Skip to main content
sharethis

เปิดเนื้อหาฉบับเต็มร่างสัญญาประชาคมเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง แม่ทัพน้อยที่ 1 กล่าวเปิดงานหวังงานวันนี้จะราบรื่น ไร้ข้อโต้แย้ง และความขัดแย้ง ด้านวรัญชัย โชคชนะ เข้าร่วมงานยกมือถามเป็นคนแรก ทหารเข้าใจประชาธิปไตยแค่ไหน และเมื่อไหร่จะคืนประชาธิปไตยให้ประชาชน

17 ก.ค. 2560 13.00 น. ที่สโมสรกองบัญชาการกองทัพภาคที่ 1 ได้มีการจัดเวทีสาธารณะเพื่อชี้แจงร่างสัญญาประชาคมเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง โดยมี พลโท กู้เกียรติ ศรีนาคา แม่ทัพน้อยที่ 1 เป็นประธาณกล่าวเปิดงาน โดยงานครั้งนี้มีประชาชน ตัวแทนกลุ่มการเมือง นักการเมือง รวมทั้งภาคประชาสังคมร่วมงานจำนวนมาก

พลโท กู้เกียรติ กล่าวว่า ทราบว่าประชาชนทุกภาคส่วนต้องการให้ประเทศมีความสามัคคีปรองดอง และเดินต่อไปข้างหน้าอย่างสันติ และหวังว่าการจัดเวทีสาธารณะครั้งนี้จะเป็นไปอย่างสร้างสรรค์ ราบรื่น ปราศจากข้อโต้แย้ง และความขัดแย้งใดๆ ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างความปรองดองในอนาคต โดยจากการเก็บข้อมูลที่หลากหลาย ได้สะท้อนให้เห็นความต้องการของประชาชน ซึ่งส่งผลให้สัญญาประชาคมมีความสมบูรณ์ เพื่อให้ประเทศชาติเดินหน้าต่อไป โดยที่ประชาชนทั่วไปมีความสามัคคีปรองดอง และมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ

ต่อมาได้มีการจัดเวทีเสวนาชี้แจงการทำงานของคณะอนุกรรมการเตรียมสร้างความสามัคคีปรองดอง โดยมีพลตรีอภิศักดิ์ สมบัติเจริญนนท์ อนุกรรมการพิจารณาการบูรณาการข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะ เพื่อสร้างความปรองดอง และพลตรีชนาวุธ บุตรกินรี อนุกรรมการจัดทำข้อเสนอกระบวนการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง และพันเอกวินธัย สุวารี และ พันตรีหญิงนุสรา วรภัทราทร เป็นผู้ดำเนินการเสวนา

พลตรีอภิศักดิ์ ได้อธิบายถึงภาพรวมของการทำงานของคณะกรรมการเตรียมสร้างความสามัคคีปรองดองว่า คณะกรรมการชุดดังกล่าวอยู่ภายใต้คณะกรรมการราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความปรองดอง (ป.ย.ป.) โดยเริ่มต้นจากการออกคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 7/2560 เมื่อต้นปีที่ผ่านมา โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน

“ดังนั้นเราจะเห็นว่าจุดเข็มของคณะกรรมการชุดนี้คือ การที่ผู้บริหารสูงสุดของประเทศ ท่านได้เข้ามาเห็นข้อมูล และได้เข้ามาดูแลตั้งแต่ต้น หมายความว่าสิ่งตามที่เราทำกันมาได้รับฟังมาจากท่านๆ ก็จะได้นำส่งขึ้นไป”พลตรีอภิศักดิ์ กล่าว

พลตรีอภิศักดิ์ กล่าวว่า การทำงานของคณะกรรมการเตรียมสร้างความสามัคคีปรองดองนั้นเริ่มต้นมาตั้งแต่วันที่ 14 ก.พ. 2560 ซึ่งเป็นวันแห่งความรัก โดยมีการแบ่งโครงสร้างคณะทำงานออกเป็น 4 คณะอนุกรรมการ ประกอบด้วย คณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นฯ, คณะอนุกรรมพิจารณาการบูรณาการข้อคิดเห็น, คณะอนุกรรมการจัดทำข้อเสนอฯ และคณะอนุกรรมการประชาสัมพันธ์ฯ โดยผู้รับผิดชอบงานในแต่ละส่วนต่างก็เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ในกองทัพ

“ต้องเรียนกับท่านก่อน เพราะสิ่งแรกที่ผมโดนถามเสมอคือ มีแต่ทหารทั้งนั้นเลย คนก็รู้สึกว่าทหารพูดกันเอง ทำกันเอง และชมกันเองหรือเปล่า และสิ่งที่ประชาชนเสนอไปจะเป็นไปตามนั้นไหม หรือว่ามีธงอยู่แล้ว ผมได้ยินมาอย่างนั้นบ่อยมาก ต้องขอย้ำกับทุกท่านตรงนี้ด้วยความเป็นผู้ชายในเครื่องแบบ แมนๆ เลยครับว่า ไม่เคยมีใครมาสั่งให้เป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนี้ ท่านเปิดกว้าง แล้วก็ให้น้องว่าไปเลย ได้ยินมาอย่างไร น้องทำไปเต็มที นอกจากนี้เราก็ยังมีคณาจารย์เข้ามาร่วมในคณะทำงาน ดังนั้นก็ยืนยันกับทุกท่านได้ว่า เราไม่ได้ปิดประตูนั่งทำกันเอง แล้วก็คิดกันเองไม่กี่คน แล้วก็มีคนรับรู้รับทราบตลอด” พลตรีอภิศักดิ์ กล่าว

สำหรับร่างสัญญาประชาคมที่ ได้แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือบทนำ ความเห็นร่วมทั้ง 10 ข้อ บทสรุป โดยนายกรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบร่างสัญญาประชาคมไปเมื่อวันที่ 7 ก.ค. แต่ได้เสนอแนะให้มีการจัดทำภาคผนวกประกอบร่างสัญญาประชาคมด้วย เนื่องจากเห็นว่ามีเนื้อหาที่สั้นไป และอาจจะทำให้ประชาชนไม่เข้าใจ หรือเข้าใจไม่ตรงกัน โดยมีภาคผนวกทั้งหมด 15 ข้อ เพื่ออธิบาย ขยายความความเห็นร่วมทั้ง 10 ข้อ อย่างไรก็ตามภาคผนวกดังกล่าวยังไม่ได้มีการเผยแพร่ฉบับเต็มออกมาทั้งหมด ส่วนเนื้อหาของร่างสัญญาประชาคมมีดังนี้

บทนำ

สังคมไทยในอดีต เป็นสังคมที่มีความเข้มแข็ง ประชาชนอยู่ร่วมกันแบบพี่น้องช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ประพฤติปฏิบัติตามธรรมเนียมจารีตประเพณี ยึดถือหลักคำสอนของศาสนาเป็นแนวทางในการดำรงชีวิต ทำให้สังคมอยู่กันอย่างสุขสงบ อย่างไรก็ตามจากการพัฒนาในด้านต่างๆ การเข้ามาของวัฒนธรรม และค่านิยมจากต่างชาติ ส่งผลให้สภาพสังคมไทยเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และมีบางส่วนก่อให้เกิดปัญหาตามมาจำนวนมาก เช่น การขาดความรู้ความเข้าใจในระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง การจัดสรรทรัพยากรที่ไม่เป็นธรรม การแสวงหาประโยชน์จากช่องว่างของกฎหมาย การขาดโอกาสในการเข้าถึงระบบการศึกษาและระบบสาธารณสุขขั้นพื้นฐาน ตลอดจนการกระจายความเจริญที่ไม่สมดุล ซึ่งก่อให้เกิดความแตกต่างระหว่างสังคมเมืองกับสังคมชนบท  การผูกขาดของกลุ่มทุนทำให้เศรษฐกิจรากฐานถูกทำลาย เป็นต้น นอกจากนี้ ปัญหาการชุมนุมเรียกร้องทางการเมืองของกลุ่มต่างๆ ซึ่งเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องนั้น ได้ขยายวงกว้างไปยังพื้นที่ต่างๆ ของประเทศ และยกระดับเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ใช้สิทธิเสรีภาพเกินขอบเขต รวมทั้งมีการใช้ความรุนแรง ซึ่งเมื่อประกอบกับการที่ปัญหาต่างๆ ตามที่กล่าวมาแล้วยังไม่ได้รับการแก้ไขที่ถูกต้อง ทำให้ประเทศเดินเข้าสู่ทางตัน และอยู่ในลักษณะ “ติดกับดัก” ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อภาคสังคม การเมือง และเศรษฐกิจโดยรวม

