Skip to main content
sharethis

ยังเหลือสอบปากคำตำรวจผู้กล่าวหา ยัน จะปกป้องเสรีภาพมีราคาต้องจ่าย มีผู้สังเกตการณ์จากนานาชาติ องค์การระหว่างประเทศเข้าร่วม อังคณา นีละไพจิตรและข้าหลวงใหญ่ UN ร่วมฟังสอบปากคำ องค์การระหว่างประเทศ “ไอซีเจ” “สื่อไร้พรมแดน” "แอมเนสตี้" วอนไทยเลิกใช้ ม. 116 ปิดปากคนเห็นต่าง เพิกถอนคดีความประวิตร จับคนไม่ผิดมาลงโทษไม่ได้ บ.ก. ข่าวสดอิงลิชแถลงทำอย่างนี้คุกคามประวิตรชัดๆ วอนเปิดรายละเอียดว่าใครกันแน่แจ้งข้อกล่าวหา 

ประวิตร โรจนพฤกษ์ (ที่มา:kapook)

8 ส.ค. 2560 เมื่อเวลา 13.30 น. ที่กองบังคับการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีหรือ ปอท. ประวิตร โรจนพฤกษ์ นักข่าวอาวุโสของข่าวสดอิงลิช พร้อมด้วยเยาวลักษณ์ อนุพันธ์ ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวนเพื่อรับทราบข้อกล่าวหาความผิดในมาตรา 116 ตามประมวลกฎหมายอาญาจากการโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กส่วนตัวจำนวน 5 ข้อความ

โดยการเข้าพบครั้งนี้ มีเจ้าหน้าที่จากสถานทูตประเทศต่างๆ อาทิ สวีเดน เนเธอร์แลนด์ อังกฤษ นอร์เวย์ รวมถึงตัวแทนจากองค์กรระหว่างประเทศอย่างสำนักงานข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติ คณะกรรมการนิติศาสตร์สากลหรือไอซีเจ และโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชนหรือไอลอว์

เยาวลักษณ์ กล่าวว่า มาตรา 116 มีโทษสูงสุดคือจำคุก 7 ปี ซึ่งประวิตรโดนข้อหาทั้งหมด 5 กรรม รวมกันเป็น 35 ปี แต่ในกรณีนี้จะมีความผิดตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ) ทว่า ในกฎหมายอาญามีบทกำหนดว่าหากเป็นการกระทำเดียวแต่ผิดหลายบท ให้เอาบทหนักที่สุดคือ ม.116 และต้องรวมกันแล้วต้องได้รับโทษไม่เกิน 20 ปี การเข้ามาวันนี้มาเพียงรับทราบข้อกล่าวหา สอบปากคำและปล่อยตัวไป

ประวิตรกล่าวว่า วันนี้ตนจะทราบว่าข้อความที่เข้าข่ายความผิดคือข้อความไหน ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นข้อความวิจารณ์ คสช. แต่จะเป็นโพสท์ใดคงได้รู้วันนี้ อย่างไรก็ตาม ตนขอยืนยันความบริสุทธิ์ใจว่า ตั้งแต่การรัฐประหารปี 2557 ตนปฏิบัติหน้าที่ในฐานะสื่อในการตรวจสอบ วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของ คสช.อย่างสุดใจ เป็นไปตามสิทธิของสื่อมวลชนและพลเมืองที่ต้องการตรวจสอบการทำงานของภาครัฐและเป็นการรักษาพื้นที่การแสดงออกของสื่อและพลเมืองที่มีอยู่น้อยนิด เสรีภาพนั้นจะไม่สามารถปกป้องได้ หากไม่พร้อมที่จ่ายมันด้วยราคาที่มาก ในฐานะที่ตนเป็นพลเมืองและสื่อ ก็จะต้องแสดงความคิดเห็นให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เพื่อรักษาพื้นที่เสรีภาพในการแสดงออกอันน้อยนิดในสังคมไทย

"สังคมจะต้องหลอกตนเอง อยู่กับความกลัวแม้จะพูดในสิ่งที่คิดนานเพียงไร?" ประวิตร โพสต์ในเฟซบุ๊กเมื่อเช้าวันที่ 8 ส.ค. 2560

จากนั้น ประวิตรพร้อมด้วยทนายความได้เดินเข้าไปพบเจ้าหน้าที่เพื่อสอบปากคำ โดยมีเจ้าหน้าที่จากข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติและอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เข้าร่วมรับฟังการสอบปากคำ

ล่าสุด เมื่อวันที่ 8 ส.ค. 2560 เวลา 18.39 น. ประวิตร โพสต์ลงเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยระบุว่าการรับทราบข้อกล่าวหาเสร็จสิ้นแล้ว ตนมีความผิดข้อหา ม.116 กับ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ โทษจำคุก 14 ปี ในส่วนความผิดภายใต้ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ นั้นมีการกล่าวหาว่าประวิตรนำเข้าข้อมูลเท็จ แต่ตำรวจยังไม่สามารถบอกได้ว่าเท็จอย่างไร จึงต้องมีนัดสอบปากคำตำรวจผู้กล่าวหาเพิ่มเติม ทำให้ประวิตรต้องไปรับทราบข้อกล่าวหาในคดีดังกล่าวอีกทีในวันที่ 18 ส.ค. 2560 เวลา 13.00 น.

ทอดด รุยซ์ บรรณาธิการข่าวสดอิงลิชที่ประวิตรสังกัด ได้ออกมาแถลงต่อคดีนี้ ระบุว่า ตนยืนยันว่าประวิตรและประชาชนทุกคนมีสิทธิในการแสดงความคิดเห็น ซึ่งเป็นสิทธิที่ได้รับการคุ้มครองในรัฐธรรมนูญ และขอเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่เปิดเผยรายละเอียดแก่ประวิตรว่า ใครเป็นผู้แจ้งข้อกล่าวหาให้ตำรวจดำเนินการกับประวิตร

"นี่คือการคุกคามประวิตรอย่างเห็นได้ชัด" ทอดด์กล่าว

ไอซีเจ ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ทางการไทยยุติการใช้กฎหมายคุกคามการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประวิตร หลังจากที่องค์การสหประชาชาติหรือยูเอ็นเรียกร้องไทยยุติการใช้บทบัญญัติทางอาญารวมถึงความผิดฐานยุยงปลุกปั่นเป็นเครื่องมือในการกดขี่การแสดงความคิดเห็นของผู้เห็นต่างหรือการแสดงความไม่เห็นด้วย และใช้ทุกมาตรการเพื่อยุติการดำเนินคดีกับคนเหล่านั้นจากการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

เมื่อ 7 ส.ค. องค์กรสื่อไร้พรมแดน (Reporter Without Borders - RSF) ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ภาครัฐเพิกถอนกระบวนการทางอาญาที่กำลังดำเนินอยู่กับประวิตร “ผู้สื่อข่าวที่ทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมาได้ถูกทำร้ายซ้ำไปซ้ำมาเพียงเพราะเขาแสดงความเห็นของเขาและปกป้องเสรีภาพในการให้ข้อมูลจนถึงกับทำให้เขาต้องออกจากงานเดิมที่สำนักข่าวเดอะเนชั่น ถึงเวลาแล้วที่ทางการจะตระหนักว่าเสรีภาพในการพูดและเสรีภาพสื่อคือสิทธิขั้นพื้นฐานที่ไม่สามารถถูกกดปราบในลักษณะนี้ โดยเฉพาะวิธีการนำตัวผู้บริสุทธิ์มาลงโทษ”

4 ส.ค. 2560 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลระบุว่าความพยายามของทางการไทยที่จะใช้กระบวนการทางอาญา เพื่อคุกคามผู้ที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลในรูปแบบต่างๆ ยังไม่มีท่าทีว่าจะยุติลง โดยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีคนไทยหลายสิบคนถูกดำเนินคดีในข้อหายุยงปลุกปั่นตามมาตรา 116 ประมวลกฎหมายอาญา เพียงแค่พวกเขาออกมาแสดงความคิดเห็นอย่างสงบทั้งในการชุมนุมหรือผ่านโซเชียลมีเดีย

18 ก.ค. 2560 คณะกรรมการคุ้มครองสื่อแห่งมหานครนิวยอร์ก (The Committee to Protect Journalists) มอบรางวัลเสรีภาพสื่อนานาชาติประจำปี 2017 ให้กับนักข่าว 4 คน โดยหนึ่งในนั้นคือ ประวิตร โรจนพฤกษ์ ผู้สื่อข่าวอาวุโสจากข่าวสดอิงลิช ที่ได้รับเกียรติจากทางคณะกรรมการฯ ร่วมกับนักข่าวอีก 3 คนจากแคเมอรูน เม็กซิโก และเยเมน โดยแถลงการณ์จากคณะกรรมการฯ ระบุว่า นักข่าวทั้ง 4 เป็นผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่ของนักข่าวในการค้นหาความจริงท่ามกลางการเผชิญหน้ากับการล่วงละเมิดจากรัฐบาลหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็นการทำร้าย การขู่ฆ่า หรือการจับกุมคุมขัง

ที่มา: มติชนสุดสัปดาห์, คมชัดลึก, Reporter Without Borders

หมายเหตุ: ประชาไทเพิ่มเนื้อหาในส่วนที่เป็นความคืบหน้าหลังประวิตรรับทราบข้อกล่าวหาเสร็จสิ้น และแก้ไขพาดหัวให้สอดคล้องกับเหตุการณ์ที่ใส่เพิ่มเติมในวันที่ 8 ส.ค. 2560 เวลา 20.15 น.

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net