Skip to main content
sharethis

ไพบูลย์ เตรียมเสนอ ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการจัดการทรัพย์สินวัดและพระภิกษุ และร่าง พ.ร.บ.สภาพุทธบริษัทแห่งชาติ ให้ 'ประยุทธ์-ปธ.สนช.- สังฆราช' หวังแก้ไขปัญหาจัดการเรื่องทรัพย์สินของวัด พระภิกษุและจัดระเบียบให้เป็นไปตามหลักธรรมวินัยป้องกันการบิดเบือน 

1 มี.ค. 2560 รายงานข่าวระบุว่า ไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตประธานกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา สภาปฎิรูปแห่งชาติ (สปช.) เปิดเผยว่า เตรียมยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และสมเด็จพระสังฆราช เพื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการจัดการทรัพย์สินวัดและพระภิกษุ และร่าง พ.ร.บ.สภาพุทธบริษัทแห่งชาติ เพื่อให้หน่วยงานของรัฐนำไปเป็นแนวทางแก้ไขปัญหาจัดการเรื่องทรัพย์สินของวัดและพระภิกษุ รวมถึงปัญหาการขาดองค์กรทำหน้าที่ศึกษาตีความพระธรรมวินัยไม่ให้มีผู้นำไปบิดเบือน ส่งเสริมให้กิจการพระพุทธศาสนาอยู่ในหลักแห่งธรรมวินัย 

ไพบูลย์ กล่าวถึงสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการจัดการทรัพย์สินของวัดและพระภิกษุว่า ร่างดังกล่าวมุ่งเน้นหลักธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการ ให้วัดที่เข้าเกณฑ์ต้องมีระบบการจัดทำบัญชีทรัพย์สินที่เป็นไปตามมาตรฐานบัญชี มีผู้ตรวจสอบบัญชีรับอนุญาตรับรองและส่งให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เผยแพร่ให้พุทธศาสนิกชนรับทราบและทรัพย์สินของวัดให้หมายความรวมถึงทรัพย์สินของมูลนิธิหรือองค์การที่จัดตั้งขึ้นโดยวัดหรือเกี่ยวเนื่องกับวัด ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ส่วนทรัพย์สินของพระภิกษุที่ได้มาระหว่างที่อยู่ในสมณเพศ ให้ถือเป็นทรัพย์สินของวัดที่พระภิกษุนั้นสังกัดอยู่ ให้พระภิกษุใช้จ่ายทรัพย์สินดังกล่าวได้ตามความจำเป็น เพื่อการดำรงสมณเพศเพื่อประโยชน์แก่วัดและศาสนกิจเท่านั้น โดยพระภิกษุจะต้องแจ้งบัญชีทรัพย์สินที่อยู่ในการดูแลของตน ให้คณะกรรมการจัดการทรัพย์สินของวัดที่สังกัดอยู่ทราบทุกปี ส่วนสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.สภาพุทธบริษัทแห่งชาติ เพื่อให้เป็นองค์กรทำหน้าที่ตีความพระธรรมวินัย ให้เป็นไปตามหลักธรรมวินัย รวมทั้งรวบรวมและเผยแพร่พระธรรมวินัยที่เป็นคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ถูกต้องให้แก่พุทธศาสนิกชน สภาพุทธบริษัท ประกอบด้วยสมาชิกจำนวนไม่เกิน 36คน ซึ่งมาจากการแต่งตั้งและสรรหา

ประกอบด้วย พระภิกษุผู้ทรงคุณวุฒิจากธรรมยุติกนิกายและมหานิกาย นิกายละ 2 รูป ซึ่งแต่งตั้งโดยมหาเถรสมาคม  พระภิกษุผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งแต่งตั้งโดยมหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย จำนวน 2 รูป และมหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัยจำนวน 2 รูป  พระภิกษุผู้ทรงคุณวุฒิที่เลือกโดยคณะกรรมการสรรหา จำนวน 10 รูป อาจารย์ผู้สอนวิชาพระพุทธศาสนาในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐที่ไม่ใช่พระภิกษุ ซึ่งมาจากการสรรหา จำนวน 4 คน  ผู้ทรงคุณวุฒิที่ไม่ใช่พระภิกษุ ที่มีความรู้ทางพระธรรมวินัย ซึ่งมาจากการสรรหา จำนวน 14 คน ทั้งนี้ ต้องมีสัดส่วนหญิงชายจำนวนเท่ากัน และพระภิกษุที่เป็นสมาชิกสภาฯ ต้องไม่มีอำนาจปกครองคณะสงฆ์ตามกฎหมายว่าด้วยคณะสงฆ์ แต่ไม่รวมถึงเจ้าอาวาส

ไพบูลย์ กล่าวอีกว่า มั่นใจว่าพระธัมมชโยยังอยู่ในเขตวัดพระธรรมกาย 196 ไร่ เนื่องจากมีหลักฐานหลายประการบ่งชี้ อาทิ มีการตรวจสอบพบว่า คนใกล้ชิดกับพระธัมมชโยทุกคนยังอยู่ในวัดพระธรรมกาย จึงเป็น ไปไม่ได้ที่พระธัมมชโยจะอยู่นอกวัดเพียงลำพัง อีกทั้งยังมีการตรวจจับสัญญาณโทรศัพท์ ซึ่งคนใกล้ชิดกับพระธัมมชโย ได้โทรไปยังเบอร์โทรศัพท์มือถือของบุคคลหนึ่งในช่วงเวลา 04.00 น. ของวันเสาร์ที่ 18 ก.พ.ที่ผ่านมา ประกอบกับเมื่อบ่ายวันอาทิตย์ที่ 19 ก.พ. มีพระภิกษุและลูกศิษย์วัดพระธรรมกายจำนวนหลายพันคนได้บุกเข้ามาแหวกแนวกั้นของทางเจ้าที่ตำรวจเข้ามา เพื่อเพิ่มกำลังมวลชนเข้ามาอยู่ในวัด และต่อมา ทางวัดได้ประกาศไม่ยอมให้เจ้าหน้าที่ดีเอสไอเข้าค้นวัดอีก ย่อมแสดงว่า ไม่ต้องการให้เจ้าหน้าที่เข้าไปพบตัวพระธัมมชโย

ไพบูลย์ กล่าวว่า ตนเชื่อว่า เรื่องจะยุติได้ เมื่อเจ้าหน้าที่ได้ล้อมวัดพระธรรมกายจนอ่อนแรงและบุกเข้าไปจับกุมตัว หรือพระธัมมชโยเข้ามอบตัวเอง แต่กรณีนี้ ทางพระธัมมชโย เป็นห่วงว่า จะไม่ได้รับการประกันตัวและถูกจับสึก ดังนั้นจึงขอให้สังคมช่วยกันหาทางออกเพื่อให้พระธัมมชโยมอบตัว พร้อมขอให้กระบวนการยุติธรรมให้โอกาสโดยให้สามารถใช้สิทธิ์ประกันตัวได้

 

ที่มา : เว็บไซต์วิทยุและโทรทัศน์รัฐสภา และสำนักข่าวไทย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net