Skip to main content
sharethis

กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้านรอบเหมืองทอง จ.เลย จัดกิจกรรม “ปลูกป่าฟื้นฟูภูเขาคืนมา” ครั้งที่ 2 ลุยเดินหน้าแผนฟื้นฟูภาคประชาชนคืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่ถูกย่ำยี เผยแม้เหมืองจะปิดไปแล้วแต่ผลสุ่มตรวจเลือดชาวบ้าน ยังเจอโลหะหนักในเลือด พบป่วยมะเร็ง-กล้ามเนื้ออ่อนแรง หวังรัฐตรวจเลือดครบทุกคน ชนะคดีสิ่งแวดล้อมแต่ยังไม่มีใครได้รับเงินเยียวยาตามคำสั่งศาล ลุยปลูกป่าคืนต้นไม้ให้ภูเขาหลังหายนะเหมืองทองทำลายสิ้น พร้อมจัดกิจกรรม Dark Tour นำชมผลกระทบเหมืองทอง และเปิดเวทีถ่ายทอด 14 เรื่องเล่าประวัติศาสตร์การต่อสู้คน 6 หมู่บ้านต้านเหมืองทอง

กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้านรอบเหมืองทอง จ.เลย แจ้งข่าวว่าเมื่อวันที่ 26 ก.ค. 2567  ณ บ้านนาหนองบง หมู่ 3 ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย นักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน จ.เลย ได้จัดงาน ปลูกป่าฟื้นฟูภูเขาคืนมา ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 26-27 ก.ค. 2567 นี้

โดยจุฑามาส ศรีหัตถผดุงกิจ ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนเครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ กล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการจัดงานครั้งนี้ว่า หลังจากที่เหมืองแร่ทองคำได้ปิดไปแล้วอย่างถาวร ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการฟื้นฟูพื้นที่ซึ่งได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการทำเหมืองแร่ทองคำตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 โดยที่ผ่านมาได้มีการจัดทำแผนฟื้นฟูภาคประชาชนโดยมีใจความสำคัญคือต้องฟื้นฟูทั้งภายในและภายนอกเหมือง โดยเฉพาะการพฟื้นฟูศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่ถูกย่ำยีจากการปล่อยผลกระทบและเหตุการณ์วันที่ 15 พ.ค.2557 ที่มีกลุ่มชายฉกรรจ์จากเหมืองเข้ามาทุบตีทำร้ายชาวบ้านในพื้นที่  การจัดงานในครั้งนี้เป็นการเดินหน้าฟื้นฟูโดยภาคประชาชน ซึ่งเป็นการทำไปก่อนในส่วนที่พวกเราทำได้เพราะในส่วนของการฟื้นฟูผลกระทบในด้านอื่น เช่น เรื่องของสารพิษ สารโลหะหนักในพื้นที่่ ก็เป็นเรื่องที่ยากและชาวบ้านยังคงต้องต่อสู้เพื่อให้มีการฟื้นฟูโดยที่ภาคประชาชนมีส่วนร่วมทุกขั้นตอน ตามคำพิพากษาของศาล

เจอป่วยโรคมะเร็ง-กล้ามเนื้ออ่อนแรง สุ่มตรวจพบชาวบ้าน พบสารโลหะหนักในเลือดจำนวนมาก หวังรัฐตรวจครบทุกคน

รจนา กองแสน ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดฯ กล่าวว่า หลังจากที่เราต่อสู้กันมา 18 ปีแล้ว เราก็พิสูจน์ให้ทุกคนได้เห็นแล้วว่าเหมืองทองคำสร้างผลกระทบให้พวกเราได้มากมายขนาดไหน พวกเราเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง เพราะบ้านของพวกเราอยู่รอบเหมือง ภูเขาที่ใช้ระเบิดทำเหมืองอยู่ตรงกลางของหมู่บ้าน เราต้องใช้น้ำดื่มน้ำกินจากภูเขาแห่งนี้ การทำเหมืองทำให้พวกเราเดือดร้อนอย่างหนัก เพราะกระบวนการในการทำเหมืองทำให้เกิดสารพิษที่ไหลปนเปื้อนมากับน้ำ เมื่อมีหน่วยงานสาธารณสุขมาสุ่มตรวจเลือดของพี่น้องเราก็พบว่าทุกคนมีสารไซยาไนด์และสารหนูและมีสารโลหะหนัก เช่น สารหนู แมงกานีส อยู่ในเลือดเกินมาตรฐานทุกคน ซึ่งสารโลหะหนักจากเหมืองทำให้พี่น้องหลายคนในหมู่บ้านเป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงและโรคมะเร็ง โดยเป็นการสุ่มตรวจ แต่กระบวนการของเราต้องการให้มีการตรวจเลือดประชาชนใน 6 หมู่บ้านฯ ทุกคน เพื่อหาสารโลหะหนักจะได้ทำการรักษาอย่างทันท่วงที แต่ปัญหาคือหน่วยงานรัฐบอกว่าไม่มีงบประมาณ

เผยชนะคดีสิ่งแวดล้อม แต่ยังไม่มีใครได้รับเงินเยียวยาตามศาลสั่ง

รจนา กล่าวต่อว่า ทั้งนี้เราต่อสู้จนนำมาสู่การปิดเหมืองได้สำเร็จ ด้วยพลังกายพลังใจของพ่อ ๆ แม่ ๆ ทุกคน ซึ่งตอนนี้เราได้ฟ้องเขาเรื่องคดีฟื้นฟูตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและ รักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535  เราก็ชนะ ซึ่งคำพิพากษาของศาลได้ระบุว่า ให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด ฯ เข้าไปมีส่วนร่วมในขั้นตอนและแผนการฟื้นฟูทุกขั้นตอน ได้ค่าเยียวยาครอบครัวละ 104,000 บาท แต่ไม่มีใครได้เงินชดเชยเยียวยาแม้แต่ครอบครัวเดียว เพราะหลังจากการฟ้องร้องบริษัทเหมืองก็ใช้วิธีการล้มละลายเพื่อหนีการที่จะต้องจ่ายเงินเยียวยา และไม่ต้องการฟื้นฟูปัญหาต่าง ๆ ในพื้นที่ และการฟื้นฟูใช้เงินจำนวนมาก

เตรียมแผนฟื้นฟูปลูกป่าคืนต้นไม้ให้ภูเขาหลังหายนะเหมืองทอง

รจนา กล่าวต่อว่า ขณะนี้เราอยู่ในขั้นตอนของกระบวนการฟื้นฟู ซึ่งในครั้งแรกนั้นคณะกรรมการที่จะทำการฟื้นฟูของรัฐไม่มีรายชื่อของประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการเลย แต่พวกเราก็ได้ไปต่อสู้จนสามารถได้เข้าร่วมในคณะกรรมการฟื้นฟูครึ่งหนึ่ง ซึ่งเราก็พยายามผลักดันเรื่องการฟื้นฟูที่คิดถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และจะต้องฟื้นฟูระบบนิเวศ วัฒนธรรม กลับคืนมาให้ได้ ซึ่งกระบวนการฟื้นฟูของรัฐทำได้ยาก แต่เราจะสู้ไปก่อน เราจะไม่รอรัฐ  ต่อไปนี้จะเป็นกระบวนการฟื้นฟูของภาคประชาชน ซึ่งการจัดงานปลูกป่าฟื้นฟูภูเขาคืนมาเป็นการประกาศถึงแนวทางการต่อสู้ของพวกเราภาคประชาชน โดยต้นไม้ที่พวกเรานำมาปลูกเป็นต้นไม้ที่แม่ ๆ แต่ละบ้านช่วยกันเพาะกล้าไม้  เป็นต้นกล้าไม้ที่หายไปจากการทำเหมืองทอง โดยต้นไม้ต้นไหนที่แม่ ๆ อยากให้กลับคืนมา เขาก็นำกล้าไม้เหล่านั้นมาเพาะไว้เพื่อนำมาปลูกในครั้งนี้ โดยทุกคนมีเป้าหมายเดียวกันคืออยากให้ภูเขากลับมาเขียวขจี ให้มีต้นไม้เต็มภูเขา เราอยากให้วิถีเหล่านั้นกลับคืนมา

Dark Tour เหมืองปิดไปแล้วแต่ผลกระทบยังอยู่

ขณะที่บรรยากาศภายในงานเริ่มต้นด้วยกิจกรรมทัวร์เหมือง Dark Tour เหมืองปิดแต่สารพิษยังคงปนเปื้อน EP1 โดยตัวแทนของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดฯ ได้นำผู้เข้าร่วมงานกว่าร้อยคนชมผลกระทบและเศษซากจากเหมืองร้างเพราะถึงแม้เหมืองได้ยุติการดำเนินกิจการไปแล้วแต่ผลกระทบและสารเคมีที่เกิดขึ้นจากการทำเหมืองยังคงอยู่ อาทิ บ่อเก็บกากเหมืองที่ปัจจุบันยังมีกากพิษของสารเคมีสะสมอยู่ภายในบ่อ ขุมเหมืองซึ่งเป็นจุดที่เหมืองได้ระเบิดภูเขาลงไปเพื่อเอาแร่ จนกลายเป็นบ่อน้ำที่ปนเปื้อนไปสารพิษและสารโลหะหนัก และยังได้พาผู้เข้าร่วมงานเยี่ยมประตูแดงซึ่งเป็นสัญลักษณ์สำคัญในการต่อสู้ของชาวบ้าน ที่สามารถระดมทุนจัดซื้อที่ดินหน้าเหมืองตรงบริเวณทางเข้าออกได้ และจัดทำประตูแดงขึ้นมาเพื่อปิดเหมืองถาวรและกลายเป็นจุดสำคัญที่ชาวบ้านใช้เฝ้าระวังไม่ให้มีการขนแร่เถื่อนออกไป

