในรัชกาลปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยสภาความมั่นคงแห่งชาติจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตรา พ.ร.บ.ขึ้นไว้โดยคําแนะนําและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

ประกาศดังกล่าวมีระบุหมายเหตุ ถึงเหตุผลในการประกาศใช้ พ.ร.บ.ฉบับนี้ ว่า เนื่องจากบริบทสถานการณ์ด้านความมั่นคงและแนวโน้มภัยคุกคามต่อความมั่นคงในปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงไปทั้งภายในประเทศและภายนอกประเทศโดยมีความเชื่อมโยงกับมิติด้านต่างๆ และมีความรุนแรงและสลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้น แต่โดยที่กลไกการดําเนินการด้านความมั่นคงตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.สภาความมั่นคงแห่งชาติ พ.ศ. 2502 ยังไม่เอื้อต่อการปฏิบัติภารกิจในการจัดทําและบริหารนโยบายและยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงให้ไปสู่การปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรมรวมทั้งในการติดตาม ประเมิน วิเคราะห์ และการแจ้งเตือนสถานการณ์ที่อาจก่อให้เกิดภัยคุกคาม หรือการประกาศสถานการณ์อันเป็นภัยคุกคามและการประกาศระดับความร้ายแรงของภัยคุกคาม ตลอดจนการดําเนินการอื่นที่จําเป็นในการป้องกันหรือแก้ไขสถานการณ์นั้น ดังนั้น เพื่อให้การดําเนินการด้านความมั่นคงแห่งชาติและการรักษาความมั่นคงแห่งชาติเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและพร้อมรองรับสถานการณ์ด้านความมั่นคงและแนวโน้มภัยคุกคามต่อความมั่นคงแห่งชาติยิ่งขึ้น จึงจําเป็นต้องตรา พ.ร.บ.นี้

โดย พ.ร.บ.ดังกล่าว มีรายละเอียดดังนี้

      “มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติสภาความมั่นคงแห่งชาติ พ.ศ. 2559”
       
       มาตรา 2 พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
       
       มาตรา 3 ให้ยกเลิก
       (1) พระราชบัญญัติสภาความมั่นคงแห่งชาติ พ.ศ. 2502
       (2) พระราชบัญญัติสภาความมั่นคงแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2507
       
       มาตรา 4 ในพระราชบัญญัตินี้
       
       “ความมั่นคงแห่งชาติ” หมายความว่า ภาวะที่ประเทศปลอดจากภัยคุกคามต่อเอกราช อธิปไตยบูรณภาพแห่งอาณาเขต สถาบันศาสนา สถาบันพระมหากษัตริย์ ความปลอดภัยของประชาชน การดํารงชีวิตโดยปกติสุขของประชาชน หรือที่กระทบต่อผลประโยชน์แห่งชาติหรือการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รวมทั้งความพร้อมของประเทศที่จะเผชิญสถานการณ์ต่าง ๆอันเกิดจากภัยคุกคามทุกรูปแบบ
       
       “นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ” หมายความว่า นโยบายและแผนหลักของชาติที่เป็นกรอบหรือทิศทางในการดําเนินการป้องกัน แจ้งเตือน แก้ไข หรือระงับยับยั้งภัยคุกคามเพื่อธํารงไว้ซึ่งความมั่นคงแห่งชาติ
       
       “ภัยคุกคาม” หมายความว่า ภาวะหรือสถานการณ์ที่ก่อให้เกิดความไม่มั่นคง ซึ่งเป็นปัญหาที่มีความรุนแรง สลับซับซ้อน หากไม่ดําเนินการแก้ไขจะเกิดผลกระทบในวงกว้างต่อความมั่นคงแห่งชาติ
       “สภา” หมายความว่า สภาความมั่นคงแห่งชาติ
       “สมาชิก” หมายความว่า สมาชิกสภาความมั่นคงแห่งชาติ
       “หน่วยงานของรัฐ” หมายความว่า ราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่นรัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐ
       “สํานักงาน” หมายความว่า สํานักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ
       “เลขาธิการ” หมายความว่า เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ
       
       มาตรา 5 ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
       
       หมวด 1 สภาความมั่นคงแห่งชาติ
       
       มาตรา 6 ให้มีสภาความมั่นคงแห่งชาติ ประกอบด้วยสมาชิกดังต่อไปนี้
       
       (1) นายกรัฐมนตรีเป็นประธานสภา
       (2) รองนายกรัฐมนตรีซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมาย เป็นรองประธานสภา
       (3) รัฐมนตรีว่าการกระทวงกลาโหม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และผู้บัญชาการทหารสูงสุด
       
       ให้เลขาธิการเป็นสมาชิกและเลขานุการ และให้เลขาธิการแต่งตั้งข้าราชการของสํานักงานเป็นผู้ช่วยเลขานุการเพื่อประโยชน์ในการดําเนินการตามอํานาจหน้าที่ของสภา สภาอาจมีมติให้เชิญรัฐมนตรีหรือหัวหน้าส่วนราชการที่มีอํานาจหน้าที่โดยตรงเกี่ยวกับเรื่องที่จะพิจารณา หรือผู้ซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ด้านความมั่นคงหรือนักวิชาการด้านความมั่นคงในเรื่องนั้น ให้เข้าร่วมประชุมเป็นครั้งคราวในฐานะสมาชิกเฉพาะกิจด้วยก็ได้ ในกรณีเช่นนั้น ให้ผู้ที่ได้รับเชิญและมาประชุมมีฐานะเป็นสมาชิกตามวรรคหนึ่งสําหรบการประชุมครั้งที่ได้รับเชิญนั้น
       
       มาตรา 7 สภาความมั่นคงแห่งชาติมีอํานาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
       
       (1) จัดทํานโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา
       (2) เสนอแนะและให้ความเห็นในการกําหนดยุทธศาสตร์ชาติในมิติด้านความมั่นคง หรือประเด็นเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งชาติ หรือการแก้ไขเพิ่มเติมหรือปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวกับความมั่นคงแห่งชาติต่อนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี หรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง แล้วแต่กรณี
       (3) พิจารณากําหนดยุทธศาสตร์หรือแผนด้านความมั่นคงเฉพาะเรื่อง แผนเตรียมพร้อมแห่งชาติและแผนบริหารวิกฤตการณ์ ที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงแห่งชาติ
       (4) กําหนดแนวทางหรือมาตรการในการป้องกันหรือแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งชาติเพื่อเสนอนายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีพิจารณา
       (5) ประเมินและวิเคราะห์สถานการณ์ภาพรวมในเชิงยุทธศาสตร์อันเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงแห่งชาติ
       (6) กํากับและติดตามการดําเนินการตามนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ
       (7) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้และกฎหมายอื่น หรือตามที่นายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีมอบหมาย
       
       มาตรา 8 ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ประธานสภาโดยความเห็นชอบของที่ประชุมสภา มีอํานาจเรียกให้หน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐส่งข้อมูลหรือเอกสารใด ๆที่เกี่ยวข้องมาเพื่อใช้ประกอบการพิจารณา หรืออาจขอให้บุคคลใดๆ มาชี้แจงด้วยก็ได้
       
       มาตรา 9 ให้นําบทบัญญัติว่าด้วยคณะกรรมการที่มีอํานาจดําเนินการพิจารณาทางปกครองตามกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองมาใช้บังคับแก่การประชุมสภาโดยอนุโลม
       
       มาตรา 10 สภามีอํานาจแต่งตั้งคณะที่ปรึกษาของสภาซึ่งมีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับความมั่นคงในด้านต่าง ๆ ด้านละไม่เกินเจ็ดคน ซึ่งอย่างน้อยต้องประกอบด้วยหัวหน้าส่วนราชการที่มีอํานาจหน้าที่โดยตรงในด้านที่จะได้รับการแต่งตั้ง และผู้ซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ด้านความมั่นคงหรือนักวิชาการด้านความมั่นคงในด้านนั้น คณะที่ปรึกษาตามวรรคหนึ่งมีอํานาจหน้าที่ติดตาม ประเมิน วิเคราะห์สถานการณ์อันเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงแห่งชาติในด้านที่ได้รับการแต่งตั้ง เพื่อเสนอความเห็นต่อสภา หรือพิจารณาเรื่องเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งชาติตามที่สภามอบหมายหลักเกณฑ์และวิธีการในการแต่งตั้ง และการปฏิบัติหน้าที่ของคณะที่ปรึกษา ให้เป็นไปตามที่สภากําหนด
       