จากสภาพปัญหาดังกล่าวข้างต้น แม้ประเทศไทยจะมีศักยภาพ และสิ่งดีงามอื่นๆ อีกมากมาย แต่ก็ไม่สามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ ประเทศไทยต้องหยุดชะงักและสูญเสียโอกาสในการพัฒนา ในขณะที่ประเทศอื่นๆ ต่างมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น จึงถึงเวลาแล้วที่คนไทยทุกคนจะต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาของประเทศอย่างจริงจัง เพื่อให้ปัญหาได้รับการแก้ไขอย่างถูกต้อง เป็นธรรม เกิดความสามัคคีปรองดอง ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี ประเทศไทยมีความสงบสุข สามารถก้าวเดินต่อไปอย่างมีศักดิ์ศรี  มีความเจริญเติบโตทัดเทียมนานาอารยะประเทศต่อไปในอนาคต

ความเห็นร่วมเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง

ด้วยสำนึกในหน้าที่และความรับผิดชอบของพลเมืองไทยที่มีต่อประเทศชาติพวกเราทุกคนขอให้คำมั่นสัญญาต่อกันว่า จะสามัคคีปรองดอง และร่วมมือร่วมใจกันอย่างจริงจังในการนำพาประเทศก้าวข้ามอุปสรรคทั้งปวง ไปสู่จุดหมายปลายทางที่พวกเราทุกคนมุ่งหวัง โดยยึดถือกรอบความเห็นร่วมเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง ดังต่อไปนี้

1.คนไทยทุกคน พึงร่วมมือกันสร้างบรรยากาศของความสามัคคีปรองดอง เพื่อให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งเดียวภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตลอดจนพึ่งมีความรู้ความเข้าในระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง ใช้สิทธิเสรีภาพอย่างถูกต้อง เหมาะสม ในกรอบของกฎหมาย มีส่วนร่วมกับการเมืองภาคประชาชน ยอมรับความแตกต่างทางความคิด และส่งเสริมสถาบันการเมืองให้มีความเข้มแข็ง เพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งที่โปร่งใส บริสุทธิ์ ยุติธรรม และยอมรับผลการเลือกตั้ง ซึ่งถือว่าเป็นฉันทามติของคนไทยทั้งประเทศ รวมทั้งร่วมกันตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจรัฐและการแก้ไขปัญหาโดยกลไกในระบบรัฐสภา

2.คนไทยทุกคน พึงน้อมนำศาสตร์พระราชา มาปรับใช้ให้สอดคล้องกับการดำรงชีวิต ประกอบอาชีพอย่างสุจริต พึ่งพาตนเองได้ มีคุณธรรม จริยธรรม มีไมตรีต่อกัน และร่วมสร้างความเข้มแข็งในการประกอบอาชีพของท้องถิ่น ตลอดจนเศรษฐกิจรากฐานที่เชื่อมโยงเศรษฐกิจเสรี ส่งเสริมระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานให้ทั่วถึง รวมทั้งมุ่งเน้นการพัฒนาตนเองให้มีขีดความสามารถในการประกอบอาชีพ เพื่อยกระดับรายได้และสร้างโอกาสในการแข่งขันทางด้านเศรษฐกิจ

