Skip to main content
sharethis

ร.อ.ทินพันธุ์ ประธาน สปท.ประชุมนัดสุดท้าย เชื่อทำประโยชน์ต่อประเทศชาติอย่างมาก พร้อมส่งไม้ต่อประยุทธ์ - ด้าน อดีต สปท. ชี้ 2 ปีคาดหวังไม่ได้เพราะเป็นโครงสร้างราชการ ขณะที่รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ชี้ สปท. เป็นกลไกสร้างความชอบธรรมรองรับอำนาจรัฐประหาร

แฟ้มภาพ

25 ก.ค. 2560 รายงานข่าวจากเว็บไซต์วิทยุโทรทัศน์รัฐสภา ระบุว่า ร.อ.ทินพันธุ์ นาคะตะ ประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เป็นประธานการประชุม สปท.ครั้งที่ 31/2560 เป็นพิเศษ โดยเป็นการประชุมนัดสุดท้าย พร้อมกล่าวว่า ตนได้เรียนรู้การทำงานและขีดความสามารถของทุกคน และเชื่อว่าสิ่งที่ สปท.ช่วยกันทำจะมีประโยชน์ต่อประเทศชาติอย่างมาก โดยสังคมจะรับรู้ถึงสิ่งที่ สปท.ทำจากผลงานที่ปรากฏ ส่วนการส่งมอบงานต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในวันจันทร์ที่ 31 ก.ค. 60 นั้น คณะกรรมการที่มีผู้แทนจาเทพเนียบรัฐบาลและผู้บริหารของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้จัดทำกำหนดการไว้เรียบร้อยแล้ว และในวันนั้นตนจะรายงานการดำเนินงานต่อนายกรัฐมนตรี โดยจะใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง และ นายกรัฐมนตรีจะพูดเรื่องยุทธศาสตร์ชาติ การปฏิรูปประเทศ และแผนพัฒนา และจะร่วมถ่ายภาพร่วมกันกับนายกรัฐมนตรี เวลา 09.30 น. ณ ห้องประชุมรัฐสภา  

อลงกรณ์ พลบุตร รองประธาน สปท.คนที่ 1 กล่าวว่า การทำหน้าที่ของ สปท. 1 ปี 10 เดือนจะเป็นการวางหลักปักฐานให้ประเทศเกิดความยั่งยืน ถือเป็นความภูมิใจที่มีส่วนในการปฏิรูปประเทศ เชื่อว่า ทุกภาคส่วนจะต้องเข้าใจคำว่าการปฏิรูปประเทศ พร้อมยืนยันว่า สปท.ได้ผลิตผลงานที่เป็นประโยชน์ คุ้มค่า และเป็นการขับเคลื่อน วางรากฐานประชาธิปไตย ระบบเศรษฐกิจลดความเหลื่อมล้ำ คุณภาพชีวิตของประชาชนจะดีขึ้น และประเทศไทยจะพัฒนาเป็น Thailand 4.0 อย่างมั่นคง มั่งคั่ง ยังยืน

วลัยรัตน์ ศรีอรุณ รองประธาน สปท.คนที่ 2 เผยว่า ถือเป็นช่วงเวลาที่ดีมาก ที่ได้ทำงานร่วมกับ สปท.ทุกคน เชื่อว่า ความพยายามในการทำหน้าที่ของ สปท.จะไม่สูญเปล่า จะมีคนนำสิ่งที่เป็นประโยชน์ไปสานต่อ และหวังว่าจะมีโอกาสได้ทำงานเพื่อประเทศชาติต่อไป

ขณะสมาชิก ได้หารือต่อที่ประชุมในหลายประเด็น โดยหนึ่งประเด็นที่ให้ความสำคัญคือ   การวิพากษ์วิจารณ์การทำหน้าที่จากฝ่ายการเมือง ที่พยายามเสนอแนวคิด ความคิดเห็นว่า สปท.ไม่จำเป็นต้องมีหรือเป็นเพียงเกมส์ทางการเมือง ทำให้สาธารณะชน เข้าใจการทำหน้าที่ผิดไป จึงต้องการสร้างความเข้าใจว่า สปท.เข้ามาทำหน้าที่เสนอความเห็นและเสนอแนะไปยังรัฐบาลที่เกี่ยวข้อง ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของการปฏิรูปประเทศ และขอให้เข้าใจด้วยว่า สปท.ทำงานด้วยความตั้งใจและปฏิรูปประเทศไปในทิศทางที่ดีขึ้น

สำหรับช่วงเย็นวันนี้ (25 ก.ค. 60) จะมีงานเลี้ยงอำลาสมาชิก สปท. ในเวลา 18.00 น. ที่โรงแรม เดอะ สุโกศล ถนนศรีอยุธยา กรุงเทพฯ โดย ประธาน สปท. จะมอบใบประกาศเกียรติคุณให้กับสมาชิก สปท. ทุกคนด้วย

อดีต สปท. ชี้ 2 ปี คาดหวังไม่ได้ เพราะโครงสร้างเป็นราชการ

ขณะที่ สำนักข่าวไทย รายงานว่า เมื่อวันที่ 23 ก.ค. ที่ผ่านมา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดงานเสวนา ในหัวข้อ "2 ปี สปท.สังคมได้อะไรจากการปฏิรูป" ที่อาคารสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย โดยนิกร จำนง อดีตสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) และที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า โครงสร้างของ สปท.ส่วนใหญ่เป็นข้าราชการ และผลงานส่วนใหญ่จะเป็นรายงานทั้งหมด ไม่มีอำนาจดำเนินการในรูปแบบอื่นได้ สปท.ถูกแต่งตั้งเป็นเพียงที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ไม่นับเป็นสมาชิกรัฐสภา ดังนั้น จึงคาดหวัง สปท.ไม่ได้ ส่วนการทำงานของ สปท.นั้น ได้แบ่งคณะกรรมาธิการเป็นด้านต่าง ๆ ตามรัฐธรรมนูญ และตั้งคณะกรรมาธิการด้านต่าง ๆ เพิ่มเติมอีก เช่น คณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการ สปท.หรือ วิป สปท. และคณะกรรมาธิการวิสามัญด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ คณะกรรมาธิการวิสามัญปฏิรูประบบการปลอดภัยทางถนน และคณะกรรมการขับเคลื่อนสืบสานศาสตร์พระราชา  

นิกร กล่าวว่า สปท.มีเวลาทำงานอย่างจำกัดตามรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งงานของ สปท.เป็นงานในเชิงปฏิรูปน้อยมาก ขณะที่นักการเมือง 9 คนที่เป็น สปท.ถูกใช้เป็นข้ออ้างว่า การปฏิรูปครั้งนี้มีตัวแทนพรรคการเมืองเข้าร่วมด้วย ทำให้ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ตนมักทำหน้าที่เป็นฝ่ายค้านเพื่อยืนยันในวิธีคิดของฝ่ายการเมือง ส่วนกรณีการตั้งคำถามประชามติ ขณะนั้นไม่ใช่หน้าที่ของ สปท. แต่เมื่อ สปท.เสนอคำถามแล้วได้รับความเห็นชอบ หากมีอะไร ก็จะถูกโยนมาที่ สปท. ดังนั้น สปท.จึงกลายเป็นสภาหนังหน้าไฟ ทั้งที่ไม่มีหน้าที่ตั้งคำถามตั้งแต่แรก และกลายเป็นหมากทางการเมืองที่สำคัญซึ่งมีประโยชน์ต่อรัฐบาล เพราะเป็นฝ่ายโยนหินถามทางให้รัฐบาล อย่างแนวทางการปฏิรูปสื่อที่ล้วนมาจาก สปท.

นิกร กล่าวว่า อยากให้พรรคการเมืองปฏิรูปตัวเองเพื่อเป็นความหวังของประชาชนในอนาคต ที่ผ่านมา ตนได้คัดค้านเรื่องแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีในตอนแรก และเสนอว่า ให้กำหนดเป็นวิสัยทัศน์ ไม่ต้องออกมาเป็นแผน ซึ่งล่าสุดก็มีการแก้ไขใหม่ว่า สามารถแก้ไขยุทธศาสตร์ชาติได้ทุก 5 ปี ซึ่งตนก็เบาใจที่ยืดหยุ่นได้ อย่างไรก็ตาม ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ กำหนดให้มีปฏิรูป 11 ด้าน คนที่จะขับเคลื่อนต่อก็น่าจะเป็น สปท. ส่วนเรื่องวัฒนธรรมประชาธิปไตย ตนได้เสนอให้เริ่มปฏิรูปเรื่องนี้จากโรงเรียน และได้มีการยกร่างกฎหมายส่งเสริมวัฒนธรรมการเมืองแล้ว

รอง หน. ปชป.ชี้ สปท. เป็นกลไกสร้างความชอบธรรมเพื่อรองรับอำนาจ รัฐประหาร

นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และ สปท. มีมาเพื่อเป็นกลไกสร้างความชอบธรรมเพื่อรองรับอำนาจไว้ เนื่องจากตอนรัฐประหารไม่ได้มีการเตรียมแผนในระยะยาว แต่เมื่อเข้ามาทำหน้าที่แล้ว หน้าที่สำคัญของ สปท. คือการวางรูปแบบของรัฐในอนาคต ที่ควรจะเป็นแนวทางให้มีประชาธิปไตยมากขึ้น แต่ตนเชื่อว่า ในอนาคตชีวิตทางการเมืองของตน จะไม่เห็นประชาธิปไตยเต็มใบอีกแล้ว ประชาธิปไตยเหมือนกับต้นไม้ ดินบางอย่างต้นไม้ขึ้นไม่ได้ ดินบางอย่างต้นไม้ขึ้นได้แต่ไม่งอกงาม ประเทศไทยอาจจะไม่เหมาะสมกับประชาธิปไตยก็ได้ ตนคิดว่า ประเทศไทยอาจจะเหมาะกับรัฐกึ่งประชาธิปไตยมากกว่ารัฐประชาธิปไตย 

นิพิฏฐ์ กล่าวว่า ถามว่า สิ่งที่ สปท.ทำมาจะได้ผลเท่ากับที่คาดหวังหรือไม่นั้น ตนไม่แน่ใจ แต่สิ่งที่ สปท.ไม่ได้ทำคือ การปฏิรูปวัฒนธรรมประชาธิปไตย มนุษย์ทั่วไป เวลาพูดถึงคนอื่นไม่ดีแต่ก็ไม่ได้มองตัวเองว่าดีหรือไม่ ในอนาคตข้างหน้า จะไม่ใช่ประชาธิปไตยอย่างที่เราเห็น แต่เปลี่ยนไม่ได้ เพราะกำหนดโดยรัฐธรรมนูญและยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งต้องยอมรับกติกานั้น รัฐไทยต้องเดินไปในรูปแบบรัฐกึ่งประชาธิปไตย ความขัดแย้งของคนยังมีอยู่ แต่ไม่ได้เอาออกมาแก้ปัญหา 

นิพิฏฐ์ กล่าวว่า ประเทศที่เป็นประชาธิปไตย จะขับเคลื่อนด้วยนักการเมือง ไม่ใช่ระบบราชการ แต่หากจะมองว่า นักการเมืองไม่ดี นักการเมืองก็มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน ประชาชนเป็นอย่างไร นักการเมืองเป็นเช่นนั้น คนจะดีหรือไม่ดีให้ดูที่การใช้อำนาจ การบริหารพรรคการเมืองยากกว่าการบริหารบริษัทใหญ่ เพราะพรรคการเมืองหลากหลายและเป็นอิสระ ต้องบริหารคนที่จะไปบริหารประเทศ ส่วนยุทธศาสตร์ชาติที่กำหนดให้แก้ไขได้ใน 5 ปี ส่วนตัวมองว่า แก้ไขได้ยาก ดังนั้น ปัญหาที่ต้องเผชิญในอนาคตคือ รัฐบาลไม่สามารถแก้ปัญหาของประชาชนได้ทันการ ปัญหาจะถูกกดทับ และประชาชนก็จะตั้งคำถามกลับมาอีกว่า ทำไมเลือกตั้งมาแล้วแก้ปัญหาไม่ได้ ทั้งนี้ การปกครองทุกระบบของโลกมีมุมมืดทุกระบบ แม้ประชาธิปไตยจะมีมุมมืด แต่อย่ารังเกียจประชาธิปไตยจนไปหาระบบอื่น ทุกคนต้องช่วยกัน 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net