เรื่องเล่าเมล็ดพันธุ์การต่อสู้ประวัตศาสตร์ต้านเหมืองแร่ทองคำนักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด   6 หมู่บ้าน จังหวัดเลย

ต่อมาเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมไฮไลท์ในการจัดงานครั้งนี้คือกิจกรรมเรื่องเล่าการปลูกเมล็ดพันธ์แห่งการต่อสู้ ซึ่งเป็นกิจกรรมบอกเล่าประวัติศาสตร์การเคลื่อนไหวต่อต้านเหมืองทองคำของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด ฯ  โดยภรณ์ทิพย์ สยมชัย หรือแม่ป๊อบ ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ได้ขึ้นบอกเล่าเรื่องราวการต่อสู้ในชื่อเรื่องเก้าอี้บิน ซึ่งเป็นเหตุการณ์เมื่อครั้งที่นักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดฯ ได้เข้าร่วมคัดค้านการประชุมขององค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ที่จะมีการพิจารณาการอนุญาตการใช้พื้นที่ป่าไม้ของบริษัทเหมืองทองคำในการทำเหมืองต่อ หลังจากที่ใบอนุญาตเดิมครบกำหนดอายุการใช้พื้นที่ป่าแล้ว 10 ปี

โดยภรณ์ทิพย์ระบุในเรื่องเล่าว่า ในเช้าของวันอันตื่นเต้นเมื่อชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดก้าวลงจากรถหน้า อบต.เขาหลวง อ.วังสะพุง  สิ่งแรกที่เราเห็นก็คือแผงเหล็กกั้นยาวเหยียดในลานอบต. ซึ่งสร้างความคับแค้นใจให้กับพี่น้องทุกคนที่มองเห็นรวมทั้งตน เสียงพี่น้องหลายคนตะโกนด่าทอไป ว่าเขาทำอย่างนี้ได้อย่างไร เพราะเราคือผู้ได้รับผลกระทบ สักพักพวกเราที่มีพี่น้องรวมกันประมาณ 20 คนก็ได้เข้าไปในห้องประชุม ก็ นั่งเก้าอี้เรียงแถวอยู่ด้านหลัง อบต.ทั้งหลาย

“เก้าอี้บิน” ล้มวงประชุม อบต.สกัดเปิดพื้นที่ป่าทำเหมือง

ภรณ์ทิพย์ เล่าต่อว่า จากนั้นพ่อสมัยก็ทำการเปิดประชุม ซึ่ง อบต.โซนบนพยายามจะเสนอญัตติการขอใช้พื้นที่ป่าของบริษัททุ่งคำ จำกัด เข้าไปหลายครั้ง พ่อสมัยเห็นท่าไม่ดี กลัวเกิดความโกลาหลจึงสั่งพักการประชุม ด้วยความสับสนในส่วน อบต.ของเราก็เลยพากันเดินลงจากห้องประชุมไป แต่ตนมองเห็นพี่น้องยังไม่ขยับเขยื้อนไปไหน ประกอบกับมีเสียงโห่ร้อง ตะโกน พร้อมฟาดขวดน้ำกับพื้นเสียงดังปังๆ จากพี่น้องที่รออยู่บริเวณลานจอดรถข้างล่าง มันทำให้หัวใจตนระทึกและสับสนว่าจะเอาอย่างไ ร สักพัก อบต.โซนบนก็เปิดประชุมอีกรอบ โดยให้รองประธานสภา อบต.มาแทนพ่อสมัย และมีญัตติให้ขอใช้พื้นที่ป่าอีกครั้งโดยทันที ตนมองพี่น้องที่นั่งเรียงรายกัน ทุกคนจ้องมาที่ตน และเสียงจากข้างล่างก็ยังดังขึ้นมาไม่หยุด ตนคิดว่าจะเอาอย่างไรดี จึงคิดว่าวันนี้เป็นอย่างไรก็เป็นกัน มันต้องไม่มีมติการใช้พื้นที่ป่า

“สักพักแม่ป๊อบบอกว่าบุก ทั้งเก้าอี้ทั้งขวดน้ำลอยไปอยู่กลางที่ประชุม ทำให้ อบต.โซนบนวิ่งกระเจิงออกไปจากห้องประชุม จากนั้นพี่น้องเราก็วิ่งตาม สักพักแม่ป๊อบลืมตาขึ้นมามีพี่น้องเอาผ้าเย็นมาเช็ดหน้าให้ เขาบอกว่าแม่ป๊อบเป็นลมอยู่ในห้องประชุม จึงถามว่าผลการประชุมเป็นอย่างไร พี่น้องก็บอกว่าเราล้มเวทีประชุมได้แล้ว ไม่มีญัตติการใช้พื้นที่ป่า นี่จึงเป็นชัยชนะของพวกเราที่ร่วมต่อสู้กันมา ทุกครั้งฝ่าฟันอุปสรรคมาได้ จนเราปิดเหมืองถาวรและฟื้นฟูภูเขาคืนมาได้” ภรณ์ทิพย์ระบุ

คำถามค้างคาใจทำไมชาวบ้านยังไม่ได้รับความยุติธรรม

ขณะที่ธนาลักษณ์  โสภารักษ์ ได้เล่าเรื่อง “คำถามที่ยังค้างคาใจ” โดยระบุในเรื่องเล่าถึงเหตุการณ์ 15 พฤษภาทมิฬ ที่มีชายฉกรรจ์กว่า  300 คน บุกเข้าทำร้าย นักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดฯ เมื่อครั้งที่ธนาลักษณ์ยังเป็นเด็ก และป้าของธนาลักษ์ก็เป็นหนึ่งในชาวบ้านที่ถูกทำร้ายในครั้งนั้นด้วย ว่า เหตุการณ์สะเทือนใจในคืนวันที่ 15 พ.ค. 2557 ตอนนั้นตนอายุ 13 ปี  ซึ่งมีชายฉกรรจ์ 300 คนบุกเข้ามาในหมู่บ้าน รุ่งเช้ามาก็ได้ยินข่าวว่าป้าถูกชายฉกรรจ์ทำร้ายในคืนนั้น และได้ไปเยี่ยมป้า เห็นภาพใบหน้าของป้าโดนต่อย ฟก ช้ำ ดำ เขียว เสื้อผ้าก็มีแต่รอยรองเท้า หลังจากคืนนั้นไม่มีหน่วยงานไหนเลยที่จะมาช่วยเรา ตำรวจก็ไม่รับ ชาวบ้านเห็นรถพยาบาลนึกว่าจะมาช่วยแต่กลับกลายเป็นมาช่วยชายฉกรรจ์กลุ่มนั้น จากเหตุการณ์นั้นแทนที่ชาวบ้านจะคิดว่าไม่สู้แล้ว สู้ไปเพื่ออะไร สู้ไปเขาก็จะมาฆ่าเราและสู้ไปก็ไม่ชนะ แต่กลับกลายเป็นว่าชาวบ้านลุกขึ้นมาสู้ มีความเข้มแข็งกว่าเดิม จนสามารถจับคนร้ายเข้าคุกได้ และสามารถปิดเหมืองเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูได้ในวันนี้

“จากเหตุการณ์วันที่ 15 ก.ค. 2557 มีคำถามที่ค้างคาใจผมมาตลอดว่าคืนวันนั้น ทำไมเราไม่ได้รับความยุติธรรม ไม่ได้รับการเยียวยา ความปลอดภัยของชาวบ้านอยู่ที่ไหน จนทำให้ผมมีความคิดเปลี่ยนไป อยากมาเป็นนักต่อสู้ของกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดฯ อยากสู้ต่อไปอยากเห็นภูเขากลับคืนมาเหมือนเดิม อยากเห็นหมู่บ้านที่มีความอุดมสมบูรณ์มีภูเขาที่มีความสวยงามโดยที่ไม่มีสารพิษ พรุ่งนี้จึงอยากขอให้พี่น้องมาช่วยกันปลูกป่าฟื้นฟูภูเขากลับมาด้วยกัน”

เปิดใจอดีตเยาวชนวัย 12 ปีถูกเหมืองทองฟ้อง

ด้านวันชัย สุธงสา ได้เล่าเรื่อง “แม่นกูบ่อว้าาา” ซึ่งเป็นเหตุการณ์เมื่อครั้งที่วันชัยยังเป็นเยาวชนอายุเพียง 12 ปีแต่ถูกบริษัทเหมืองทองฟ้องร้องในการลุกขึ้นมาช่วยพ่อแม่ปกป้องผืนดินถิ่นเกิดจากเหมือง โดยสุธงสาได้เล่ารายละเอียดของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนั้น ว่า ตอนนั้นตนอายุ 11-12 ปี มีนักศึกษาเข้ามาทำค่าย จึงได้รู้จักพี่ๆ นักศึกษา ช่วงนั้นเป็นช่วงการเฝ้าระวังผลกระทบเหมือง ชาวบ้านได้มาบอกสมาชิก อบต. ว่าท่อน้ำแตกและน้ำไหลลงนา ตนอยู่ตรงนั้นพอดี อบต.กับนักศึกษาเข้าไปดูพื้นที่ แต่มี รปภ.มาแจ้งว่าเข้าไปในพื้นที่เหมือง อบต.จึงบอกว่าได้รับแจ้งถึงปัญหาที่เกิดขึ้นว่ามีน้ำไหลลงนาของชาวบ้าน  อีกหนึ่งเดือนต่อมานักศึกษาบอกว่าได้รับหมายเรียกจาก สภ.วังสะพุง ว่าบริษัทไปแจ้งความข้อหาบุกรุก และมีรายชื่อเยาวชนร่วมอยู่ด้วย 3 คน ตนก็ตกใจว่าใช่เราหรือเปล่า  และสุดท้ายก็เป็นเราจริงๆ พอไปพบตำรวจก็บอกว่าจะส่งตัวไปอัยการ เมื่อไปพบอัยการครั้งแรก อัยการบอกว่าทำสำนวนยังไม่เสร็จจึงกลับมาบ้าน แต่สุดท้ายอัยการก็สั่งไม่ฟ้อง เพราะว่าหลักฐานไม่เพียงพอ ทำให้เรากลับมาคิดว่าเราปกป้องบ้านตัวเองทำไมต้องถูกฟ้องหรือโดนยัดคดี จึงอยากให้กำลังใจคนที่กำลังต่อสู้เพื่อบ้านเกิดตัวเองว่าการที่ถูกฟ้องหรือยัดคดี มันเป็นเรื่องปกติที่นายทุนหรือภาครัฐทำให้เราท้อแท้ในการต่อสู้ อยากให้กำลังใจว่าถ้าเราไม่ต่อสู้ลูกหลานเราก็จะไม่มีแผ่นดินอยู่

“กำแพงใจ” ปกป้องหมู่บ้านจากเหมืองแร่

ขณะที่ภัทรภรณ์ แก่งจำปา ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้านฯ ได้เล่าเรื่อง “กำแพงใจ” ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ชาวบ้านได้ร่วมมือร่วมใจกันก่อกำแพงขึ้นมาเพื่อปกป้องหมู่บ้านจากเหมืองแร่ทองคำ แต่ก็ถูกกลุ่มชายฉกรรจ์สวมหมวกไอ้โม่งเข้ามาทุบทำลายกำแพงที่ชาวบ้านสร้างขึ้นและจับชาวบ้านไปทำร้ายและจับเป็นตัวประกัน ซึ่งภัทรภรณ์เป็นหนึ่งในคนที่ถูกจับและถูกทำร้ายในครั้งนั้นด้วย โดยภัทรภรณ์ บอกเล่ารายละเอียดว่า ในปี 2556 บริษัททุ่งคำจำกัด ต้องการขยายพื้นที่เพื่อการทำเหมืองเพิ่มขึ้นอีก เหมืองใช้ไซยาไนด์ในการแยกแร่ทองคำออกจากหิน พิษไซยาไนด์ทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง และเสียชีวิตในที่สุด ชาวบ้านไม่ยอมให้เขาขนไซยาไนด์มหาศาลเข้ามาในหมู่บ้าน พวกเราทั้ง 6 หมู่บ้านก็เลยตกลงกันที่จะสร้างกำแพงขึ้นมาเพื่อปกป้องหมู่บ้านจากเหมืองแร่

แต่มันก็มีเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้นในคืนวันที่ 15 พ.ค.2557 มีกองกำลังขนแร่เถื่อนประมาณ 300 นายเข้ามาจับชาวบ้าน 40 คน เป็นตัวประกัน และตนเป็นหนึ่งในผู้ที่ถูกจับเป็นตัวประกัน ถูกใช้ปืนจี้ ยึดกุญแจมอเตอร์ไซค์ และกล้องถ่ายรูป มัดมือไพร่หลัง มัดเท้า สั่งให้นอนกับพื้นถนนตั้งแต่ 4 ทุ่มถึง ตี 4 ของอีกวัน ในคืนนั้นไม่มีใครเข้ามาช่วยได้ ตนได้แต่ภาวนาว่าขอให้ตัวเองและพี่น้องที่ถูกจับปลอดภัย เราได้สูญเสียกำแพงทั้ง 3 กำแพงลง บนใบหน้าของพี่น้องเราเปื้อนคราบน้ำตาไม่รู้กี่ครั้ง โดนย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ไม่รู้กี่หน แต่สิ่งที่เราได้มานั่นก็คือบริษัทถูกปิดไป โรงงานถูกรื้อถอน จนมาถึงทุกวันนี้ที่เราได้ใช้คำว่าปลูกป่าฟื้นฟูภูเขาคืนมาปีที่ 2 แล้ว

เสียงปืนดังปลุกพลังการต่อสู้ยิ่งข่มขู่-ยิ่งกล้าหาญ

ด้านรจนา กองแสน  ได้เล่าเรื่อง “เหตุการณ์วันนั้นเป็นฉันในวันนี้” ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) ได้ใช้อาวุธปืนยิงข่มขู่กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดฯและนักศึกษาที่เข้ามาช่วยสนับสนุนการต่อสู้ของชาวบ้านเมื่อครั้งที่มีการประมูลและขนย้ายสินแร่ออกจากเหมืองแร่ทองคำ โดยรจนาได้บอกเล่ารายละเอียดเพิ่มเติมในเรื่องเล่าครั้งนี้ว่าหลังจากที่เหมืองแร่ปิดตัวลงพร้อมกับคำพิพากษาของศาล ให้บริษัททุ่งคำล้มละลาย สินแร่ 190 ถุง ก็เป็นหนึ่งในทรัพย์สินที่ต้องโดนยึดขายทอดตลาด เมื่อต้นเดือน ม.ค. 2564 เช้าวันนั้นอากาศหนาวมาก ผู้ใหญ่บ้านประกาศเสียงตามสายดังไปทั่วหมู่บ้านว่าพี่น้องเอ้ย ไปรวมตัวกันอยู่ที่สี่แยกเด้อ เขาจะมาซื้อแร่ 190 ถุง เหตุการณ์ภาพจำในวันนั้นชาวบ้านทุกคนวางมือจากไร่นา วางมือจากการกรีดยาง จูงลูกจูงหลาน ใครมีผัก มีข้าวมีอาหารก็เอาใส่ย่าม ใส่ตะกร้า มารวมตัวกันตั้งเต็นท์ที่บริเวณสี่แยก และเหตุการณ์ทุกอย่างดำเนินไปอย่างปกติ แต่รู้หรือไม่เหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดได้เกิดขึ้นในเย็นวันนั้น มีเสียงปืนดังขึ้นปัง ตนรู้สึกชาไปทั้งตัว ก้าวขาไม่ออก ภาพที่เห็นตรงหน้าคือพ่อลูกคู่หนึ่งยืนอยู่ตรงที่เสียงปืนดังขึ้น และมีแม่ที่ใส่ผ้าถุงวิ่งไปเพื่อดูว่าเกิดอะไรขึ้น

“รู้หรือไม่ ปืนที่ดังขึ้น ใครเป็นคนทำ รู้หรือไม่เสียงปืนที่ดังขึ้นเป็นปืนของข้าราชการ เขาอยู่ในชุด ชรบ. เรามีความหวังให้เขามาดูแลความปลอดภัยของเรา แต่ว่าเขากลับทำตรงกันข้าม เขาพยายามข่มขู่เรา จึงถึงขั้นจะเอาชีวิตเราเลย จากเหตุการณ์ในวันนั้น มันทำให้เป็นรจในวันนี้ เป็นรจคนที่อยากจะก้าวออกมาข้างหน้า ทิ้งความกลัวไว้ข้างหลัง เป็นรจที่มีความมั่นใจกล้าหาญ และอยากต่อสู้ร่วมกับพ่อๆ แม่ๆ เพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย ปิดเหมืองถาวร ฟื้นฟู ภูเขาคืนมา”รจนากล่าว

“ครรภ์เป็นพิษ” สูญเสียลูกในท้อง- เหมืองปิดแต่ภารกิจยังไม่จบ

ด้านนิตญา วรรณะ เล่าเรื่อง “ครรภ์เป็นพิษ เพราะสารพิษจากเหมืองแร่”  ในวันที่ 15 พ.ค. 2557 หลายคนอาจจะลืมไปแล้วว่าได้เกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นบ้าง สำหรับตนมี 2 เหตุการณ์ที่จำได้ไม่เคยลืมคือ เหตุการณ์แรกคือตัวตนต้องเข้าโรงพยาบาล เพราะเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษ และสูญเสียลูกคนที่ 2 ไปในวันนั้น ฟ้าหลังฝนทุกคนอาจจะบอกว่ามันสวยงาม แต่สำหรับตนนั้นไม่ใช่เพราะเช้าวันต่อมาได้ยินข่าวว่าชาวบ้านที่อยู่รอบเหมืองแร่ทองคำ 6 หมู่บ้าน ถูกทำร้ายจากชายฉกรรจ์ที่สวมหมวกโม่งเข้ามาเพื่อต้องการที่จะขนแร่ในเหมืองออกไปขาย พอออกจากโรงพยาบาลมาตนก็มานั่งคิดทบทวนว่าภาวะครรภ์เป็นพิษของเราเกิดจากสารพิษที่มีสาเหตุจากเหมืองหรือไม่ เพราะตนเคยเป็นพนักงานของบริษัททุ่งคำ จำกัด ซึ่งจากการตรวจสุขภาพทุกปี ตนมีร่างกายแข็งแรง ไม่เคยมีโรคอะไรมาก่อน

นิตญา กล่าวต่อว่า ทำให้เราคิดทบทวนอีกว่าเรายังมีลูกเหลืออีก 1 คน ถ้าลูกเราเติบโตมาในสภาวะแวดล้อมที่เป็นพิษ สุขภาพของลูกจะเป็นอย่างไร เพราะในกระบวนการทำงานของเหมืองต้องมีการระเบิดภูเขา มีการใช้สารเคมีต่างๆ จึงคิดว่าเราจะอยู่แบบนี้ไม่ได้แล้ว และเข้าร่วมกับกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดฯ ไปส่งหนังสือเพื่อเรียกร้องกับหน่วยงานต่างๆ จนได้เข้ามาร่วมต่อต้านอย่างเต็มที่จนทำให้ทุกวันนี้เราสามารถปิดเหมืองลงได้ถาวร หลายคนบอกว่าปิดเหมืองแล้วจบ แต่ในความเป็นจริงมันไม่จบ เพราะว่าการทำเหมืองนั้นมีสารตกค้างเกิดขึ้นมากมายทั้งไซยาไนด์ สารหนู ปรอท ซึ่งต้องอาศัยหน่วยงานรัฐในการฟื้นฟู และสิ่งที่เราต้องฟื้นฟูให้ได้คือทางกายภาพเราต้องปลูกป่าให้มีต้นไม้คืนมาเหมือนเดิม และอยากให้พี่น้องทุกคนมาร่วมปลูกป่าฟื้นฟูภูเขาเพื่อลูกหลานเราต่อไป

“ภาพจำวัยเด็ก” คืนต้นไม้ให้ภูเขาหัวโล้นกลับมาสวยงาม

ด้าน สมบัติ ณิพวงลา  เล่าเรื่อง “ภาพจำวัยเด็ก” ว่า ตอนที่เหมืองเปิดตนไม่ได้อยู่ในหมู่บ้าน แต่ไปทำงานที่ต่างจังหวัด และมีคนโทรมาบอกว่ามีโรงงานมาเปิด ตนก็ดีใจว่าชาวบ้านจะได้ทำงานในหมู่บ้าน ตนก็เป็นคนหนึ่งที่คิดว่าจะกลับมาทำงานที่บ้าน แต่เมื่อกลับมามันไม่ได้เป็นไปอย่างที่คิด มันมีความวุ่นวายจากรถบรรทุกที่วิ่งเข้าออก มีกลิ่นเหม็นลอยมาตามลม วันหนึ่งตนนอนอยู่หน้าบ้านได้ยินเสียงรถหวอวิ่งผ่านมา จากนั้นก็ตามด้วยเสียงระเบิดดังตูม ตนตกใจและวิ่งไปหาตาถามว่าเกิดอะไรขึ้น เป็นอันตรายหรือไม ตาก็บอกว่าไม่รู้หรือว่าเขามาระเบิดภูเขาไปหมดแล้ว และตายังเล่าให้ฟังว่ามันมีสารปนเปื้อนมากับน้ำและดิน ที่นาของตาก็ปลูกข้าวไม่ได้ ตนจึงตัดสินใจเข้าร่วมกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดฯ มาทำงานช่วยทุกคน พากันไปเดินขบวน ไปอบต.และศาล เพราะมีการฟ้องร้องคดีกันเกิดขึ้น จนศาลตัดสินว่าชนะ และเหมืองปิด ตนจึงอยากมาฟื้นฟูพื้นที่ให้ภูเขาคืนมา ถ้าจะให้รัฐมาดำเนินการเขาก็ไม่ใช่คนในหมู่บ้าน ก็อาจจะทำพอให้เสร็จๆ ไป ตนอยากฟื้นฟูเอง เพราะภาพจำในวัยเด็กของตนมันเป็นภูเขาที่สวยงาม แต่ตอนนี้เป็นเขาหัวโล้นแล้ว วันพรุ่งนี้จึงอยากขอเชิญให้ทุกคนไปร่วมปลูกป่ากันเพื่อให้ภาพจำวัยเด็กของตนกลับคืนมา

ชาวบ้านขึ้นศาลอ่วม 29 คดี -แต่ชัยชนะมาเต็มปิดเหมืองถาวร

ส่วน มล คุณนา  ถ่ายถอดเรื่องราว “ไปศาลกันเถอะ” ระบุว่า ตนเป็นคนหนึ่งที่ต่อสู้มาตั้งแต่รุ่นแรกเมื่อปี 2549  เพราะได้เห็นเหมืองเข้ามาสร้างผลกระทบต่อหมู่บ้านมาเรื่อยๆ เริ่มจากมีฝุ่นเกิดขึ้น จึงได้มาร่วมกันเขียนหนังสือด้วยลายมือตัวเองเพื่อส่งให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องมาดูว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้าง ไปส่งหนังสือมาทุกหน่วยงาน แต่ไม่มีแม้แต่หน่วยงานเดียวเข้ามาดูแลหมู่บ้านเรา จากนั้นพี่น้อง 6 หมู่บ้านจึงมาพูดคุยกันว่าจะต่อสู้อย่างไร เพราะผลกระทบเกิดขึ้นแล้ว จากนั้นมีการสร้างกำแพง มีคดีความเกิดขึ้น มีหมายศาลมาถึงชาวบ้าน  เรียกร้องค่าเสียหายคดีข่มขืนใจผู้อื่น  50 ล้านบาท มีชาวบ้านถูกฟ้องร้อง 22 คนหนึ่งในนั้นมีตนรวมอยู่ด้วย ทำให้กังวลจนนอนไม่หลับ และคิดได้ว่าสู้ก็ตายไม่สู้ก็ตาย ยิ่งต่อสู้ยิ่งมีคดีเพิ่มขึ้น พี่น้องที่มีโฉนดที่ดินก็มาประกันตัวให้คนที่โดนคดี ไม่ให้ใครต้องติดคุก เพราะคดีนี้มันไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่ง มันเป็นคดีของทุกคน มีคดีเกิดขึ้นถึง 29 คดี แต่ไม่ใช่ว่าไปสู้แล้วแพ้ เราก็ได้รับชัยชนะมา โดยเฉพาะคดีฟ้องกลับในเรื่องการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีคำพิพากษาออกมาว่าประชาชนต้องมีส่วนร่วมในกระบวนการฟื้นฟูทุกขั้นตอน ถือเป็นชัยชนะของพวกเรา และสามารถปิดเหมืองถาวรได้

นอกจากนั้นยังมีตัวแทนนักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มฅนรักบ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้านฯ ขึ้นมาบอกเล่าเรื่องราวการต่อสู้กับเหมืองทองคำในพื้นที่ โดยระนอง กองแสน เล่าเรื่อง “เราไม่ยอมสูญเสียภูเหล็ก” หนู สุขปื้อ เล่าเรื่อง “เหตุการณ์บ้านนาโป่ง” บุญอยู่ ชัยสามารถ เล่าเรื่อง “จะไปต่อต้านที่ศาลากลาง” รุ่งนภา มาดาจันทร์ เล่าเรื่อง “ร่องห้วยเหล็กปนสารมลพิษ” ทองคูณ อุทตรี เล่าเรื่อง “กว่าจะมาถึงวันนี้” และ ใหม่ รามศิริ เล่าเรื่อง “ไม้จิ้มฟัน งัดไม้ซุง”

ภายหลังเสร็จสิ้นกิจกรรมเรื่องเล่าแล้วต่อมาเป็นกิจกรรมการแสดงของของเยาวกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดฯ ในชื่อชุด “ความสุขที่หายไป ” ซึ่งเป็นละครที่สะท้อนถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับหมู่บ้านของเด็ก และในตอนท้ายการแสดงเด็กๆ ยังได้ร่วมกันขับกล่อมบทเพลง “บ่อกล้ากินข้าวบ้านเจ้าของที่” บอกเล่าถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นในการทำเหมืองด้วย

จากนั้นในช่วงเช้าของวันที่ 27 ก.ค.  นักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดฯ และภาคีเครือข่ายที่เดินทางเข้าร่วมงานกว่า 100 คน จากนักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทด จ.นครราชสีมา ที่ลุกขึ้นมาต่อต้านเหมืองแร่โปแตช  นักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่- ผาจันได จ.หนองบัวลำภู ที่ลุกขึ้นมาต่อต้านเหมืองหิน กลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาส จ.สกลนคร ที่ลุกขึ้นมาต่อต้านการเจาะสำรวจแร่โปแตช  กลุ่มอนุรักษ์น้ำซับคำป่าหลาย ที่ลุกขึ้นมาต่อต้านเหมืองแร่หินทรายและนโยบายการแย่งยึดที่ดินในยุคคสช. รวมทั้งโครงการผลิตไฟฟ้าด้วยกังหันลมที่กระทบต่อที่ทำกินของชาวบ้าน สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ กลุ่มรักษ์ดงลาน จ.ขอนแก่น ที่ลุกขึ้นมาคัดค้านเหมืองหินและเครือข่ายศิลปิน อาจารย์ นักวิชาการ นักกิจกรรมที่เคยร่วมสนับสนุนการต่อสู้ของชาวบ้านที่นี่ ได้ร่วมปลูกต้นไม้เพื่อพื้นฟูพื้นที่ด้วย

สำหรับขั้นต่อไปในการต่อสู้ของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด ฯ คือการผลักดันแผนฟื้นฟูภาคประชาชนให้มีการบังคับใช้ เพราะในขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ต้องการให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมกับกระบวนการฟื้นฟู แม้ขณะนี้จะมีคณะทำงานร่างแผนฟื้นฟูร่วมกัน แต่ก็ยังไม่มีความคืบหน้า ในขณะในพื้นที่ก็ยังคงตรวจพบสารโลหะหนักเกินค่ามาตรฐานจำนวนมาก

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net