สนช. รับร่าง พ.ร.ป. ป.ป.ช. 'มีชัย' หวังสอบทุจริตเร็ว มีประสิทธิภาพ ไร้ข้อครหา

สนช. มีมติเอกฉันท์รับหลักการร่าง พ.ร.ป. ป.ป.ช. ประธานกรธ. ชี้เน้นการตรวจสอบทุจริตรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ ไร้ข้อครหา กำหนดกรอบการทำงาน ป้องกันเจ้าหน้าที่ใช้ดุลยพินิจโดยลำพัง กำหนดให้การทำงานเป็นชุด

 

2 พ.ย. 2560  การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) วันนี้ (2 พ.ย.60) มี พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เป็นประธานประชุม  ที่ประชุมได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.) ว่าด้วยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่เสนอโดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)

ที่ประชุมมีมติเอกฉันท์รับหลักการร่างพ.ร.ป.ป.ป.ช.ด้วยคะแนน 200 เสียง งดออกเสียง 4 เสียง ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญจำนวน 35 คน ขึ้นมาพิจารณาแปรญญัตติภายใน 7 วัน และมีกรอบเวลาการทำงาน 58 วัน

แฟ้มภาพ

ก่อนหน้าลงมติ มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรธ. ชี้แจงความจำเป็นต้องจัดทำร่างพ.ร.ป.ป.ป.ช.ว่า เนื่องจากรัฐธรรมนูญใหม่กำหนดเรื่องคุณสมบัติ และกำหนดให้การตรวจสอบการทุจริตเป็นไปด้วยความรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ ไร้ข้อครหา จึงต้องบัญญัติกฎหมายประกอบให้สอดคล้อง โดยมุ่งเน้นให้การทำงานของป.ป.ช.เกิดประสิทธิภาพ รวดเร็ว เที่ยงธรรม ไว้ใจได้ จึงปรับเปลี่ยนแนวทางการทำงานจากเดิมใช้ระบบตั้งอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริง ซึ่งไม่สามารถทำงานทุกวันได้ ต้องรอประชุมเป็นคณะ และทราบว่ามีการอบรมเจ้าหน้าที่เรื่องการไต่สวนให้มีความเชี่ยวชาญ จึงเห็นว่าสามารถใช้เจ้าหน้าที่ทำการไต่สวนได้เลย เพื่อความรวดเร็วในการทำงาน 

“เพื่อป้องกันเจ้าหน้าที่ใช้ดุลยพินิจโดยลำพัง จึงกำหนดให้การทำงานเป็นชุด โดยมีหัวหน้าพนักงานสอบสวนเพื่อให้เกิดความรอบคอบ ขณะเดียวกันให้พนักงานไต่สวนไปประจำตามภาคต่าง ๆ 12 ภาค พร้อมทั้งเห็นว่าควรกำหนดเวลาการทำงาน 2 ปี แต่หากเกินเวลายังสามารถทำงานต่อได้ แต่ป.ป.ช.จะต้องไปดูว่าเกิดอะไรขึ้น และบอกประชาชนว่าเกิดติดขัดอะไร จึงล่าช้า ทั้งนี้ กรธ.ไม่ขัดข้อง หากเห็นว่าระยะเวลา 2 ปีเร็วเกินไป และพร้อมจะปรับเปลี่ยน” ประธานกรธ. กล่าว

มีชัย กล่าวว่า สิ่งหนึ่งที่คำนึงถึงคือการตรวจสอบ ถ่วงดุล ซึ่งข้าราชการจะถูกตรวจสอบโดยสองหน่วยเสมอคือสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) และป.ป.ช.  เมื่อมาถึงป.ป.ช.จึงมีคำถามว่าใครจะตรวจสอบป.ป.ช. แม้ว่าตามรัฐธรรมนูญจะกำหนดให้สมาชิกรัฐสภาเข้าชื่อกันตรวจสอบกรรมการป.ป.ช.ได้ แต่หากเจ้าหน้าที่ป.ป.ช.ทำผิด ก็ควรให้หน่วยงานอื่นคือสตง.เป็นผู้ตรวจสอบ หากพบมีความผิด ต้องส่งเรื่องใหกรรมการป.ป.ช.เป็นผู้ชี้ เพื่อมั่นใจว่าคนของตัวเองไม่ถูกกลั่นแกล้ง 

“ในการทำงาน ต้องขอป.ป.ช.อย่าเปิดเผยชื่อผู้ร้องและพยาน เพื่อให้คนที่รู้หรือเห็นอะไร บอกกับป.ป.ช.ได้ ขณะเดียวกันเมื่อมีการร้องมา ก็อย่าเพิ่งเปิดเผยชื่อและเรื่องผู้ถูกร้อง ขอให้สอบไประยะหนึ่งและมีมูลก่อน” ประธานกรธ. กล่าว

ขณะที่ กล้าณรงค์ จันทิก ประธานคณะกรรมการศึกษาร่างพ..ร.ป.ป.ป.ช.สนช.ได้จัดทำรายงานเสนอให้สมาชิก ตั้งข้อสังเกตเรื่องการไต่สวนสาธารณะที่กรธ.ตัดออกจากร่างของป.ป.ช. จึงเห็นว่าควรวางเรื่องการไต่สวนสาธารณะเป็นมาตรการป้องกัน และยังมีประเด็นเรื่องการยึดทรัพย์ ประเด็นเรื่องกรอบระยะเวลาการทำงานของป.ป.ช.จะกระทบกับรูปคดีหรือไม่ รวมทั้งมีข้อสังเกตของผู้ช่วยพนักงานไต่สวน การแสดงบัญชีทรัพย์สินหนี้สิน เพื่อให้สมาชิกสนช.ได้พิจารณาประกอบการตัดสินใจ

ที่มา สำนักข่าวไทย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท