คุยก่อนปรองดอง#2 'ใบตองแห้ง': สื่อควรแข่งขัน ถ่วงดุล และตรวจสอบกันอย่างอิสระ

คลิปสัมภาษณ์ "ใบตองแห้ง" "พ.ร.บ.คุ้มครองสื่อ-แท้จริงคือควบคุมสื่อ"

ขณะที่กระบวนการพูดคุยเพื่อความปรองดองกำลังเดินหน้า กับ 11 คำถามของคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) ที่มีหลากหลายประเด็นครอบคลุมตั้งแต่เรื่องการเมือง กระบวนการยุติธรรม ปัญหาคอร์รัปชัน ประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เรื่องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การปฏิรูปสื่อฯ ความเหลื่อมล้ำในสังคม ฯลฯ ประชาไทสัมภาษณ์ อธึกกิต แสวงสุข หรือ ใบตองแห้ง บรรณาธิการข่าวการเมืองอาวุโส วอยซ์ทีวี ในประเด็นด้านสื่อกับคำถามว่า ท่านมีแนวทางในการไม่ให้สื่อตกเป็นเครื่องมือในการสร้างความขัดแย้งได้อย่างไร
 

ภาพรวมของการปรองดองครั้งนี้เป็นอย่างไร?

อธึกกิต ให้ความเห็นว่า ภาพรวมของการปรองดองครั้งนี้แม้มีการกล่าวถึงกระบวนการที่คล้ายการนิรโทษกรรมแกนนำและประชาชนกลุ่มต่างๆ แต่แท้จริงแล้วเนื้อในเป็นการเคลื่อนย้ายระบอบคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่จำกัดสิทธิเสรีภาพ และการแสดงความคิดเห็น ให้ไปอยู่ในรัฐธรรมนูญใหม่ สร้างรัฐแห่งการควบคุม ให้ทุกสิ่งอยู่ในกรอบที่ คสช. วางไว้ ไม่ต้องการให้มีการต่อต้าน และแม้จะมีกรอบของรัฐธรรมนูญวางไว้แล้ว ก็ยังต้องออกกฎหมายควบคุมมาเสริม เช่น พ.ร.บ. ชุมนุมสาธารณะ พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน (พ.ร.บ. สื่อ) พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ หรือแม้กระทั่งการพยายามควบคุมเรื่องพระสงฆ์และพุทธศาสนา

“รัฐบาลพยายามทำให้ทุกอย่างเป็นเอกภาพนำไปสู่สังคมใต้บังคับบัญชาที่เรียกว่าการปรองดอง เป็นการเลือกตั้งที่ไม่ได้นำสู่ประชาธิปไตยที่เปิดพื้นที่การมีส่วนร่วม แสดงความคิดเห็น ด้วยจุดมุ่งหมายทางความมั่นคง”เขามองว่า นี่คือการปรองดองที่ไม่ได้เจรจาแบบที่นักการเมืองมีอำนาจต่อรอง ชูเรื่องยุทธศาสตร์ชาติ การปฏิรูป ระบอบความมั่นคงนำไปสู่ความเจริญ สร้างความฝันแบบจีนที่เมื่อเศรษฐกิจดีเราจะมั่นคง

ขณะที่สื่อเองก็เป็นกลไกส่วนหนึ่งในการสร้างความมั่นคง จึงมีความจำเป็นต้องควบคุมสื่อ ที่ผ่านมาสื่อกระแสหลักแม้ไม่ได้เป็นศัตรูกับ คสช. แต่จำต้องควบคุมไม่ให้มีแรงกระเพื่อม เพราะถ้าปล่อยให้สื่อสร้างความเคลื่อนไหวจะเป็นอันตรายต่อความมั่นคง รัฐบาลนี้มีเป้าหมายอันดับแรกคือความมั่นคง ต่อมาจึงเป็นเรื่องเศรษฐกิจ คุณภาพชีวิต ส่วนสิทธิเสรีภาพเป็นเรื่องสุดท้ายที่รัฐบาลจะนึกถึง
 

สื่อเป็นตัวสร้างความขัดแย้งหรือไม่?

จากคำถามที่ว่า ‘ท่านมีแนวทางในการไม่ให้สื่อตกเป็นเครื่องมือในการสร้างความขัดแย้งได้อย่างไร’ เราอาจตีความได้ว่า สื่อเป็นเครื่องมือในการสร้างความขัดแย้ง

อธึกกิตให้ความเห็นต่อเรื่องนี้ว่า สังคมขัดแย้งและสื่อเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้ง สื่อมีส่วนแต่ไม่ได้เป็นผู้เดียวที่สร้างความขัดแย้ง เป็นความจริงที่สื่อไม่ได้ทำหน้าที่อย่างที่ควรทำ สื่อทำตัวเองเป็นตะเกียงไม่ใช่กระจก ทิ้งหลักการสำคัญของตัวเองในเรื่องการแสดงความคิดเห็น ปกป้องเสียงข้างน้อย และตรวจสอบอำนาจรัฐ ที่ผ่านมาสื่อทำเกินกรอบหลักเกณฑ์ในการคุ้มครองประชาธิปไตย สื่อมีบทบาทที่นำไปสู่การรัฐประหาร การล้อมปราบ โดยไม่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐในเวลานั้น เราเรียกสื่อเหล่านี้ว่า สื่อเลือกข้าง ซึ่งจริงๆ เลือกข้างได้ แต่อะไรคือกรอบเกณฑ์ของสื่อ นั่นคือสื่อต้องรักษาไว้ซึ่งประชาธิปไตย เพราะเมื่อรัฐบาลไม่เป็นประชาธิปไตยสื่อก็ไม่สามารถตรวจสอบได้ ยกตัวอย่างเช่นเรื่องธรรมกาย สื่อได้ตรวจสอบการใช้อำนาจนี้ไหม เรื่องนี้ต้องแยกระหว่างการไม่เห็นด้วยกับธรรมกายกับใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐบาล
 

ร่างพ.ร.บ.สื่อฉบับใหม่ ลดหรือเพิ่มความขัดแย้ง?

นอกจากความพยายามวางกรอบผ่านรัฐธรรมนูญแล้ว รัฐบาล คสช. ยังวางกรอบผ่านร่างกฎหมาย โดยล่าสุด สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ด้านสื่อสารมวลชนได้เสนอร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า พ.ร.บ. สื่อ ฉบับใหม่ ที่องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนออกแถลงการณ์แสดงการคัดค้าน เนื่องจากใน พ.ร.บ.ระบุให้มีการจัดตั้งสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติให้เป็นองค์กรตามกฎหมายที่มีอำนาจในการลงโทษผู้ประกอบวิชาชีพและองค์กรสื่อมวลชน ซึ่งย่อมเป็นการเปิดช่องให้มีการแทรกแซงการทำหน้าที่อย่างเป็นอิสระของสื่อมวลชนของฝ่ายการเมืองโดยผ่านสภาวิชาชีพดังกล่าว

อธึกกิตกล่าวว่า กฎหมายที่ออกมาเป็นไปไม่ได้ที่จะแก้ความขัดแย้ง แต่จะยิ่งทำให้เกิดความวุ่นวาย ทำให้ปัญหาของสื่อมากยิ่งขึ้น เขาเชื่อว่า ร่าง พ.ร.บ.สื่อนี้หากเป็นสื่อกระแสหลักจะไม่ได้ถูกลิดรอนเรื่องการออกใบอนุญาต เพราะสื่อใหญ่ยังมีอิทธิพลต่อรองกับรัฐบาล แต่ที่เดือดร้อนคือสื่ออิสระ สื่อออนไลน์ เพราะจะถูกควบคุมอย่างเข้มงวดและทำให้การขอใบอนุญาตเป็นเรื่องยาก

