Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

ในหนังสือ “ปรัชญาสาธารณะ - Public Philosophy” (แปลโดยสฤณี อาชวานันทกุล) ไมเคิล แซลเดล (Michael Sandel) วิพากษ์ “ปัญหาของความเป็นอารยะ” (หน้า 84-90) ไว้อย่างน่าสนใจ โดยอ้างถึงกระแสต่อต้านความไร้อารยะในสังคมอเมริกัน ช่วงปี 1996 ที่บิล คลินตันชนะการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสมัยที่ 2 ว่า

...เสียงเรียกให้ทุกคนมีความเป็นอารยะก้องกังวานทั้งแดนดิน คนอเมริกันเอือมระอากับโฆษณาโจมตีคู่แข่ง การรณรงค์เชิงลบ และความเคียดแค้นต่อพรรคฝั่งตรงข้าม นอกจากนั้นก็ทุกข์ใจที่เห็นชีวิตประจำวันหยาบกร้านขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นความหยาบคายบนทางด่วน ความรุนแรงและลามกสามานย์ในภาพยนตร์ฮอลลีวูดและเพลงยอดนิยม การสารภาพฟูมฟายชนิดหน้าไม่อายของรายการโทรทัศน์ช่วงกลางวัน หรือดาราเบสบอลที่ถ่มน้ำลายใส่กรรมการ

แซลเดมองว่า “คนอเมริกันคิดถูกแล้ว ที่เป็นห่วงว่าความเป็นอารยะในชีวิตประจำวันกำลังเสื่อมถอยลง แต่เราจะพลาดถ้าคิดว่ามารยาทและความประพฤติที่ดีกว่าเดิมจะแก้ปัญหาพื้นฐานของประชาธิปไตยอเมริกันได้” เพราะแม้เราจะอยากให้การถกเถียงทางการเมืองดำเนินไปด้วยจิตวิญญาณของการนับถือซึ่งกันและกัน แต่การให้คุณค่าแก่ความเป็นอารยะสูงเกินไป เชิดชูมันมากเกินไป ก็อาจเกิดปัญหาต่อความเป็นประชาธิปไตยเสียเอง ดังที่เขาวิพากษ์ว่า

การร้องขอให้แสดงความเป็นอารยะต่อกันมากขึ้นในภาคการเมือง มักเป็น “การอ้างศีลธรรม” มาขอให้เพ่งเล็งเรื่องการลักลอบบริจาคเงินสมทบหาเสียง หรือการประพฤติผิดอื่นๆ ในทำนองเดียวกัน... การเรียกร้องให้ทุกคนเลิกการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย อาจทำให้ความแตกต่างที่ชอบธรรมด้านนโยบายระหว่างพรรคเรือนลางลง หรือกลายเป็นการสร้างความชอบธรรมให้กับการเมืองที่ปราศจากหลักการหรือความเชื่ออันแรงกล้า 

เมื่อหันมามองการเมืองในบ้านเรา จะเห็นการสร้างกระแสความเอือมระอาต่อ “ความไร้อารยะ” อย่างชัดเจน เช่น เอือมระอาต่อการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย การมุ่งเอาชนะคะคานกันของภาคการเมือง การอภิปรายที่ไร้สาระ ไร้มารยาทในสภา การแบ่งฝ่ายแบ่ง “สี” ของกลุ่มมวลชนทางการเมืองนอกสภา และสิ่งที่ใช้เป็นมาตรฐานของ “ความเป็นอารยะ” ก็คือ “การอ้างศีลธรรม” การอ้างสถานะทางการศึกษา ทางเศรษฐกิจ ไปจนถึงรูปลักษณ์หน้าตา

ดังเห็นได้จากปรากฏการณ์ของการโจมตีศีลธรรมของนักการเมือง การดูถูกสถานะทางเศรษฐกิจ การศึกษา รูปลักษณ์หน้าตาของมวลชนฝ่ายตรงข้าม เช่นว่าเพราะความยากจนจึงมารับจ้างชุมนุมเพราะด้อยการศึกษาจึงถูกหลอก รูปลักษณ์หน้าตาก็โง่ๆ เซ่อๆ เป็นพวกกเฬวราก ควายแดง ฯลฯ ไม่เหมือนกับพวกตัวเองที่มีฐานะดี มาชุมนุมก็นำเงินมาบริจาคด้วย การศึกษาก็ดี หน้าตาดี ท่าทางฉลาด บางคนก็ประกาศว่าตนเองมี “ปริญญา 5 ใบ” ประกาศความเป็นเสรีชน อธิการบดีมหาวิทยาลัยบางคนพูดถึงปัญหาความยากจน ความด้อยการศึกษาของอีกฝ่ายที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประชาธิปไตย แล้วบรรดาคนที่มีอารยะก็เรียกร้องและสนับสนุนรัฐประหารไปพร้อมๆ กัน

การเชิดชูความเป็นอารยะภายใต้การอ้างศีลธรรม,สถานะทางเศรษฐกิจ,การศึกษา,รูปลักษณ์หน้าตาฯลฯ ดังกล่าว จึงนำไปสู่ปัญหาที่แซลเดลกล่าวว่า “กลายเป็นการสร้างความชอบธรรมให้กับการเมืองที่ปราศจากหลักการหรือความเชื่ออันแรงกล้า” โดยการทำให้ความเชื่อในเรื่องการเลือกตั้งของคนเสื้อแดงไร้ความหมาย เพราะพวกเขาถูกให้ความหมายว่า “ไร้ความเป็นอารยะ” จนกระทั่งไม่สามารถจะมี “เจตจำนงทางการเมือง” ของตนเอง เพราะเป็นเพียงคนที่ถูกหลอก ถูกซื้อ หรือเป็น “ขี้ข้าทักษิณ” เป็นต้น

