Skip to main content
sharethis

ปิติ ภิรมย์ภักดี ระบุต้องการนำความรู้มาช่วยแบ่งเบาปัญหาเรื่องข้าว มีผู้ใหญ่มาอ่านแล้วเข้าใจปัญหา แต่สุดท้ายก็มาด่าเอามัน ไม่มีใครอ่าน-เคารพความเห็นคนอื่น ทำให้เสียความตั้งใจ โดยต้นเหตุดราม่าเริ่มหลังจากทายาทสิงห์รุ่น 4 โพสต์แนะต้นทุนปลูกข้าวสูง-ขายเกวียนละ 6 พันเป็นหนี้ ไม่ใช่ทุกคนที่เป็น ก่อนมีคนแสดงความไม่เห็นด้วย

5 พ.ย. 2559 เมื่อวันที่ 5 พ.ย. เวลา 16.04 น. ปิติ ภิรมย์ภักดี หรือ ต๊อด ผู้บริหารชื่อดัง ทายาทธุรกิจเบียร์สิงห์รุ่นที่ 4 ได้โพสต์สเตตัสเกี่ยวข้องกับนโยบายข้าว พร้อมภาพประกอบถ่ายกับทุ่งนา ระบุว่า

"อยากรู้เรื่องข้าว ต้องมาคุยกับข้าว ข้าวฝากบอกว่า เช่าที่ จ้างหว่าน จ้างเฝ้า จ้างเกี่ยว จ้างขน ต้นทุนสูง ขายได้ 6,000 เป็นหนี้ โทษโรงสี โทษรัฐ ไม่โทษตัวเอง ไม่ใช่ทุกคนที่เป็นครับ"

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่โพสต์ไปแล้วทำให้มีผู้เข้ามาแสดงความคิดเห็นจำนวนมาก และมีผู้ที่เข้ามาโต้เถียงเนื่องจากไม่เห็นด้วยกับปิติ ทำให้ล่าสุด เมื่อวันที่ 5 พ.ย. ในเวลา 18.02 น. ปิติ ได้โพสต์สเตตัสว่า

"ด้วยความตั้งใจผม

ผมจบเศรษฐศาสตร์การเมืองมาเลยอยากนำความรู้มาช่วยเเบ่งเบาปัญหาเรื่องข้าว โดยหวังว่าจะมีผู้ใหญ่มาอ่านเเล้วเข้าใจถึงปัญหาของแต่ละฝ่ายผ่านความคิดเห็น แต่สุดท้ายก็มาด่าเอามันกัน ไม่มีใครอ่านและเคารพความเห็นคนอื่น ผมเลยเห็นว่าความตั้งใจของผมมันคงทำไม่ได้จริงๆ และไม่เป็นประโยช์นต่อทุกฝ่าย ผมจะไล่ลบทุกความเห็นเรื่องข้าว และคนที่ท้าผมว่ารวยจริงก็มาช่วนสิ ผมอยากช่วยหาทางออกที่ยั่งยืนและผมไม่รวยจริง จบนะครับ ขอบคุณ"

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 4 พ.ย. ที่ผ่านมา จนถึงวันนี้ (5 พ.ย.) ปิติได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับนโยบายข้าว รวมทั้งแสดงข้อเสนอแนะหลายด้าน

โดยเมื่อวันที่ 4 พ.ย. เวลา 11.27 น. ได้โพสต์บทความจากเว็บ thaiarcheep.com หัวข้อ "รายได้เดือนละแสน! พื้นที่ไร่ครึ่งปลูกพืช 10 ชนิด สร้างรายได้ไม่ธรรมดา" และแสดงความคิดเห็นประกอบบทความว่า "ปลูกอื่นๆบ้าง มะพร้าวราคาดีนะ ตลาดโลกยังต้องการอีกมาก"

เมื่อวันที่ 4 พ.ย. เวลา 12.42 น. ได้โพสต์ข่าวหัวจาก นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ข้อ "ผู้ส่งออกแห่ดัมพ์ราคาข้าว ทีดีอาร์ไอแฉต้นเหตุกดโรงสีจนกระเทือนชาวนา" และเขาแสดงความห่วงใยว่า "สมาคมอย่าหนี ชาวนาจะหมดที่พึ่ง"

เมื่อวันที่ 4 พ.ย. เวลา 15.30 น. ได้แชร์โพสต์เก่าที่เคยโพสต์เมื่อ 31 ต.ค. โดยเป็นความเห็นเรื่องนโยบายข่าวใจความว่า

"พูดถึงเรื่องข้าวอีก 10 ปีก็คุยกันไม่จบ เหมือนคุยกันเรื่องเดียวกัน แต่มันมีหลายมุมมองหลายมิติ ใจเย็นๆ อย่าทะเลาะกัน

1. บริโภคภายใน vs ส่งออก
2. ต้นทุนชาวนา ทำเอง vs ว่าจ้าง
3. พันธุ์ข้าว ไทยนิยม vs ต่างชาตินิยม
4. คุณภาพ ตามspec vs ตกspec
5. ราคา ตามตลาด vs แทรกแซง
6. อำนาจเหนือตลาด พ่อค้า โรงสี vs รัฐบาล
7. สภาพตลาด monopoly vs non monopoly
8 หน้าที่รัฐ ปกป้องชาวนา vd ปกป้องพ่อค้า
9. กลไกล contracted farming vs แบบเก่า
10. ปัจจัยอื่นๆของชาวนา รวมมือ vs ตัดราคา
11. ปัจจัยรัฐ G2G vs G2B

ตอนนี้ทั้งจีนและเวียดนามผลิดข้าวได้เยอะมากๆ ส่งออกไปจีนก็ตก ส่งออกไปทั่วโลกก็โดนเวียดนามเอาไปกิน

Demand ในประเทศเพิ่มไม่มาก แต่เมื่อส่งออกได้น้อย ก็ทำให้ล้นตลาด ข้าวเป็นสินค้ามีอายุ แน่นอนราคาต้องตก 11 ข้อที่ตั้งขึ้นมา ถ้าตอบได้อย่างน้อยเราจะได้แนวทางในการแก้ไขปัญหาแบบยั่งยืน"

เมื่อวันที่ 4 พ.ย. เวลา 15.36 น. เขาโพสต์ข่าวจากมติชน หัวข้อ "ด่วน! สมาคมโรงสีข้าวไทย ประกาศยุติบทบาท ถูกสังคมตราหน้าเป็นผู้ร้าย" โดยเขาแสดงความคิดเห็นประกอบว่า

"ถ้าผมคิดผิดชี้ปัญหาให้ชัด อย่ามั่วแต่ด่าผมเพราะสังคมจะไมได้อะไร ถ้าโรงสีมีข้าวดีๆแล้วอยากจะหาคนที่สนใจ ข้าวดี ใหม่ หอม ใช้หน้าเพจผมได้เลย สมาคมอย่าถอยสิ คุณคือตัวแทนโรงสีและชาวนา คุณถอยก็มีแต่คนจะบีบคุณขึ้นทุกวัน"

ต่อมาเมื่อวันที่ 5 พ.ย. เวลา 10.02 น. ได้โพสต์ลิ้งข่าวจากโพสต์ทูเดย์ หัวข้อ "ชาวนาแห่ซื้อเครื่องสีข้าว" และแสดงความคิดเห็นประกอบว่า

"คือส่วนตัวผมว่าต้องใจเย็นกันนิด ถ้าโรงสีตัดราคาอาจเป็นทางออกที่ถูก แต่ถ้าเป็นราคาตลาด จะมีคนกี่คนยอมซื้อของในราคาสูงกว่าตลาด คงเป็นแค่ช่วงนี้ที่เป็นกระแสช่วยชาวนา การที่ซื้อเครื่องสีเอง อยากเป็นหนี้เพิ่มอีกหรอครับ เครื่องเป็นหมื่นๆ จะต้องขายกี่พันตันถึงจะคุ้มค่าลงทุน ขับรถไปขายเอง มันมีต้นทุนผันแปรเพิ่มอีก ว่างแผนกันให้ดีๆ นะ"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net