3.คนไทยทุกคน พึงยึดมั่นในหลักคุณธรรม จริยธรรม และศีลธรรมในการดำเนินชีวิต มีความซื่อสัตย์ ไม่ร่วมมือหรือสนับสนุนการทุจริตและประพฤติมิชอบทุกรูปแบบ รวมทั้งร่วมกันตรวจสอบไม่ให้มีการทุจริตในทุกระดับ ปราศจากการคอร์รัปชัน

4.คนไทยทุกคน พึงร่วมมือกันสนับสนุนการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมตลอดจนใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างรู้คุณค่า ยอมรับและเชื่อมั่นในกระบวนการจัดสรรทรัพยากรที่สุจริตเป็นธรรม โดยที่คนไทยพึงมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่นของตนเอง บนพื้นฐานของประโยชน์ส่วนรวมของประเทศ

5.คนไทยทุกคน พึงให้การสนับสนุน ส่งเสริมดูแลคุณภาพชีวิต การสาธารณสุข ตลอดจนการศึกษาที่มีคุณภาพให้เป็นไปอย่างทั่วถึง เท่าเทียมกัน สามารถดำรงตนอยู่ในสังคมอย่างมีความสุข

6.คนไทยทุกคน พึงเคารพ เชื่อมั่น และปฏิบัติตามกฎหมาย รวมทั้งสนับสนุนและส่งเสริมกระบวนการยุติธรรม เพื่อความสงบเรียบร้อยของสังคม

7.คนไทยทุกคน พึงใช้ความรอบคอบในการรับรู้ข่าวสารจากสท่อต่างๆ และร่วมกันสอดส่องดูแลไม่ให้มีการบิดเบือน เผยแพร่ข่าวมูลข่าวสารที่เป็นเท็จ ซึ่งอาจก่อให้เกิดความขัดแย้งในสังคม

8.คนไทยทุกคน พึงตระหนักในการส่งเสริมให้สังคมมีมาตราฐานสากลตามกฎกติการะหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาคี

9.คนไทยทุกคน พึงสนับสนุนและส่งเสริมการปฏิรูปประเทศในทุกด้าน และสอดคล้องเป็นไปในแนวทางเดียวกัน โดยให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมในการดำเนินการทุกขั้นตอน

10.คนไทยทุกคน พึงเรียนรู้ ให้ความร่วมมือ และสนับสนุนการขับเคลื่อนประเทศตามแนวทางของยุทธศาสตร์ชาติ

ทั้งนี้ในช่วงที่เปิดให้ผู้เข้าร่วมได้แสดงความเห็น และตั้งคำถาม วรัญชัย โชคชนะ อดีตผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ หลายสมัย ได้แสดงความเห็นว่า ตนให้กำลังใจ และขอสนับสนุนเรื่องการสร้างความปรองดอง และหวังว่าการสร้างความปรองดองครั้งนี้จะประสบความสำเร็จ

วรัญชัย กล่าวต่อว่า ในเรื่องการเมืองต้องการให้มีความชัดเจนว่าเมื่อไหร่จะมีการคืนประชาธิปไตยให้กับประชาชน และในเรื่องยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี หากในสมัยหน้าตนไปสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้แทนฯ แล้วต้องการหาเสียงจนสามารถหาเสียงโดยออกนโยบายที่แตกต่างไปจากยุทธศาสตร์ที่วางเอาไว้ได้หรือไม่ และหากทำและจะถูกจับติดคุก ดำเนินคดีหรือไม่

“คำถามสุดท้ายครับท่าน บทนำที่เขียนว่าให้มีความรู้ความเข้าใจในระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง ผมคิดว่าประชาชนมีความรู้ความเข้าใจเรื่องประชาธิปไตยพอสมควร มีมากด้วย แต่ผมอยากทราบว่าท่านน่ะมีความรู้ความเข้าใจเรื่องประชาธิปไตยขนาดไหน ท่านจะคืนประชาธิปไตยให้หรือไม่ และจะคืนให้เมื่อไหร่”วรัญชัย กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net