“พ.ร.บ.คุ้มครองสื่อ แท้จริงก็คือ พ.ร.บ.ควบคุมสื่อ เพราะเป็นการเอาอำนาจรัฐมาควบคุมสื่อ ทั้งที่รัฐเป็นผู้ที่จะต้องถูกสื่อตรวจสอบ แต่ถ้ารัฐเข้ามามีอำนาจควบคุมสื่อ หรือให้คุณให้โทษสื่อ ก็จะทำให้เกิดการเบี่ยงเบนว่าจะใช้อำนาจตรวจสอบสื่ออย่างไร การตรวจสอบสื่อควรเป็นเรื่องผู้บริโภค ควรเปิดเสรีภาพให้สื่อแข่งขันกันเพื่อถ่วงดุล ไม่ใช่ใช้อำนาจในการลงโทษและถอนใบอนุญาต เหมือนต้องมีใบอนุญาตให้แสดงความคิดเห็น ซึ่งมันตลก”

นอกจากนี้แนวคิดที่ให้สภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติมีอำนาจที่จะควบคุมเป็นหลักการที่ผิด สื่อควรตรวจสอบกันเองแต่ไม่ใช่การควบคุมกัน เนื่องจากสื่อเป็นคู่แข่งกันทางธุรกิจและทางความคิดเห็น ในองค์กรสื่อไม่อาจเอาเสียงข้างมากมาคุมเสียงข้างน้อยได้ เพราะสื่อมีหลักการปกป้องเสียงข้างน้อย เขาชี้ว่า วงการสื่อยกระดับมาด้วยการแข่งขัน ทุกวันนี้เกิด 18 อรหันต์แบบคอลัมนิสต์ที่มีอิทธิพลต่อกระแสข่าวทางการเมืองเมื่อ 20-30 ปีก่อน เช่น “กระสุนทอง” “พญาไม้” “มดคันไฟ”ไม่ได้ เพราะการแข่งขันทำลายพวกนี้ไปหมดแล้ว ทุกวันนี้รายการคุณอาจได้รับความนิยม แต่ถ้าคุณพูดผิดคุณก็ถูกถ่วงดุล อิทธิพลสื่อหายไปหมดแล้ว
 

อิทธิพลของสื่อในปัจจุบันเป็นอย่างไร?

เมื่อร่าง พ.ร.บ.สื่อ มีแนวโน้มเป็นไปในทิศทางควบคุมสื่อ สื่อยังจะสามารถแสดงความเห็น วิพากษ์วิจารณ์ และนำเสนอความจริงที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ทางสังคมได้หรือไม่ อธึกกิตกล่าวว่า ปัจจุบันใครก็เป็นสื่อได้ พลังมาจากสื่อกระแสรอง ข่าวจำนวนมากมาจากโลกออนไลน์ ข่าวจากสื่อกระแสหลักคือข่าวที่ เนื้อหามาจากรัฐบาล เช่น ข่าวรัฐบาลแถลงการณ์ ส่วนการวิพากษ์วิจารณ์ของสื่อก็ไม่ได้มีความสำคัญมากเท่าในโลกออนไลน์แล้ว หน่วยงานรัฐอาจจะยังให้ความสำคัญเมื่อหนังสือพิมพ์พาดหัวถึงตัวเอง แต่คนทั่วไปอ่านเนื้อหาจากเพจในเฟซบุ๊กมากกว่าอ่านบทความจากคอลัมนิสต์ชื่อดัง
เขาชี้ว่า ทุกวันนี้การปลุกเร้าอารมณ์ของสื่อก็มีอิทธิพล มีคนสุดขั้วที่ติดตามสื่อที่เขียนอย่างไร้สติในสังคมออนไลน์ ซึ่งเป็นภาพสะท้อนสังคม แต่กลับกันสิ่งที่สะท้อนในสังคมออนไลน์อาจไม่ใช่ตัวจริงทั้งหมดของเขา สื่อนำความสุดโต่งนั้นมาขยายให้ดูรุนแรง ทั้งที่จริงแล้วมีคนคิดสุดโต่งอย่างนั้นไม่มาก

เมื่อเปรียบเทียบกับอิทธิพลของสื่อในยุคก่อนแล้ว อธึกกิตเห็นว่า การที่สื่อจะมีอำนาจล้มรัฐบาลได้ ต้องตรึงรัฐบาลให้อยู่กับที่แล้วซ้ำไปเรื่อยๆ ตรึงคือสร้างกระแสเรื่องใดให้อยู่ยาวๆ พาดหัวข่าวอยู่ได้เป็นเดือน เช่น ในปี 2535 เมื่อสุจินดา คราประยูร “เสียสัตย์เพื่อชาติ” ทุกอย่างก็พลิก หรือชวน หลีกภัยที่พูดดีแต่ทำไม่ได้ กระทั่งสมัยทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเป็นนักการตลาดสมัยใหม่ คิดนำหน้าสื่อ เปิดประเด็นใหม่ตลอดเวลา สื่อตามไม่ทัน กำลังตามเรื่องนี้มีเรื่องใหม่มาอีกแล้ว แต่จุดขาลงรัฐบาลเริ่มจากเรื่องเครื่องตรวจจับระเบิด CTX 9000 กับกรณีทุจริตคอรัปชั่นของรัฐบาล ซึ่งพาดหัวข่าวได้นาน ทำให้สื่อตรึงรัฐบาลได้หลังจากนั้น

ขณะที่ปัจจุบัน เขามองว่า ประยุทธ์มีอำนาจปิดปากสื่อ สื่อสมยอม ไม่เห็นภาวะสื่อตรึงกับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แต่อนาคตคาดว่าจะเกิดขึ้น ไม่ใช่เรื่องเดียวแต่อาจเป็นการถูกตรึงซ้ายขวา แล้วรัฐบาลเปิดประเด็นใหม่ไม่ได้ แม้เรื่องธรรมกายรัฐบาลจะเป็นฝ่ายชิงพื้นที่สื่อได้ และสื่อไม่ได้มีพลังเหมือนเมื่อก่อนตอนตรึงทักษิณ

“แต่ตอนนี้พลังมาจากสื่อกระแสรอง สนช.โดดประชุมมาจากไอลอว์ ฝายแม่ผ่องพรรณมาจากเฟซบุ๊ก สิ่งที่สะเทือนใจสังคมไม่ได้เกิดจากสื่อกระแสหลักอีกแล้ว ถึงแม้จะดูตรึงไม่ได้ แต่เกิดกระแสหลากหลายปั่นป่วน ช่องทางสื่อที่เหลือคือการต่อรอง ภาวะรัฐบาลแม้ดูเข้มแข็ง แต่กำลังจะอยู่ในช่วงขาลง ปัญหาเศรษฐกิจ และการต่อต้านต่างๆ ทำให้รัฐบาลคิดหนักว่าจะเปิดแนวรบกับสื่อแค่ไหน ขึ้นกับภาวะการเสื่อมความนิยมของรัฐบาลด้วย”
 

 

สื่อคือภาพสะท้อนอารมณ์สังคมคนชั้นกลาง

อธึกกิตเสนอว่า ความจริงแล้วสื่อเป็นภาพสะท้อนที่ผนวกอารมณ์คนชั้นกลาง สมัยก่อนสื่อกระแสหลักสะสมสิ่งเหล่านี้แล้วนำไปขมวดจุดชนวน เช่น ปี 2535 ที่คนชั้นกลางไม่พอใจนายกฯชาติชาย ชุณหะวัณ อย่างรุนแรง นำไปสู่การรัฐประหารโดยพลเอกสุจินดา แต่เมื่อสุจินดาเสียสัตย์ทุกอย่างก็พลิก มาจนถึงเหตุการณ์รัฐประหารปี 2549 การสลายการชุมนุม ปี 2551, 2552 และ 2553 รวมทั้งการรัฐประหารครั้งล่าสุดในปี 2557 สื่อเป็นเสมือนภาพสะท้อนอารมณ์ของคนชนชั้นกลาง เอาแน่เอานอนไม่ได้ ผันผวน เอาแต่ใจตัว มีความถูกต้องในทางความรู้สึกบางเรื่อง แต่คล้ายกับเตลิดไปไกลจนไม่อยู่ในกรอบประชาธิปไตย

หากมองกลับกัน จุดรวมอารมณ์ที่สร้างกระแสถึงที่สุดแล้วจะเป็นอันตรายต่ออำนาจทุกฝ่าย ภาวะเช่นนี้ไม่ใช่สิ่งที่ระบอบอำนาจปัจจุบันพอใจ บางเรื่องอาจเป็นเรื่องที่คนชนชั้นกลางทั่วไปไม่ได้สนใจ เช่น เรื่องไผ่ ดาวดิน แต่คนเหล่านี้จะไปสนใจในเรื่อง 7 สนช.ไม่เข้าประชุม หรือทัวร์ฮาวาย อันเป็นสิ่งสะเทือนอารมณ์คนชั้นกลาง ทำให้ระบอบ คสช.ไม่อาจสบายใจได้ ดังนั้นจึงต้องควบคุมสื่อให้อยู่ในกรอบ ไม่ก่อให้เกิดความผันผวน

“แต่สิ่งที่ทำให้ คสช. แตกต่างจากคณะรัฐประหารตอนปี 2535 คือขณะนี้ คสช. ยังอยู่ในสถานะที่มั่นคงเพราะภาวะสังคมที่อับจนภูมิปัญญาไม่รู้จะไปทางไหน ไม่กล้ากลับสู่ประชาธิปไตยแบบเต็มใบ กลัวเกิดความวุ่นวาย อย่างไรก็ตามจะถึงจุดที่เป็นขาลง ยิ่งในภาวะการเลือกตั้งหากคุมสื่อไม่ได้ อำนาจของรัฐบาลที่เคลื่อนย้ายไปสู่รัฐธรรมนูญใหม่ก็อาจมีสถานะอันตราย แต่ความจริงก็คือ แม้จะควบคุมสื่อได้แต่คุณควบคุมอารมณ์สังคมไม่ได้”
 

จัดตั้งองค์กรคุ้มครองผู้บริโภค

ข้อเสนอของอธึกกิตต่อประเด็นการคุ้มครองสื่อคือ ควรเปิดโอกาสให้สื่อแข่งขันกันอย่างเสรีไม่ต้องมีการควบคุม สื่อจะเป็นฝ่ายตรวจสอบและถ่วงดุลกันเอง ส่งเสริมองค์กรคุ้มครองผู้บริโภค ยกระดับให้ผู้บริโภคเป็นผู้ตรวจสอบสื่อ มีกองทุนให้คนที่ถูกสื่อรังแกใช้ในการดำเนินคดี เช่น หากมีคนฟ้องวอยซ์ทีวีละเมิดจรรยาบรรณ ร้องเรียนต่อองค์กรวิชาชีพสื่อ หากองค์กรวิชาชีพสื่อเห็นว่าผิดก็ออกคำแถลงประณาม ไม่ใช่ใช้อำนาจตัดใบอนุญาต สำหรับองค์ประกอบคณะกรรมการ เขาเสนอให้มาจากภาคประชาชน ไม่ใช่มาจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ทุกวันนี้มีปัญหาเพราะ กสทช. เอาประกาศของ คสช. มาใช้ จนทำให้ กสทช.มาควบคุมสื่อตามอำนาจรัฐประหาร โดยอ้างว่าเป็นรัฏาธิปัตย์ หรืออำนาจสูงสุดของรัฐ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท