Skip to main content
sharethis

เครือข่ายประชาชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนยื่นหนังสือให้รัฐบาลหยุดเดินหน้าร่างกฎหมายสิ่งแวดล้อม เนื้อหาเกี่ยวกับอีไอเอเอื้อให้เดินหน้าโครงการ นำคำสั่ง คสช. ใส่ไว้ในกฎหมาย ไร้ข้อเสนอภาคประชาชน ต้องเริ่มกระบวนการใหม่ หากไม่หยุด เดินหน้าชุมนุมปักหลักหน้าทำเนียบวันที่ 6 ธันวาคม

วันนี้ (14 พฤศจิกายน 2560) เวลา 10.30 น. บริเวณด้านหน้าสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เครือข่ายประชาชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนได้รวมตัวกันอ่านแถลงการณ์เพื่อขอให้รัฐบาลยุติการเดินหน้าร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ....

เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ผู้ประสานงานกลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา กล่าวว่า ขณะนี้ร่างกฎหมายดังกล่าวอยู่ในการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา ก่อนจะส่งกลับไปยังคณะรัฐมนตรีและสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไปตามบทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญที่ต้องออกกฎหมายฉบับนี้ภายใน 240 วัน โดยประเด็นสำคัญที่ทางเครือข่ายเห็นว่ามีปัญหามากคือหมวดที่ว่าด้วยการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอ

“เวลาอีไอเอผ่านก็นำมาซึ่งการก่อสร้างโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ แต่ประชาชนขาดการมีส่วนร่วมมาโดยตลอด เราไม่เคยแม้แต่จะได้อ่านอีไอเอของเรา อีไอเอผ่านแล้วชาวบ้านแต่ละพื้นที่ยังไม่รู้เลยว่าเนื้อหาในอีไอเอคืออะไร มีคณะกรรมการชุดหนึ่งมากำหนดชีวิตพวกเรา พอเกิดผลกระทบก็ไม่แก้ไขปัญหา มาตรการแก้ไขที่เขียนไว้สวยหรูก็ใช้อะไรไม่ได้ ซ้ำยังเอาคำสั่ง คสช. (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) ไปใส่ไว้ในกฎหมายที่ระบุให้สามารถหาผู้ดำเนินโครงการก่อนได้เลยโดยไม่ต้องรอทำอีไอเอ”

จากนั้นตัวแทนเครือข่ายฯ จึงอ่านแถลงการณ์ โดยเนื้อหาบางส่วนระบุว่า ทางเครือข่ายฯ ได้จัดเวทีวิเคราะห์ปัญหาและข้อเสนอต่อการปฏิรูประบบการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพจากทุกภาค และนำเสนอข้อมูลดังกล่าวแก่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมถึง 2 ครั้ง แต่กลับไม่มีการนำข้อเสนอของภาคประชาชนไปดำเนินการต่อแต่อย่างใด ดังนั้น ทางเครือข่ายจึงต้องการให้รัฐบาลยุติการพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้ไว้ก่อน และให้เริ่มกระบวนการขั้นตอนปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่มีการรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้านจากประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลในกระบวนการวิเคราะห์ผลกระทบในการออกกฎหมาย เพื่อให้เป็นไปตามหลักการมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 และเป็นกฎหมายที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมและประชาชนอย่างแท้จริง

ด้านสุวิทย์ กุหลาบวงษ์ ตัวแทนเครือข่ายจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่า เรายืนยันว่าระบบนิเวศอีสานไม่สามารถรองรับโครงการขนาดใหญ่ได้อีกต่อไปแล้ว ผลกระทบจากโครงการโขงชีมูลตั้งแต่ปี 2535 จนบัดนี้ก็ยังไม่มีการแก้ไขปัญหา ถ้ารัฐบาลยังเดินหน้ากฎหมายฉบับนี้ ชาวอีสานก็พร้อมจะเดินหน้าหยุดยั้งต่อไป

ขณะที่กัญจน์ ทัตติยกุล ผู้ประสานงานกลุ่มอีอีซี วอทช์ ในฐานะตัวแทนเครือข่ายจากภาคตะวันออก กล่าวว่า

“ภาคตะวันออกเป็นภาคที่มีโครงการที่ผ่านอีไอเอจำนวนมากและก็มีมลพิษมากมายในภาคตะวันออก แสดงให้เห็นว่าระบบการทำอีไอเอที่ผ่านมาไม่เหมาะสม ไม่ถูกต้อง ร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้ทำให้กระบวนการทำอีไอเอดีขึ้น หนำซ้ำยังแย่ลง เราจึงเรียกร้องให้หยุดกฎหมายไว้ก่อน แล้วทำกฎหมายฉบับใหม่ที่เกิดจากการมีส่วนร่วมของประชาชน แล้วทำให้ระบบการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมดีขึ้นจริงๆ”

สุภาภรณ์ มาลัยลอย จากมูลนิธิยุติธรรมสิ่งแวดล้อมหรือเอ็นลอว์ กล่าวกับประชาไทว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้นอกจากประเด็นการทำอีไอเอแล้ว ยังมีประเด็นอื่นๆ เช่น การคุ้มครองพื้นที่สิ่งแวดล้อม มาตรการป้องกันหรือควบคุมมลพิษ เช่น การประกาศเขตควบคุมมลพิษ การกำหนดการเปิดเผยข้อมูลมลพิษ ซึ่งภาคประชาชนเคยเสนอ แต่ก็ไม่มีการตอบรับจากรัฐบาลแต่อย่างใด

“กฎหมายมีการสนับสนุนหรือเอื้อต่อการลงทุนขนาดใหญ่ แล้วพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมจะมีมาตรการใดมาปกป้องจากโครงการขนาดใหญ่ หรือการเปิดเผยข้อมูลมลพิษจากโครงการขนาดใหญ่ ก็ไม่ได้ถูกพูดถึง เพราะอีไอเอเป็นเรื่องป้องกัน แต่มันต้องพูดถึงตั้งแต่ก่อน ระหว่าง และหลังเกิดโครงการ อีไอเอจึงเป็นส่วนหนึ่งเท่านั้น เพราะในกฎหมายยังมีหมวดว่าด้วยการคุ้มครองปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หมวดการอนุรักษ์พื้นที่ และหมวดการจัดการมลพิษ เหล่านี้จึงควรมีการจัดรับฟังความคิดเห็นอย่างครบถ้วนรอบด้าน

“กระบวนการแก้ไขกฎหมายสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นกฎหมายกลางควรนำไปสู่สิ่งที่ดีขึ้น แต่ถ้าเร่งรีบ เพียงแค่ต้องให้ทันเวลา โดยไม่คำนึงถึงมาตรา 58 ในรัฐธรรมนูญที่ต้องพิจารณาการประเมินศักยภาพโดยรวมด้วย มันก็จะยังวนอยู่กับรายโครงการและยิ่งเป็นการลดทอนมาตรา 58 อย่างเห็นได้ชัด เราจึงเห็นว่าต้องหยุดกระบวนการไว้ก่อน”

ภายหลังจากอ่านแถลงการณ์ เครือข่ายฯ จึงนั่งรอตัวแทนรัฐบาลมารับหนังสือบริเวณฟุตปาธหน้า ก.พ.ร. กระทั่งเวลาประมาณ 14.00 น. พันศักดิ์ เจริญ ผู้อำนวยการส่วนประสานมวลชนและองค์กรประชาชน สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีจึงเดินทางมารับหนังสือ

ต่อมาทางเครือข่ายฯ ได้ขึ้นไปประชุมร่วมกับ พ.อ.คฑาวุฒิ ขจรกิตติยุทธ ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการนายกรัฐมนตรี สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เพื่อชี้แจงวัตถุประสงค์และอ่านเนื้อหาในหนังสือเพื่อส่งต่อให้แก่รัฐบาล โดยทางเครือข่ายฯ ยืนยันว่า หากรัฐบาลไม่หยุดเดินหน้าร่างกฎหมายนี้ไว้ก่อน เครือข่ายฯ จะทำการนัดหมายทั่วประเทศและเดินทางมาชุมนุมที่ทำเนียบอีกครั้งในวันที่ 6 ธันวาคมที่จะถึงนี้ จนกว่าจะยุติการเดินหน้ากฎหมายและตั้งต้นกระบวนการใหม่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net