       มาตรา 11 สภาจะแต่งตั้งผู้เคยเป็นสมาชิกเฉพาะกิจตามมาตรา 6 วรรคสาม คณะกรรมการคณะอนุกรรมการ หรือคณะทํางาน เพื่อพิจารณาหรือปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่สภามอบหมายก็ได้การประชุมคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ หรือคณะทํางาน ให้นํามาตรา 9 มาใช้บังคับโดยอนุโลมหลักเกณฑ์และวิธีการในการแต่งตั้ง และการปฏิบัติงานของผู้เคยเป็นสมาชิกเฉพาะกิจที่ได้รับแต่งตั้งตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่สภากําหนด
       
       มาตรา 12 ให้ประธานสภา สมาชิก ผู้เคยเป็นสมาชิกเฉพาะกิจซึ่งได้รับแต่งตั้งตามมาตรา 11 กรรมการ และอนุกรรมการ ได้รับเบี้ยประชุมและประโยชน์ตอบแทนอื่นตามที่คณะรัฐมนตรีกําหนดที่ปรึกษาตามมาตรา 10 มีสิทธิได้รับค่าตอบแทนและสิทธิประโยชน์อื่นตามที่คณะรัฐมนตรีกําหนด
       
       หมวด 2 ความมั่นคงแห่งชาติ
       
       ส่วนที่ 1 นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ
       
       มาตรา 13 เพื่อประโยชน์ในการธํารงไว้ซึ่งความมั่นคงแห่งชาติ ให้คณะรัฐมนตรีจัดให้มีนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติขึ้นตามข้อเสนอแนะของสภาในการจัดทํานโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ ให้สภาจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องและของประชาชนด้วยการประกาศใช้และการแก้ไขปรับปรุงนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติให้ทําเป็นประกาศพระบรมราชโองการและประกาศในราชกิจจานุเบกษา
       
       มาตรา 14 นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ ต้องมีสาระที่ครอบคลุมถึงนโยบายภายในประเทศ นโยบายต่างประเทศ และนโยบายการทหารกับการเศรษฐกิจ และอื่น ๆอันเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งชาติให้สอดคล้องต้องกัน เพื่อให้กิจการของหน่วยงานของรัฐสามารถประสานกันได้อย่างใกล้ชิดเป็นผลดีต่อความมั่นคงแห่งชาติ และอย่างน้อยต้องกําหนดเป้าหมายและแนวทางการดําเนินการในการรักษาความมั่นคงแห่งชาติในเรื่องดังต่อไปนี้ด้วย
       
       (1) การเสริมสร้างความมั่นคงของสถาบันหลักของชาติและการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
       (2) การปกป้องและรักษาผลประโยชน์แห่งชาติ
       (3) การพัฒนาระบบการเตรียมพร้อมแห่งชาติและศักยภาพการป้องกันประเทศ
       (4) การรักษาความมั่นคงภายในประเทศและระหว่างประเทศ
       
       มาตรา 15 เมื่อมีพระบรมราชโองการประกาศให้ใช้นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติแล้ว ให้คณะรัฐมนตรีหรือหน่วยงานของรัฐ แล้วแต่กรณี ใช้เป็นกรอบหรือแนวทางหรือดําเนินการตามอํานาจหน้าที่ในการจัดทําแผนการบริหารราชการแผ่นดิน แผนนิติบัญญัติ การกําหนดยุทธศาสตร์หรือแผนด้านความมั่นคงเฉพาะเรื่อง แผนเตรียมพร้อมแห่งชาติ แผนบริหารวิกฤตการณ์ที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงแห่งชาติ หรือการกําหนดแผนงานหรือโครงการที่เกี่ยวกับนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ หรือการปฏิบัติราชการอื่นใด ให้สอดคล้องกับนโยบายและแผนระดับชาติดังกล่าวหลักเกณฑ์และวิธีการในการจัดทํายุทธศาสตร์หรือแผนด้านความมั่นคงเฉพาะเรื่อง หรือการกําหนดแผนงานหรือโครงการตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่สภากําหนดโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี
       
       มาตรา 16 ให้สํานักงบประมาณพิจารณาจัดสรรงบประมาณให้หน่วยงานของรัฐให้สอดคล้องกับนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติเพื่อประโยชน์ในการพิจารณาสนับสนุนงบประมาณสําหรับแผนงานหรือโครงการเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งชาติซึ่งเป็นเรื่องสําคัญ ให้หน่วยงานของรัฐเสนอแผนงานหรือโครงการดังกล่าวต่อสํานักงานเพื่อพิจารณาให้ความเห็น และให้หน่วยงานของรัฐที่มีอํานาจหน้าที่ในการจัดทํางบประมาณ นําความเห็นดังกล่าวไปประกอบการพิจารณาด้วยแผนงานหรือโครงการใดจะถือเป็นแผนงานหรือโครงการเรื่องสําคัญตามวรรคสอง ให้เป็นไปตามที่คณะรัฐมนตรีกําหนด
       
       มาตรา 17 ให้สํานักงานติดตามผลการดําเนินงานตามนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ ยุทธศาสตร์หรือแผนด้านความมั่นคงเฉพาะเรื่อง และแผนงานหรือโครงการซึ่งเป็นเรื่องสําคัญตามมาตรา 16 เพื่อสนับสนุน อํานวยการ หรือประสานการดําเนินการที่จําเป็น รวมทั้งให้คําแนะนําเกี่ยวกับการเร่งรัดหรือปรับปรุงการดําเนินงานดังกล่าว ให้เป็นไปอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพในกรณีที่สํานักงานเห็นว่าการดําเนินงานใดของหน่วยงานของรัฐไม่เป็นไปตามนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ ยุทธศาสตร์หรือแผนด้านความมั่นคงเฉพาะเรื่อง หรือแผนงานหรือโครงการตามวรรคหนึ่ง ให้เสนอความเห็นต่อสภาเพื่อพิจารณาเสนอเรื่องต่อนายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีพิจารณาตามที่เห็นสมควรต่อไป
       
       ส่วนที่ 2 การรักษาความมั่นคงแห่งชาติ
       
       มาตรา 18 ให้สํานักงานติดตาม ประเมิน และวิเคราะห์สถานการณ์ที่อาจก่อให้เกิดภัยคุกคามต่อความมั่นคงแห่งชาติ และจัดทําฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้อง เพื่อประโยชน์ในการป้องกันหรือแก้ไขสถานการณ์อันเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงแห่งชาติในกรณีที่มีสถานการณ์ซึ่งมีความเสี่ยงอันจะนําไปสู่ภัยคุกคามต่อความมั่นคงแห่งชาติ ให้สํานักงานแจ้งเตือนสถานการณ์ดังกล่าวพร้อมเสนอความเห็น แนวทาง มาตรการ หรือการดําเนินการอื่นที่จําเป็นในการป้องกันหรือแก้ไขสถานการณ์นั้น ต่อนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี หรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องแล้วแต่กรณี เพื่อพิจารณาดําเนินการตามอํานาจหน้าที่ต่อไป และให้สํานักงานรายงานการดําเนินการดังกล่าวต่อสภา
       
       มาตรา 19 ในกรณีที่มีสถานการณ์อันเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงแห่งชาติ ให้สภาประกาศระดับความร้ายแรงของภัยคุกคามดังกล่าว พร้อมทั้งเสนอความเห็น แนวทาง มาตรการ หรือการดําเนินการอื่นที่จําเป็น ต่อนายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติหรือสั่งการให้หน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐดําเนินการตามอํานาจหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายเพื่อป้องกัน แก้ไข หรือระงับยับยั้งภัยคุกคามดังกล่าว
       ในกรณีที่นายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรียังไม่พิจารณาดําเนินการตามวรรคหนึ่ง ให้สภาเป็นผู้ใช้อํานาจสั่งให้หน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐดําเนินการตามวรรคหนึ่งได้เท่าที่จําเป็นและเหมาะสมจนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงหรือมีการดําเนินการตามวรรคหนึ่งเมื่อการใช้อํานาจของสภาสิ้นสุดลงตามวรรคสองแล้ว ให้สภารายงานผลการดําเนินการให้คณะรัฐมนตรีทราบโดยเร็ว
       
       หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการประกาศให้สถานการณ์ใดเป็นสถานการณ์อันเป็นภัยคุกคามและการยกเลิกการประกาศ รวมทั้งการกําหนดระดับความร้ายแรงของภัยคุกคาม ให้เป็นไปตามที่สภากําหนดโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี
       
       มาตรา 20 ในกรณีที่นายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีเห็นว่าการพิจารณาเรื่องใดเป็นเรื่องสําคัญที่จะกระทบต่อความมั่นคงแห่งชาติ ให้นายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีส่งเรื่องให้สภาให้ความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณา หรือในกรณีที่สภาเห็นว่าการดําเนินการในเรื่องใดเป็นเรื่องสําคัญเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งชาติ ให้สภาเสนอความเห็นต่อนายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรี
       
       หมวด 3 สํานักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ
       
       มาตรา 21 ให้มีสํานักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ มีอํานาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
       
       (1) รับผิดชอบในงานธุรการของสภา และศึกษาและรวบรวมข้อมูลด้านความมั่นคงที่เกี่ยวกับงานของสภา
       (2) จัดทําร่างนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติตามเป้าหมายและแนวทางที่สภากําหนดเพื่อเสนอต่อสภา
       (3) เสนอแนะและให้ความเห็นต่อสภาหรือคณะรัฐมนตรีเพื่อประกอบการพิจารณากําหนดนโยบายยุทธศาสตร์ แผนงาน และการอื่นที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงแห่งชาติ
       (4) ให้คําปรึกษา เสนอแนะ และให้ความเห็น ตลอดจนอํานวยการและประสานการปฏิบัติงานใดๆเพื่อให้เป็นไปตามนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
       (5) ติดตาม ประเมิน วิเคราะห์ และแจ้งเตือนสถานการณ์ด้านความมั่นคง การเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ สภาวะแวดล้อมด้านความมั่นคงในเชิงยุทธศาสตร์ พิสูจน์ทราบและคาดการณ์ภัยคุกคามและการประเมินกําลังอํานาจของชาติ
       (6) ประสานงานหรือร่วมมือกับหน่วยงานต่างประเทศในกิจการด้านความมั่นคงระหว่างประเทศด้านความมั่นคงในเชิงยุทธศาสตร์ ด้านการประเมินสภาวะแวดล้อม และด้านวิชาการที่เกี่ยวกับความมั่นคง
       (7) ศึกษา วิจัย รวบรวม พัฒนา ส่งเสริม และเผยแพร่ข้อมูลหรือองค์ความรู้เกี่ยวกับความมั่นคงแห่งชาติ
       (8) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้และกฎหมายอื่น หรือตามที่สภานายกรัฐมนตรี หรือคณะรัฐมนตรีมอบหมาย
       
       มาตรา 22 ให้มีเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการและบริหารราชการของสํานักงาน ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี และให้มีรองเลขาธิการเป็นผู้ช่วยสั่งและปฏิบัติราชการให้เลขาธิการเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ โดยในการพิจารณาเสนอชื่อผู้ซึ่งสมควรดํารงตําแหน่งเลขาธิการ ให้สภาเสนอชื่อบุคคลเพื่อประกอบการพิจารณาด้วย
       
       บทเฉพาะกาล
       
       มาตรา 23 บรรดาคําสั่งหรือมติของสภาความมั่นคงแห่งชาติ ที่มีผลใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้คงมีผลใช้บังคับได้ต่อไปเพียงเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัตินี้ทั้งนี้ จนกว่าสภาความมั่นคงแห่งชาติตามพระราชบัญญัตินี้จะมีคําสั่งหรือมติเป็นอย่างอื่น
       
       มาตรา 24 ให้คณะกรรมการและคณะอนุกรรมการซึ่งได้รับการแต่งตั้งโดยสภาความมั่นคงแห่งชาติตามพระราชบัญญัติสภาความมั่นคงแห่งชาติ พ.ศ. 2502 ยังคงปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมายได้ต่อไป ทั้งนี้ จนกว่าสภาความมั่นคงแห่งชาติตามพระราชบัญญัตินี้จะมีมติเป็นอย่างอื่น
       
       ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
       
       พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
       นายกรัฐมนตรี”

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net