พร้อมกับการทำให้อีกฝ่ายไร้ความเป็นอารยะก็คือการ “ให้ความชอบธรรมกับการเมืองที่ปราศจากหลักการประชาธิปไตย” นั่นก็คือการเมืองในวิถีรัฐประหารที่อ้างว่า “นี่ไม่ใช่การเล่นการเมือง” แต่เป็นการแก้ปัญหาบ้านเมืองในนามศีลธรรม ความดี คนดี ที่มีความเป็นอารยะเหนือกว่าการเมืองน้ำเน่าที่มากไปด้วยปัญหาดังที่ผ่านๆ มา

แล้ววิถีแห่ง “ความเป็นอารยะ” หลังรัฐประหาร 2557 ก็เริ่มตั้งแต่การปิดเว็บฯ โป๊ การจัดระเบียบวินมอเตอร์ไซค์, คิวรถตู้, การขายล็อตเตอร์รี่ เรื่อยมาถึงการจัดระเบียบการเล่นน้ำสงกรานต์ที่ต้องแต่งกายชุดสุภาพ ห้ามนั่งแคปและกระบะรถยนต์ รวมทั้งออกคำสั่งเรียกนักวิชาการ นักกิจกรรมทางการเมือง นักการเมือง สื่อมวลชนฝ่ายตรงข้ามเข้าปรับทัศนคติในค่ายทหาร การส่งเจ้าหน้าที่ทหารสกัดการชุมนุม การจัดเสวนาเกี่ยวกับปัญหาปากท้อง ที่ทำกิน สิ่งแวดล้อมของชาวบ้าน การควบคุมเสรีภาพในการแสดงออกในโลกโซเชียล การเสนอร่างกฎหมายควบคุมสื่อฯลฯ สุดท้ายตามมาด้วยการประกาศใช้ “รัฐธรรมนูญ ฉบับ คสช.ภายใต้ ม. 44” ทั้งหมดนี้คือ “ความเป็นอารยะ” ได้พาเรามาถึงและดำเนินต่อไป

แต่ในทัศนะของแซลเดล “ถ้าการเมืองแบบประชาธิปไตยเป็นไปย่างเหมาะสม มันจะเต็มไปด้วยประเด็นที่เกิดการโต้แย้งมากมาย เราเลือกนักการเมืองให้มาถกเถียงกันในประเด็นสาธารณะร้อนฉ่าทั้งหลาย เช่น จะใช้เงินเท่าไรกับการศึกษา การทหาร และการดูแลคนจน จะลงโทษอาชญากรอย่างไร และจะยอมให้คนทำแท้งหรือไม่ เราไม่ควรแขยงหน่ายกับเสียงต่อต้านอึกทึกและการโต้แย้งที่ตามมา เพราะมันคือภาพและเสียงที่เร้าใจของประชาธิปไตย”

บางทีผมก็แปลกใจกับการแสดงความเอือมระอาต่อการโต้เถียง ก่นด่าใน “โลกเสมือนจริง” ของสังคมโซเชียล เพราะมองว่ามันเป็นความวุ่นวาย สร้างความแตกแยก ความไม่สงบสุขของสังคม แต่อย่างที่ประจักษ์ ก้องกีรติให้สัมภาษณ์เผยแพร่ในสื่อออนไลน์(ประมาณ)ว่า “ความสงบสุขไม่ใช่เป้าหมายเดียวของสังคม ถ้าความสงบสุขเป็นเป้าหมายเดียวของสังคม ประเทศเกาหลีเหนือคงเป็นประเทศที่น่าอยู่ที่สุด เพราะไม่มีสื่อวิจารณ์รัฐบาล ไม่มีการประท้วงทางการเมือง” ดังนั้น ความคิดต่าง การถกเถียงโต้แย้ง เสียงวิพากษ์วิจารณ์ การชุมนุมประท้วงและอื่นๆ ที่ไม่เกิดความรุนแรงจึงเป็นเรื่องปกติของสังคมประชาธิปไตย ด้วยเหตุนี้วิถีประชาธิปไตยจึงเป็นวิถีที่มีประสิทธิภาพมากกว่าในการปรับปรุงการบริหาร การสร้างความยุติธรรม และอื่นๆ

แต่ประชาธิปไตยจะสามารถลงหลักปักฐานได้ ก็ต่อเมื่อเราหลุดจากมายาคติความเป็นอารยะหลอกๆ และตระหนักอย่างชัดเจนว่า “ความเป็นประชาธิปไตยคือความเป็นอารยะในตัวมันเอง” กล่าวคือ ความเป็นอารยะอยู่ที่รูปแบบและวัฒนธรรมการเมืองที่เป็นประชาธิปไตย ไม่ใช่อยู่ที่ข้ออ้างทางศีลธรรม ความดี ความสงบสุข และอื่นๆ ที่ถูกเชิดชูขึ้นมาให้เหนือกว่าและลดทอนเสรีภาพ สิทธิ และอำนาจของประชาชน

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net