Skip to main content
sharethis

ประยุทธ์ นั่งหัวโตะประชุม คทช. ครั้งที่ 1/60 เร่งรัดการดำเนินงานจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาลให้ครอบคลุมทั่วประเทศ-เห็นชอบร่างนโยบายและแผนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ 60 - 79

<--break- />

<--break- />6 ก.พ. 2560 รายงานจาก กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก ทำเนียบรัฐบาล ระบุว่า วันนี้ เมื่อเวลา 13.30 น. ณ ห้องสีเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ครั้งที่ 1/2560 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดย ภายหลังการประชุม รวีวรรณ ภูริเดช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ได้แถลงผลการประชุมว่า นายกรัฐมนตรีได้เร่งรัดการดำเนินงานการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาลให้ครอบคลุมทั่วประเทศโดยเร็ว เพื่อแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินของราษฎรผู้ยากไร้ ลดความเหลื่อมล้ำและหนุนสร้างความเข้มแข้งให้ชุมชนในรูปแบบสหกรณ์ โดยมีเป้าหมายให้ราษฎรมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และอยู่อาศัยทำกินในชุมชนที่เข้มแข็ง และยั่งยืน ทั้งนี้ กระทรวง จังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการบูรณาการการทำงานให้เป็นไปตามเป้าหมาย ซึ่งปัจจุบันมีการดำเนินงานจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนฯ ทั่วประเทศแล้ว รวมทั้งสิ้น 64 จังหวัด
 
รวีวรรณ กล่าวว่า ที่ประชุม คทช. รับทราบผลการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการ ภายใต้คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ โดยในส่วนผลการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการจัดหาที่ดิน ที่ประชุมรับทราบการกำหนดพื้นที่เป้าหมายการจัดหาที่ดินทำกินให้ชุมชน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 จำนวนทั้งสิ้น 106 พื้นที่ 42 จังหวัด เนื้อที่ 242,689-1-3.70 ไร่ ซึ่งคณะอนุกรรมการจัดหาที่ดินให้ความเห็นชอบแล้ว ประกอบด้วย ป่าสงวนแห่งชาติ จำนวน 35 พื้นที่ 28 จังหวัด เนื้อที่ 199,266-2-68 ไร่ พื้นที่ปฏิรูปที่ดิน จำนวน 28 พื้นที่ 8 จังหวัด เนื้อที่ 28,512-2-76 ไร่ ป่าชายเลน จำนวน 29 พื้นที่ 9 จังหวัด เนื้อที่ 5,318-3-55 ไร่ ที่สาธารณประโยชน์ จำนวน 11 พื้นที่ 6 จังหวัด เนื้อที่ 8,593-2-94.70 ไร่ พื้นที่ราชพัสดุ จำนวน 3 พื้นที่ 3 จังหวัด เนื้อที่ 997-1-10 ไร่ สำหรับในส่วนการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการจัดที่ดิน ที่ประชุมรับทราบผลการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามหลักเกณฑ์ คทช. และกฎหมาย ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2558-2559 สามารถจัดให้ราษฎรเข้าทำประโยชน์ในที่ดินได้ รวมทั้งสิ้นจำนวน 13,188 ราย 16,378 แปลง เนื้อที่ประมาณ 99,295 ไร่
 
พร้อมกันนี้ คทช. รับทราบผลการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพ ภายใต้กิจกรรม 6 ด้าน ดังนี้ 1. ด้านการพัฒนาที่ดินและการใช้ประโยชน์ที่ดินบนฐานข้อมูล (Zoning) อย่างมีระบบ สมดุลและยั่งยืน จำนวน 11 พื้นที่ 2. ด้านการพัฒนาแหล่งน้ำและการพัฒนาปัจจัยพื้นฐาน จำนวน 6 พื้นที่ 6 จังหวัด 3. ด้านการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพแก่เกษตรกร จำนวน 4 พื้นที่ 2 จังหวัด 4. ด้านการส่งเสริมการรวมกลุ่มเพื่อเตรียมการจัดตั้งสหกรณ์ จำนวน 16 พื้นที่ และมีการจัดตั้งสถาบันเกษตรกร (สหกรณ์/ กลุ่มเกษตรกร) จำนวน 9 แห่ง ใน 9 พื้นที่ 5. ด้านการสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งทุน จำนวน 4 พื้นที่ 6. ด้านส่งเสริมและจัดทำบัญชีครัวเรือน จำนวน 3 พื้นที่ 2 จังหวัด
 
คทช. ยังได้รับทราบผลการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย ดังนี้ 1. แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาที่อยู่อาศัย 10 ปี (พ.ศ. 2559 – 2568) ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2559 เห็นชอบหลักการเพื่อส่งเสริมความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัย และพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มผู้มีรายได้น้อย โดยจัดเตรียมที่อยู่อาศัยที่ได้มาตรฐานในชุมชนที่มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมพร้อมระบบสาธารณูปโภค สาธารณูปการที่จำเป็นในระดับราคาที่กลุ่มเป้าหมายสามารถรับภาระได้ จำแนกเป้าหมายออกเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้ 1) กลุ่มผู้มีรายได้น้อยทั่วไปที่ยังไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัย โดยการเคหะแห่งชาติ (กคช.) บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน จำนวน 1,707,437 ครัวเรือน 2) แผนพัฒนาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อย (เมืองและชนบท) โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) จำนวน 1,044,510 ครัวเรือน 2. การเคหะแห่งชาติ (กคช.) ดำเนินการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับกลุ่มผู้มีรายได้น้อยทั่วไปที่ยังไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัย 4 แผนงาน ดังนี้ 1) แผนยกระดับคุณภาพชีวิต (เช่า) ดำเนินการภายใต้ 3 โครงการ ประกอบด้วย โครงการอาคารเช่าสำหรับผู้มีรายได้น้อย โครงการอาคารเช่าสำหรับผู้ใช้แรงงานในเขตเศรษฐกิจพิเศษ และโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง 2) แผนเสริมสร้างความมั่นคงด้านการอยู่อาศัย (เช่าซื้อ) 3) แผนพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับข้าราชการ 4) แผนความร่วมมือกับภาคเอกชน ดำเนินงานโครงการบ้านประชารัฐ (บ้านเคหะประชารัฐ) 3. สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ดำเนินการพัฒนาที่อยู่อาศัยตามแผนพัฒนาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อย (เมืองและชนบท) ดังนี้ 1) การแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองลาดพร้าว 2) การแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยเพื่อคนยากจนที่บุกรุกที่ดินสาธารณะ “ปทุมธานีโมเดล” 3) การแก้ปัญหาและพัฒนาที่อยู่อาศัยผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา
 
นอกจากนี้ ที่ประชุมเห็นชอบร่างนโยบายและแผนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ (พ.ศ. 2560 – 2579) ซึ่งได้ผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างกว้างขวางแล้ว (เป็นไปตามข้อสั่งการประธานฯ ในการประชุม คทช. ครั้งที่ 2/2559 เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2559) และให้ฝ่ายเลขานุการฯ เสนอ (ร่าง) นโยบายและแผนฯ ต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาอนุมัติต่อไป โดยร่างนโยบายฯ ประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ ยุทธศาสตร์ที่ 1 : ด้านการรักษาความสมดุลทางธรรมชาติการอนุรักษ์ที่ดินและทรัพยากรดินอย่างยั่งยืน ยุทธศาสตร์ ที่ 2 : ด้านการใช้ที่ดินและทรัพยากรดินเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ยุทธศาสตร์ที่ 3 : ด้านการจัดที่ดินให้ประชาชนผู้ยากไร้อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม ยุทธศาสตร์ที่ 4 : ด้านการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดิน
 
ทั้งนี้ การจัดทำนโยบายและแผนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ เป็นการดำเนินงานตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ พ.ศ. 2557 ข้อ 8 (1) จัดทำนโยบายและแผนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ เสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติ รวมทั้งการกำหนดแนวทางหรือมาตรการเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติตามนโยบายและแผนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดิน อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ ฯลฯ ซึ่งเมื่อคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบร่างนโยบายและแผนฯ แล้ว ทุกหน่วยงานจะใช้เป็นกรอบนโยบาย (Policy Framework) เพื่อให้การบริหารจัดการที่ดินของประเทศ มีเอกภาพ มีประสิทธิภาพ เกิดความเป็นธรรม สมดุล และยั่งยืน และนำไปเป็นกรอบในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ แผนปฏิบัติการ รวมทั้งขอรับการจัดสรรงบประมาณต่อไป
 
พร้อมกับที่ประชุมเห็นชอบกระบวนการการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาล ในพื้นที่ที่ดินราชพัสดุ และให้ฝ่ายเลขานุการฯ เสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อรับทราบต่อไป โดยกระบวนการการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนในพื้นที่ ที่ดินราชพัสดุ ในความรับผิดชอบของกรมธนารักษ์ ประกอบด้วย 1) หลักเกณฑ์การดำเนินการใน 2 รูปแบบ คือ การจัดระบบเป็นการจัดที่ดินในที่ดินแปลงว่าง และการจัดระเบียบเป็นการดำเนินการในที่ดินที่มีผู้ครอบครอง 2) ผู้ที่ได้รับการจัดที่ดิน ได้แก่ ผู้ที่ถูกผลักดัน และอพยพออกจากพื้นที่ป่าต้นน้ำและป่าอนุรักษ์ที่สำคัญ ผู้ที่บุกรุกที่ดินราชพัสดุที่อยู่ในเงื่อนไข ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานของทางราชการที่ทำให้สูญเสียที่ดินทำกิน และผู้ที่ไม่มีที่ดินทำกินหรือมีเล็กน้อยไม่เพียงพอต่อการครองชีพ 3) คุณสมบัติของผู้ที่ได้รับการจัดที่ดิน 4) แนวทางดำเนินการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน 5) ข้อกำหนดการใช้ที่ดินของผู้ที่ได้รับการจัดที่ดิน ทั้งนี้ ให้เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ และให้กรมธนารักษ์ใช้ในการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนในพื้นที่ ที่ดินราชพัสดุ ในพื้นที่เป้าหมาย ต่อไป
 
นอกจากนี้ ที่ประชุม คทช. มีมติรับทราบหลักการของ ร่าง พ.ร.บ.ธนาคารที่ดิน พ.ศ. .... โดยให้นำข้อสังเกตของที่ประชุมไปพิจารณาและทบทวนรายละเอียดเพิ่มเติม ให้ครอบคลุมทั้งในด้านกฎหมาย กระบวนการ/องค์กรที่มีอยู่ในปัจจุบัน ประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับอย่างแท้จริง เพื่อให้การดำเนินงานไม่เกิดความซับซ้อน ทั้งนี้ สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) ได้เสนอร่าง พ.ร.บ.ธนาคารที่ดิน พ.ศ. .... เพื่อให้ธนาคารที่ดินเป็นกลไกของรัฐในการบริหารจัดการที่ดิน ลดความเหลื่อมล้ำในเรื่องที่ดินทำกิน ป้องกันและแก้ไขปัญหาการสูญเสียสิทธิในที่ดินทำกินของเกษตรกรและผู้ยากจน โดยเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล ข้อ 9.3 “... กำหนดรูปแบบที่เหมาะสมของธนาคารที่ดินเพื่อให้เป็นกลไกในการนำทรัพยากรที่ดินมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด” โดยธนาคารที่ดิน จะเป็นหน่วยงานที่ให้การสนับสนุนทางการเงินแก่การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม หนุนเสริมการดำเนินงานของหน่วยงานอื่น อุดช่องว่างการแก้ไขปัญหาที่ดินซึ่งหน่วยงาน อื่นไม่สามารถดำเนินการให้ครอบคลุมทุกภารกิจ เช่น สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม กองทุนฟื้นฟูและกองทุนหมุนเวียนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ยากจน และกรมบังคับคดี ซึ่งธนาคารที่ดิน จะดำเนินการในที่ดินเอกชนเป็นหลัก กรณีที่ดินของรัฐจะดำเนินการได้ เมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติมอบหมาย โดยการจัดหาผลประโยชน์ในที่ดินของรัฐ โดยการเช่าหรือการทำประโยชน์อย่างอื่นที่ไม่เป็นการเปลี่ยนกรรมสิทธิ์ในที่ดิน เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ ในที่ดินอย่างเต็มศักยภาพ ตอบสนองต่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน และเป็นไปตามนโยบายและแผนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ
 
รวีวรรณ กล่าวเพิ่มเติมว่า คทช. เห็นชอบหลักการข้อเสนอโครงสร้างและกรอบอัตรากำลังของสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ในสำนักนายกรัฐมนตรี ตามที่ฝ่ายเลขานุการ คทช. เสนอ เพื่อนำไปพิจารณาร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงาน ก.พ.ร. สำนักงาน ก.พ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตามนัยมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2560 ประกอบการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ พ.ศ. .... ต่อไป
 
 
สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net